โพสต์เมื่อ 20 ก.ย. 2021
ชื่ออื่น : วัดรัตนาราม
ที่ตั้ง : ถ.สันตินิมิต ม.2
ตำบล : เลม็ด
อำเภอ : ไชยา
จังหวัด : สุราษฎร์ธานี
พิกัด DD : 9.377856 N, 99.190232 E
เขตลุ่มน้ำหลัก : ไชยา
เขตลุ่มน้ำรอง : คลองไชยา
จากตัวอำเภอไชยา ขับรถตามทางหลวงหมายเลข 4011 ไปทางสี่แยกไชยา ข้ามทางรถไฟ ขับรถไปประมาณ 500 เมตร จะพบวัดเวียงอยู่ทางซ้ายมือ จากนั้นเลี้ยวซ้ายตรงเข้าไปในซอยข้างวัดเวียง (ถนนเข้าไปภูเขาน้ำร้อน) ขับประมาณ 500 เมตรจะผ่านวัดหลง ตรงมาอีก 500 เมตรถึงวัดแก้ว
โบราณสถานวัดแก้ว เป็นโบราณสถานกลางแจ้ง ปัจจุบันตั้งอยู่ภายในวัดรัตนารามที่มีภิกษุจำพรรษา ผู้สนใจสามารถเข้าไปชมได้ไม่เสียค่าเข้าชม
วัดรัตนาราม, กรมศิลปากร
ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 53 ตอนที่ 34 วันที่ 27 กันยายน พ.ศ.2479
โบราณสถานวัดแก้ว ตั้งอยู่บนสันทรายขนาดใหญ่มีความยาวจากด้านทิศเหนือสู่ทิศใต้ประมาณ 3 กม. กว้าง 500 เมตร สูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง 3 -4 เมตรและสูงกว่าพื้นที่โดยรอบประมาณ 1 -2 เมตร มีคลองไชยาไหลผ่านทางด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ อยู่ห่างจากชายฝั่งทะเลปัจจุบันประมาณ 5 กิโลเมตร บนสันทรายแห่งนี้มีศาสนสถานกระจายตัวเรียงกัน คือ วัดเวียง วัดหลง และวัดแก้ว (นงคราญ ศรีชาย, 2543, 169) วัดแก้วอยู่ห่างจากวัดเวียงประมาณ 1 กิโลเมตร และห่างจากวัดหลงประมาณ 500 เมตร โบราณสถานวัดแก้วตั้งอยู่ในพื้นที่ของวัดรัตนรามในปัจจุบัน
คลองไชยา
ลักษณะทางธรณีวิทยาของสุราษฎร์ธานี จัดอยู่ในกลุ่มเดียวกับที่ราบชายฝั่งทะเลตะวันออก ที่มีเกิดการงอกของแผ่นดินจากตะกอนของแม่น้ำ การพัดพาของลมและน่ำทะเลทำให้เกิดที่ราบล่มแม่น้ำและริ้วสันทรายหลายแห่งโดยเป็นริ้วสันทรายที่เกิดขึ้นใหม่ราวในช่วง Holocene มีอายุประมาณ 11,000 ปีมาแล้ว (โครงการโบราณคดีประเทศไทย (ภาคใต้) กองโบราณคดี กรมศิลปากร, 2526,1-4)
ชื่อผู้ศึกษา : หลวงบริบาลบุริภัณฑ์
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2470
วิธีศึกษา : ขุดตรวจ
ผลการศึกษา :
ทำการขุดตรวจสอบฐานรากทางทิศใต้ของโบราณสถานวัดแก้ว กล่าวว่ามีลักษณะคล้ายพระบรมธาตุไชยาแต่ขนาดใหญ่กว่าและยังไม่ได้ซ่อมแซม ด้านทิศตะวันตกมีรอยร้าว ส่วนทางด้านทิศเหนือและทิศตะวันตกเป็นดินคลุมชื่อผู้ศึกษา : Jean Yves Claeys
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2472
ผลการศึกษา :
