โบราณสถานหมายเลข 16 เมืองศรีมโหสถ


โพสต์เมื่อ 13 ก.ค. 2020

ชื่ออื่น : โบราณสถานหมายเลข 16 (027)

ที่ตั้ง : ม.1 บ้านสระมะเขือ ต.โคกปีป อ.ศรีมโหสถ

ตำบล : โคกปีบ

อำเภอ : ศรีมโหสถ

จังหวัด : ปราจีนบุรี

พิกัด DD : 13.903254 N, 101.419069 E

เขตลุ่มน้ำหลัก : บางปะกง

เขตลุ่มน้ำรอง : คลองลำผักชี, คลองบางพลวง

เส้นทางเข้าสู่แหล่ง

จากตัวเมืองปราจีนบุรีระยะทางประมาณ 20 กิโลเมตร ไปตามทางหลวงหมายเลข 319 กิโลเมตรที่ 130 เลี้ยวซ้ายไปตามทางหลวงหมายเลข 3070 อีกประมาณ 1 กิโลเมตร เมืองโบราณจะอยู่ทางด้านขวามือ โบราณสถานหมายเลข 16 อยู่ทางซ้ายมือ ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของเมืองโบราณ

ประโยชน์ทางการท่องเที่ยว

เป็นแหล่งท่องเที่ยว

รายละเอียดทางการท่องเที่ยว

โบราณสถานหมายเลข 16 เป็นโบราณสถานร้าง เข้าชมได้ทุกวัน เวลาทำการ 8.30-16.30 น.

หน่วยงานที่ดูแลรักษา

กรมศิลปากร

การขึ้นทะเบียน

ขึ้นทะเบียนของกรมศิลปากร

รายละเอียดการขึ้นทะเบียน

ประกาศขึ้นทะเบียนในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 110 (ฉบับพิเศษ) ตอนที่ 220 วันที่ 24 ธันวาคม 2536

ภูมิประเทศ

ที่ราบ

สภาพทั่วไป

เป็นโบราณสถานร้าง ตั้งอยู่นอกเมืองโบราณศรีมโหสถ ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของเมือง ห่างจากคูเมืองประมาณ 370 เมตร

เมืองโบราณศรีมโหสถมีคูน้ำคันดินล้อมรอบ ตั้งอยู่บนที่ราบใกล้พื้นที่ป่าและภูเขาเตี้ยในเทือกเดียวกับดงพญาเย็น เทือกเขาสันกำแพง และเทือกเขาบรรทัด มีแม่น้ำบางปะกงไหลผ่านพื้นที่ อยู่ป่างจากเมืองโบราณไปทางทิศเหนือประมาณ 10 กิโลเมตร ห่างออกไปทางทิศตะวันตกประมาณ 16 กิโลเมตร มีคลองลำผักชีไหลผ่านเมืองโบราณทางทิศเหนือ โดยไหลไปรวมกับคลองบางพลวงที่อยู่ห่างจากเมืองโบราณไปทางทิศใต้ประมาณ 3 กิโลเมตร

ความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง

20 เมตร

ทางน้ำ

แม่น้ำบางปะกง, คลองลำผักชี, คลองบางพลวง

สภาพธรณีวิทยา

สภาพพื้นที่เมืองโบราณเป็นที่ราบตะกอนตะพักลุ่มน้ำในสมัยโฮโลซีน

ส่วนธรณีวิทยาบริเวณจังหวัดปราจีนบุรีซึ่งอยู่ในเขตภาคตะวันออก ประกอบด้วย แนวเทือกเขาเขียว-เขาชมพู่ ซึ่งมีหินแกรนิตยุคไตรเอสซิกเป็นแกนหลักของเทือกเขา แนวเทือกเขาขุนอิน-เขางวงช้าง และเขาตะเภาคว่ำ ซึ่งมีหินแกรนิตยุดคาร์บอนิเฟอรัสเป็นแกนหักของเทือกเขาวางตัวในแนวเหนือ-ใต้ ตั้งแต่บ้านเพถึงหนองใหญ่ แนวเทือกเขาบริเวณอำเภอแกลง แนวเทือกเขาสอยดาว-เขามะกอก ซึ่งมีหินแกรนิตเป็นแกนหลักบริเวณอำเภอขลุงถึงอำเภอโป่งน้ำร้อน และแนวเทือกเขาสามง่าม-เขาสมิงตั้งแต่อำเภอเขาสมิงถึงอำเภอโป่งน้ำร้อน

ยุคทางโบราณคดี

ยุคประวัติศาสตร์

สมัย/วัฒนธรรม

สมัยทวารวดี

อายุทางโบราณคดี

พุทธศตวรรษที่ 11-13

ประวัติการศึกษา

ชื่อผู้ศึกษา : กรมศิลปากร

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2509

วิธีศึกษา : สำรวจ, ขุดแต่ง

ผลการศึกษา :

หน่วยศิลปากรที่ 5 ดำเนินการขุดแต่งโบราณสถาน พบเป็นรูปแบบของวิหารแผนผังสี่เหลี่ยมผืนผ้า พบว่าเป็นวิหารสมัยทวารวดี

ชื่อผู้ศึกษา : กรมศิลปากร

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2535

วิธีศึกษา : จัดการข้อมูลทางโบราณคดี

ผลการศึกษา :

หน่วยศิลปากรที่ 5 นำข้อมูลจากโครงการขุดแต่งและบูรณะโบราณสถานตั้งแต่ปีงบประมาณ 2530-2534 มาจัดทำเอกสารเผยแพร่เรื่อง “ประวัติศาสตร์และโบราณคดีเมืองศรีมโหสถ” และ “ประวัติศาสตร์โบราณคดีเมืองศรีมโหสถ เล่ม 2”

ประเภทของแหล่งโบราณคดี

ศาสนสถาน

สาระสำคัญทางโบราณคดี

โบราณสถานหมายเลข 16 (027) ตั้งอยู่นอกตัวเมืองทางด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือ หน่วยศิลปากรที่ 5 กรมศิลปากรดำเนินการขุดแต่งเมื่อวันที่ 2 – 25 ธันวาคม พ.ศ.2509 สันนิษฐานว่าเป็นวิหารสมัยทวารวดี จากการขุดแต่งพบแผ่นดินเผามีลายรูปเทวดาสันนิษฐานว่าเป็นรูปพระกฤษณะยกเขาโควรรธนะ ศิลปะทวารวดี คล้ายกับที่พบจากเมืองอู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี ชิ้นส่วนภาชนะดินเผา หม้อดินเผา และไหดินเผา

ลักษณะเป็นฐานโบราณสถานก่อด้วยศิลาแลงและอิฐ แผนผังรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ความกว้าง 13.80 เมตร ความยาว 14.55 เมตร ด้านทิศตะวันออกและทิศเหนือมีแผ่นศิลาแลงปูเป็นขอบของอาคาร มีซากสิ่งก่อสร้างด้วยอิฐอยู่ตรงกลาง

ผู้เรียบเรียงข้อมูล-ผู้ดูแลฐานข้อมูล

จิรชฎา ตรีภาณุวรรณ

บรรณานุกรม

กรมศิลปากร , สำนักโบราณคดีและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ , ทะเบียนโบราณสถานทั่วราชอาณาจักร เล่ม 3 (พ.ศ.2534-2539) , กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร , 2540.

บรรจบ เทียมทัด และ นิคม มูสิกะคามะ. โบราณคดีเมืองปราจีนบุรี. พระนคร : กรมศิลปากร, 2514.

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ภาพเกี่ยวกับแหล่งโบราณคดี