เมืองสรรคบุรี


โพสต์เมื่อ 17 ม.ค. 2022

ชื่ออื่น : เมืองสรรค์บุรี, เมืองแพรกศรีราชา

ที่ตั้ง : ต.แพรกศรีราชา อ.สรรคบุรี

ตำบล : แพรกศรีราชา

อำเภอ : สรรคบุรี

จังหวัด : ชัยนาท

พิกัด DD : 15.0498 N, 100.162064 E

เขตลุ่มน้ำหลัก : เจ้าพระยา, น้อย

เขตลุ่มน้ำรอง : คลองหัวหนอง

เส้นทางเข้าสู่แหล่ง

เมืองสรรคบุรี ปัจจุบันมีพื้นที่ส่วนใหญ่อยู่ในตัวอำเภอสรรคบุรี โดยมีวัดมหาธาตุตั้งอยู่เกือบกึ่งกลางเมือง การเดินทางมายังอำเภอสรรคบุรี หากมาจากตัวจังหวัดชัยนาท ให้ใช้ทางหลวงหมายเลข 340 (สุพรรณบุรี-ชัยนาท) มุ่งหน้าลงใต้ (มุ่งหน้าสุพรรณบุรี) ประมาณ 18 กิโลเมตร จะพบแยกสรรคบุรี เลี้ยวซ้ายเข้าสู่ตัวอำเภอสรรคบุรี 

ประโยชน์ทางการท่องเที่ยว

เป็นแหล่งท่องเที่ยว

รายละเอียดทางการท่องเที่ยว

เมืองโบราณสรคคบุรี เป็นเมืองโบราณขนาดใหญ่ โดยทั่วไปทั้งเมืองโบราณยังไม่เป็นแหล่งท่องเที่ยว แต่โบราณสถานสำคัญภายในเมือง้วนเป็นแหล่งท่องเที่ยว  เช่น วัดท่าเสา(ร้าง) วัดสองพี่น้อง วัดพระยาแพรก วัดมหาธาตุ วัดพระแก้ว วัดจันทร์

การขึ้นทะเบียน

ไม่ขึ้นทะเบียน

รายละเอียดการขึ้นทะเบียน

เมืองโบราณสรคคบุรี ยังไม่ได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถาน มีประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถานาเฉพาะโบราณสถานบางแห่งภายในเมือง เช่น วัดท่าเสา(ร้าง) วัดสองพี่น้อง วัดพระยาแพรก วัดมหาธาตุ วัดพระแก้ว วัดจันทร์

ภูมิประเทศ

ที่ราบ

สภาพทั่วไป

เมืองสรรคบุรีเป็นเมืองโบราณที่มี่คูน้ำและคันดินล้อมรอบ แต่ปัจจุบันได้เสื่อมสภาพไปเกือบทั้งหมด เนื่องจากคูน้ำตื้นเขินและถูกถม รวมถึงคันดินก็ถูไถเพื่อการทำเกษตรกรรม

สภาพพื้นที่โดยทั่วไปเป็นที่ราบน้ำท่วมถึง โดยการกระทำของแม่น้ำน้อยเป็นหลัก

ความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง

19 เมตร

ทางน้ำ

แม่น้ำน้อย, แม่น้ำเจ้าพระยา, คลองหัวหนอง

สภาพธรณีวิทยา

พื้นที่เป็นที่ราบ ทับถมโดยตะกอนน้ำพาในสมัยโฮโลซีน

ยุคทางโบราณคดี

ยุคประวัติศาสตร์

สมัย/วัฒนธรรม

สมัยทวารวดี, สมัยสุโขทัย, สมัยอยุธยา, สมัยเขมร

อายุทางโบราณคดี

พุทธศตวรรษที่ 16 เป็นต้นมา

ประวัติการศึกษา

ไม่พบผลลัพธ์

ประเภทของแหล่งโบราณคดี

เมืองโบราณ

สาระสำคัญทางโบราณคดี

เมืองสรรคบุรีช่วงก่อนพุทธศตวรรษที่ 19 (อโนชา ทับทิม 2557)

