โพสต์เมื่อ 23 ก.ย. 2021
ชื่ออื่น : บ้านจาเละ, ชุมชนโบราณยะรัง
ที่ตั้ง : ม.4 บ้านจาเละ
ตำบล : ยะรัง
อำเภอ : ยะรัง
จังหวัด : ปัตตานี
พิกัด DD : 6.76067 N, 101.307356 E
เขตลุ่มน้ำหลัก : ปัตตานี
เขตลุ่มน้ำรอง : บ้านดอนหวาย, บ้านปาหนัน
เมืองโบราณยะรังตั้งอยู่ในเขตพื้นที่อำเภอยะรัง จังหวัดปัตตานี มีเส้นทางเข้าสู่แหล่งโบราณคดีได้ 2 ทางคือ
- ตามเส้นทางหลวงหมายเลข 410 (ปัตตานี–ยะลา) จากจังหวัดปัตตานี ประมาณ 15 กิโลเมตร ถนนจะเลียบแนวคูเมืองทางทิศตะวันตกทางด้านเหนือลงไปและผ่านที่ว่าการอำเภอเมืองยะรัง ห่างจากจังหวัดยะลา ประมาณ 24กิโลเมตร
- ตามเส้นทางหลวงหมายเลข 4016 แยกจากอำเภอยะรังไปอำเภอมายอ ถนนตัดผ่านคูเมืองทางด้านทิศตะวันตกเข้าสู่กลางเมืองโบราณและตัดผ่านคูเมืองโบราณบ้านจาเละไปทางทิศตะวันออก
ปัจจุบันโบราณสถานจาเละหมายเลข 3 เปิดเป็นแหล่งท่องเที่ยว สามารถเข้าเยี่ยมชมได้ทุกวัน นอกจากนี้ยังศูนย์ข้อมูลเมืองโบราณยะรัง ซึ่งอยู่ในความดูแลของเทศบาลตำบลยะรัง ภายในมีห้องแสดงนิทรรศการแบบกึ่งถาวร ห้องสมุดสำหรับการศึกษาค้นคว้าของประชาชนในท้องถิ่น และมีเจ้าหน้าที่ให้ความรู้-คำแนะนำต่างๆ เกี่ยวกับชุมชนโบราณยะรัง
ผู้สนใจเข้าเยี่ยมชมเป็นหมู่คณะสามารถติดต่อผู้นำชมได้ที่เทศบาลตำบลยะรัง อ.ยะรัง จ.ปัตตานี ในวันและเวลาราชการ ที่เบอร์โทรศัพท์ 073-439-497
กรมศิลปากร, เทศบาลตำบลยะรัง
ขึ้นทะเบียนและกำหนดเขตที่ดินโบราณสถาน โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 116 ตอนพิเศษ 7ง เมื่อวันที่ 22 มกราคม พ.ศ. 2542
โบราณสถานบ้านจาเละหมายเลข 3 เป็นหนึ่งในโบราณสถานที่พบในกลุ่มเมืองโบราณบ้านจาเละ ชุมชนโบราณยะรัง ผังของเมืองโบราณบ้านจาเละเป็นเมืองที่มีคูน้ำล้อมรอบสามด้าน คือ ทิศเหนือเป็นคูขุดมีลักษณะแคบและลึก ทิศตะวันออกอาศัยทางน้ำธรรมชาติและทิศใต้ ขุดขนานตามทิศทางภูมิศาสตร์ ภายในเมืองจะมีกลุ่มโบราณสถานอิฐ 5 หลังที่อยู่ในคูน้ำรูปวงรี โดยโบราณสถานบ้านจาเละเป็น 1 ในจำนวน 5 หลัง คูน้ำรูปวงรีนี้จะมีคูเมืองบ้านจาเละทางทิศตะวันออกตัดผ่านทำให้แยกเป็น 2 พื้นที่ คือโบราณสถานหมายเลข 1–2-3 และ 8-9 (พรทิพย์ พันธุโกวิท 2547 : 2) โดยโบราณสถานบ้านจาเละหมายเลข 3 อยู่ฝั่งซ้ายของคูเมือง
อยู่ในเขตอิทธิพลของลุ่มแม่น้ำปัตตานี และทางน้ำรองบ้านดอนหวายและบ้านปาหนันซึ่งเป็นแขนงแยกของแม่น้ำปั้ตตานีเก่าทางตะวันออก (ปัจจุบันเหลือหลักฐานให้เห็นแค่เป็นทางน้ำเก่า)
