โพสต์เมื่อ 17 ม.ค. 2022
ชื่ออื่น : วัดพระธาตุบุ, วัดโพนจิกเวียงงัว, วัดโคกป่าฝาง, วัดดอกไม้แดง, วัดธาตุบุ, พระธาตุเวียงงัว
ที่ตั้ง : ม.3 บ้านโคกป่าฝาง ต.ปะโค (เทศบาลตำบลปะโค) อ.เมืองหนองคาย
ตำบล : ปะโค
อำเภอ : เมือง
จังหวัด : หนองคาย
พิกัด DD : 17.79869 N, 102.696024 E
เขตลุ่มน้ำหลัก : โขง
ธาตุโพนจิกเวียงงัวและพระธาตุบุตั้งอยู่ภายในวัดโคกป่าฝาง (ดอกไม้แดง) ในเขตเทศบาลตำบลปะโค อำเภอเมืองหนองคาย โดยหากมาจากตัวจังหวัดหนองคายบริเวณใต้สะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 1 ให้ใช้ถนนแก้ววรวุฒิ (ทางหลวงหมายเลข 242) มุ่งหน้าทางทิศตะวันตกหรือมุ่งหน้าตำบลปะโค ซึ่งเป็นถนนเลียบแม่น้ำโขง ประมาณ 9.6 กิโลเมตร (ถึงตำบลปะโค) พบสี่แยกให้เลี้ยวซ้ายใช้ทางหลวงชนบทหมายเลข 3187 มุ่งหน้าบ้านโคกป่าฝาง ไปตามถนนประมาณ 1.4 กิโลเมตร พบสามแยกให้ใช้ถนนเบี่ยงขวาไปตามทางหลวงหมายเลข 3079 ประมาณ 450 เมตร ถึงวัดโคกป่าฝาง
พระธาตุโพนจิกเวียงงัวเป็นพุทธศาสนสถานที่สำคัญมากแห่งหนึ่งของจังหวัดหนองคาย เนื่องจากเชื่อกันว่าเป็นพระธาตุเจดีย์ที่ประดิษฐานพระเขี้ยวฝางหรือทันตธาตุของพระพุทธเจ้า และมีตำนานเกี่ยวกับการประดิษฐานพระธาตุที่ย้อนไปถึง พ.ศ.8 และเชื่อกันว่าผู้ที่ก่อสร้างพระธาตุคือ พระโพธิสาลราช กษัตริย์ล้านช้าง พระราชบิดาของสมเด็จพระไชยเชษฐาธิราช เมื่อ พ.ศ.2063-2093 จึงเป็นที่สักการะเลื่อมใสต่อชาวหนองคายและพุทธศาสนิกชนทั่วไปเป็นอย่างมาก
ภายในวัดมีความเงียบสงบร่มรื่น พระธาตุโพนจิกเวียงงัวและฐานอุโบสถเก่าได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์และปรับปรุงภูมิทัศน์จากกรมศิลปากรแล้ว มีการติดตั้งป้ายให้ข้อมูลเกี่ยวกับพระธาตุและโบราณสถานต่างๆ ภายในวัด ผู้สนใจสามารถเข้าสักการะและเยี่ยมชมได้ทุกวัน โดยไม่เสียค่าเข้าชม
วัดโคกป่าฝาง, กรมศิลปากร
ธาตุโพนจิกเวียงงัวและฐานอุโบสถเก่า ได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถานในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 99 (ฉบับพิเศษ) ตอนที่ 172 หน้า 18 วันที่ 18 พฤศจิกายน 2525 เรื่อง ขึ้นทะเบียนโบราณสถาน
วัดโคกป่าฝางเป็นวัดที่ยังคงมีการใช้งานอยู่ในปัจจุบัน ตั้งอยู่บนเนินดินกลางที่ราบริมฝั่งแม่น้ำโขงที่เกิดจากการทับถมของตะกอนน้ำพา ปัจจุบันพื้นที่โดยรอบวัดนี้เป็นพื้นที่เกษตรกรรมทำนา เนินดินที่ตั้งวัดมีความสูงจากพื้นที่โดยรอบประมาณ 4-5 เมตร อยู่ห่างจากแม่น้ำโขงมาทางทิศใต้ประมาณ 900 เมตร ห่างจากห้วยพังพอนมาทางทิศใต้ประมาณ 600 เมตร นอกจากนี้ พื้นที่โดยรอบยังมีหนองน้ำหลายแห่ง ที่สำคัญคือ หนองสางนกแซว เป็นหนองน้ำขนาดใหญ่ อยู่ห่างออกไปทางทิศตะวันตกของวัดประมาณ 500 เมตร ส่วนด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือมีหนองกวก อยู่ห่างออกไปประมาณ 1 กิโลเมตร
