วัดร้างบ้านร่องไฮ


โพสต์เมื่อ 19 ก.พ. 2024

ชื่ออื่น : สันธาตุ, สันธาตุ 1, วัดร้างบ้านร่องไฮ กลุ่มที่ 1, โบราณสถานบ้านร่องไฮ กลุ่มที่ 1, สันธาตุหน่อแก้ว

ที่ตั้ง : ม.1 บ้านร่องไฮ

ตำบล : แม่ใส

อำเภอ : เมือง

จังหวัด : พะเยา

พิกัด DD : 19.148657 N, 99.888299 E

เขตลุ่มน้ำหลัก : ยม

เขตลุ่มน้ำรอง : อิง, แม่ต๋ำ

เส้นทางเข้าสู่แหล่ง

โบราณสถานตั้งอยู่ทางทิศใต้ของกว๊านพะเยา โดยหากมาจากแยกแม่ต๋ำ ให้ใช้ทางหลวงหมายเลข 1193 มุ่งหน้ากว๊านพะเยา (มุ่งหน้าทิศตะวันตก) ประมาณ 240 เมตร พบสามแยกที่ตัดกับถนนแม่ต๋ำสายใน ให้เลี้ยวซ้าย ประมาณ 120 เมตร พบสามแยก ให้เลี้ยวขวา ไปตามถนนพะเยาแม่นาเรือ (ทางหลวงหมายเลข 1193) ประมาณ 1.7 กิโลเมตร พบสามแยกให้เลี้ยวขวา (มีป้าบโบราณสถานบ้านร่องไฮขนาดใหญ่อยู่ปากถนน) ไปตามถนนอีก 1.7 กิโลเมตร (มีป้ายบอกตลอดทาง) จะพบโบราณสถาน 

ประโยชน์ทางการท่องเที่ยว

เป็นแหล่งท่องเที่ยว

รายละเอียดทางการท่องเที่ยว

เป็นโบราณสถานริมกว๊านพะเยา มีภูมิทัศน์ที่สวยงามและร่มรื่น สามารถเข้าเยี่ยมชมได้ทุกวัน โดยไม่เสียค่าเข้าชม

หน่วยงานที่ดูแลรักษา

จังหวัดพะเยา, องค์การบริหารส่วนตำบลแม่ใส, กรมศิลปากร

การขึ้นทะเบียน

ไม่ขึ้นทะเบียน

ภูมิประเทศ

ที่ราบ

สภาพทั่วไป

ปัจจุบันเป็นโบราณสถานร้าง ตั้งอยู่ทางทิศใต้ของกว๊านพะเยา โดยตั้งอยู่ริมกว๊าน ในเขตบ้านร่องไฮ ต.แม่ใส อ.เมืองพะเยา จ.พะเยา ได้รับการดูแลรักษาอย่างดีจากจังหวัดพะเยา องค์การบริหารส่วนตำบลแม่ใส และกรมศิลปากร

ความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง

393 เมตร

ทางน้ำ

แม่น้ำอิง, แม่ต๋ำ

สภาพธรณีวิทยา

ตะกอนน้ำพาโดยอิทธิพลของแม่น้ำอิง

ยุคทางโบราณคดี

ยุคประวัติศาสตร์

สมัย/วัฒนธรรม

สมัยล้านนา

อายุทางโบราณคดี

พุทธศตวรรษที่ 20-21

ประวัติการศึกษา

ชื่อผู้ศึกษา : จังหวัดพะเยา, ห้างหุ้นส่วนจำกัด เฌอ กรีน

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2547

วิธีศึกษา : สำรวจ, ทำผัง

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : จังหวัดพะเยา

ผลการศึกษา :

"โครงการก่อสร้างโครงการศูนย์การเรียนรู้แบบ HOME STAY โบราณสถานบ้านร่องไฮ หมู่ 1 และ หมู่ 11 ตำบลแม่ใส อำเภอเมือง จังหวัดพะเยา" ระหว่าง 1 พฤษภาคม - 30 กันยายน 2547 เป้าหมาย 1. สำรวจเขียนแบบโบราณสถานในกลุ่มบ้านร่องไฮจำนวน 12 รายการ 2. ขุดตรวจศึกษาฐานรากอาคารโบราณสถานจำนวน 12 หลุม 3.จัดทำบอร์ดนิทรรศการความสำคัญของแหล่งโบราณคดีและวิถีประมงพื้นบ้าน จำนวน 10 บอร์ด 4. จัดทำรายงานผลการสำรวจและขุดตรวจ วิธีดำเนินงาน 1) สำรวจเขียนแบบโบราณสถานในกลุ่มบ้านร่องไฮ 2) ขุดตรวจศึกษาฐานรากอาคารโบราณสถาน 3)สำรวจเก็บข้อมูลวิถีชุมชนตามโครงการประมงพื้นบ้าน 4) เผยแพร่ผลการดำเนินงานในรูปแบบเอกสารรายงานและการจัดนิทรรศการ