เป็นที่ราบที่เกิดจากการทับถมของตะกอนแม่น้ำปัตตานีในยุค Cenozoic โดยเป็นการทับถมทั้งตะกอนแม่น้ำพัดพา (สำนักงานโบราณคดีและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่ 10 สงขลา 2541 : 13)
ชื่อผู้ศึกษา : อนันต์ วัฒนานิกร
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2496, พ.ศ.2509
วิธีศึกษา : สำรวจ
ผลการศึกษา :
ช่วง พ.ศ.2496-2509 มีการสำรวจ รวบรวมโบราณวัตถุ และบันทึกตำแหน่งโบราณสถานทั้งหมด 31 แหล่ง โดยรวมถึงเมืองโบราณบ้านจาเละชื่อผู้ศึกษา : กรมศิลปากร
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2531, พ.ศ.2532, พ.ศ.2533, พ.ศ.2534, พ.ศ.2536, พ.ศ.2545, พ.ศ.2547
วิธีศึกษา : สำรวจ, บูรณปฏิสังขรณ์, ขุดแต่ง, ทำผัง
องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร
ผลการศึกษา :
พ.ศ. 2531 ขุดแต่งโบราณสถานจาเละหมายเลข 3 และจัดทำรายงานชื่อ รายงานสังเขปผลการปฏิบัติงานทางด้านวิชาการโครงการขุดแต่งและบูรณะโบราณสถานเมืองยะรัง จังหวัดปัตตานี โดยกล่าวถึงผลการขุดค้นที่บ้านจาเละหมายเลข 3 ว่ามีความคล้ายคลึงกับศิลปะทวารวดีทางภาคกลางของประเทศไทย พ.ศ. 2532-2533 ทำการขุดแต่งโบราณสถานจาเละหมายเลข 3 (ต่อ) พ.ศ. 2534 ทำการวิเคราะห์โบราณวัตถุจากโบราณสถานบ้านจาเละหมายเลข 3 และวางแผนจัดทำแผนแม่บท ในปี พ.ศ. 2536 บำรุงรักษาโบราณสถานบ้านจาเละหมายเลข 2, 3 และ 8 และเก็บข้อมูลโบราณวัตถุที่ได้จากการขุดค้น วางแผนจัดทำแผนแม่บทสำหรับการอนุรักษ์ และจัดทำหนังสือ การสำรวจเมืองโบราณยะรัง ในปี พ.ศ. 2545 บูรณะโบราณสถานบ้านจาเละหมายเลข 3 ในปี พ.ศ. 2547 บูรณะโบราณสถานบ้านจาเละหมายเลข 3 และหมายเลข 8 ในบางส่วนชื่อผู้ศึกษา : สมหมาย ช่างเขียน, พวงทิพย์ แก้วทับทิม
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2540
วิธีศึกษา : กำหนดอายุทางวิทยาศาสตร์
องค์กรร่วม / แหล่งทุน : มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
ผลการศึกษา :
สมหมาย ช่างเขียน และพวงทิพย์ แก้วทับทิม แห่งมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี กำหนดอายุของโบราณสถานด้วยทางวิทยาศาสตร์โดยวิธีเทอร์โมลูมิเนสเซนซ์ โดยใช้ตัวอย่างจากสถูปดินเผาและอิฐ พบว่าโบราณวัตถุประเภทสถูปมีอายุ 579±17 B.P. ส่วนโบราณวัตถุประเภทอิฐมีอายุ 538±15 B.P. โดยผลไม่แตกต่างจากการหาค่าอายุ C14 dating สามารถกำหนดอายุแหล่งโบราณสถานแห่งนี้ว่ามีอายุ 523-596 B.P. (สมหมาย ช่างเขียน และพวงทิพย์ แก้วทับทิม 2540 : 15)โบราณสถานบ้านจาเละหมายเลข 3 เป็นซากอาคารก่ออิฐขัดผิวไม่สอปูนอยู่ในสภาพชำรุด ผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสขนาด 13.5 เมตร หันหน้าไปทางทิศตะวันออก มีส่วนประกอบ 2 ส่วน คือ
