โพสต์เมื่อ 3 มิ.ย. 2022
ชื่ออื่น : วัดพระธาตุไฮสร้อย
ที่ตั้ง : เลขที่ 30 ถ.ทางหลวงชนบทแพร่ 3030 ม.5 บ้านไฮสร้อย
ตำบล : ปากกาง
อำเภอ : ลอง
จังหวัด : แพร่
พิกัด DD : 18.037902 N, 99.785137 E
เขตลุ่มน้ำหลัก : ยม
เขตลุ่มน้ำรอง : ห้วยแม่ลอง
จากตัว อ.ลอง จ.แพร่ ใช้ทางหลวงชนบทแพร่ 3030 ลงมาทางทิศใต้สู่ ต.ปากกาง ประมาณ 7 กิโลเมตร จะถึงวัดพระธาตุไฮสร้อย
วัดพระธาตุไฮสร้อยเป็นวัดสำคัญวัดหนึ่งของอำเภอลอง เป็นวัดที่มีประวัติอันยาวนานคู่กับเมืองลอง ได้รับการเคารพสักการะเป็นอย่างมากจากชาวแพร่และพุทธศาสนิกชน
สภาพโดยทั่วไปเป็นวัดที่ยังคงใช้งานอยู่ในปัจจุบัน ได้รับการดูแลรักษาและอนุรักษ์ปูชนียสถานวัตถุ รวมทั้งปรับปรุงสภาพภูมิทัศน์ต่างๆเป็นอย่างดี พื้นกลางแจ้งเกือบทั้งวัดมีการปูเป็นพื้นหญ้า
ในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 4 เหนือ (หรือขึ้น 15 ค่ำ เดือน 2 ของภาคกลาง) ของทุกปีจะมีงานประเพณีขึ้นพระธษตุ หรือไหว้พระธาตุไฮสร้อยประจำปี
ผู้สนใจเข้าสักการะและเยี่ยมชมพระธาตุและปูชนียวัตถุสถานภายในวัด สามารถเข้าไปได้ทุกวัน หรือหากต้องการข้อมูลหรือติดต่อกับทางวัดสามารถติดต่อได้ที่ พระครูพิศาลอรรถกิจ (เจ้าอาวาส) เบอร์โทรศัพท์ 089-952-9991 อีเมล wathaisoi@hotmail.com เว็บไซต์ http://www.watpratarthisoi.com/
วัดพระธาตุไฮสร้อย, สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ
วัดพระธาตุไฮสร้อยและเวียงลอง ตั้งอยู่ในพื้นที่ตะพักล้ำน้ำแม่น้ำยมในแอ่งลอง ที่ทับถมในยุคควอเทอร์นารี ล้อมรอบไปด้วยเทือกเขา หากข้ามเขตเทือกเขาไปทางตะวันออกเป็นแอ่งแพร่ ส่วนทางตะวันตกเป็นแอ่งลำปาง ด้านทิศตะวันออกของวัดติดกับแม่น้ำยม ด้านทิศตะวันตกติดกับทางหลวงชนบทแพร่ 3030และบ้านเรือนราษฎร ทิศเหนือเป็นบ้านเรือนราษฎร และทิศใต้ติดกับลำน้ำแม่ลอง
สภาพโดยทั่วไปเป็นวัดที่ยังคงใช้งานอยู่ในปัจจุบัน ได้รับการดูแลอนุรักษ์ปูชนียสถานวัตถุ รวมทั้งปรับปรุงสภาพภูมิทัศน์ต่างๆเป็นอย่างดี พื้นกลางแจ้งเกือบทั้งวัดมีการปูเป็นพื้นหญ้า
แม่น้ำยม, ห้วยแม่ลอง
วัดพระธาตุไฮสร้อยและเวียงลอง ตั้งอยู่ในพื้นที่ตะพักล้ำน้ำแม่น้ำยมในแอ่งลอง ที่ทับถมในยุคควอเทอร์นารี
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2345
วิธีศึกษา : บูรณปฏิสังขรณ์
ผลการศึกษา :
สมัยครูบาจองสูงเป็นเจ้าอาวาส บูรณปฏิสังขรณ์พระธาตุไฮสร้อย ช่วงประมาณ พ.ศ.2345ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2453
วิธีศึกษา : บูรณปฏิสังขรณ์
ผลการศึกษา :
สมัยครูบาจันธิมา (ภายหลังได้รับตำแหน่งเป็นพระใบภีการูปแรกของอำเภอลอง) เป็นเจ้าอาวาสเมื่อ พ.ศ.2453 ผู้อุปถัมภ์ในการบูรณะครั้งนี้นำโดยเจ้าหลวงบุญวาทย์วงศ์มานิต (เจ้าน้อยบุญทวงศ์ ณ ลำปาง) เจ้าผู้ครองนครลำปางพระองค์สุดท้าย (พ.ศ.2440–2465) หรือที่จารึกก้านฉัตรพระธาตุไฮสร้อยที่เจ้าหลวงบุญวาทย์สร้างถวายปรากฏพระนามว่า "เจ้าบัวพิตรบุญวาทย์วงศาเอกราชสัมมยะกัปปะปุรีสะหรี" ซึ่งก่อนหน้านี้ใน พ.