โพสต์เมื่อ 3 เม.ย. 2022
ชื่ออื่น : ถ้ำวัด, ถ้ำพระ, วัดถ้ำพุทธ
ที่ตั้ง : เลขที่ 5/1 ม.6 บ้านถ้ำพระ
ตำบล : หนองบัว
อำเภอ : รัษฎา
จังหวัด : ตรัง
พิกัด DD : 7.966062 N, 99.744430 E
เขตลุ่มน้ำหลัก : ตรัง
เขตลุ่มน้ำรอง : คลองน้ำลอด
จากบริเวณที่ว่าการอำเภอรัษฎา ใช้ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 4269 มุ่งหน้าทางทิศใต้หรือมุ่งหน้าตัวจังหวัดตรัง ประมาณ 1.2 กิโลเมตร ถึงสี่แยก (สี่แยกตลาดจัดลุงชม) ให้เลี้ยวซ้าย (ตามป้ายถ้ำเขาพระ หรือองค์การบริหารส่วนตำบลเขาไพร) ประมาณ 5.4 กิโลเมตร พบสามแยก ให้เลี้ยวซ้าย ใช้ทางหลวงหมายเลข 4267 ประมาณ 3.4 กิโลเมตร พบสามแยก ให้เลี้ยวขวา ใช้ทางหลวงหมายเลข 4151ไปตามถนนประมาณ 8 กิโลเมตร พบสามแยก ให้เลี้ยวขวา ไปตามถนนประมาณ 750 เมตร ให้เลี้ยวขวา ไปตามป้ายวัดถ้ำพระพุทธ ประมาณ 1.6 กิโลเมตร ถึงวัดถ้ำพระพุทธ
วัดถ้ำพระพุทธ เป็นโบราณสถานสำคัญของจังหวัด ที่ได้รับการโปรโมทให้เป็น 1 ใน 20 โบราณสถานสำคัญของจังหวัดที่นักท่องเที่ยวห้ามพลาด เปิดให้ผู้สนใจเข้าเยี่ยมได้ทุกวัน โดยไม่เสียค่าเข้าชม แต่หากต้องการเข้าภายในอุโฐสถ จำเป็นต้องติดต่อทางวัดก่อน
วัดถ้ำพระพุทธ
ประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถานในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 52 หน้า 3685 วันที่ 8 มีนาคม 2478
พื้นที่ตั้งวัดถ้ำพระพุทธอยู่ในพื้นที่ราบสูงระหว่างภูเขา ซึ่งเป็นแนวเทือกเขาหินปูนเนื้อดินและเขาหินปูนที่อยู่ล้อมรอบวัด (แนวภูเขาดังกล่าวอยู่ในแนวเทือกเขานครศรีธรรมราช) ซึ่งเป็นที่ตั้งของแหล่งโบราณคดีถ้ำพระพุทธ ปัจจุบันวัดถ้ำพระพุทธเป็นผู้ดูแลและพัฒนาภายในถ้ำพระพุทธ รวมถึงโบราณวัตถุต่าง ๆ ที่พบภายในวัด
คลองน้ำลอด, แม่น้ำตรัง
พื้นที่ตั้งวัดถ้ำพระพุทธอยู่ในพื้นที่ราบสูงระหว่างภูเขา ตะกอนที่ทับถมเป็นตะกอนเศษหินเชิงเขา จากภูเขาหินปูนเนื้อดินและเขาหินปูนที่อยู่ล้อมรอบวัด และเป็นที่ตั้งของแหล่งโบราณคดีถ้ำพระพุทธ (กรมทรัพยากรธรณี 2550)
ชื่อผู้ศึกษา : กรมศิลปากร
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2559
วิธีศึกษา : บูรณปฏิสังขรณ์
ผลการศึกษา :
บูรณะเสริมความมั่นคงและลงรักปิดทององค์พระพุทธไสยาสน์วัดถ้ำพระพุทธ ปัจจุบันเป็นวัดราษฎร์ มหานิกาย สร้างขึ้นเมื่อประมาณ พ.ศ.2374 โดยพ่อท่านฉางหลวง สร้างขึ้นเพราะบนภูเข้าหน้าถ้ำมีพระพุทธรูปปางไสยาสน์องค์ใหญ่อยู่แล้ว จึงให้นามว่า “วัดถ้ำพระพุทธ” ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อ พ.ศ.2465 (สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ 2565; ภาณุวัฒน์ เอื้อสามาลย์ และคณะ 2561: 124)
ภายในวัดถ้ำพระพุทธ ในอดีตได้พบวัตถุโบราณเป็นจำนวนมาก เช่น พระพุทธรูปหยก ถ้วย ชาม ขัน ฆ้อง รวมถึงข้าวของเครื่องใช้ทำด้วยทองเหลืองและกระเบื้องเคลือบต่าง ๆ รวมถึงเตาเผาที่ใช้ในการหล่อหลอมภาชนะและองค์พระพุทธรูปอีกจำนวน 8 เตา ซึ่งโบราณวัตถุเหล่านี้จัดเก็บอยู่ในอุโบสถ สิ่งของเหล่านี้น่าจะเกี่ยวข้องกับทางเมืองนครศรีธรรมราช ยกเว้นขันทองเหลืองลูกเล็ก ซึ่งเล่ากันว่า เป็นของถวายวัดเมื่อมีงานศพ มีงานศพ 1 ครั้ง ก็ถวายขัน 1 ใบ ส่วนพระพุทธรูปบางองค์ในโบสถ์นั้นเคลื่อนย้ายมาจากถ้ำโตนดจากภูเขาอีกลูกหนึ่งซึ่งอยู่ไม่ไกลกันนัก (กรมศิลปากร 2565; สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดตรัง 2565)