1.ส่วนฐานอาคารรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสเพิ่มมุมเป็นมุขที่กึ่งกลางฐานและมุมฐานทั้ง 4 ด้าน มุขทางด้านตะวันออกมีขนาดใหญ่ก่อเป็นลานคล้ายแท่น ฐานอาคารก่อเป็นฐานเขียงสองชั้น รับด้วยมาลัยลูกแก้วและแถวลายเม็ดประคำเหลี่ยม ด้านบนสร้างเป็นอาคารผนังเลียนแบบอาคารไม้ประกอบด้วยชั้นบัวหงายรองรับเสาหลอกรูปกลมขนาดเล็กและเสาหน้าต่างหลอกรูปสี่เหลี่ยม ด้านบนของหน้าต่างหลอกมีรางน้ำหินทรายและมุมมุขทั้งสี่ด้านประดับด้วยสถูปจำลองอาคารทรงกลม
2.ส่วนอาคารมีผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส ขนาดกว้าง 8.25 เมตร ต่อมุขยื่นออกไปทั้ง 4 ด้านเป็นรูปกากบาท ฐานตัวอาคารก่อเป็นฐานเขียง 2 ชั้น ต่อด้วยมาลัยลูกแก้ว แถวเม็ดประคำเหลี่ยมและชั้นบัวคว่ำบัวหงาย ด้านบนพังทลาย ส่วนกลางของอาคารเป็นห้องสี่เหลี่ยมจัตุรัส ขนาดกว้าง 5 เมตร มีช่องเข้าทางทิศตะวันออก ภายในมีแท่นขนาด 1.35 เมตร พื้นที่ระหว่างตัวฐานอาคารและอาคารเป็นลานประทักษิณ
โบราณวัตถุที่ได้จากการขุดแต่ง แบ่งเป็น
1.โบราณวัตถุประเภทส่วนประกอบสถาปัตยกรรม ได้แก่ รางน้ำหินทราย หินกรวดแม่น้ำ อิฐเผาไฟขนาดต่างๆทั้งที่มีรอยขัดและไม่มีรอบขัดแต่ง
2.โบราณวัตถุที่นอกเหนือจากส่วนประกอบทางสถาปัตยกรรมที่สำคัญ เช่น
พระพิมพ์ แบ่งออกตามวัสดุเป็น พระพิมพ์ดินดิบจำนวน 5,816 ชิ้น น้ำหนัก 53,342 กรัม และพระพิมพ์ดินเผา 2 ชิ้น น้ำหนัก 2,000 กรัม พระพิมพ์เหล่านี้มีสภาพแตกชำรุด ผิวด้านหน้าจะแสดงภาพนูนสูง ส่วนด้านหลังมีรอยน้ำมือประทับ โดยภาพที่แสดงทั้งหมดเกี่ยวเนืองกับพุทธศาสนา มีจารึกปรากฏอยู่บนพระพิมพ์ จากรูปแบบภาพที่ปรากฏบนพระพิมพ์ สามารถแบ่งออกได้เป็น 5 รูปแบบ คือ
(1) พระพิมพ์ที่มีรูปสถูปขนาดเล็กเดี่ยว (มี 2 แบบแบ่งเป็นสถูปฐานเตี้ย องค์ระฆังโอคว่ำ มีบัลลังก์เหลี่ยมและฉัตรวลีซ้อนกัน 7 ชั้นและรูปสถูปจำลอง ฐานสูง องค์ระฆังทรงหม้อน้ำ ฉัตรวลีชั้นเดียว)
(2) พระพิมพ์รูปสถูปจำลอง 3 องค์ (มี 3 แบบแบ่งเป็นรูปสถูปจำลอง ฐานสูงวางเรียงบนแถวเม็ดประคำ องค์ระฆังทรงหม้อน้ำมีฉัตรวลีซ้อน 7 ชั้น องค์กลางสูงกว่าด้านข้าง, สถูปจำลอง 3 องค์ในกรอบเส้นรูปวงรียอดโค้งแหลม ฐานสูง สถูปทรงเพรียว องค์ระฆังทรงหม้อน้ำ ฉัตรซ้อนกันหลายชั้นและสถูปจำลอง 3 องค์ในกรอบเส้นรูปวงรียอดโค้งแหลมคล้ายรูปปีกกา ฐานสูงวางเรียงซ้อนกัน สถูปองค์กลางสูงกว่าด้านข้าง องค์กลางมีฉัตรวลีซ้อนกัน 7 ชั้นส่วนองค์ด้านข้าง 5 ชั้น)
