วังบางขุนพรหม


โพสต์เมื่อ 20 มิ.ย. 2021

ชื่ออื่น : สำนักงานใหญ่ธนาคารแห่งประเทศไทย

ที่ตั้ง : ถ.สามเสน

ตำบล : วัดสามพระยา

อำเภอ : เขตพระนคร

จังหวัด : กรุงเทพมหานคร

พิกัด DD : 13.769892 N, 100.500091 E

เขตลุ่มน้ำหลัก : เจ้าพระยา

เส้นทางเข้าสู่แหล่ง

ตั้งอยู่แยกบางขุนพรหม ริมถนนสามเสน สามารถเดินทางได้ดังนี้ 

รถยนต์ส่วนตัว: ใช้เส้นทางสะพานพระราม 8 มุ่งหน้าไปยังถนนสามเสน ก่อนเข้าทางประตูธนาคารแห่งประเทศไทย           

รถเมล์: 30, 32, 33, 49, 64, 9

รถไฟฟ้า BTS: ลงสถานีราชเทวี ออกทางออกที่ 3 ต่อรถประจำทางสาย 99 หรือลงสถานีสะพานตากสิน ออกทางออกที่ 2 ต่อเรือด่วนเจ้าพระยาที่ท่าสาทร ไปขึ้นที่ท่าพระราม 8 จากนั้นเดินไปตามถนนวิสุทธิกษัตริย์

ประโยชน์ทางการท่องเที่ยว

เป็นแหล่งท่องเที่ยว

รายละเอียดทางการท่องเที่ยว

สามารถเข้าชมพิพิธภัณฑ์ธนาคารแห่งประเทศไทยธนาคารแห่งประเทศไทยได้ โดยพิพิธภัณฑ์เปิดให้เข้าชมเป็นรายบุคคล/หมู่คณะโดยไม่เก็บค่าเข้าชม ตั้งแต่วันจันทร์-วันศุกร์ ระหว่างเวลา 09.00-12.00 น. และ 13.00-16.00 น. ยกเว้นวันหยุดธนาคาร โดยวันจันทร์-วันอังคาร เปิดให้เข้าชมเป็นรายบุคคล (ไม่ต้องติดต่อล่วงหน้า) ส่วนวันพุธ-วันศุกร์ สำรองไว้สำหรับการขอเข้าชมเป็นหมู่คณะ ทั้งนี้ โปรดโทรศัพท์สอบถามตารางการเยี่ยมชมไม่น้อยกว่า 3 สัปดาห์ เพื่อจองวัน/เวลาเข้าชม ได้ที่หมายเลขโทรศัพท์ตามด้านล่าง หลังจากนั้นจึงทำหนังสือขออนุญาตเข้าชมถึงผู้อำนวยการหอสมุด จดหมายเหตุ และพิพิธภัณฑ์

โทรศัพท์ : 0-2283-5286, 0-2283-6723, 0-2283-6152, 0-2356-7702 และ 0-2283-5265    โทรสาร : 0- 2283-6115 หรือทาง e-mail ที่ Museum@bot.or.th

หน่วยงานที่ดูแลรักษา

ธนาคารแห่งประเทศไทย

การขึ้นทะเบียน

ขึ้นทะเบียนของกรมศิลปากร

รายละเอียดการขึ้นทะเบียน

ประกาศกรมศิลปากร เรื่อง ขึ้นทะเบียนโบราณสถานและกำหนดเขตที่ดินโบราณสถาน ในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 118 ตอนพิเศษ113ง วันที่ 14 พฤศจิกายน 2544

ภูมิประเทศ

ที่ราบ

สภาพทั่วไป

วังบางขุนพรหม ได้รับการคูแลรักษาเป็นอย่างดี ปัจจุบันเป็นที่ทำการของสำนักงานใหญ่ธนาคารแห่งประเทศไทย ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งทิศตะวันออก (ฝั่งพระนคร) ทิศตะวันตกจรดแม่น้ำเจ้าพระยา ทิศตะวันออกจดถนนสามเสน ทิศใต้จดถนนท่าเกษม และทิศเหนือจดวังเทวะเวสม์

ความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง

1 เมตร

ทางน้ำ

แม่นน้ำเจ้าพระยา

สภาพธรณีวิทยา

ตะกอนน้ำพาสมัยโฮโลซีน

ประวัติการศึกษา

ไม่พบผลลัพธ์

ประเภทของแหล่งโบราณคดี

พระราชวัง/วัง

สาระสำคัญทางโบราณคดี

พื้นที่บริเวณวังบางขุนพรม ในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่1 เรียกว่า "บ้านลาน" เพราะเป็นหมู่บ้านที่ทำใบลานขาย โดยมีขุนพรหม (สาตร) บุตรพระยาราชสงคราม(สวาสดิ์) เป็นผู้ผูกขาดการทำใบลานขาย (กรมศิลปากร 2564)

ต่อมารัชกาลที่ 1 โปรดเกล้าฯ ให้ขุนพรหมไปควบคุมการก่อสร้างมณฑปครอบรอบพระพุทธบาทที่จังหวัดสระบุรีแทนปู่ของท่านซึ่งเป็นผู้ออกแบบไว้ แต่ขุนพรหมได้เป็นไข้ตายโดยไม่มีทายาทสืบสกุล หลวงโยธามาตร (ตรุษ) พี่ชายขุนพรหม จึงยกบ้านและที่ดินของขุนพรหมขึ้นเป็นวัด ชื่อวัดบางขุนพรหม บริเวณนั้นจึงถูกเรียกว่า "บางขุนพรหม" นับแต่นั้นมา (กรมศิลปากร 2564)

ภายหลังวัดบางขุนพรหมชำรุดทรุดโทรมลงมากจวบจนสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 บรรดาลูกของหลวงโยธามาตร ซึ่งได้รับบรรดาศักดิ์เป็นพระยา 3 คน ได้ร่วมกันปฏิสังขรณ์วัดบางขุนพรหมขึ้นใหม่ แล้วทูลเกล้าฯ ถวายเป็นวัดหลวงใน พ.ศ.2366 พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงพระราชทานชื่อวัดตามนิมิตที่พี่น้อง 3 คนร่วมกันปฏิสังขรณ์ว่า "วัดสามพระยาวรวิหาร" ชื่อวัดบางขุนพรหมจึงเลือนหายไปแต่ชาวบ้านยังคงเรียกละแวกนี้ว่าบางขุนพรหมเช่นเดิม (กรมศิลปากร 2564)

พ.ศ.2439 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 มีพระราชดำริที่จะสร้างวังพระราชทานแก่พระราชโอรส (สมเด็จฯ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต) ซึ่งขณะนั้นเสด็จไปศึกษาวิชาการ ณ ประเทศเยอรมัน เพื่อเป็นที่ประทับภายหลังกลับจากศึกษาต่อต่างประเทศ จึงได้พระราชทานที่ดินนี้แก่ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต (ทูนกระหม่อมบริพัตรของชาววังบางขุนพรหม) ในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2442 หลังจากนั้น พระมารดา  สมเด็จพระปิตุจฉาเจ้า สุขุมาลมารศรี พระอัครราชเทวี ได้ทรงเป็นพระธุระจัดการเรื่องต่างๆ ในขณะที่ทูลกระหม่อมยังทรงศึกษาอยู่  ณ ทวีปยุโรป ครั้นทูลกระหม่อมเสด็จกลับมาเป็นการชั่วคราวใน พ.ศ. 2444 จึงทรงมีกำหนดชัดเจนว่าจะเสด็จกลับมาประทับเป็นการถาวรใน พ.ศ. 2446 วังบางขุนพรหมสร้างเสร็จและมีพิธีขึ้นพระตำหนักใหม่ เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2449 (ธนาคารแห่งประเทศไทย 2564)