โบราณปูชนียวัตถุที่สำคัญของวัด ได้แก่ พระพุทธรูปปูนปั้นบริเวณเพิงผา ศิลปะพื้นถิ่นภาคใต้ โดยมีพระพุทธรูปปางไสยาสน์เป็นประธาน 1 องค์ และมีพระพุทธรูปปางมารวิชัย ประทับยืนทรงเครื่องแบบมโนราห์ พระสาวก รวม 25 องค์ ทั้งหมดล้วนก่ออิฐถือปูน และดินเหนียวผสมน้ำผึ้ง (น้ำตาล) แบบโบราณ (ภาณุวัฒน์ เอื้อสามาลย์ และคณะ 2561: 124)
พระพุทธไสยาสน์ประดิษฐานอยู่บริเวณส่วนกลางของเพิงผา บรรทมตะแคงขวา พระหัตถ์ซ้ายทอดทาบไปตามพระวรกาย พระหัตถ์ขวาวางหงายอยู่บนพระเขนยด้านหน้าพระพักตร์ พระบาทซ้ายซ้อนทับพระบาทขว่ องค์พระมีขนาดสูง 3 เมตร ยาว 14.36 เมตรประดิษฐานอยู่บนแท่นฐานขนาดใหญ่ที่ตั้งชิดอยู่กับเพิงผา มีการประดับด้วยซุ้มจำนวน 11 ซุ้ม ที่ฐานส่วนบนยังมีการประดับลดลายปูนปั้นเป็นรุปโค้งแบบลอดคลื่น และมีพระเครื่องดินเผาประดับในซุ้ม ส่วนพระเขนยเป็นรูปวงกลมวางเรียงซ้อนกัน พบร่องรอยการบูรณะซ่อมแซมโดยใช้ปูนปั้นเสริม ตกแต่ง และทาสีเขียนลายเป็นรูปต่าง ๆ พร้อมด้วยการประดับหอยมุข และกระจกตะกั่วสีต่าง ๆ พระไสยาสน์มีลักษณะแบบพื้นถิ่นภาคใต้ พระพักตร์รูปไข่ พระนลาฏกว้าง พระหนุสอบลงและเป็นผม พระขนงโก่งโค้งต่อกันเป็นรูปปีกกา พระรัศมีรูปเปลวเพลิงเหนือลวดลายกลีบบัวซ้อนกัน มีไรพระศก เม็ดพระศกทรงกรวยเป็นหนามแหลมขนาดเล็กสีดำ พระเนตรเหลือบต่ำประดับด้วยหอยมุก พระวรกายลงรักปิดทอง ครองจีวรเรียบบบห่มเฉียงสีน้ำตาลแดงตกแต่งด้วยลวดลายสีทอง สังฆาฏิเป็นแผ่นใหญ่อยู่กึ่งกลางพระวรกาย ชายสังฆาฏิตัดตรงยาวลงมาจรดพระนาภี นิ้วพระหัตถ์ทั้งสี่ยาวเสมอกันปลายงอนข้นเล็กน้อย เล็บพระหัตถ์และพระบาทประดับด้วยเปลือกหิยมุกขนาดใหญ่ ปัจจุบันองค์พระได้รับการอนุรักษ์และเสริมความมั่นคง ลงรักปิดทองใหม่ใน พ.ศ.2559 โดยกรมศิลปากร ตามหลักฐานเดิม (ภาณุวัฒน์ เอื้อสามาลย์ และคณะ 2561: 124)
กรมทรัพยากรธรณี. การจำแนกเขตเพื่อการจัดการด้านธรณีวิทยาและทรัพยากรธรณีจังหวัดตรัง. กรุงเทพฯ: หจก. ไอเดีย สแควร์, 2550.
กรมศิลปากร. "ถ้ำวัดหรือถ้ำพระ(วัดถ้ำพระพุทธ)" ระบบภูมิสารสนเทศ แหล่งมรดกทางศิลปวัฒนธรรม. (ออนไลน์). เข้าถึงเมื่อ 15 มกราคม 2565. เข้าถึงจาก http://gis.finearts.go.th/fineart/
ภาณุวัฒน์ เอื้อสามาลย์, ศิริพร สังข์ศิริ, และธวัชชัย ชั้นไพศาลศิลป์. 247 โบราณสถานภาคใต้ที่ขึ้นทะเบียนแล้วและข้อมูลหลักฐานใหม่ทางโบราณคดี. นครศรีธรรมราช : สำนักศิลปากรที่ 12 นครศรีธรรมราช, 2561.
สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ. ระบบทะเบียนวัด. (ออนไลน์). เข้าถึงเมื่อ 15 มกราคม 2565. เข้าถึงจาก http://binfo.onab.go.th/Temple/Temple-List-view.aspx
สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดตรัง. "วัดถ้ำพระพุทธ". (ออนไลน์), 21 มกราคม 2565. เข้าถึงเมื่อ 15 เมษายน 2565. เข้าถึงจาก https://www.m-culture.go.th/trang/ewt_news.php?nid=1629&filename=index