โบราณสถานหมายเลข 11 เมืองศรีมโหสถ


โพสต์เมื่อ 13 ก.ค. 2020

ชื่ออื่น : โบราณสถานหมายเลข 11 (003)

ที่ตั้ง : สระมะเขือ ซอย2 ต.โคกปีป อ.ศรีมโหสถ

ตำบล : โคกปีบ

อำเภอ : ศรีมโหสถ

จังหวัด : ปราจีนบุรี

พิกัด DD : 13.902161 N, 101.418408 E

เขตลุ่มน้ำหลัก : บางปะกง

เขตลุ่มน้ำรอง : คลองลำผักชี, คลองบางพลวง

เส้นทางเข้าสู่แหล่ง

จากตัวเมืองปราจีนบุรีระยะทางประมาณ 20 กิโลเมตร ไปตามทางหลวงหมายเลข 319 กิโลเมตรที่ 130 เลี้ยวซ้ายไปตามทางหลวงหมายเลข 3070 อีกประมาณ 1 กิโลเมตร เมืองโบราณและโบราณสถานหมายเลข 11 จะอยู่ทางด้านขวามือ ล้อมรอบไปด้วยบ้านเรือนราษฎร หรือกล่าวอีกนัยหนึ่ง โบราณสถานหมายเลข 11 ตั้งอยู่นอกคูเมืองโบราณด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือ

ประโยชน์ทางการท่องเที่ยว

ไม่เป็นแหล่งท่องเที่ยว

หน่วยงานที่ดูแลรักษา

กรมศิลปากร

การขึ้นทะเบียน

ขึ้นทะเบียนของกรมศิลปากร

รายละเอียดการขึ้นทะเบียน

ประกาศขึ้นทะเบียนในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 110 (ฉบับพิเศษ) ตอนที่ 220 วันที่ 24 ธันวาคม 2536

ภูมิประเทศ

ที่ราบ

สภาพทั่วไป

โบราณสถานหมายเลข 11 เป็นโบราณสถานร้าง ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของเมืองโบราณศรีมโหสถ ล้อมรอบไปด้วยบ้านเรือนราษฎร

เมืองโบราณมีคูน้ำคันดินล้อมรอบ ตั้งอยู่บนที่ราบใกล้พื้นที่ป่าและภูเขาเตี้ยในเทือกเดียวกับดงพญาเย็น เทือกเขาสันกำแพง และเทือกเขาบรรทัด มีแม่น้ำบางปะกงไหลผ่านพื้นที่ อยู่ป่างจากเมืองโบราณไปทางทิศเหนือประมาณ 10 กิโลเมตร ห่างออกไปทางทิศตะวันตกประมาณ 16 กิโลเมตร มีคลองลำผักชีไหลผ่านเมืองโบราณทางทิศเหนือ โดยไหลไปรวมกับคลองบางพลวงที่อยู่ห่างจากเมืองโบราณไปทางทิศใต้ประมาณ 3 กิโลเมตร

ความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง

20 เมตร

ทางน้ำ

แม่น้ำบางปะกง, คลองลำผักชี, คลองบางพลวง

สภาพธรณีวิทยา

สภาพพื้นที่เมืองโบราณเป็นที่ราบตะกอนตะพักลุ่มน้ำในสมัยโฮโลซีน

ส่วนธรณีวิทยาบริเวณจังหวัดปราจีนบุรีซึ่งอยู่ในเขตภาคตะวันออก ประกอบด้วย แนวเทือกเขาเขียว-เขาชมพู่ ซึ่งมีหินแกรนิตยุคไตรเอสซิกเป็นแกนหลักของเทือกเขา แนวเทือกเขาขุนอิน-เขางวงช้าง และเขาตะเภาคว่ำ ซึ่งมีหินแกรนิตยุดคาร์บอนิเฟอรัสเป็นแกนหักของเทือกเขาวางตัวในแนวเหนือ-ใต้ ตั้งแต่บ้านเพถึงหนองใหญ่ แนวเทือกเขาบริเวณอำเภอแกลง แนวเทือกเขาสอยดาว-เขามะกอก ซึ่งมีหินแกรนิตเป็นแกนหลักบริเวณอำเภอขลุงถึงอำเภอโป่งน้ำร้อน และแนวเทือกเขาสามง่าม-เขาสมิงตั้งแต่อำเภอเขาสมิงถึงอำเภอโป่งน้ำร้อน