การก่อสร้างวังนั้น กรมโยธาธิการเป็นผู้ดำเนินการออกแบบภายใต้การกำกับดูแลของพระสถิตย์นิมานการ (หม่อมราชวงศ์ชิต อิศรศักดิ์) ซึ่งงานออกแบบก่อสร้างของราชการในกรมโยธาธิการในระยะแรก ทั้งหมดอยู่ในความรับผิดชอบของนายคาร์ล ซันเดรคซกี อาคิเต๊กใหญ่  และนายเปาโล เรเมดีและนายมาริโอ ตามาญโญ  เป็นผู้ช่วย  สำหรับงานวิศวกรรมนั้นมี นายคาร์โล อัลเลกรี เป็นอินยิเนียใหญ่ และนายเอมิลโย โจวันนี อูเจนโย กอลโล เป็น อินยิเนียรอง  ภายหลังนายมาริโอ ตามาญโญ  รับผิดชอบด้านสถาปัตยกรรม และนายคาร์โล อันเลกรี ดูแลด้านวิศวกรรม (ธนาคารแห่งประเทศไทย 2564) 

กล่าวกันว่าวังบางขุนพรหมในสมัยที่สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์วรพินิต ประทับอยู่นั้น เป็นสถานที่ก่อให้เกิดหลายสิ่งหลายอย่างในกระแสวัฒนธรรมไทย ไม่ว่าจะเป็นการดนตรี การทำอาหาร โรงภาพยนต์และสนามกอล์ฟ เป็นต้น (กรมศิลปากร 2564)

ใน พ.ศ. 2475 เกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครอง นายทหารจากคณะราษฎร์จึงได้อัญเชิญสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์วรพินิต ไปประทับที่พระที่นั่งอนันตสมาคม และต่อมาจึงได้เสด็จฯ ไปประทับที่ประเทศอินโดนีเซียจนสิ้นพระชนม์ในปี 2456 ส่วนวังบางขุนพรหม ภายหลังได้เป็นสถานที่ทำงานของหน่วยราชการหลายแห่ง จนในปีพ.ศ. 2491 และปี พ.ศ. 2502 ทางรัฐบาลได้พิจารณาคืนวังบางขุนพรหมแก่ทายาทขึ้น แต่ด้วยเหตุผลบางประการจึงได้ระงับไป ดร.ป๋วย อึ้งภากรณ์ จึงเสนอให้ธนาคารแห่งประเทศไทย เป็นผู้ครอบครองกรรมสิทธิ์ที่ดินวังบางขุนพรหม และเสนอคณะรัฐมนตรีอนุมัติในปี 2531 ธนาคารแห่งประเทศไทยดำเนินการซ่อมแซมตำหนักเพื่อทำเป็นพิพิธภัณฑ์ ต่อมาปี พ.ศ. 2534 ในโอกาสที่ประเทศไทยจัดการประชุมสภาผู้ว่าการธนาคารโลก และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ วังบางขุนพรหมได้เป็นส่วนหนึ่งในรายการรับรองแขก และจัดให้มีนิทรรศการเงินตราในตัวตำหนักรูปแบบเดิมด้วย (กรมศิลปากร 2564)