ชื่อผู้ศึกษา : สำนักศิลปากรที่ 7 น่าน,

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2554

วิธีศึกษา : สำรวจ, ทำผัง

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร

ผลการศึกษา :

สำรวจเพื่อประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถานวัดร่องไฮ (ร้าง) หมู่ 1 ตำบลแม่ใส อำเภอเมือง จังหวัดพะเยา โดยสำนักศิลปากรที่ 7 น่าน

ชื่อผู้ศึกษา : จังหวัดพะเยา, ห้างหุ้นส่วนจำกัด เฌอ กรีน

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2561

วิธีศึกษา : ขุดค้น, ขุดแต่ง

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : จังหวัดพะเยา

ผลการศึกษา :

"โครงการพัฒนากว๊านพะเยาอย่างยั่งยืน กิจกรรมปรับปรุงและขุดค้นขุดแต่งโบราณสถานบ้านร่องไฮ ตำบลแม่ใส อำเภอเมืองพะเยา จังหวัดพะเยา" ระหว่างวันที่ 31 ตุลาคม 2560 - 26 สิงหาคม 2561 โดยทำการขุดตรวจฐานรากอาคารโบราณสถาน นอกจากนั้นยังได้ขุดแต่งโบราณสถานกลุ่มที่ 3 ขุดแต่งโบราณสถานหมายเลข 5 กู่นกเค้า

ประเภทของแหล่งโบราณคดี

ศาสนสถาน

สาระสำคัญทางโบราณคดี

ที่มาของชื่อ “บ้านร่องไฮ” สันนิษฐานว่า สมัยก่อนน่าจะมีร่องน้ำไหลผ่านกลางหมู่บ้านลงสู่แม่น้ำอิงหรือหนองเอี้ยง ซึ่งสองฝั่งร่องน้ำเรียงรายด้วยต้นไทรใหญ่ขึ้นอยู่เรียงกัน และภาษาพื้นเมืองภาคเหนือเรียกต้นไทรว่า ต้นไฮ ดังนั้นจึงน่าจะเป็นที่มาของชื่อบ้านร่องไฮ

ข้อมูลจากกรมศิลปากรระบุว่า โบราณสถานตั้งอยู่ทางทิศใต้ของกว๊านพะเยา ไม่ปรากฏชื่อและประวัติการก่อสร้างที่ชัดเจน จึงเรียกตามชื่อหมู่บ้านว่า "โบราณสถานบ้านร่องไฮ" หรือ "วัดร้างบ้านรองไฮ"  บริเวณนี้ยังปรากฏซากเนินโบราณสถานอยู่หลายกลุ่ม และเนื่องจากโบราณสถานในบริเวณนี้เป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มโบราณสถานในกว๊านพะเยาที่โผล่พ้นระดับน้ำในกว๊านพะเยา จึงมีชื่อเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “สันธาตุ” ซึ่งมีความหมายว่าพื้นที่สูงซึ่งมีซากโบราณสถานปรากฏอยู่

กรมศิลปากรและจังหวัดพะเยา ได้ขุดแต่งโบราณสถานแห่งนี้เมื่อ พ.ศ. 2547 และ 2561พบโบราณสถานประกอบด้วยเจดีย์ วิหาร และอาคารไม่ทราบหน้าที่ใช้งานอีก 2 หลัง โบราณสถานทั้งหมดมีกำแพงล้อมรอบ (ชมภาพการขุดแต่งของกรมศิลปากรเมื่อปี 2561)

เจดีย์ มีแผนผังเป็นรูปแปดเหลี่ยม คงสภาพเฉพาะส่นฐานซึ่งประกอบด้วยส่วนฐานเขียงซ้อนเหลื่อมกัน 3 ชั้น ถัดขึ้นไปเป็นฐานบัวคว่ำและท้องไม้ที่มีการตกแต่งด้วยการก่ออิฐทะแยงเป็นรูปฟันปลา เหนือขึ้นไปเป็นซากปรักหักพัง

วิหาร ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของเจดีย์ มีแผนผังเป็นรูปส่เหลี่ยมผืนผ้า มีบันไดทางขึ้นอยู่ทางทิศตะวันออก ท้ายวิหารมีฐานชุกชีซึ่งพบร่องรอยการก่อสร้างและบูรณะ 2 ครั้ง โดยการก่อสร้างครั้งแรกมีแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้ายกเก็จด้านหน้า 1 ชชั้น ต่อมาได้มีการบยายฐานชุกชีให้มีขนาดใหญ่จนเต็มพื้นที่โดยที่ยังคงยกเก็จด้านหน้าไว้ และมีการก่ออิฐพอกเสาคู่หน้าฐานชุกชี ทำให้มีแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้ายกเก็จด้านหน้า 2 ชั้น