เมืองสรรคบุรีตั้งอยู่ในที่ราบลุ่มแม่น้้าเจ้าพระยาตอนบน อันเป็นดินแดนปากแม่น้้าเก่า มีพัฒนาการการอยู่อาศัยมาตั้งแต่สมัยทวารวดี ซึ่งพบอยู่เป็นจำนวนมาก ต่อมาราวพุทธศตวรรษที่ 16-18 วัฒนธรรมเขมรได้เข้ามาแพร่หลายในภาคกลางของประเทศไทย เมืองสรรคบุรีก็ได้รับเอาวัฒนธรรมเขมรเข้ามาเช่นเดียวกับเมืองโบราณอื่นๆ ในภาคกลาง โดยพบโบราณวัตถุที่มีอิทธิพลเขมรหลายชิ้น เช่น พระพุทธรูปนาคปรกสลักจากหินทราย บางองค์พบบริเวณพระบรมธาตุเจดีย์ วัดพระบรมธาตุวรวิหาร อายุราวพุทธศตวรรษที่ 18 และพบแผ่นทับหลังหินทรายที่ติดอยู่บนพระปฤษฎางค์ขององค์พระพุทธรูปหลวงพ่อฉายภายในวิหารวัดพระแก้ว ที่แสดงลักษณะสำคัญของศิลปะขอมสมัยบาปวน (คงเดช ประพัฒน์ทอง 2510 : 96) สันนิษฐานว่าเมืองสรรคบุรีคงได้รับอิทธิพลวัฒนธรรมเขมรที่มีศูนย์กลางอยู่ที่เมืองลพบุรีในระยะเวลานั้น วัฒนธรรมเขมรที่เข้ามาทำให้วัฒนธรรมทวารวดีที่เคยมีอยู่เดิมหายไปโดยปรับเปลี่ยนมารับวัฒนธรรมเขมรซึ่งมีอำนาจทั้งทางด้านการเมืองและวัฒนธรรม โดยเฉพาะราวพุทธศตวรรษที่ 17 – 18

เมืองสรรคบุรีหลังพุทธศตวรรษที่ 19 (อโนชา ทับทิม 2557)

ราวพุทธศตวรรษที่ 19-20 เป็นช่วงเวลาที่อาณาจักรสุโขทัยมีความเจริญรุ่งเรือง และมั่นคงทางศาสนาเป็นอย่างมาก เป็นเมืองแห่งศูนย์กลางอำนาจโดยสมบูรณ์ มีอาณาเขตกว้างขวาง ดังในศิลาจารึกสุโขทัยหลักที่ 1 (ปี พ.ศ. 1826) กล่าวถึงอาณาเขตของอาณาจักรสุโขทัยว่า

“...มีเมืองกว้างช้างหลาย ปราบเบื้องตะวันออก รอดสระหลวงสองแคว ลุมบาจาย สคา เท้า ฝั่งของเถิงเวียงจันทร์เวียงค้าเป็นที่แล้ว เบื้องหัวนอน รอดคนทีพระบาง แพรก สุพรรณภูมิ ราชบุรี เพชรบุรี ศรีธรรมราช ฝั่งทะเลสมุทรเป็นที่แล้ว” (กรมศิลปากร 2515 : 26)

คำว่าเบื้องหัวนอนที่ปรากฏในข้อความนี้มีผู้ตีความว่าหมายถึงเมืองที่อยู่ทางทิศใต้ของ อาณาจักรสุโขทัย มีเมืองหนึ่งชื่อเมือง “แพรก” ซึ่งคงหมายถึงบริเวณตำบลแพรกศรีราชา อ้าเภอ สรรคบุรีในปัจจุบันนั่นเอง การรวมเมืองแพรกไว้ในอาณาเขตของสุโขทัยนั้น แสดงว่าเมืองแพรกนี้คง เป็นหัวเมืองของอาณาจักรสุโขทัย สอดคล้องกับหลักฐานทางศิลปกรรมที่พบการสร้างเจดีย์ทรงดอก บัวตูมอันเป็นสัญลักษณ์ของอาณาจักรสุโขทัยที่วัดโตนดหลาย ซึ่งถือเป็นเจดีย์ทรงดอกบัวตูมที่อยู่ทาง ใต้สุดในดินแดนไทย และเป็นเจดีย์องค์เดียวที่สร้างขึ้นในเขตอำนาจของกรุงศรีอยุธยาซึ่งไม่เคยพบมาก่อน (ภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ 2550 : 34)