Jean Yves Claeys ได้เดินทางไปสำรวจศึกษาโบราณวัตถุที่วัดพระบรมธาตุไชยา วัดเวียง วัดแก้ว วัดหลง เขาน้ำร้อน วัดใหม่ชลธาร วัดประสบ วัดป่าเลไลย์ วัดศาลาทึงกับหลวงบริบาลบุรีภัณฑ์ จากนั้นได้ขุดตรวจสอบฐานของโบราณสถานวัดเวียงและวัดหลง เปรียบเทียบกับวัดแก้ว เสนอแนวความคิดลงใน L’Archéeologie du Siam ในปี ค.ศ. 1931 กล่าวว่าโบราณสถานอิฐวัดแก้วคล้ายกับเจดีย์ในเมืองจาม ส่วนโบราณสถานที่วัดหลงและวัดเวียงเป็นศาสนสถานฐานสี่เหลี่ยม มีการบูรณะในสมัยหลัง สันนิษฐานว่าเป็นโบราณสถานร่วมสมัยกับพระบรมธาตุไชยาชื่อผู้ศึกษา : H.G.Quaritch Wales
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2477
ผลการศึกษา :
ทำการสำรวจและขุดทดสอบฐานรากวัดแก้วทางด้านตะวันออกและตีพิมพ์ผลงานเรื่อง “A New Explored Route of Ancient Indian Cultural Expansion” ใน Indian Art and Letters vol.1 กล่าวว่าบริเวณไชยาน่าจะเป็นที่ตั้งหรือศูนย์กลางอาณาจักรศรีวิชัย เพราะพบโบราณวัตถุมากกว่าที่พบที่ชวาและสุมาตรา มีเส้นทางจากตะกั่วป่ามาไชยา การขุดค้นที่วัดแก้วพบภาชนะดินเผาแบบพื้นเมืองชื่อผู้ศึกษา : H.G.Quaritch Wales
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2494
วิธีศึกษา : ประวัติศาสตร์ศิลปะ
ผลการศึกษา :
ตีพิมพ์บทความเรื่อง “The Making of Greater India: a study in South-East Asian culture change” วินิจฉัยว่าพระพุทธรูปหินจากแหล่งโบราณคดีวัดแก้ว (พระพุทธรูปหินประทับยืนไม่มีเศียร)และพระพุทธหินประทับรูปนั่งจากแหล่งโบราณคดีวัดเววน จัดอยู่ช่วงสมัยคุปตะ ราวพุทธศตวรรษที่ 8-11 ส่วนสถาปัตยกรรมวัดแก้วและพระบรมธาตุไชยาอยู่ในศิลปะปาละราว พ.ศ.1193 – 1443 อันเป็นศิลปะอินเดียผ่านชวาชื่อผู้ศึกษา : Pierre Dupont
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2502
วิธีศึกษา : ประวัติศาสตร์ศิลปะ
ผลการศึกษา :
ตีพิมพ์ผลงานเรื่อง “L’Archéologie Mône de Drāravati” จัดพระพุทธรูปปางสมาธิจากวัดพระบรมธาตุไชยาและพระพุทธรูปหินประทับยืนจากวัดแก้วให้อยู่ในหมวดพระพุทธรูปแบบทวารวดีชื่อผู้ศึกษา : B.P.Groslier
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2505
วิธีศึกษา : ประวัติศาสตร์ศิลปะ
ผลการศึกษา :
ตีพิมพ์ผลงานเรื่อง “Indochina : Art in the Melting Pot of Races” กล่าวว่าเจดีย์วัดแก้วที่มีลักษณะคล้ายจามนั้นเป็นเพราะพัฒนาการร่วมสมัยเดียวกันไม่ใช่จากการรับอิทธิพลจากจามโดยตรงชื่อผู้ศึกษา : Jean Boisselier
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2508
วิธีศึกษา : สำรวจ, ประวัติศาสตร์ศิลปะ
ผลการศึกษา :
ตีพิมพ์ผลงานเรื่อง “ประวัติศาสตร์ศิลปะในประเทศไทย” (เขียนร่วมกับศาสตราจารย์ยอร์ช เซเดย์) และ “Recherches archéologiques en Thailand II : Rapport sommaire de la misson 1965” ใน Arts Asiatique XX กล่าวถึงศิลปะสมัยศรีวิชัย โดยกำหนดหลักฐานทางสถาปัตยกรรมที่สำคัญ คือ เจดีย์แปดเหลี่ยมที่วัดพระบรมธาตุไชยา สำหรับเจดีย์ที่วัดแก้วเป็นส่วนผสมระหว่างศิลปะจาม ปราสาทเขมรก่อนเมืองพระนครและศิลปกรรมชวา กำหนดอายุอยู่ในช่วงหลังพุทธศตวรรษที่ 14ชื่อผู้ศึกษา : กรมศิลปากร