อาคารหมายเลข 1 ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของวิหารใกล้กับกำแพงวัดและลำน้ำร่องไฮ มีแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้ายกเก็ขด้านหน้า 1 ชั้น มีบันไดทางขึ้นหลักอยู่ทางทิศใต้ โดยมีทางเดินปูอิฐเชื่อมต่อไปยังวิหาร และมีแนวปูอิฐลักษณะคล้ายชานพักบันไดอยู่กลางแนวฐานอาคารด้านทิศตะวันตก

อาคารหมายเลข 2 ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของอาคารหมายเลข 1 มีแนผังเนรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส คงสภาพเฉพาะส่วนฐาน ลักษณะเป็นฐานเขียง 2 ชั้น รองรับฐานบัวคว่ำ เหรือนขึ้นไปเป็นซากปรักหักพัง ไม่ปรากฏบันไดทางขึ้น

โบราณวัตถุ ประติมากรรม โดยเฉพาะพระพุทธรูปหินทราย ปางลีลาวดี สมัยสุโขทัย ขนาดสูงประมาณ 150-160 เซนติเมตร จำนวน 3-4 องค์ (ทีมข่าวภูมิภาค, 2560; สมโชติ อ๋องสกุล, 2563) โดยพบอยู่ใต้ฐานชุกชี นอกจากนี้ยังพบเสาดอกบัว ฐานเสาพระพุทธรูป ช้าง สถูป ที่ทำจากหินทราย ชิ้นส่วนศิลาจารึก และภาชนะดินเผาจากเตาเผาในท้องถิ่น

จากลวดลายปูนปั้นประดับฐานชุกชีที่พบจากการขุดแต่งใน พ.ศ. 2547 ซึ่งสามารถนำมากำหนดอายุได้ โดยสันนิษฐานว่าโบราณสถานแห่งนี้น่าจะมีอายุอยู่ในช่วงอายุการสร้างและใช้งานอยู่ในช่วงพุทธศตวรรษ 20 - 21

วัดร้างบ้านร่องไฮ เป็นหนึ่งในโบราณสถานหลายแห่งที่พบในพื้นที่กว๊านพะเยา เช่น วัดติโลกอาราม หรือที่เรียกว่า "กลุ่มโบราณสถานบ้านร่องไฮ" และน่าจะเป็นโบราณสถานที่มีความสัมพันธ์อย่างยิ่งกับพัฒนาการทางประวัติศาสตร์ของชุมชนโบราณในกว๊านพะเยา ที่ปัจจุบันจมอยู่ใต้กว๊านพะเยา หลังการก่อสร้างประตูกั้นน้ำอิงของกรมประมงใน พ.ศ.2486 โบราณสถานกลุ่มนี้จึงนับเป็นโบราณสถานกลุ่มใหญ่ที่สุดที่เป็นหลักฐานที่สำคัญต่อการศึกษาลักษณะศิลปะสถาปัตยกรรมเมืองพะเยา (กรมศิลปากร, 2563)

ผู้เรียบเรียงข้อมูล-ผู้ดูแลฐานข้อมูล

ทนงศักดิ์ เลิศพิพัฒน์วรกุล

บรรณานุกรม

กรมศิลปากร. "วัดร้างบ้านร่องไฮ" ระบบภูมิสารสนเทศ แหล่งมรดกทางศิลปวัฒนธรรม. (ออนไลน์), 2563. เข้าถึงเมื่อ 25 กุมภาพันธ์ 2567. เข้าถึงจาก https://gis.finearts.go.th/fineart/

ทีมข่าวภูมิภาค. "ฮือฮา!พบพระพุทธรูปสมัยสุโขทัยอายุกว่า 500 ปี" บ้านเมือง. (ออนไลน์), 9 ธันวาคม 2560. เข้าถึงเมื่อ 25 กุมภาพันธ์ 2567. เข้าถึงจาก  https://www.banmuang.co.th/news/region/97611

สมโชติ อ๋องสกุล. "โบราณวัตถุในพะเยา" พิพิธภัณฑ์เรือนโบราณล้านนา มช. (ออนไลน์), 22 เมษายน 2563. เข้าถึงเมื่อ 25 กุมภาพันธ์ 2567.  เข้าถึงจาก https://accl.cmu.ac.th/Museum/contentdetail/1485

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ภาพเกี่ยวกับแหล่งโบราณคดี