(3) พระพิมพ์รูปบุคคลเดี่ยว (มี 7 แบบ คือ พระพุทธเจ้ายืนเอียงพระโสณีในท่าตริภังค์บนปัทมาสน์, พระพุทธเจ้านั่งขัดสมาธิราบบนฐานปัทมาสน์, พระพุทธเจ้านั่งขัดสมาธิราบบนฐานปัทมาสน์ใต้ต้นโพธิ์ขนาบด้วยธรรมจักรบนเสาสูงและสถูป,พระพุทธเจ้านั่งขัดสมาธิราบบนฐานปัทมาสน์พระวรกายผอมขนาบด้วยสถูปจำลอง,พระพุทธเจ้านั่งขัดสมาธิราบบนฐานปัทมาสน์ พระพักษ์กลมต่อขนงปีกกา พระเนตรเหลือบต่ำ เม็ดพระศกกลม ยอดพระเกศาทรงโมลีขนาบด้วยสถูป,พระพุทธเจ้านั่งขัดสมาธิราบบนฐานปัทมาสน์ใต้พุ่มโพธิ์และร่มฉัตรขนาบด้วยสถูปจำลองเป็นแบบที่พบมากที่สุดและพระพุทธเจ้านั่งขัดสมาธิราบบนฐานปัทมาสน์ใต้พุ่มโพธิ์และร่มฉัตรขนาบด้วยสถูปจำลองด้านหลังพิมพ์เป็นรูปสถูปจำลอง)
(4) พระพิมพ์รูป 2–3 บุคคล (มี 2 แบบ คือพระพุทธเจ้าประทับนั่งหรือยืนขนาบด้วยพระโพธิสัตว์ยืนตริภังค์ มีสถูปจำลองและแบบพระพุทธเจ้าประทับนั่งขนาบด้วยพระโพธิสัตว์ประทับนั่ง)
(5) พระพิมพ์ทำเป็นรูปบุคคล 4-6 บุคคล แบ่งเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนบนทำเป็นรูปพระพุทธเจ้าประทับนั่งขัดสมาธิเรียงกัน 3 องค์ ด้านล่างเป็นพระพุทธเจ้าขนาบด้วยพระโพธิสัตว์
ส่วนการจำแนกพระพิมพ์ตามจารึกสามารถจำแนกได้ 2 กลุ่ม คือ กลุ่มคาถา “เยธมฺมาฯ” และ ขสมนาย “นิโรธมารเค”(ก่องแก้ว วีระประจักษ์ 2533 : 35 -50)
ชิ้นส่วนสถูปจำลอง พบทั้งในห้องโถงกลางและภายนอกรอบอาคาร จำแนกตามวัสดุเป็นชิ้นส่วนสถูปที่ทำจากดินดิบจำนวน 250 ชิ้น น้ำหนัก 2,000 กรัมและชิ้นส่วนจำลองสถูปที่ทำจากดินเผาจำนวน 482,157 ชิ้น น้ำหนัก 14,433,163 กรัม บนสถูปบางชิ้นพบจารึกบนฐานด้านนอกและด้านใน ตัวสถูปจำลองมีความหลากหลายรูปแบบและลวดลาย ในส่วนของการตกแต่งสถูปมีทั้งแบบเรียบ(ไม่ปรากฏลวดลาย)และแบบมีลวดลาย ลวดลายบนสถูปจำลองบางชิ้นมีความใกล้เคียงกับการตกแต่งภาชนะดินเผาสมัยทวารวดีที่นิยมลายกดประทับ ลายดอกไม้ บุคคลและสัตว์ในกรอบสี่เหลี่ยมซึ่งได้รับอิทธิพลของศิลปกรรมคุปตะและหลังคุปตะของอินเดีย จากรูปแบบลวดลายที่ปรากฏบนสถูปจำลองที่พบที่เมืองยะรัง นักวิชาการสันนิษฐานว่าได้รับอิทธิพลศิลปะปาละกำหนดอายุอยู่ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 15-16
พระโพธิสัตว์อวโลติเกศวรสำริด กำหนดอายุราวพุทธศตวรรษที่ 12 จำนวน 1 ชิ้น
แผ่นทองรูปกลมแบน