ในช่วงพุธศตวรรษที่ 19-20 นี้ ยังมีเมืองลพบุรีและเมืองสุพรรณบุรีที่เป็นเมืองสำคัญ แม้จะไม่มีอำนาจทางการเมืองการปกครองเหมือนอาณาจักรสุโขทัยหรือกรุงศรีอยุธยา แต่อิทธิพลด้านงานช่างโบราณยังคงมีอยู่ และสองเมืองนี้ตั้งอยู่ใกล้กับเมืองสรรคบุรีมากกว่าสุโขทัยและอยุธยา งานช่างของเมืองสรรคบุรีจึงยังมีอิทธิพลจากงานศิลปกรรมของเมืองสุพรรณบุรีและเมืองลพบุรีปรากฏอยู่ด้วย

ราวปลายพุทธศตวรรษที่ 19 บริเวณภาคกลางตอนล่างเกิดอาณาจักรใหม่ขึ้น คือกรุงศรีอยุธยา ในขณะที่ภาคกลางตอนบนมีอาณาจักรสุโขทัย เมืองสรรคบุรีจึงกลายเป็นเมืองสำคัญที่ตั้งอยู่ระหว่างกลางอาณาจักรใหญ่ทั้งสอง เมื่อกรุงศรีอยุธยาเรืองอำนาจขึ้นแล้วสามารถยึดครองหรือผนวกเมืองสรรคบุรี ให้มาอยู่ในปกครองของกรุงศรีอยุธยาในฐานะเมืองหน้าด่านหรือเมืองลูกหลวงที่สำคัญ ดังมีชื่อกล่าวถึงเมืองแพรกศรีราชาในพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาว่า ในปี พ.ศ.1947 สมเด็จพระนครินทราธิราชโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าอ้ายพระยาเสด็จไปครองเมืองสุพรรณภูมิ (สุพรรณบุรี) เจ้าญี่พระยาเสด็จไปครองเมืองแพรกศรีราชา (สรรคบุรี) และเจ้าสามพระยาครองเมืองชัยนาท (พิษณุโลก) (คณะกรรมการฯ 2542 : 218) ในช่วงเวลานี้น่าจะเป็นช่วงที่เมืองสรรคบุรีเจริญรุ่งเรืองมากที่สุดในฐานะเมืองลูกหลวง ปรากฏการสร้างวัดขนาดใหญ่และเจดีย์หลายแห่ง อาทิ วันมหาธาตุ วัดสองพี่น้อง วัดโตนดหลาย เป็นต้น

ต่อมาในปี พ.ศ.1967 เจ้าสามพระยาเสด็จขึ้นครองราชย์ เฉลิมพระนามสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 2 พระองค์ได้ยกทัพไปตีเมืองพระนครของเขมรได้ส้าเร็จ และโปรดเกล้าฯ ให้พระโอรส คือเจ้านครอินทร์ไปครองเมือง แต่เจ้านครอินทร์เสด็จสวรรคตเสียก่อน จึงได้ให้พระยาแพรก (เชื่อว่าเป็นโอรสองค์รอง) ไปครองเมืองพระนครแทน เนื่องจากเมืองพระนครหลวงนั้นเป็นเมืองใหญ่ จะให้พวกเสนาบดีไปปกครองเป็นการไม่เหมาะสม (คณะกรรมการชำระประวัติศาสตร์ 2539 : 188) หลักฐานเหล่านี้ล้วนแสดงว่าในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้น เมืองแพรกศรีราชาเป็นเมืองลูกหลวงของกรุงศรีอยุธยา และมีความสำคัญรองลงมาจากเมือง สุพรรณบุรีที่กษัตริย์อยุธยาได้ให้องค์รัชทายาทเสด็จขึ้นไปครองเมือง