พื้นที่ภายในวัดมีความสงบร่มรื่น มีไม้ยืนต้นขึ้นอยู่ทั่วไป
แม่น้ำโขง
พื้นที่ทับถมด้วยตะกอนน้ำพาของแม่น้ำโขงในสมัยโฮโลซีน
วัดโคกป่าฝางเป็นวัดราษฎร์ สังกัดมหานิกาย ตามประวัติวัดระบุว่าสร้างขึ้นเมื่อวันที่ 1 มกราคม พ.ศ.2340 มีสิ่งสำคัญ คือ พระธาตุเจดีย์บรรจุพระธาตุเขี้ยวฝาง เรียกว่าพระธาตุโพนจิก และเนื่องจากบริเวณใกล้เคียงมีคอกวัว ชาวบ้านจึงเรียกว่า พระธาตุโพนจิกเวียงงัวอุชุพราช ต่อมาชาวบ้านพบพระธาตุบุโผล่ขึ้นมาจากพื้นดิน จึงเรียกว่า วัดพระธาตุบุ
มีตำนานท้องถิ่นเกี่ยวกับการประดิษฐานพระธาตุที่ย้อนไปถึง พ.ศ.8 และเชื่อกันว่าผู้ที่ก่อสร้างพระธาตุคือ พระโพธิสาลราช กษัตริย์ล้านช้าง พระราชบิดาของสมเด็จพระไชยเชษฐาธิราช เมื่อ พ.ศ.2063-2093
ตามตำนานอุรังคธาตุ (ตำนานพระธาตุพนม) ได้มีข้อความกล่าวว่าพระธาตุโพนจิกเป็นที่บรรจุพระเขี้ยวฝาง หรือพระทันตธาตุ โดยในสมัยพระเจ้าจันทน์บุรีได้ตรัสสั่งให้หมื่นกางโฮงมาเป็นเจ้าเมืองเวียงคุก มีพระอรหันต์ซึ่งเป็นศิษย์ของพระมหากัสสปเข้ามาในแว่นแคว้นนี้ 3 องค์ และได้เผยแพร่ศาสนาอย่างกว้างขวาง ภายหลังได้อัญเชิญพระธาตุจากเมืองราชคฤห์ ประกอบด้วย
พระบรมธาตุหัวหน่าว 29 องค์ ประดิษฐานที่ภูเขาลวง (พระธาตุบังพวน)
พระธาตุเขี้ยวฝาง (พระทันตธาตุ) 7 องค์ ประดิษฐานไว้ที่เวียงงัว 3 องค์ และหอแพ 4 องค์
พระบรมธาตุฝ่าพระบาท 9 องค์ ประดิษฐานที่เมืองหล้าหนอง
เวียงงัว ปรากฏชื่อในตำนานพระอุรังคธาตุว่า พระรัตนเถระและจุลรัตนเถระได้นำพระบรมธาตุเขี้ยวฝาง 3 องค์ มาปะดิษฐานไว้ที่โพนจิกเวียงงัว ซึ่งเชื่อกันว่าอยู่บริเวณบ้านโคกป่าฝาง ต.ปะโค อ.เมืองหนองคาย จ.หนองคาย (คำว่า “งัว” และ “โค” ต่างก็มีความหมายเดียวกัน) เล่าสืบต่อกันมาถึงตำนานสำคัญของชุมชนโบราณแถบลุ่มแม่น้ำโขงในหนองคาย รวมทั้งภูพระบาทในจังหวัดอุดรธานี แม้กระทั่งเค้าเงื่อนจากนิทานเรื่องอุสา-บารส ก็มีว่า เมืองของท้าวบารสอยู่เมืองปะโค เวียงคุก และอาจสัมพันธ์กับเรื่องพระอุณรุทธ ที่เป็นหลานพระกฤษณะ (ปางหนึ่งของพระนารายณ์) ซึ่งสำเนียงในตำนานอีสานคือ พระกึดนารายณ์
นักวิชาการส่วนใหญ่สันนิษฐานว่าพื้นที่เวียงงัวน่าจะเป็นเมืองเก่าตั้งแต่สมัยเจนละบกหรือในสมัยวัฒนธรรมเขมร เพราะปรากฏซากโบราณสถานและโบราณวัตถุสมัยปะโคและกุเลนหลายชิ้นภายในเมือง ทั้งเทวาลัย ภาพสลักหิน และประติมากรรมหิน รวมทั้งซากโบราณสถานในวัดโคกป่าฝาง (วัดพระธาตุโพนจิกเวียงงัว) แต่ปัจจุบันโบราณสถานถูกทำลายและปรับเปลี่ยนพื้นที่ไปจนไม่เหลือเค้าเดิม บางวัดได้พอกปูนทับเทวรูปทำเป็นพระพุทธรูปไปแล้ว และเชื่อว่าอิทธิพลศิลปะเขมรบางส่วนส่งมาถึงพระธาตุโพนจิกเวียงงัว
หลักฐานทางโบราณคดีที่สำคัญภายในวัด ได้แก่