ศ.2446 พระองค์ก็ได้เป็นเจ้าอุปถัมภ์บูรณะพระธาตุขวยปูมาก่อนแล้ว ส่วนผู้ร่วมอุปถัมภ์ในการบูรณะพระธาตุไฮสร้อยมีทั้งฝ่ายเมืองนครลำปางและเมืองลอง คือ เจ้าราชบุตร (เจ้าน้อยแก้วเมืองปวน ณ ลำปาง), เจ้าไชยสงคราม(เจ้าน้อยเปี้ย ณ ลำปาง), เจ้าน้อยศรีสองเมือง ณ ลำปาง รองนายแขวงเมืองลอง, เจ้าแสนปัญญา ณ ลำปาง, เจ้าน้อยคำแสน ณ ลำปาง, แม่เจ้าหอม ณ ลำปาง, แม่เจ้าจันทน์คำ ณ ลำปาง พร้อมกับพระญาติวงศ์เจ้านายขุนนางและชาวเมืองนครลำปาง ส่วนทางฝ่ายเมืองลองก็มีพ่อเมืองลองทั้ง 4 คือ พญาวังใน (ต้นตระกูล "วังสมบัติ"), พญาราชสมบัติ, พญาประเทศโสหัตติ (ต้นตระกูล "เมืองลอง"), พญาเมืองชื่น, แสนอ้วน (พ่อน้อยหลักอ้วนจาอาบาล) ผู้ใหญ่บ้านไฮสร้อยพร้อมกับชาวบ้านไฮสร้อยและชาวเมืองลอง บูรณะแล้วเสร็จและมีงานฉลองพระธาตุไฮสร้อยเมื่อวันพุธ ที่ 22 มิถุนายน พ.ศ.2453 ตรงกับเดือน 9 เป็ง(เดือน 9 เหนือขึ้น 15 ค่ำ)ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2535
วิธีศึกษา : บูรณปฏิสังขรณ์
ผลการศึกษา :
ภายหลังจากพระธาตุได้พังทลายลงอีกครั้งก็ไม่มีการบูรณะอีก จนกระทั่งใน พ.ศ.2535 สมัยพระอธิการสวัสดิ์ ธมฺมรโต เป็นเจ้าอาวาสวัดพระธาตุไฮสร้อย จึงมีการบูรณะขึ้นอีกครั้งโดยการนำของฝ่ายฆราวาสคือ นายชาญชัย ภู่รักษ์เกียรติ หัวหน้าสถานีประมงน้ำจืดจังหวัดแพร่ ฝ่ายสงฆ์คือ พระธรรมรัตนากร รองเจ้าคณะภาค 6 (ปัจจุบันคือพระมหาโพธิวงศาจารย์) และพระครูเกษมรัตนคุณ อดีตรองเจ้าคณะจังหวัดแพร่ อดีตเจ้าคณะอำเภอลอง และอดีตเจ้าอาวาสวัดพระธาตุศรีดอนคำ พร้อมกับคณะศรัทธาบ้านไฮสร้อยและหมู่บ้านต่างๆในอำเภอลอง เริ่มบูรณะเมื่อวันที่ 6 เมษายน พ.ศ.2535 เมื่อแล้วเสร็จได้มีการนำพระบรมสารีริกธาตุและพระธาตุของพระมหาโมคคัลลานะ บรรจุร่วมไว้ในองค์พระธาตุด้วย มีการฉลองพระธาตุไฮสร้อย เมื่อวันที่ 6 มีนาคม พ.ศ.2536 เดือน 6 เป็ง (ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 เหนือ) และมีประเพณี (ไหว้) ขึ้นพระธาตุไฮสร้อยประจำปี ที่มีมาแต่โบราณในเดือน 4 เป็ง (ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 4 เหนือ)ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2548
วิธีศึกษา : บูรณปฏิสังขรณ์
ผลการศึกษา :
วิหาร ได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์แล้วเสร็จปี พ.ศ.2548วัดพระธาตุไฮสร้อยปัจจุบันเป็นวัดราษฎร์สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อ พ.ศ.2470 (สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ 2565) สันนิษฐานว่ามีอายุไม่ต่ำกว่า 700 ปี เป็นวัดหลวงกลางเวียงลอง ที่เป็นเมืองโบราณทางตอนกลางของแอ่งลอง ร่วมสมัยกับวัดตรอกสลอบ (ร้าง) ที่เป็นวัดหลวงกลางเวียงตรอกสลอบ (ปัจจุบันอยู่บริเวณ สภ.วังชิ้น จ.แพร่) ที่อยู่ทางตอนใต้ของแอ่งลอง และมีแม่น้ำยมไหลผ่านด้านทิศตะวันออกของเวียงเช่นเดียวกัน มีจารึกระบุว่ามีการสร้างพระธาตุตรอกสลอบโดยเจ้าเมืองตรอกสลอบ เมื่อ พ.ศ.1882
