โพสต์เมื่อ 17 ม.ค. 2022
ชื่ออื่น : วัดทุ่งกวนวันใหญ่, วัดทุ่ง, วัดไชยเชษฐา
ที่ตั้ง : ม.5 บ้านกวนวันใหญ่ ต.กวนวัน (เทศบาลตำบลกวนวัน) อ.เมืองหนองคาย
ตำบล : กวนวัน
อำเภอ : เมือง
จังหวัด : หนองคาย
พิกัด DD : 17.84894 N, 102.687104 E
เขตลุ่มน้ำหลัก : โขง
วัดพระไชยเชษฐาธิราชตั้งอยู่ในเขตเทศบาลตำบลกวนวัน อำเภอเมืองหนองคาย โดยหากมาจากตัวจังหวัดหนองคายบริเวณใต้สะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 1 ให้ใช้ถนนแก้ววรวุฒิ (ทางหลวงหมายเลข 242) ซึ่งเป็นถนนเลียบแม่น้ำโขง มุ่งหน้าทางทิศตะวันตกหรือมุ่งหน้าตำบลกวนวัน ประมาณ 4.5 กิโลเมตร พบซอยเข้าสู่วัดทางซ้ายมือ เลี้ยวซ้ายไปตามถนนอีกประมาณ 80 เมตร ถึงวัดพระไชยเชษฐาธิราช
วัดพระไชยเชษฐาธิราชมีประวัติที่เกี่ยวเนื่องกับสมเด็จพระไชยเชษฐาธิราช กษัตริย์ล้านช้างโดยตรง เนื่องจากพบจารึกในพื้นที่วัดที่กล่าวถึงการที่พระองค์พระราชทานที่ดินในการสร้างวัดและวิหาร ดังนั้นภายในวัดจึงปรากฏเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับพระองค์มากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งพระประธานของวิหารที่มีนามว่า หลวงพ่อพระไชยเชษฐาธิราช
ศิลาจารึกดังกล่าวปัจจุบันถูกจัดเก็บไว้ภายในวิหารของวัด โดยปักอยู่บนฐานปูนที่ทำขึ้นภายหลัง แล้ววางอยู่บนพื้น มีเครื่องเซ่นวางอยู่บนฐานโดยรอบ ซึ่งก็นับว่าได้รับการดูแลรักษาดีในระดับหนึ่ง รอบวิหารมีการติดตั้งลูกกรงเหล็กดัดและล็อคประตูในยามวิกาล
ผู้สนใจสามารถเข้าชมจารึกในวิหารได้ทุกวัน ในเวลา 8.00-17.00 น. โดยไม่เสียค่าเข้าชม
วัดพระไชยเชษฐาธิราช, กรมศิลปากร
ศิลาจารึกได้รับการขึ้นทะเบียนโบราณวัตถุจากกรมศิลปากรเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2518
วัดพระไชยเชษฐาธิราชปัจจุบันตั้งอยู่ภายในเขตเทศบาลตำบลกวนวัน อำเภอเมืองหนองคาย สภาพพื้นที่บริเวณที่ตั้งวัดรวมถึงเทศบาลเป็นพื้นที่ริมแม่น้ำโขงที่เกิดจากการทับถมของตะกอนตะพักลำน้ำโขง โดยแม่น้ำโขงอยู่ห่างจากวัดไปทางทิศตะวันตกประมาณ 400 เมตร
พื้นที่ด้านทิศตะวันตกของวัดเป็นชุมชนหนาแน่น พื้นที่ด้านทิศเหนือและใต้เป็นบ้านเรือนราษฎรและสวน ส่วนด้านทิศตะวันออกเป็นนาข้าว
แม่น้ำโขง
สภาพพื้นที่เกิดจากการทับถมของตะกอนตะพักลำน้ำโขงในสมัยโฮโลซีน
วัดพระไชยเชษฐาธิราชเป็นวัดราษฎร์ สังกัดมหานิกาย ตามประวัติวัดกล่าวว่าสร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ.2090 ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อ พ.ศ.2543
จากการสำรวจทางโบราณคดีในอดีตระบุว่า ภายในวัดมีซากโบราณสถานก่ออิฐรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า 1 หลัง หันหน้าไปทางทิศตะวันออก และศิลาจารึก 1 หลัก เก็บไว้ภายในวิหาร