สถาปัตยกรรม ในห้วงเวลาที่มีการออกแบบวังบางขุนพรหมนั้นสถาปัตยกรรมในยุโรปอยู่ในยุคของการปฏิวัติอุตสาหกรรม ทำให้สามารถผลิตวัสดุก่อสร้างแบบใหม่ เปลี่ยนแปลงการออกแบบ และวิธีการก่อสร้าง ดังนั้นสถาปัตยกรรมวังบางขุนพรหมจึงเป็นโครงสร้างก่ออิฐฉาบปูน ผนังรับน้ำหนัก มีโครงสร้างหลังคาไม้เนื้อแข็ง มุงด้วยกระเบื้องว่าว หลังคาเป็นทรงมังซาร์ ซึ่งมีลักษณะเป็นหลังคาสองชั้นซ้อนกันโดยมีความลาดของหลังคาแต่ละชั้นไม่เท่ากัน หลังคาชั้นล่างมีหน้าต่างเล็ก ๆ อย่างที่เรียกว่า ดอร์เมอร์ ยื่นออกจากหลังคาห่างกันเป็นระยะเท่าๆ กัน  ตำหนักใหญ่วังบางขุนพรหมมีความสวยงามเป็นเอกลักษณ์ด้วยการตกแต่งผนังปูนปั้นอันวิจิตร นับเป็นอาคารที่มีลวดลายประดับงามที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศไทย ปูนปั้นเหล่านี้ล้วนเป็นลวดลายที่ได้รับอิทธิพลจากตะวันตกในสมัยต่าง ๆ กัน โดยออกแบบให้สอดคล้องกับองค์ประกอบทางสถาปัตยกรรม  สถาปนิกใช้สถาปัตยกรรมแบบบาโรกและโรโกโกเป็นอิทธิพลหลักในการออกแบบ ดังจะเห็นได้จากรูปลักษณะหน้าบันและผนังภายนอกอาคาร หอกลมทางด้านทิศใต้ที่มีลักษณะโค้ง และผนังด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือที่เป็นเส้นโค้งเว้าเข้า และนูนต่อเนื่องกัน สำหรับการวางผังเป็นไปในลักษณะสถาปัตยกรรมแบบ บาโรกและใช้ต่อเนื่องมาจนปลายสมัยศตวรรษที่ 19 ส่วนองค์ประกอบที่ใช้ในการตกแต่งภายในห้องต่าง ๆ มีความคล้ายคลึงกัน โดยมีการใช้ปูนปั้นเป็นเส้นนูนตามกรอบประตูและช่องแสง ที่โดดเด่นที่สุดคือ บานประตูไม้แกะลายเส้นบนกึ่งกลางของลูกฟักไม้ ช่องแสงเหนือประตูปิดด้วยแผ่นไม้ฉลุลาย และฝ้าเพดานตกแต่งด้วยแผ่นไม้ฉลุลายและเน้นลวดลายด้วยการเขียนสีทอง พื้นภายในห้องต่าง ๆ เป็นพื้นไม้สักปูเข้าลิ้น ขัดมัน (ธนาคารแห่งประเทศไทย 2564)

สถานที่สำคัญ

ตำหนักใหญ่ ตำหนักทอดยาวไปตามทิศเหนือ-ใต้ ด้านหน้าตัววังหันไปทางทิศตะวันออก การออกแบบอาคารเป็นแบบศิลปะเรอเนสซองส์ ซึ่งมีอิทธิพลของศิลปะบารอคผสมอยู่บ้าง