ในอดีตเวียงลองตรงบริเวณบ้านไฮสร้อยเป็นศูนย์กลางการปกครองของเมืองลองยุคแรก อายุราวพุทธศตวรรษที่ 17 มีกำแพงคันดิน 4 ชั้นและคูน้ำ 3 ชั้น ล้อมรอบด้านทิศเหนือ ทิศตะวันตก ส่วนด้านทิศตะวันออกใช้แม่น้ำยม (กว้างประมาณ 100 เมตร) และด้านทิศ ใต้ใช้ห้วยแม่ลอง (ลึกประมาณ 15 เมตร) เป็นปราการธรรมชาติ สันนิษฐานว่าเดิมกำแพงเวียงลองอาจมี 1–2 ชั้น แต่มีการก่อสร้างเพิ่มเป็น 4 ชั้นในสมัยพญาเป็กขะจา (พญาหูหิ้น) เป็นเจ้าเมืองลอง เพราะในช่วงนี้ (ประมาณ พ.ศ.1994-2018) พระเจ้าติโลกราช กษัตริย์ล้านนาทรงทำสงครามกับสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ กษัตริย์กรุงศรีอยุธยา เมืองลองจึงเป็นเมืองหน้าด่านหรือเมืองกันชนของล้านนา ขณะที่กรุงศรีอยุธยามีเมืองพิชัย (ปัจจุบันอยู่ใน จ.อุตรดิตถ์) เป็นเมืองหน้าด่านซึ่งสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถเสด็จขึ้นมาประทับสั่งการเมือง เวียงลองในช่วงนี้จึงมีการสร้างคูน้ำคันดินอย่างแน่นหนา (ภูเดช แสนสา 2553)
ตามประวัติภายในเวียงลองประกอบด้วยส่วนต่าง ๆ คือ หัวเวียงเป็นที่ตั้งของวัดหลวงหัวเวียง (วัดหัวข่วง) โฮงไชยผีเมือง (พ่อเฒ่าหลวง แม่นางแก้ว) ถัดลงมาเป็นข่วงสนามหลวง กาดหลวง คุ้มหลวงเจ้าเมือง และญาติวงศ์ กลางเวียงเป็นที่ตั้งวัดมหาธาตุกลางเวียง (วัดพระธาตุไฮสร้อย) มีพระธาตุไฮสร้อยเป็นใจเมือง (สะดือเมือง) หรือศูนย์กลางเมืองลอง ซ้อนทับอยู่กับไม้ใจเมือง (ต้นไทรย้อย) ที่เป็นศูนย์กลางตามความเชื่อผีดั้งเดิมอยู่ภายในวัด ด้วยความที่ไทรย้อยต้นนี้เป็นไม้ใจเมืองจึงมีการให้ความสำคัญตลอดมา เช่น นำมาตั้งเป็นชื่อวัดว่า "วัดไฮสร้อย" (ไฮ = ต้นไทร, สร้อย = รากไทรที่ห้อยย้อยลงมา) หรือจากในจารึกท้าย คัมภีร์ใบลาน (คำส่อ) ของวัดพระธาตุไฮสร้อย พบว่ามักเรียกชื่อวัดหลากหลายตามสภาพแวดล้อมที่ตั้งกับ ต้นไทร เช่น "วัดพระธาตุไฮสร้อยกิ่งย้อยดอนแท่น" "วัดพระธาตุไฮสร้อยดอนแท่นริมยม" หรือ "วัดพระ ธาตุไฮสร้อยดอนแท่นวังต๊ะครัว" และมีพุทธทำนาย (บางตำนานว่าพระเจ้าอโศกทรงทำนาย) ของวัดพระ ธาตุไฮสร้อยก็เชื่อมโยงกับต้นไทรว่า "เมื่อใดต้นไทรย้อยนี้รากย้อยถึงพื้นดิน เมื่อนั้นวัดพระธาตุแห่งนี้จะมีผู้อุปถัมภ์ให้เจริญรุ่งเรืองอีกครั้ง" (ภูเดช แสนสา 2553)
เวียงลองนอกจากมีวัดพระธาตุไฮสร้อยเป็นวัดกลางเวียงแล้ว ยังมีวัดบริวารอยู่สี่มุมเมือง คือ วัดหัวเวียง (วัดหัวข่วง) ด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือ วัดพระธาตุแหลมลี่ ด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ วัดม่อนโบสถ ด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ และวัดโกนหลวง ด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ส่วนหางเวียงลองเป็นที่ตั้งชุมชน และภายนอกเวียงด้านทิศใต้เป็นป่าช้าและแดนประหาร เจ้าเมืองลองเท่าที่ปรากฏนามตามตำนานในยุคแรกนี้ (ภูเดช แสนสา 2553) เช่น
(1) พญาศรีกุกกุฏฏะ (โอรสเจ้าเมืองเขลางค์นคร)
(2) พญาสถัมพหุลี (เจ้าสถัมพา)
(3) พญาพรหมกุลี
(4) พญาพูลิกะ (เจ้าผะหลิก, เจ้าผุหลิก)
(5) พญามธุรัสสะ (เจ้ามธุรส, บุตร 4)
(6) พญาสุรมาลัยยะ (เจ้าสุรมาลัย, บุตร 5)
(7) พญาเชิญเมือง
(8) พญาสิบสองเมือง (เจ้าสิบสองหัวเมือง, บุตร 7)
(9) พญาเป็กขะจา (เจ้าจอมฝาง หรือ พญาหูหิ้น, บุตร 8)
(10) พญาหัวเมืองแก้ว (พญาเมืองแก้ว)