จากรูปแบบสถาปัตยกรรมสันนิษฐานว่าน่าจะมีการก่อสร้างตัวอาคารสองสมัย โดยอิฐที่ฐานมีความประณีตกว่าอิฐตัวอาคาร แต่เดิมตัวอาคารส่วนบนน่าจะมีการขึ้นไปประกอบพิธีกรรมได้ต่อมาเมื่อสภาพภายในอาคารไม่อำนวยจึงมีการก่ออิฐปิดบันไดขึ้นลง จากโบราณวัตถุที่พบร่วม เช่น พระพิมพ์ (พบเฉพาะในห้องกลางของโบราณสถาน) สันนิษฐานว่าอาจมีการใช้งานโบราณสถานแห่งนี้มาตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 12 และมีการมาใช้งานในพื้นที่นี้อีกครั้งในช่วงพุทธศตวรรษที่ 15-16 ดังจะเห็นได้จากโบราณวัตถุ เช่น สถูปจำลองศิลปะปาละกำหนดราวพุทธศตวรรษที่ 15-16 (พรทิพย์ พันธุโกวิท 2547 : 3-4) และการหาค่าอายุทางวิทยาศาสตร์โบราณวัถตุประเภทสถูปที่ได้ค่าอายุ 579±17 BP. และโบราณวัตถุประเภทอิฐมีอายุ 538±15 BP. (สมหมาย ช่างเขียน และพวงทิพย์ แก้วทับทิม 2540 : 15)
จากการขุดแต่งบูรณะเมืองโบราณยะรังพบจารึกที่ปรากฏบนโบราณวัตถุบนสถูปและพระพิมพ์ โดยสามารถแบ่งออกเป็น 3 ประเภท ดังนี้
1. โบราณวัตถุประเภทสถูปขนาดเล็ก หรือ สถูปิกะ ทำจากดินเผา มักปรากฏจารึกบนฐานด้านนอกและด้านใน
2. โบราณวัตถุประเภทสถูปพิมพ์ดินดิบทำเป็นภาพนูนตำ แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ รูปสถูปองค์เดียวเหนืออักษรจารึกและรูปสถูปสามองค์เหนืออักษรจารึก
3. โบราณวัตถุประเภทพระพิมพ์ ทำเป็นภาพนูนต่ำรูปพระพุทธเจ้าประทับนั่งสมาธิราบเหนือปัทมบัลลังก์อยู่ตรงกลาง มีสถูปขนาบ 2 ด้าน ด้านล่างมีอักษรจารึก
ตัวอักษรที่พบเป็นภาษาปัลลวะ ภาษาสันสกฤต กำหนดอายุอยู่ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 12 ข้อความที่ปรากฏ ได้แก่ คาถา “เยธมฺมาฯ” แปลว่า ธรรมใดมีเหตุเป็นแดนเกิด พระตถาคต ตรัสเหตุและความดับทุกข์แห่งธรรมเหล่านั้น พระมหาสมณะมีปกติตรัสดังนั้น และ ขสมนาย “นิโรธมารเค” แปลว่าในทางดับ โดยนัย(แห่งพระดำรัส) มีความหมายเน้นข้อหลักธรรม อันน้อมไปสู่ความหลุดพ้น โดยประสงค์ที่จะแสดงให้เห็นว่าพระเถระสงฆ์ผู้มรณภาพนั้น ดำเนินไปในทางแห่งความดับทุกข์ (ก่องแก้ว วีระประจักษ์ 2533 : 35 -50)
สรุปความสำคัญของโบราณสถานจาเละหมายเลข 3 คือ เป็นโบราณสถานที่มีความสำคัญเนื่องจากเป็นโบราณสถานที่ได้มีการศึกษาทางโบราณคดีอย่างเป็นระบบมากที่สุดในเมืองโบราณยะรังและเป็นแหล่งที่มีการกำหนดอายุทางวิทยาศาสตร์ จากการขุดแต่งพบว่าเป็นโบราณสถานที่สร้างขึ้นเนื่องในศาสนาพุทธมหายาน สันนิษฐานว่าโบราณสถานสร้างขึ้นตั้งแต่ช่วงพุทธศตวรรษที่ 12 จนช่วงพุทธศตวรรษที่ 15-16 มีการบูรณปฏิสังขรณ์ตัวสถูปแห่งนี้อีกครั้ง จากหลักฐานทางด้านโบราณคดี โบราณสถานบ้านจาเละหมายเลข 3 ถือเป็นสถูปเนื่องในพุทธมหายานที่เก่าที่สุดในประเทศไทย
ก่องแก้ว วีระประจักษ์. “วิเคราะห์จารึกเมืองยะรัง” ศิลปวัฒนธรรม 33, 6 (มกราคม-กุมภาพันธ์ 2533) : 35-50.
