โนนหลักเมือง 1


โพสต์เมื่อ 12 ม.ค. 2025

ที่ตั้ง : ถ.มะลิวัลย์ ม.6 บ้านนาหลัก เทศบาลเมืองวังสะพุง

ตำบล : วังสะพุง

อำเภอ : วังสะพุง

จังหวัด : เลย

พิกัด DD : 17.319550 N, 101.765570 E

เขตลุ่มน้ำหลัก : โขง, เลย

เส้นทางเข้าสู่แหล่ง

โนนหลักเมือง 1 หรือศาลหลักเมืองวังสะพุง ตั้งอยู่ริม ถ.มะลิวัลย์ (ทางหลวงหมายเลข 201 หรือ ถ.สีคิ้ว-เชียงคาน) ฝั่งขาเข้าตัวอำเภอวังสะพุง ข้างขุนแผนรีสอร์ท ในเขตเทศบาลเมืองวังสะพุงและตัวอำเภอวังสะพุง

ประโยชน์ทางการท่องเที่ยว

เป็นแหล่งท่องเที่ยว

รายละเอียดทางการท่องเที่ยว

โนนหลักเมือง 1 หรือศาลหลักเมืองวังสะพุง และศาลเจ้าพ่อหลักเมือง เป็นสถานที่เคารพสักการะบูชาของชาวอำเภอวังสะพุงและบุคคลทั่วไป ได้รับการดูแลรักษาค่อนข้างดีจากประชาชนและหน่วยงานท้องถิ่น คือ เทศบาลเมืองวังสะพุง (มีการปรับปรุงภูมิทัศน์บริเวณศาลหลักเมืองครั้งหลังสุดในปี พ.ศ.2555 โดยเทศบาลเมืองวังสะพุง)

หน่วยงานที่ดูแลรักษา

เทศบาลเมืองวังสะพุง, กรมศิลปากร

การขึ้นทะเบียน

ไม่ขึ้นทะเบียน

ภูมิประเทศ

ที่ราบ

สภาพทั่วไป

โนนหลักเมือง 1 หรือศาลหลักเมืองวังสะพุง ตั้งอยู่ในตัวอำเภอวังสะพุง ซึ่งเป็นพื้นที่ราบที่เกิดจากการทับถมของตะกอนน้ำพา โดยเฉพาะอิทธิพลของแม่น้ำเลยที่ตั้งอยู่ห่างออกไปทางทิศตะวันออกประมาณ 750 เมตร

ศาลหลักเมืองวังสะพุงตั้งอยู่ริม ถ.มะลิวัลย์ สามารถสังเกตเห็นได้อย่างชัดเจน ภายในประกอบไปด้วยศาลเจ้าพ่อหลักเมืองที่เป็นศาลไม้ ศาลาสำหรับนั่งพักผ่อน ส่วนตรงกลางของพื้นที่เป็นศาลหลักเมือง ลักษณะเป็นศาลาก่ออิฐถือปูน ผังสี่เหลี่ยมจัตุรัส ไม่มีผนัง ด้านบนศาลมีหน้าจั่วลายเทพพนมอยู่ทั้ง 4 ด้าน ล้อมรอบเจดีย์เหลี่ยมที่อยู่ตรงกลาง

ความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง

254 เมตร

ทางน้ำ

แม่น้ำเลย

สภาพธรณีวิทยา

ตะกอนน้ำพาสมัยโฮโลซีน

ยุคทางโบราณคดี

ยุคประวัติศาสตร์

สมัย/วัฒนธรรม

สมัยทวารวดี

อายุทางโบราณคดี

พุทธศตวรรษที่ 12-16

ประวัติการศึกษา

ชื่อผู้ศึกษา : เทศบาลเมืองวังสะพุง

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2555

วิธีศึกษา : ปรับปรุงภูมิทัศน์

ผลการศึกษา :

ปรับปรุงภูมิทัศน์บริเวณศาลหลักเมือง

ชื่อผู้ศึกษา : สำนักงานศิลปากรที่ 9 ขอนแก่น

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2546

วิธีศึกษา : สำรวจ, จัดการข้อมูลทางโบราณคดี

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร

ผลการศึกษา :

รวบรวมและสำรวจข้อมูลโบราณสถานและแหล่งโบราณคดีของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งรวมถึงโนนหลักเมือง 1

ประเภทของแหล่งโบราณคดี

ศาสนสถาน

สาระสำคัญทางโบราณคดี

จากการสำรวจเมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2556 พบว่าภายในศาลหลักเมืองวังสะพุงประกอบไปด้วยศาลเจ้าพ่อหลักเมืองที่เป็นศาลไม้ ศาลาสำหรับนั่งพักผ่อน ส่วนตรงกลางของพื้นที่เป็นศาลหลักเมือง ลักษณะเป็นศาลาก่ออิฐถือปูน ผังสี่เหลี่ยมจัตุรัส ไม่มีผนัง ด้านบนศาลมีหน้าจั่วลายเทพพนมอยู่ทั้ง 4 ด้าน ล้อมรอบเจดีย์เหลี่ยมที่อยู่ตรงกลาง               

ภายในศาลหลักเมืองประดิษฐานหลักเมืองอยู่ภายใน ลักษณะของหลักเมืองเป็นเสมาหินทรายสมัยทวารวดี ขนาดใหญ่และหนา ตั้งอยู่บนฐานปูน ตัวใบเสมามีพวงมาลัยที่เป็นเครื่องสักการะของชาวบ้านพันอยู่รอบใบถึงระดับประมาณครึ่งใบ ลวดลายบนเสมาทั้งด้านหน้าและหลังเท่าที่ปรากฏเหนือพวงมาลัยเป็นเส้นนูนทรงกรวยหนา เนื่องจากไม่สามารถศึกษาส่วนล่างของเสมาได้ เพราะไม่สามารถนำพวงมาลัยออกได้และเสมาส่วนหนึ่งยังถูกฝังอยู่ในฐานปูน จึงทำได้เพียงสันนิษฐานว่าลวดลายบนเสมาทั้งด้านหน้าและหลังน่าจะเป็นรูปสถูปหรือเจดีย์ทวารวดี (ส่วนที่ปรากฏเป็นส่วนสันสถูป) ที่อาจรองรับด้วยหม้อน้ำหรือดอกบัว

ผู้เรียบเรียงข้อมูล-ผู้ดูแลฐานข้อมูล

ทนงศักดิ์ เลิศพิพัฒน์วรกุล

บรรณานุกรม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ภาพเกี่ยวกับแหล่งโบราณคดี