ตามตำนานระบุว่าวัดพระธาตุไฮสร้อยสร้างโดยพญาสุรมาลัยยะ (เจ้าสุรมาลัย) เจ้าเมืองลองหรือที่ตำนานเรียกว่า "เมืองศิริกุกกุฏฏะไก่เอิ้ก" หรือ "เมืองเววาทะภาษิต" มีการสร้างพระธาตุไฮสร้อยไว้เป็นพระมหาธาตุกลางเวียง ซึ่งภายในตำนานระบุว่าบรรจุพระธาตุส่วนสมองของพระพุทธเจ้า (ภูเดช แสนสา 2553)
ในตำนานพระธาตุแหลมลี่ยังได้สร้างความสำคัญให้กับพระธาตุองค์ต่างๆในเมืองลอง โดยการจัดระบบพระธาตุให้เป็นคติบูชาพระธาตุประจำพระเจ้าห้าพระองค์ที่จะเสด็จตรัสรู้ในภัทรกัปนี้ คล้ายกับอาณาจักรล้านนาที่มีการจัดระบบพระธาตุให้เป็นพระธาตุประจำปีเกิด ซึ่งตำนานพระธาตุแหลมลี่ระบุว่าพระธาตุไฮสร้อยเป็นพระธาตุประจำพระเจ้ากกุสันธะ (องค์ที่ 1) และพระเจ้าโกนาคมนะ (องค์ที่ 2) พระธาตุขวยปูประจำพระเจ้ากัสปะ (องค์ที่ 3) พระธาตุแหลมลี่ประจำพระเจ้าโคตรมะ (องค์ที่ 4) และพระธาตุปูตั้บประจำพระศรีอริยเมตตรัย (องค์ที่ 5) (ภูเดช แสนสา 2553)
ด้วยวัดพระธาตุไฮสร้อยเป็นวัดหลวงกลางเวียงลองและพระธาตุไฮสร้อยเป็นพระมหาธาตุกลางเวียงลอง จึงได้รับการอุปถัมภ์จากเจ้าเมืองลองและชาวเมืองลองตลอดมา จนกระทั่งภายหลังสงครามครั้งใหญ่ระหว่างราชอาณาจักรอยุธยากับราชอาณาจักรล้านนา ใน พ.ศ.2020 พญาหัวเมืองแก้ว ชาวเมืองเชียงใหม่ เสนาบดีของพระเจ้าติโลกราช กษัตริย์ล้านนาราชวงศ์มังรายพระองค์ที่ 9 (พ.ศ.1984–2030) ถูกส่งมาเป็นเจ้าเมืองลองแทนพญาเป็กขะจา อดีตเจ้าเมืองลองที่ได้ถึงแก่อนิจกรรม จึงได้ย้ายศูนย์กลางการปกครองมาตั้งมั่นชั่วคราวที่บ้านก่อนดอนหัวนา (บริเวณโรงเรียนบ้านห้วยอ้อปัจจุบัน) สันนิษฐานว่าเนื่องจากเวียงลองเก่าได้รับความเสียหายจากสงครามระหว่างล้านนากับอยุธยาที่ยาวนานร่วม 20 กว่าปี และห้วยแม่ลองเปลี่ยนเส้นทางเดินตัดผ่านขึ้นมาทางเหนือประมาณ 1 กิโลเมตร ปัจจุบันยังปรากฏเส้นทางเดินน้ำเก่านี้เรียกว่า "ห้วยแม่ลองด้วน" การเปลี่ยนเส้นทางของห้วยแม่ลองส่งผลให้ในฤดูฝนเกิดน้ำท่วม ล้อมรอบเป็นเกาะขังผู้คนไว้ในเวียง ไม่สามารถเข้าออกเวียงได้เลยนอกจากใช้เรือ และน้ำยังท่วมถึงบริเวณที่ราบนอกเวียงที่เป็นนาปลูกข้าวและที่ตั้งหมู่บ้านต่างๆ ชาวเมืองกลุ่มใหญ่จึงอพยพขึ้นเหนือตามพญาหัวเมืองแก้ว บางกลุ่มอพยพไปทางทิศใต้บริเวณตำบลทุ่งแล้งในปัจจุบัน เพราะเป็นที่ดอนและใกล้พระธาตุแหลมลี่ พระธาตุขวยปู และพระธาตุปูตั้บ ส่วนกลุ่มข้าวัดพระธาตุแหลมลี่ บ้านปากห้วยแม่ควาย (บ้านแหลมลี่) กลุ่มข้าผีเมือง (ตระกูลผีปู่ย่าพ่อเฒ่าหลวง) ตีนจองรองบ่อ (ผู้ดูแลรักษาบ่อเหล็ก) บ้านนาตุ้ม และหมู่บ้านที่ตั้งถิ่นฐานอยู่บนที่ดอนอยู่แล้ว เช่น บ้านปากกาง บ้านร่องบอน ยังคงอาศัยอยู่ที่เดิม (ภูเดช แสนสา 2553)
พญาหัวเมืองแก้วได้ตั้งมั่นชั่วคราวที่บ้านก่อนดอนหัวนาอยู่ร่วม 10 ปี เพื่อหาที่เหมาะสม เตรียมพร้อมกำลังไพร่พลและเก็บเกี่ยวเสบียงอาหาร ในระหว่างนี้จึงได้พบชัยภูมิที่เหมาะสมสำหรับตั้งเวียงคือบริเวณเวียงเหล่าเวียง (บริเวณบ้านนาหลวงในปัจจุบัน) ที่เคยเป็นเวียงบริวารของเวียงลอง จึงบูรณะขึ้นใหม่เพื่อเป็นศูนย์กลางการปกครองของเมืองลองยุคที่ 2 (พ.ศ.2030–2318) ซึ่งภายหลังใน พ.ศ.2318 พญาชื่นสมบัติ (ต้นตระกูล "ชื่นสมบัติ”) เจ้าเมืองลองจึงได้ย้ายมาตั้งศูนย์กลางเมืองลองจากเหล่าเวียงมาอยู่ที่บ้านฮ่องอ้อ (ห้วยอ้อ) ในปัจจุบัน ส่งผลให้ภายในเวียงลองเก่ารุ่นแรกมีผู้คนอาศัยอยู่เบาบางและค่อยร้างไปในที่สุด เหลือเพียงผู้คนที่ตั้งหมู่บ้านอยู่รอบๆเวียง เช่น บ้านนาตุ้ม (ใต้) บ้านปากกาง บ้านร่องบอน และบ้านปากห้วยแม่ควาย (บ้านแหลมลี่) เป็นต้น ซึ่งเมื่อมีงานประเพณี (ไหว้) ขึ้นพระธาตุไฮสร้อยในเดือน 4 เป็ง ( ขึ้น 15 ค่ำ) เดือน 4 เหนือ ก็จะเป็นกำลังหลักทำการแผ้วถางทำความสะอาดครั้งหนึ่ง (ภูเดช แสนสา 2553)