ยุคทางโบราณคดี

ยุคประวัติศาสตร์

สมัย/วัฒนธรรม

สมัยเขมร, สมัยบายน, สมัยลพบุรี

อายุทางโบราณคดี

พุทธศตวรรษที่ 18

ประวัติการศึกษา

ชื่อผู้ศึกษา : กรมศิลปากร

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2509

วิธีศึกษา : สำรวจ, ขุดแต่ง

ผลการศึกษา :

หน่วยศิลปากรที่ 5 ดำเนินการขุดแต่งโบราณสถานหมายเลข 11 ระหว่างวันที่ 1 -18 มิถุนายน พ.ศ.2509 พบว่าเป็นฐานอาคารที่สร้างด้วยศิลาแลง สมัยลพบุรี

ชื่อผู้ศึกษา : กรมศิลปากร

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2535

วิธีศึกษา : จัดการข้อมูลทางโบราณคดี

ผลการศึกษา :

หน่วยศิลปากรที่ 5 นำข้อมูลจากโครงการขุดแต่งและบูรณะโบราณสถานตั้งแต่ปีงบประมาณ 2530-2534 มาจัดทำเอกสารเผยแพร่เรื่อง “ประวัติศาสตร์และโบราณคดีเมืองศรีมโหสถ” และ “ประวัติศาสตร์โบราณคดีเมืองศรีมโหสถ เล่ม 2”

ประเภทของแหล่งโบราณคดี

ศาสนสถาน

สาระสำคัญทางโบราณคดี

โบราณสถานหมายเลข 11 (003) ตั้งอยู่นอกตัวเมืองทางด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ผลการขุดแต่งของหน่วยศิลปากรที่ 5 กรมศิลปากร พบว่าลักษณะอาคารตรงส่วน ฐานก่อด้วยศิลาแลง สันนิษฐานว่าเป็นส่วนฐานของวิหาร  แผนผังรูปสี่เหลียมผืนผ้าขนาดความกว้าง 7 เมตร ความยาว 15เมตร และความสูง 1 เมตร บนฐานโบราณสถานมีแท่นประดิษ ฐานรูปเคารพ 2 ฐาน ได้แก่

- ส่วนฐานประดิษฐานรูปเคารพ ทำ ด้วยหินทราย ขนาดความกว้าง 86 เซนติเมตร ความยาว 1.50 เมตร และความสูง 55 เซนติเมตร มีรูปทรงกลมสำหรับรองรับเดือยของรูปเคารพ 3 รูป สันนิษฐานว่าทางด้านขวาสำหรับประดิษฐานรูปพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร ตรงกลางประดิษฐานพระพุทธรูป ทางด้านซ้ายประดิษฐานรูปนางปัญญาบารมี

- ส่วนฐานประดิษฐานเทวรูป ทำด้วยหินทราย ขนาดความกว้าง 1.20 1.20 เมตร ความสูง 35 เซนติเมตร มีรูสำหรับรองรับเดือยรูปเคารพ นอกจากนี้จากการขุดแต่งยังพบโบราณวัตถุทำด้วยสำริด ศิลปะเขมรสมัยบายน อายุราวพุทธศตวรรษที่ 18 ได้แก่ ขันสำริดมีจารึกระบุศักราช 1109 และกรอบคันฉ่องสำริดมีจารึกอักษรขอม

จารึกที่เกี่ยวข้อง : จารึกกรอบคันฉ่องสำริด , จารึกที่ฐานเชิงเทินสำริด , จารึกที่โคนต้นโพธิ์ วัดต้นโพธิ์ศรีมหาโพธิ์

ผู้เรียบเรียงข้อมูล-ผู้ดูแลฐานข้อมูล

จิรชฎา ตรีภาณุวรรณ

บรรณานุกรม

กรมศิลปากร , สำนักโบราณคดีและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ , ทะเบียนโบราณสถานทั่วราชอาณาจักร เล่ม 3 (พ.ศ.2534-2539) , กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร , 2540.

คณะกรรมการฝ่ายประมวลเอกสารและจดหมายเหตุในคณะกรรมการอำนวยการ จัดงานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ; [บรรณาธิการ : ปรุงศรี วัลลิโภดม ... [และคนอื่น ๆ].วัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์และภูมิปัญญา จังหวัดปราจีนบุรี.กรุงเทพฯ : คณะกรรมการ, 2544.

สุกัญญา เบาเนิด. “การศึกษาพัฒนาการของโบราณสถานที่เมืองโบราณศรีมโหสถ ตำบลโคกปีป อำเภอโคกปีป จังหวัดปราจีนบุรี.” สารนิพนธ์ปริญญาศิลปะศาสตร์บัณฑิต สาขาวิชาโบราณคดี บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2537.

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ภาพเกี่ยวกับแหล่งโบราณคดี