ตำหนักสมเด็จ เดิมเคยเป็นที่ประทับของสมเด็จพระนางเจ้าสุขุมาลมารศรีฯ พระมารดาของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต รวมทั้งเป็นที่ประทับของฝ่ายในคือเจ้านายฝ่ายสตรีของวังบางขุนพรหม ลักษณะการก่อสร้างจึงงดงามอ่อนหวานแบบนวศิลป์ของเยอรมันเพราะผู้ออกแบบคือนายคาร์ล ดอริ่ง ชาวเยอรมนี ซึ่งสร้างแล้วเสร็จใน พ.ศ. 2456 การสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  รัชกาลที่ 5 เมื่อวันที่ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2453 ยังความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นแก่วังบางขุนพรหมอย่างสำคัญ  เนื่องเพราะตามขัตติยราชประเพณีนั้น  พระมเหสีเทวีของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศย่อมมีสิทธิที่จะกราบถวายบังคมลา  ย้ายที่ประทับออกมาเสด็จประทับอยู่กับพระราชโอรสที่ทรงมีวังของพระองค์เอง  ภายหลังจากที่พระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพได้ผ่านพ้นไปแล้ว สำหรับพระนางเจ้าสุขุมาลมารศรีนั้น  ในช่วงท้ายแห่งรัชกาลที่ 5 ทรงมีที่ประทับหลายแห่ง  ทั้งที่เขตพระราชฐานชั้นในในพระบรมมหาราชวัง  ที่พระที่นั่งอุดร  และตำหนักสวนนกไม้  วังสวนดุสิต  นอกจากนี้แล้วยังทรงมีตำหนักหลังใหญ่ในสวนสุนันทา  อันเป็นพระราชฐานชั้นในที่รัชกาลที่ 5 โปรดเกล้าฯ ให้สร้างเตรียมไว้สำหรับราชสำนักฝ่ายในของพระองค์จะได้อยู่อาศัย เมื่อพระองค์มิได้ทรงพระชนม์ชีพอยู่ต่อไปแล้ว อีกด้วย อย่างไรก็ตาม  เมื่อสิ้นรัชกาลที่ 5 แล้ว  ในพ.ศ. 2456 พระนางเจ้าสุขุมาลมารศรีก็ได้กราบถวายบังคมลาพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว  รัชกาลที่ 6 เพื่อออกมาประทับที่ตำหนักในวังบางขุนพรหมของสมเด็จฯ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์เป็นการถาวรสืบมา การออกแบบตำหนักองค์ใหม่นี้  สันนิษฐานว่าเริ่มต้นขึ้นในราวต้นปีพ.ศ. 2454  โดยสมเด็จฯ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์คงทรงติดต่อว่าจ้างให้นายคาร์ล  เดอห์ริง (Karl Döhring) สถาปนิกประจำกรมศุขาภิบาล  กระทรวงมหาดไทยขณะนั้นเป็นผู้ออกแบบ  ส่วนการก่อสร้างนั้นเข้าใจว่าจะเริ่มต้นขึ้นกลางพ.ศ. 2455  และแล้วเสร็จในราวกลางพ.ศ. 2456 ตำหนักใหม่นี้ตั้งอยู่ทางตะวันตกของตำหนักใหญ่  ทางทิศใต้ของตำหนักหอ เป็นตึกสองชั้น หลังคาสูงทรงจั่วหัวตัด  หันหน้าออกไปทางแม่น้ำ  ด้านหลังที่ชั้นบนมีสะพานเชื่อมกับตำหนักใหญ่  ลักษณะอาคารเป็นแบบคฤหาสน์ในชนบทหรือชานเมืองเยอรมันในสมัยนั้น  มีลักษณะผังที่คลี่คลายมาจากผังรูปตารางสี่เหลี่ยมเก้าช่อง  อันเป็นแผนผังแบบคลาสสิคของตะวันตก  มีการวางห้องต่างๆ ติดต่อกันรายล้อมห้องบรรทมที่ชั้นบน  และห้องโถงกลางที่ชั้นล่าง  ห้องเหล่านี้เปิดทะลุติดต่อกันได้ทั่ว  จึงไม่ต้องมีระเบียงทางเดินยาวเช่นที่ตำหนักใหญ่ ผังของตำหนักใหม่นี้จึงมีลักษณะที่เหมาะสมแก่การประทับพักผ่อนส่วนพระองค์ของเจ้านายฝ่ายใน  กล่าวคือสำหรับชั้นล่างนั้น ตรงกลางมีห้องโถง  ด้านตะวันออกคือด้านหน้านั้นเป็นเฉลียงปูหินอ่อน  เรียกกันว่าท้องพระโรง  ทางทิศใต้มีห้องประทับทรงสบายและห้องสรง  ส่วนทางทิศเหนือสันนิษฐานว่ามีห้องเสวยและห้องพักเครื่อง  สำหรับชั้นบนนั้น  ตรงกลางเป็นห้องบรรทมของพระนางเจ้าสุขุมาลมารศรี  ติดกันมีห้องแต่งพระองค์และห้องสรง  ทางใต้เป็นห้องประทับพักผ่อน  ทางตะวันตกมีสะพานเชื่อมไปยังตำหนักใหญ่ และโถงบันไดลงไปชั้นล่าง ส่วนทางตะวันออกเป็นเฉลียงยาว รับลมแม่น้ำ (ธนาคารแห่งประเทศไทย 2564)

ศาลาวงกลม เป็นศาลาวงกลมหักมุมแปดเหลี่ยม ประดับลายปูนปั้น หลังคาโค้ง สถาปัตยกรรมแบบยุโรป

ซุ้มประตูวังบางขุนพรหม สร้างขึ้นเป็นแนวทแยงมุมกับถนนสามเสน และยกย่องกันว่าเป็นการแสดงออกความโดดเด่นเป็นสง่าตามแบบลักษณะสถาปัตยกรรมแบบเรอเนสซองส์

