คลองคูเมืองเดิมธนบุรี (คลองบ้านขมิ้น)


โพสต์เมื่อ 20 มิ.ย. 2021

ที่ตั้ง : ถ.อิสรภาพ

ตำบล : บ้านช่างหล่อ

อำเภอ : เขตบางกอกน้อย

จังหวัด : กรุงเทพมหานคร

พิกัด DD : 13.752413 N, 100.483371 E

เขตลุ่มน้ำหลัก : เจ้าพระยา

เขตลุ่มน้ำรอง : คลองคูเมืองเดิม, คลองบ้านขมิ้น, คลองมอญ

เส้นทางเข้าสู่แหล่ง

อยู่บริเวณหน้าปากซอยอิสรภาพ 44

รถเมล์: สาย 146, 149, ปอ.177, ปอ.91

ประโยชน์ทางการท่องเที่ยว

เป็นแหล่งท่องเที่ยว

รายละเอียดทางการท่องเที่ยว

ปัจจุบันมีการปูพื้นเพื่อแสดงสัญลักษณ์ของกำแพงเมืองกรุงธนบุรีเดิม บริเวณหน้าปากซอยอิสรภาพ 44 สามารถเข้าเยี่ยมชมได้ทุกวัน โดยไม่เสียค่าเข้าชม

หน่วยงานที่ดูแลรักษา

กรุงเทพมหานคร

การขึ้นทะเบียน

ไม่ขึ้นทะเบียน

ภูมิประเทศ

ที่ราบ

สภาพทั่วไป

เป็นคลองคูเมืองเดิมสมัยธนบุรี ปัจจุบันมีสภาพตื้นเขิน หลังจากมีการขุดค้นได้มีการปูพื้นเพื่อแสดงสัญลักษณ์ของกำแพงเมืองกรุงธนบุรีเดิม บริเวณหน้าปากซอยอิสรภาพ 44

ความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง

2 เมตร

ทางน้ำ

แม่น้ำเจ้าพระยา, คลองคูเมืองเดิม, คลองบ้านขมิ้น, คลองมอญ

สภาพธรณีวิทยา

ตะกอนน้ำพาสมัยโฮโลซีน

ยุคทางโบราณคดี

ยุคประวัติศาสตร์

สมัย/วัฒนธรรม

สมัยธนบุรี

ประวัติการศึกษา

ชื่อผู้ศึกษา : สุนิสา มั่นคง, กรมศิลปากร

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2545

วิธีศึกษา : ขุดค้น


ประเภทของแหล่งโบราณคดี

เมืองโบราณ, กำแพงเมือง, คูเมือง

สาระสำคัญทางโบราณคดี

ชื่อ "บ้านขมิ้น" ในสมัยกรุงธนบุรีเป็นราชธานี ที่แห่งนี้เป็นชุมชนของช่างฝีมือที่ผลิตผงขมิ้นที่มีชื่อเสียง ต่อมาได้เปลี่ยนเป็นมะตูมเชื่อม จนทำให้ได้ชื่อว่า "ซอยมะตูม" หรือ "ตรอกมะตูม" ในซอยอรุณอัมรินทร์ 23 ซึ่งแต่เดิมซอยนี้มีชื่อว่า "ตรอกสวนอนันต์" ซึ่งผลิตเปลือกส้มโอจำหน่าย จนได้ชื่อว่า "บ้านเปลือกส้มโอ" แต่ภายหลังได้เปลี่ยนเป็นมะตูมเชื่อม ซึ่งไม่ปรากฏหลักฐานว่าได้เปลี่ยนมาตั้งแต่เมื่อใด แต่ทางการก็ได้เปลี่ยนชื่อเป็น ตรอกมะตูม ดังในปัจจุบัน เพื่อให้สอดคล้องกับลักษณะทางกายภาพเพื่อให้จดจำง่าย ส่วนชื่อบ้านขมิ้น เหลือหลักฐานเพียงศาลเจ้าพ่อบ้านขมิ้น (ปึงท้าวกง) ศาลเจ้าจีนขนาดเล็กของชาวแต้จิ๋วหลังหนึ่งที่ตั้งอยู่ใกล้กับแยก ซึ่งสร้างตรงกับรัชสมัยจักรพรรดิกวังซฺวี่ แห่งราชวงศ์ชิง และคลองบ้านขมิ้น ซึ่งเป็นลำคลองสายหนึ่งอันเป็นส่วนหนึ่งของคูเมืองกรุงธนบุรี อยู่ในแนวเลียบหลังบ้านเรือนประชาชนตั้งแต่ตรอกมะตูมผ่านหน้าวัดพระยาทำวรวิหาร ซึ่งปัจจุบันเหลือสภาพเป็นเพียงคลองที่ตื้นเขินและถูกรุกล้ำและกลายเป็นเพียงท่อระบายน้ำออกสู่คลองบางกอกน้อยเท่านั้น