จนกระทั่ง พ.ศ.2345 เมื่อล้านนามีการฟื้นฟูบ้านเมืองในยุคเก็บผักใส่ซ้าเก็บข้าใส่เมือง พระเจ้ากาวิละ พระเจ้านครเชียงใหม่ราชวงศ์เจ้าเจ็ดตน พระองค์ที่ 1 (พ.ศ.2325–2358) และเจ้านายเมืองนครลำปางได้นำกำลังขึ้นไปตีเมืองนครเชียงตุงได้เจ้านายเมืองนครเชียงตุง ขุนนาง ครูบามหาเถระ ช่างฝีมือและชาวเมืองนครเชียงตุง ให้มาตั้งถิ่นฐานในเมืองนครเชียงใหม่ เมืองนครลำพูน และเมืองนครลำปาง ซึ่งขณะนั้นเมืองลองเป็นเมืองขึ้นของเมืองนครลำปาง (อำเภอลองโอนไปขึ้นกับจังหวัดแพร่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ.2474 และพ.ศ.2501 แยกออกไปตั้งเป็นอำเภอวังชิ้น) จึงมีชาวนครเชียงตุงบางส่วนเข้ามาตั้งถิ่นฐานด้วย กลุ่มที่เข้ามาเมืองลองนำโดยครูบาจองสูง หรือ ครูบาจอสุงจนฺทวโร พร้อมช่างฝีมือและชาวเมืองนครเชียงตุง โดยกลุ่มครูบาจองสูงตั้งถิ่นฐานที่บ้านไฮสร้อย และได้ฟื้นฟูวัดพระธาตุไฮสร้อยที่เคยร้างไปดังปรากฏในปัจจุบัน และอีกกลุ่มตั้งถิ่นฐานฟื้นฟูวัดบ้านกาง (บริเวณบ้านร่องบอน) ซึ่งการเข้ามาฟื้นฟูวัดพระธาตุไฮสร้อยของครูบาจองสูง ภายหลังท่านจึงได้เป็นเจ้าอาวาสวัดพระธาตุไฮสร้อย สิ่งก่อสร้างของวัดส่วนใหญ่จึงมีรูปแบบศิลปะเป็นแบบไทเขิน–ไทใหญ่ ดังที่ปรากฏหลงเหลือจนถึงปัจจุบัน (ภูเดช แสนสา 2553)
ลำดับเจ้าอาวาสวัดพระธาตุไฮสร้อยเท่าที่มีการบันทึกไว้ มีดังนี้
(1) ครูบาจอสูง (จอสุง) จนฺทวโร
(2) ครูบายศ
(3) ครูบาแก้ว
(4) ครูบาจุมปู
(5) ครูบาจันธิมา
(6) ครูบาอินต๊ะ
(7) ครูบามา
(8) พระอธิการเขียน อินฺตโร
(9) พระอธิการสวัสดิ์ ธมฺมรโต
(10) พระครูพิศาลอรรถกิจ (เจ้าอาวาสรูปปัจจุบัน)
ผังวัดพระธาตุไฮสร้อยเดิมมีกำแพงแก้วแบ่งเขตพุทธาวาสและสังฆาวาสอย่างชัดเจน แต่ปัจจุบันกำแพงดังกล่าวรื้อออกไปแล้ว ตั้งแต่ก่อนการบูรณะพระธาตุครั้งหลังสุด (เจ้าอาวาสรูปก่อน) เนื่องจากชาวบ้านเรียกร้องให้รื้อ เพราะกำแพงแก้วรวมทั้งประตูกำแพงแก้วเล็กคับแคบ ยากแก่การนำสิ่งของขนาดใหญ่เข้าไปภายในกำแพงแก้วและไม่สะดวกในการแห่ขบวนรอบพระธาตุ กำแพงแก้วที่รื้อออกไปปัจจุบันเหลือให้เห็นเป็นแนวฐานก่ออิฐถือปูนรอบเขตพุทธาวาส สูงพ้นดินขึ้นมาเล็กน้อย มีเพียงด้านทิศตะงันตกเฉียงเหนือที่สูงเหนือพื้นดินขึ้นมาเกือบ 1 เมตร นอกจากนี้ที่ด้านทิศใต้ ระหว่างเขตพุทธาวาสและสังฆาวาส ยังหลงเหลือเสาประตูกำแพงแก้วก่ออิฐถือปูน 2 ต้น (1 ช่องประตู) ตั้งเด่นอยู่
เดิมภายในกำแพงแก้วซึ่งเป็นเขตพุทธาวาสมีพระธาตุไฮสร้อยเป็นศูนย์กลาง วิหารตั้งติดกับพระธาตุทางทิศตะวันออก หันหน้าไปยังแม่น้ำยม (หรือด้านทิศตะวันออก) หันด้านหลังให้พระธาตุ ส่วนด้านทิศเหนือติดกับพระธาตุเป็นอุโบสถ หันด้านหน้าไปทางทิศเหนืออยู่ด้านทิศเหนือ