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2519, พ.ศ.2520, พ.ศ.2521, พ.ศ.2522, พ.ศ.2523
วิธีศึกษา : ขุดแต่ง
องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร
ผลการศึกษา :
หน่วยศิลปากรที่ 14 กรมศิลปากร ทำการขุดแต่งโบราณคดีวัดแก้ว พบผังเป็นแกนกากบาทมีเทคนิคขัดสอดินแบบพระบรมธาตุไชยา ฐานอาคารเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสและเจดีย์รูปจัสตุรัสย่อมุม พบโบราณวัตถุเป็นพระพุทธรูปหินประทับนั่งไม่มีเศียร บนฐานมีลายวัชรคู่และรูปสิงห์พบอยู่ทางซุ้มเล็กด้านทิศตะวันออกขององค์วัดแก้วเป็นรูปของพระเจ้าอักโษภยะหรือพระพุทธรูปชินะกำหนดอายุได้ราวพุทธศตวรรษที่ 15ชื่อผู้ศึกษา : เขมชาติ เทพไชย
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2523
วิธีศึกษา : ขุดตรวจ
องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร
ผลการศึกษา :
ขุดตรวจสอบชั้นดินวัฒนธรรมและบริเวณแนวอิฐทางด้านตะวันออกขององค์เจดีย์ในบริเวณวัดแก้วพบสาระสำคัญคือ ผลจากการขุดแต่งแนวอิฐทางด้านตะวันออกพบบริเวณที่สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นซากวิหารรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ขนาดกว้าง 3 เมตร ยาว 7.5 เมตร พบโบราณวัตถุ พวกขวานหินขัด เศษภาชนะดินเผาลายเขียนสี ลายกดประทับ ภาชนะเคลือบของจีนสมัยเหม็งและเช็ง สถูปประกอบมุมของเจดีย์วัดแก้วทำด้วยหินทรายแดงน่าจะมาจากเขานางเอ(นางฮี)ซึ่งอยู่ห่างจากวัดแก้วประมาณ 5 กม.พระพุทธรูปหินทรายแดงประจำมุขต่างๆอิทธิพลของศิลปะอยุธยากำหนดอายุราวพุทธศตวรรษที่ 22ชื่อผู้ศึกษา : Jean Boissselier
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2525
วิธีศึกษา : ศึกษาสถาปัตยกรรม
ผลการศึกษา :
ตีพิมพ์บทความเรื่อง “Degagement du phra chedi de Wat Keo. Chaiya” ใน Journal of siam society LXVII ptII July 1979 กล่าวว่าวัดแก้วเป็นอุโบสถหรือห้องคูหาประกอบกันเป็นองค์ประกอบแกนกลาง ลักษณะผัง บัวฐานอาคารและมุขเด็จคล้ายศิลปะชวา แต่แผนผังและเสาคล้ายสถาปัตยกรรมจาม กำหนดอายุอยู่ในช่วงราวพุทธศตวรรษที่ 14 -15ชื่อผู้ศึกษา : เนื้ออ่อน ขรัวทองเขียว
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2555
วิธีศึกษา : ประวัติศาสตร์ศิลปะ
ผลการศึกษา :