ในปี 2545 สำนักโยธา กรุงเทพมหานครได้แจ้งกรมศิลปากรเรื่องงานก่อสร้างถนนอรุณอัมรินทร์จนถึงถนนอิสรภาพ มีงานด้านการก่อสร้างสะพาน ค.ส.ล ข้ามคลองที่อาจพาดผ่านกำแพงเมืองและคลองคูเมืองธนบุรี กรมศิลปากรจึงได้เข้ามาดำเนินการเพื่อหาแนวกำแพงเมืองธนบุรีและหลักฐานอื่นๆ จากการขุดลอกคลองคูเมืองบริเวณคลองบ้านขมิ้น

หลักฐานทางโบราณคดีสำคัญ (กรรณิการ์ สุธีรัตนภิรมย์ 2562)

1. แนวโบราณสถานที่ 1

แนวโบราณสถานก่อด้วยอิฐ ขนาด 1x2 เมตร ห่างจากคลองคูเมืองธนบุรีระยะประมาณ 5.5 เมตร สันนิษฐานว่าเป็นเขื่อนของคลองคูเมืองเดิม

2. แนวโบราณสถานที่ 2

แนวโบราณสถานก่อด้วยอิฐ ขนาด 1.80x2.80 เมตร สูง 1.32 เมตร ห่างจากคลองคูเมืองธนบุรี 25 เมตร พื้นบนสุดของโบราณสถานอยู่ต่ำกว่าถนนอรุณอัมรินทร์ 1 เมตร อิฐที่พบด้านล่างมีขนาดกว้างประมาณ 15 - 17 เซนติเมตร ยาวประมาณ 32 - 35 เซนติเมตร และหนาประมาณ 7 - 10 เซนติเมตร ชั้นบนใช้อิฐขนาดเล็กกว่าในการก่อสร้าง คือ อิฐมีขนาดกว้างประมาณ 17x10x5-7 เซนติเมตร คาดว่าเป็นแนวกำแพงเมืองธนบุรี

3. ชั้นทับถมของคลองคูเมืองธนบุรี

ชั้นดินที่ 1 เป็นชั้นทับถมสมัยปัจจุบัน พบเศษอิฐ เศษเปลือกหอย รากไม้ วัตถุสมัยใหม่ เช่น
เศษปูนซีเมนต์ เศษตะปู

ชั้นดินที่ 2 เป็นชั้นทับถมของคลองคูเมืองธนบุรีในอดีต พบเศษอิฐ เศษไม้ เศษถ่าน แสดงการใช้พื้นที่อยู่อาศัยบริเวณริมคลอง ต่อมาคลองคูเมืองธนบุรีตื้นเขินและคลองมีขนาดแคบลง ขอบเขตความกว้างของคลองคูเมืองเดิมในอดีตมีความกว้างประมาณ 10- 11 เมตร

ชั้นดินที่ 3 เป็นชั้นดินเดิมที่น่าจะมีอายุในสมัยเดียวกันกับพื้นขอบของคลองคูเมืองธนบุรี

ภายหลังการขุดค้นเสร็จสิ้น ได้ทำการกลบหลุมและปูพื้นแสดงขอบเขตของแนวกำแพงบริเวณที่ขุดค้นพบ

ผู้เรียบเรียงข้อมูล-ผู้ดูแลฐานข้อมูล

กรรณิการ์ สุธีรัตนาภิรมย์, ทนงศักดิ์ เลิศพิพัฒน์วรกุล

บรรณานุกรม

กรรณิการ์ สุธีรัตนาภิรมย์. โบราณคดีเมือง โบราณคดีกรุงเทพมหานคร. กรุงเทพฯ:  ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน), 2562.

สุนิสา มั่นคง. รายงานการขุดตรวจทางโบราณคดีคลองคูเมืองเดิมธนบุรี (คลองบ้านขมิ้น). เอกสารอัดสำเนา, 2545.

สุนิสา มั่นคง. “การขุดแต่งกำแพงเมืองธนบุรี (คลองบ้านขมิ้น).” ศิลปากร 46, 2 (กรกฎาคม - สิงหาคม 2546): 30-43.


ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ภาพเกี่ยวกับแหล่งโบราณคดี