จารึกดังกล่าวเรียกกันโดยทั่วไปว่า "จารึกวัดไชยเชษฐา" ถูกพบครั้งแรกที่ใต้ต้นไม้ใหญ่ในวัด ต่อมาเมื่อมีการสร้างวิหารจึงนำไปไว้ในวิหาร ลักษณะศิลาจารึกรูปทรงเสมา จารึกด้วยตัวอักษรไทยน้อย มี 2 ด้าน ด้านที่ 1 มี 11 บรรทัด ด้านที่ 2 มี 6 บรรทัด โดยข้อความจารึกด้านที่ 1 บรรทัดที่ 1 ระบุศักราช 916 คือ จ.ศ.916 ตรงกับ พ.ศ.2097 เนื้อหาโดยสังเขปกล่าวถึงสมเด็จพระไชยเชษฐาธิราชทรงพระราชทานที่ดินในการสร้างวัดและวิหาร ตอนท้ายมีใจความสาปแช่งผู้ที่มายึดครองที่ดินเหล่านั้น (พระเจ้าไชยเชษฐาธิราชปกครองราชอาณาจักรล้านช้าง พ.ศ.2093-2115)
จากการสำรวจในเดือนกันยายน 2557 ไม่พบร่องรอยโบราณสถานตามที่ปรากฏในประวัติการศึกษา พบเฉพาะศิลาจารึกที่วางอยู่บนพื้นข้างหลวงพ่อพระไชยเชษฐาธิราช พระประธานในวิหาร (สร้างในสมัยปัจจุบัน) โดยวิหารเป็นอาคารที่สร้างขึ้นใหม่เป็นวิหารโปร่ง มีผนังเฉพาะส่วนท้ายด้านข้างและด้านหลัง ติดเหล็กดัดและลูกกรงโดยรอบช่องประตูและผนัง
สภาพทั่วไปของศิลาจารึกปรากฏตัวอักษรค่อนข้างชัด แม้ว่าจะมีรอยขูดขีดและสึกกร่อนอยู่ทั่วไป จารึกปักอยู่บนฐานบัวที่ทำขึ้นในสมัยหลังด้วยปูน มีเครื่องเซ่นต่างๆ วางอยู่บนฐานทั้งด้านหน้าและหลัง
ภายในพานที่วางอยู่ติดกับจารึก มีวัตถุวางอยู่หลายชนิด รวมทั้งเม็ดพระศกปูนปั้นขนาดใหญ่ 2 ชิ้น และชิ้นส่วนก้อนศิลาแลงหลายก้อน
นอกจากนี้ที่ด้านหลังหรือด้านทิศใต้ของวิหาร ยังประดิษฐานพระธาตุหรือเจดีย์องค์เล็ก ศิลปะพื้นถิ่นล้านช้าง ส่วนฐานและองค์ระฆังอยู่ในผังสี่เหลี่ยมจัตุรัส องค์ระฆังเป็นรูปดอกบัวเหลี่ยมแบบล้านช้าง แต่ทรงเตี้ย ประดับลายปูนปั้นทั้ง 4 ด้าน ส่วนยอดเป็นบัลลังก์ บัว และปลียอด ปัจจุบันเจดีย์ทาด้วยสีเหลืองทั้งองค์
วัดพระไชยเชษฐาธิราชไม่ได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถาน แต่ศิลาจารึกได้รับการขึ้นทะเบียนโบราณวัตถุจากกรมศิลปากรเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2518
ธวัช ปุณโณทก. “ศิลาจารึกวัดจอมมณี.” ใน ศิลาจารึกอีสานสมัยไทย-ลาว : ศึกษาทางด้านอักขรวิทยาและประวัติศาสตร์อีสาน. กรุงเทพฯ : คุณพินอักษรกิจ, 2530 หน้า 244-246.
นวพรรณ ภัทรมูล. “จารึกวัดจอมมณี.” ใน ฐานข้อมูลจารึกในประเทศไทย ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน). (ออนไลน์). เข้าถึงเมื่อวันที่ 3 กันยายน 2557” เข้าถึงจาก http://www.sac.or.th/databases/inscriptions/inscribe_detail.php?id=2396
บุณนาค สะแกนอก. “จารึกวัดจอมมณี.“ ใน จารึกในประเทศไทย เล่ม 5 : อักษรธรรมและอักษรไทย พุทธศตวรรษที่ 19-24. กรุงเทพฯ : หอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากร, 2529, 382-384.
สิลา วีระวงส์ (เรียบเรียง), สมหมาย เปรมจิตต์ (แปล). ประวัติศาสตร์ลาว. พิมพ์ครั้งที่ 3. กรุงเทพฯ : มติชน, 2540, หน้า 84-106.