พระธาตุโพนจิกเวียงงัว เป็นเจดีย์ก่ออิฐสอด้วยดินและยางไม้ ผังกลม เป็นเจดีย์ทรงระฆังสูง ตั้งอยู่บนลานประทักษิณผังสี่เหลี่ยมจัตุรัส กว้างด้านละ 17.5 เมตร ภายในฐานประทักษิณถมดินอัดแน่นและน่าจะมีการฉาบขอบฐานประทักษิณด้วยปูนฉาบ อีกทั้งมุมทั้ง 4 ทิศพบซากฐานอิฐรูปทรงสี่เหลี่ยม สันนิษฐานว่าเป็นพระธาตุจำลองประจำมุม 4 องค์ ลักษณะเจดีย์ประกอบไปด้วยฐานเขียงซ้อนลดหลั่นรองรับฐานบัวลูกแก้วอกไก่ในผังกลม จากนั้นเป็นองค์ระฆังทรงกรวยสูง ต่อด้วยยอดเป็นชั้นบัวลูกแก้วในผังกลมซ้อมกัน 4 ชั้น (คล้ายปล้องไฉน) ส่วนยอดสุดเป็นปลีทรงแหลมสูง มีการประดับตกแต่งส่วนยอดด้วยปูนปั้นลายพญานาคและประดับกระจกสี สันนิษฐานว่าส่วนยอดถูกซ่อมขึ้นใหม่ มีลักษณะศิลปะพื้นบ้านอย่างเห็นได้ชัด (ประภัสสร์ ชูวิเชียร 2555)
เจดีย์บริวารขนาดเล็กที่ยังเหลือครบสมบูรณ์เคยตั้งอยู่บนฐานก่ออิฐสี่เหลี่ยมขนาดเล็กที่เรียงรายล้อมส่วนฐานเขียงของพระธาตุทั้ง 4 ด้าน รวมแล้วอาจมีทั้งสิ้น 30 องค์ ลักษณะองค์เจดีย์บริวารคล้ายกับพระธาตุโพนจิกคือเป็นองค์ระฆังทรงกรวยสูง ต่อด้วยบัลลังก์สี่เหลี่ยมมีปูนปั้นลายกลีบบัว ยอดทรงกรวย
รูปแบบเจดีย์ทรงระฆังพบไม่มากในศิลปะล้านช้าง สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นราวพุทธศตวรรษที่ 22 ลงมา (ประภัสสร์ ชูวิเชียร 2555)
อุโบสถ เป็นซากฐานอาคารก่ออิฐขนาดเล็ก ตั้งอยู่ด้านทิศตะวันออกของพระธาตุโพนจิก ผังเกือบเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส ขนาดประมาณ 5.3x5.7 เมตร ฐานเขียงยกสูง 1 ชั้น ผนังพังทลาย ใต้พื้นอาคารถมปรับพื้นด้วยเศษอิฐและดินผสมกับเม็ดแลงบดอัด ภายในอคารมีฐานชุกชีอยู่ท้ายอาคาร (มีพระพุทธรูปโลหะสมัยปัจจุบันประดิษฐานอยู่) และมีแท่งศิลาแลงปักอยู่โดยรอบอาคาร จึงสันนิษฐานว่าอาคารหลังนี้น่าจะเป็นอุโบสถหรือสิม (ประภัสสร์ ชูวิเชียร 2555)
พระธาตุบุ (บุ หมายถึงโผล่ขึ้นมาจากพื้นดิน) ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงของพระธาตุโพนจิกเวียงงัว เป็นเจดีย์ผังกลมขนาดเล็ก เป็นฐานกลมฉาบปูนซ้อนกัน 4 ชั้น ด้านบนเป็นศิลาแลงรูปคล้ายดอกบัวตูม ปลายสุดเป็นลูกแก้วกลมฉาบปูน ปัจจุบันมีการสร้างศาลาโปร่งคลุมไว้ โดยพื้นศาลารอบพระธาตุปูด้วยแผ่นกระเบื้อง ส่วนองค์พระธาตุมีผ้าพันคลุมไว้ (ประภัสสร์ ชูวิเชียร 2555)
พื้นด้านนอกศาลาพระธาตุบุ มีเสมาทำจากศิลาแลงปักอยู่โดยรอบ บนพื้นดินโดยรอบศาลามีชิ้นส่วนอิฐ ศิลาแลง ปูนปั้น และเศษภาชนะดินเผาเนื้อดินตกอยู่โดยรอบค่อนข้างมาก (อิฐบางชิ้นน่าจะเป็นชิ้นส่วนเจดีย์เก่า เนื่องจากมีรูปร่างกลม)
ประภัสสร์ ชูวิเชียร. “พระธาตุโพนจิกเวียงงัว วัดป่าพระธาตุบุ.” ฐานข้อมูลโบราณสถานสำคัญในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ [ออนไลน์], 2555. เข้าถึงเมื่อ 5 กันยายน 2557. เข้าถึงจาก http://www.archae.su.ac.th/art_in_thailand/?q=node/181