หอถังน้ำ ลักษณะเป็นทรงกระบอกยอดสอบสูงประมาณ 15 เมตร

ในปี 2545 ด้วยธนาคารแห่งประเทศไทยจะดำเนินการก่อสร้างอาคารสำนักงานหลังใหม่ในพื้นที่ตั้งของธนาคารในปัจจุบัน ถนนสามเสน แขวงวัดสามพระยา เขตพระนคร แต่เดิมบริเวณนี้เป็นที่ตั้งของวังบางขุนพรหมและ
วังเทวะเวสม์ จึงจำเป็นต้องมีการศึกษาทางโบราณคดีก่อนการก่อสร้าง

หลักฐานทางโบราณคดีสำคัญ

การขุดค้นทางโบราณคดีในครั้งนี้ได้กำหนดหลุมขุดค้น 2x2 เมตร จำนวน 15 หลุม ผลการศึกษาสามารถแบ่งระยะการใช้พื้นที่ได้ 3 ระยะ ดังนี้

ระยะที่ 1 พื้นบริเวณนี้เป็นป่า น่าจะมีสภาพรกร้าง เป็นท้องทุ่งในสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์

ระยะที่ เป็นช่วงเวลาที่มีการสร้างวังเทวะเวสม์และมีชุมชนเข้ามาอยู่อาศัย ในช่วงพุทธศตวรรษที่  24 - 25 พบเศษภาชนะดินเผาเนื้อดินแบบพื้นเมือง เครื่องถ้วยจีนสมัยราชวงศ์ชิงในราวพุทธศตวรรษที่ 24 - 25 พบเหรียญทองแดงในสมัยรัชกาลที่ 5 สัณฐานของชั้นดินเป็นตะกอนท้องร่องคู สันนิษฐานว่าเป็นคูกั้นเขตแปลงภายในวังเทวะเวสม์

ระยะที่ 3 เป็นช่วงที่พบร่องรอยของการเข้าอยู่ของชุมชนสมัยใหม่ น่าจะเป็นช่วงสมัยการใช้พื้นที่เป็นวังเทวะเวสม์ ต่อมาได้เปลี่ยนเป็นที่ทำการของกระทรวงสาธารณสุขและที่ทำการธนาคารแห่งประเทศไทยตามลำดับ ในช่วงเวลานี้พบเศษพลาสติก ตะปูโลหะ เศษแก้ว ฐานตอม่อของอาคารคอนกรีต

ผู้เรียบเรียงข้อมูล-ผู้ดูแลฐานข้อมูล

ภาวิณี รัตนเสรีสุข, ทนงศักดิ์ เลิศพิพัฒน์วรกุล

บรรณานุกรม

กรมศิลปากร. "วังบางขุนพรหม(ธนาคารแห่งประเทศไทย)" ระบบภูมิสารสนเทศ แหล่งมรดกทางศิลปวัฒนธรรม. (ออนไลน์). เข้าถึงเมื่อ 25 สิงหาคม 2564. เข้าถึงจาก http://gis.finearts.go.th/fineart/

กรรณิการ์ สุธีรัตนาภิรมย์. โบราณคดีเมือง โบราณคดีกรุงเทพมหานคร. กรุงเทพฯ:  ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน), 2562.

ธนาคารแห่งประะเทศไทย. "วังบางขุนพรหม"  (ออนไลน์). เข้าถึงเมื่อ 25 สิงหาคม 2564. เข้าถึงจาก https://www.bot.or.th/Thai/MuseumAndLearningCenter/BOTMuseum/Palace/Pages/default.aspx

แน่งน้อย ศักดิ์ศรี, หม่อมราชวงศ์ และคณะ. พระราชวังและวังในกรุงเทพฯ พ.ศ. 2325-2525. กรุงเทพฯ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2525.

พิพิธภัณฑ์ธนาคารแห่งประเทศไทย.100 ปี วังบางขุนพรหม. กรุงเทพฯ: ธนาคารแห่งประเทศไทย, 2549.

ห้างหุ้นส่วนจำกัด พรอนันต์ก่อสร้าง (ม.ป.ป.). รายงานการดำเนินงานขุดตรวจทางโบราณคดี โครงการก่อสร้างสำนักงานหลังใหม่ ธนาคารแห่งประเทศไทย. เอกสารอัดสำเนา, ม.ป.ป.

ภาพเกี่ยวกับแหล่งโบราณคดี