ต่อมาในรัชกาลของสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ กรุงศรีอยุธยาสามารถผนวกสุโขทัยมา อยู่ภายใต้การปกครองได้อย่างสมบูรณ์ บทบาทของเมืองแพรกศรีราชาที่เคยเป็นเมืองหน้าด่านสำคัญ ระหว่างสองอาณาจักรใหญ่จึงลดลงอย่างมาก เป็นเพียงเมืองเล็กๆ ที่อยู่ใกล้กรุงศรีอยุธยาเท่านั้น ใน พระราชพงศาวดารจึงไม่มีการระบุว่ากษัตริย์พระองค์ใดให้พระราชโอรสไปครองเมืองแพรกศรีราชาอีก ในปลายรัชกาลของสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ พ.ศ.2302 มีการเปลี่ยนแปลงฐานะของหัวเมือง เป็นหัวเมืองชั้นเอก โท ตรี และจัตวา ซึ่งเมืองแพรกศรีราชาอยู่ในฐานะเมืองจัตวา เจ้าเมืองนา 3000 และได้ให้ชื่อเมืองว่าสรรคบุรี (กฎหมายตราสามดวง 2505 : 263-271)

โบราณสถานสำคัญในเมืองสรรคบุรี ได้แก่ วัดมหาธาตุ วัดสองพี่น้อง วัดพระแก้ว วัดโตนดหลาย วัดท่าเสา(ร้าง) วัดพระยาแพรก วัดจันทร์ วัดสนามชัย(ร้าง)

ผู้เรียบเรียงข้อมูล-ผู้ดูแลฐานข้อมูล

อโนชา ทับทิม

บรรณานุกรม

กฎหมายตราสามดวง เล่ม 1. พระนคร : องค์การค้าของคุรุสภา, 2505.  

กรมศิลปากร. ประชุมศิลาจารึกภาคที่ 1 : จารึกกรุงสุโขทัย. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2515.

คงเดช ประพัฒน์ทอง. “การสำรวจร่องรอยทางโบราณคดี อ่างทอง สิงห์บุรี ชัยนาท.” โบราณคดี 1, 1 (กรกฎาคม – กันยายน 2510) : 96.  

คณะกรรมการชำระประวัติศาสตร์. ความยอกย้อนของประวัติศาสตร์ : พิพิธนิพนธ์เชิดชูเกียรติศาสตราจารย์หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล. กรุงเทพ ฯ : คณะกรรมการชำระประวัติศาสตร์, 2539.   

โทโมฮิโตะ ทะคะตะ."แบบอย่างของเจดีย์ในเมืองสรรคบุรี กับการสะท้อนความสัมพันธ์ทางประวัติศาสตร์." วิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปศาตรมหาบัณฑิต (ประวัติศาสตร์ศิลปะ) บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2549.   

ธนธร กิตติกานต์. "เจดีย์วัดพระแก้ว สรรคบุรี จังหวัดชัยนาท" วิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปศาตรมหาบัณฑิต (ประวัติศาสตร์ศิลปะ) บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2549.   

น. ณ ปากน้ำ (นามแฝง). "สรรคบุรี นครแห่งความฝัน" เมืองโบราณ 1, 1 (กันยายน 2517) : 48-57.   วิยะดา ทองมิตร. "สรรคบุรี เมืองสำคัญแห่งลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนบน."เมืองโบราณ 43, 2 (เม.ย.-มิ.ย. 2560) : 29-36.     

ศรีศักร วัลลิโภดม. "แพรกศรีราชาถึงสรรคบุรี พัฒนาการของเมืองและรัฐภายในของลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนบน." เมืองโบราณ 40, 2 (เม.ย. - มิ.ย. 2557) : 14-27  

อโนชา ทับทิม. "วัดสองพี่น้อง เมืองสรรคบุรี จังหวัดชัยนาท : การวิเคราะห์หลักฐานทางศิลปกรรมร่วมกับข้อมูลใหม่ทางโบราณคดี." วิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปศาตรมหาบัณฑิต (ประวัติศาสตร์ศิลปะ) บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2557.


ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ภาพเกี่ยวกับแหล่งโบราณคดี