พื้นที่ภายในวัดมีการถมดินขึ้นสูงกว่าจากเดิมมาก ประมาณ 1.5-2 เมตร จะเห็นได้จากพื้นระหว่างด้านหน้าวิหารกับแม่น้ำยมที่แต่เดิมมีทางเดินและบันไดเชื่อมกันระหว่างวิหารกับท่าน้ำ แต่ปัจจุบันไม่เห็นหลักฐานดังกล่าวเนื่องจากจมอยู่ใต้ดิน ซึ่งพระครูพิศาลอรรถกิจ เจ้าอาวาส ได้ให้ข้อมูลว่าลักษณะหัวบันไดที่ยังคงจมอยู่ใต้ดินเป็นมกรและจระเข้
นอกจากนี้ พระครูพิศาลอรรถกิจยังให้ข้อมูลเกี่ยวกับวิหาร อุโบสถ และการบูรณปฏิสังขรณ์อีกว่า
วิหาร ได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์แล้วเสร็จปี พ.ศ.2548 (ใช้เวลาดำเนินการ 8 ปี) ภายในประดิษฐานพระประธานที่เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ที่เป็นองค์เก่าแก่ดั้งเดิม พระพุทธรูปองค์นี้เป็นพระพุทธปรูปแกนไม้ ก่ออิฐ ฉาบด้วยปูนขาว ได้รับการปฏิสังขรณ์ทาสีส่วนพระฉวีเป็นสีขาว จีวรสีทอง พระโอษฐ์สีแดง ส่วนฐานชุกชีที่เป็นรูปดอกบัวและเป็นของเดิม แต่ได้รับการปฏิสังขรณ์ให้สวยงามขึ้น นอกจากนี้ภายในวิหารยังมีธรรมาสน์ อายุประมาณกว่า 200 ปี ตั้งอยู่ 1 องค์ จิตรกรรมฝาผนังภายในวิหารปัจจุบันมีทั้ง 4 ด้าน เป็นภาพพุทธประวัติ สวรรค์ และอดีตเจ้าอาวาสวัดพระธาตุไฮสร้อย แต่จิตรกรรมวิหารหลังเดิมมีเฉพาะด้านหลังพระประธาน เป็นลวดลายทิวทัศน์ ต้นไม้ ป่าไม้ แม่น้ำ ลิง เป็นต้น
อุโบสถ (ห้ามเพศหญิงเข้าไปภายใน) แต่เดิมมีเพียงประตูกลางที่ด้านหน้าประตูเดียว แต่เจ้าอาวาสองค์ก่อนได้ปรับปรุงให้เป็น 2 ประตูด้านหน้า ซ้ายขวาภายในประดิษฐานพระประธานคือพระเจ้านอน ซึ่งเป็นพระพุทธรูปปางไสยาสน์
พระธาตุไฮสร้อย องค์ที่เห็นปัจจุบันได้รับการบูรณะเมื่อปี พ.ศ.2535 แล้วเสร็จในปี พ.ศ.2536 รูปแบบไม่เหมือนเดิม ลักษณะพระธาตุแต่เดิมคงเหมือนกับองค์พระธาตุลำปางหลวง
มณฑปพระเจ้าสามพี่น้องหรือพระพุทธรูปสามพี่น้อง เป็นการรื้อกุฏิเดิมออก แล้วสร้างใหม่ในปี พ.ศ.2555 จนปัจจุบันก็ยังไม่แล้วเสร็จดี เนื่องจากขาดงบประมาณ
ส่วนรายละเอียดของโบราณปูชนียวัตถุสถานที่สำคัญภายในวัด มีดังนี้
(1) พระธาตุไฮสร้อย
พระธาตุไฮสร้อย สร้างคู่มากับวัดพระธาตุไฮสร้อยมีอายุไม่ต่ำกว่า 700 ปี ถือว่าเป็นพระมหาธาตุกลางเวียงลอง หรือ พระธาตุใจเมืองลองยุคแรก (พระธาตุศรีดอนคำเป็นพระธาตุกลางเมืองลองยุคที่ 3) องค์พระธาตุไฮสร้อยยุคแรกสร้างด้วยศิลาแลงทั้งองค์มีฐานเขียงสี่เหลี่ยมจำนวน 3 ชั้นส่วนที่ต่อสูงขึ้นได้พังทลายไม่ปรากฏหลักฐาน มีการบูรณะหลายครั้ง เท่าที่มีบันทึกมีจำนวน 3 ครั้ง คือ
ครั้งที่ 1 สมัยครูบาจองสูงเป็นเจ้าอาวาส ช่วงประมาณ พ.ศ.2345
ครั้งที่ 2 สมัยครูบาจันธิมา (ภายหลังได้รับตำแหน่งเป็นพระใบภีการูปแรกของอำเภอลอง) เป็นเจ้าอาวาสเมื่อ พ.ศ.2453 ผู้อุปถัมภ์ในการบูรณะครั้งนี้นำโดยเจ้าหลวงบุญวาทย์วงศ์มานิต (เจ้าน้อยบุญทวงศ์ ณ ลำปาง) เจ้าผู้ครองนครลำปางพระองค์สุดท้าย (พ.ศ.2440–2465) หรือที่จารึกก้านฉัตรพระธาตุไฮสร้อยที่เจ้าหลวงบุญวาทย์สร้างถวายปรากฏพระนามว่า "เจ้าบัวพิตรบุญวาทย์วงศาเอกราชสัมมยะกัปปะปุรีสะหรี" ซึ่งก่อนหน้านี้ใน พ.