ภัคพดี อยู่คงดี และพรทิพย์ พันธุโกวิท. “โบราณสถานและโบราณวัตถุจากการขุดแต่งโบราณสถานบ้านจาเละ กลุ่มเมืองโบราณยะรัง จังหวัดปัตตานี” ใน การประชุมทางวิชาการระดับนานาชาติฝรั่งเศส-ไทยครั้งที่ 3 พัฒนาการของรัฐในประเทศไทยจากหลักฐานทางโบราณคดี. กรุงเทพฯ : มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2538 : 266–278.
ทิวา ศุภจรรยา และกฤษณพล วิชชุพันธ์. “สภาพแวดล้อมการตั้งถิ่นฐานชุมชนโบราณเมืองยะรัง จังหวัดปัตตานี” ใน การประชุมทางวิชาการระดับนานาชาติฝรั่งเศส-ไทยครั้งที่ 3 พัฒนาการของรัฐในประเทศไทยจากหลักฐานทางโบราณคดี. กรุงเทพฯ : มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2538 : 279 -292.
พรทิพย์ พันธุโกวิทย์. “การวิเคราะห์โบราณสถานในเมืองยะรัง” ใน วันนี้ของโบราณคดีไทย. (การประชุมสัมมนาทางวิชาการโบราณคดีปี 2547 วันที่ 17-18 สิงหาคม 2547 ณ ห้องประชุมใหญ่ ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร). ม.ท.ป., 2547 : 1 -18.
สมหมาย ช่างเขียน และพวงทิพย์ แก้วทับทิม. การหาค่าอายุโบราณวัตถุประเภทเครื่องปั้นดินเผาโดยวิธีเทอร์โมลูมิเนสเซนซ์บริเวณเมืองโบราณยะรัง อำเภอยะรัง จังหวัดปัตตานี. ปัตตานี : มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี, 2540.
สำนักงานโบราณคดีและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่ 10 สงขลา กรมศิลปากร. รายงานการสำรวจ ศึกษา ค้นคว้า การตั้งถิ่นฐานสมัยแรกเริ่มประวัติศาสตร์และประวัติศาสตร์ลุ่มแม่น้ำปัตตานีและสายบุรี. สงขลา : สำนักงานโบราณคดีและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่ 10, 2543.
สำนักศิลปากรที่ 13 สงขลา สำนักโบราณคดี กรมศิลปากร. แผนแม่บทโครงการอนุรักษ์และพัฒนาเมืองยะรัง จังหวัดปัตตานี (ฉบับปรับปรุง). กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์สมาพันธ์, 2548.
ศิริพร ลิ่มวิจิตรวงศ์. “พัฒนาการทางสังคมและวัฒนธรรมของชุมชนโบราณในเขตพื้นที่ภาคใต้ตอนล่างของประเทศไทยก่อนพุทธศตวรรษที่ 19” วิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต (โบราณคดีสมัยประวัติศาสตร์) บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2553.