ศ.2446 พระองค์ก็ได้เป็นเจ้าอุปถัมภ์บูรณะพระธาตุขวยปูมาก่อนแล้ว ส่วนผู้ร่วมอุปถัมภ์ในการบูรณะพระธาตุไฮสร้อยมีทั้งฝ่ายเมืองนครลำปางและเมืองลอง คือ เจ้าราชบุตร (เจ้าน้อยแก้วเมืองปวน ณ ลำปาง), เจ้าไชยสงคราม(เจ้าน้อยเปี้ย ณ ลำปาง), เจ้าน้อยศรีสองเมือง ณ ลำปาง รองนายแขวงเมืองลอง, เจ้าแสนปัญญา ณ ลำปาง, เจ้าน้อยคำแสน ณ ลำปาง, แม่เจ้าหอม ณ ลำปาง, แม่เจ้าจันทน์คำ ณ ลำปาง พร้อมกับพระญาติวงศ์เจ้านายขุนนางและชาวเมืองนครลำปาง ส่วนทางฝ่ายเมืองลองก็มีพ่อเมืองลองทั้ง 4 คือ พญาวังใน (ต้นตระกูล "วังสมบัติ"), พญาราชสมบัติ, พญาประเทศโสหัตติ (ต้นตระกูล "เมืองลอง"), พญาเมืองชื่น, แสนอ้วน (พ่อน้อยหลักอ้วนจาอาบาล) ผู้ใหญ่บ้านไฮสร้อยพร้อมกับชาวบ้านไฮสร้อยและชาวเมืองลอง บูรณะแล้วเสร็จและมีงานฉลองพระธาตุไฮสร้อยเมื่อวันพุธ ที่ 22 มิถุนายน พ.ศ.2453 ตรงกับเดือน 9 เป็ง(เดือน 9 เหนือขึ้น 15 ค่ำ)
ครั้งที่ 3 ภายหลังจากพระธาตุได้พังทลายลงอีกครั้งก็ไม่มีการบูรณะอีก จนกระทั่งใน พ.ศ.2535 สมัยพระอธิการสวัสดิ์ ธมฺมรโต เป็นเจ้าอาวาสวัดพระธาตุไฮสร้อย จึงมีการบูรณะขึ้นอีกครั้งโดยการนำของฝ่ายฆราวาสคือ นายชาญชัย ภู่รักษ์เกียรติ หัวหน้าสถานีประมงน้ำจืดจังหวัดแพร่ ฝ่ายสงฆ์คือ พระธรรมรัตนากร รองเจ้าคณะภาค 6 (ปัจจุบันคือพระมหาโพธิวงศาจารย์) และพระครูเกษมรัตนคุณ อดีตรองเจ้าคณะจังหวัดแพร่ อดีตเจ้าคณะอำเภอลอง และอดีตเจ้าอาวาสวัดพระธาตุศรีดอนคำ พร้อมกับคณะศรัทธาบ้านไฮสร้อยและหมู่บ้านต่างๆในอำเภอลอง เริ่มบูรณะเมื่อวันที่ 6 เมษายน พ.ศ.2535 เมื่อแล้วเสร็จได้มีการนำพระบรมสารีริกธาตุและพระธาตุของพระมหาโมคคัลลานะ บรรจุร่วมไว้ในองค์พระธาตุด้วย มีการฉลองพระธาตุไฮสร้อย เมื่อวันที่ 6 มีนาคม พ.ศ.2536 เดือน 6 เป็ง (ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 เหนือ) และมีประเพณี (ไหว้) ขึ้นพระธาตุไฮสร้อยประจำปี ที่มีมาแต่โบราณในเดือน 4 เป็ง (ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 4 เหนือ)
ลักษณะพระธาตุไฮสร้อยในปัจจุบัน เป็นเจดีย์ทรงปราสาท 5 ยอด ทาด้วยสีทอง ส่วนเรือนธาตุทั้ง 4 ด้าน ยกเก็จประดิษฐานพระพุทธรูปปางลีลา พระหัตถ์ขวาเหยียดตรงแนบพระองค์ พระหัตถ์ซ้ายแสดงวิตรรกะมุทรา พื้นประทักษิณรอบพระธาตุปูด้วยแผ่นกระเบื้อง และประดิษฐานรูปปั้นเจ้าเมืองลอง พญาศรีกุกกุฏฏะ มีบันไดทางขึ้นจากพื้นล่างสู่ลานประทักษิณทั้ง 4 ทิศ
(2) พระเจ้าสามพี่น้อง
เป็นพระพุทธรูปปูนปั้น 3 องค์ สร้างขึ้นเมื่อประมาณ พ.ศ.2345 มีรูปแบบทางศิลปะเป็นแบบไทเขิน–ไทใหญ่ แต่เนื่องด้วยมีการบูรณะหลายสมัยจึงปรากฏมีศิลปะแบบไทยวน (ล้านนา) ผสมอยู่ในปัจจุบัน
ตามประวัติสล่าหรือช่างที่ปั้นพระพุทธรูปมี 3 คน เป็นชาวไทเขิน–ไทใหญ่ที่ติดตามครูบาจองสูง (จอสุง) คือ สล่ากุ่มหม่า สล่าตุ๊ และสล่าจอง พระพุทธรูปองค์ใหญ่ตรงกลางสูงประมาณ 3 ศอก (1.5 เมตร) หน้าตักประมาณ 2 ศอก (1 เมตร) และองค์เล็ก 2 องค์ซ้ายขวา สูงประมาณ 2 ศอก (1 เมตร) หน้าตักประมาณ 1 ศอก 1 คืบ (75 เซนติเมตร) ใน พ.ศ.2464 มีการสร้างกุฏิครอบองค์พระทั้ง 3 องค์ไว้ พระเจ้าสามพี่น้องจึงเป็นพระประธานอยู่ภายในกุฏิ จนกระทั่ง พ.ศ.2552 มีการรื้อกุฏิหลังเก่าออกและย้ายไปสร้างกุฏิในที่ใหม่ จึงจะมีการก่อสร้างเป็นมณฑปพระเจ้าสามพี่น้อง ซึ่งตั้งอยู่ทางทิศใต้ของพระธาตุ ปัจจุบันกำลังดำเนินการสร้างยังไม่แล้วเสร็จดีนัก เนื่องจากขาดงบประมาณ
นอกจากนี้ พระครูพิศาลอรรถกิจให้ความเห็นว่าพระพุทธรูปทั้ง 3 องค์มีพุทธลักษณะแตกต่างกันเนื่องจากปั้นขึ้นจากช่าง 3 คน โดยเป็นศิลปะพม่า 2 องค์ และศิลปะเงี้ยว (ไทใหญ่) 1 องค์ (องค์เบื้องซ้ายขององค์ประธาน) และพระครูยังให้ข้อมูลเพิ่มเติมอีกว่าได้มีพระสงฆ์มาทำการเปลี่ยนพระเกศาพระพุทธรูปทั้ง 3 องค์ใหม่ดังที่เห็นในปัจจุบัน*
(3) พระเจ้านอน
พระเจ้านอน (พระพุทธรูปปางไสยาสน์) เป็นพระพุทธรูปศิลปะล้านนา อายุหลายร้อยปี ประดิษฐานเป็นพระประธานในอุโบสถของวัดพระธาตุไฮสร้อย ซึ่งพระเจ้านอนที่มีมาแต่โบราณของเมืองลองมีเพียง 2 องค์ คือ พระเจ้านอนเววาทะภาษีต์ พระประธานวิหารวัดพระธาตุแหลมลี่ กับพระเจ้านอน พระประธานภายในอุโบสถวัดพระธาตุไฮสร้อยนี้เท่านั้น ในอดีตอุโบสถแห่งนี้จะใช้เป็นที่ลงโบสถ์หรือทำสังฆกรรมของพระสงฆ์ในภายหัวหมวดอุโบสถ (หรือบางครั้งก็ไปลงโบสถ์ที่อุโบสถวัดพระธาตุแหลมลี่) ซึ่งประกอบด้วย 11 หัววัด คือ (1) วัดพระธาตุไฮสร้อย (2) วัดพระธาตุแหลมลี่ (3) วัดนาตุ้ม (4) วัดนาอุ่นน่อง (5) วัดนาหมาโก้ง (วัดเชตะวัน) (6) วัดปากกาง (7) วัดปากปง (8) วัดท่าเดื่อ (9) วัดวังต้นเกลือ (10) วัดแม่ลอง และ (11) วัดวังเคียน
(4) พระเจ้าปูนปั้น
ปัจจุบันพระเจ้าปูนปั้นประดิษฐานอยู่ร่วมกันพระเจ้าสามพี่น้อง ภายในมณฑปพระเจ้าสามพี่น้อง พระพุทธรูปองค์นี้มีอายุประมาณร้อยปี ปั้นโดยครูบาอินทวิไชยอรัญวาสี อดีตเจ้าอาวาสวัดพระธาตุศรีดอนคำ (ภายหลังย้ายมาเป็นเจ้าอาวาสวัดดอนมูล) ครูบาอินทวิไชยอรัญวาสีเป็นบุตรชายของพญาประเทศโสหัตติ และเป็น "พระสังฆราชา" หรือ "มหาครูบาหลวงเมือง" รูปสุดท้ายของเมืองลอง ซึ่งเป็นพระอุปัชฌาย์ของครูบาจันธิมา อดีตเจ้าอาวาสวัดพระธาตุไฮสร้อย
พระครูพิศาลอรรถกิจให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า พระพุทธรูปองค์นี้อัญเชิญมาจากวัดแม่ลานใต้ ในตัวอำเภอลอง แต่ขณะขนย้ายใส่เกวียน ได้หล่นลงพื้นทำให้พระศอหัก แต่มีการนำมาต่อในภายหลัง
กรมทรัพยากรธรณี. ธรณีวิทยา จังหวัดแพร่. (ออนไลน์), 2555, เข้าถึงเมื่อ 19 พฤษภาคม 2565. เข้าถึงจาก http://www.dmr.go.th/download/teacher/Phrae/doc_phra.pdf
กรมศิลปากร. "พระธาตุไฮสร้อย" ระบบภูมิสารสนเทศ แหล่งมรดกทางศิลปวัฒนธรรม. (ออนไลน์). เข้าถึงเมื่อ 19 พฤษภาคม 2565. เข้าถึงจาก http://gis.finearts.go.th/fineart/
พระครูพิศาลอรรถกิจ (เจ้าอาวาสวัดพระธาตุไฮสร้อย). สัมภาษณ์เมื่อ 21 สิงหาคม 2556.
ภูเดช แสนสา. "วัดพระธาตุไฮสร้อย : วัดที่ถูกสร้างขึ้นตามคติวัดหลวงกลางเวียงในล้านนา" (ออนไลน์). มูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์ (1 ก.ย. 2553). เข้าถึงเมื่อ 1 มิถุนายน 2565. เข้าถึงจาก https://lek-prapai.org/home/view.php?id=573%20%20%E0%B8%A7%E0%B8%99%E0%B8%97
สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ. ระบบทะเบียนวัด. (ออนไลน์). เข้าถึงเมื่อ 19 พฤษภาคม 2565. เข้าถึงจาก http://binfo.onab.go.th/Temple/Temple-List-view.aspx