ตีพิมพ์บทความเรื่อง “รูปแบบและประติมานวิทยาพระพุทธรูปจากวัดแก้วเมืองไชยา” ทำการวิเคราะห์พระพุทธรูปประทับนั่งสลักจากหินทรายแดงที่พบจากการขุดแต่งจากโบราณสถานวัดแก้ว สรุปผลว่าพระพุทธรูปจากวัดแก้วมีลักษณะผสมทั้งศิลปะอมราวดี, ชวาและจาม สันนิษฐานว่าคือพระเจ้าอักโษกยะ พระธยานิพุทธประจำทิศตะวันออก ตามแนวคิดของพุทธศาสนามหายานสกุลวัชรยาน กำหนดอายุราวพุทธศตวรรษที่ 14 -15 (เนื้ออ่อน ขรัวทองเขียว,2555,138 – 147)โบราณสถานวัดแก้ว ถือเป็นโบราณสถานที่สำคัญในการศึกษาสถาปัตยกรรมในสมัยศรีวิชัย เนื่องจากมีสภาพสมบูรณ์ที่สุด ลักษณะทางสถาปัตยกรรมเป็นเจดีย์ทรงปราสาท ก่ออิฐไม่สอปูน ขัดผิวหน้าอิฐเรียบ ผังเป็นรูปกากบาท มีรูปแบบทางสถาปัตยกรรมดังนี้
ฐานชั้นล่างสุด : เป็นฐานเขียงสี่เหลี่ยมจัตุรัส ลักษณะเป็นฐานประทักษิณ มีบันไดทางขึ้นทางทิศตะวันออกและทิศตะวันตก กึ่งกลางของฐานเขียงมีการเว้นร่องและก่ออิฐเว้นช่อง ต่อด้วยบั่วคว่ำและลูกแก้ว
อาคารเรือนธาตุ : ฐานอาคารเรือนธาตุมีขนาด 18x18 เมตร ระหว่างมุมมีการเพิ่มเก็จ ผนังอาคารตกแต่งด้วยเสาติดผนังและเซาะร่องผ่ากลางโคนเสาจากโคนไปสู่ยอด (คล้ายกับจันทิกลาสันในชวา ประเทศอินโดนีเซียและปราสาทจาม ศิลปะมิเซน 1 ในเวียดนาม) มีมุข 4 ด้าน
มุขด้านตะวันออกเป็นทางเข้าสู่ห้องโถงกลาง มีขนาด 4x4 เมตรประดิษฐานพระพุทธรูปปางมารวิชัยก่ออิฐติดกับผนังอาคาร สภาพชำรุดเหลือเพียงหน้าตัก ขนาดกว้าง 4 เมตร ด้านซ้ายและขวาของผนังเจาะเป็นซุ้มจรนัมประดิษฐานพระพุทธรูป โดยพบพระอักโษภยะในซุ้มจรนัมทางด้านทิศใต้
มุขทางด้านทิศใต้ด้านในเป็นห้องคูหาปรากฏเสาประดับกรอบประตูก่ออิฐ ด้านข้างมีซุ้มจำลองย่อส่วนจากรูปแบบอาคารจริง ประตูทางเข้าทางมุขทิศใต้มีกรอบประตู ทับหลังประตูและธรณีประตูทำจากหินปูน ความสูงของประตูประมาณ 1.6 เมตร ภายในห้องคูหาประดิษฐานพระพุทธรูปปางมารวิชัยก่ออิฐสภาพชำรุด ด้านซ้ายและขวาของผนังเจาะเป็นซุ้มจรนัมประดิษฐานพระพุทธรูปปางมารวิชัยก่ออิฐ สันนิษฐานว่าลักษณะของมุขในแต่ละด้านน่าจะมีความคล้ายกัน
มุขทางด้านทิศเหนือ พบการนำพระพุทธรูปศิลาทรายแดง สมัยอยุธยาเข้ามาประดิษฐานภายในมุขแทน
มุขทางด้านทิศตะวันตกมีการตกแต่งผนังโดยการทำซุ้มจำลอง
ส่วนยอดของอาคาร : พังลงมาหมด สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นลักษณะชั้นคล้ายปราสาท เหนือชั้นเรือนธาตุทางด้านทิศใต้ปรากฏร่องรอยซัมกุฑุ ชั้นของหลังคาแต่ละชั้นน่าจะมีการประดับสถูปจำลองเนื่องจากพบสถูปจำลองทำด้วยศิลาทรายแดงหลายองค์บริเวณรอบฐาน
จากลักษณะผังของโบราณสถานวัดแก้วมีลักษณะคล้ายจันทิกะลาสันในชวาภาคกลางกำหนดอายุในช่วงพุทธศตวรรษที่ 14 แต่ลักษณะการตกแต่งภายนอกคล้ายกับปราสาทจามกำหนดอายุอยู่ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 15 จึงกำหนดตัวอายุของโบราณสถานวัดแก้วอยู่ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 14 -15
โบราณวัตถุชิ้นสำคัญที่พบที่วัดแก้ว ได้แก่ พระเจ้าอักโษภยะ ปางมารวิชัยพบในซุ้มจรนัมทางด้านทิศใต้ของมุขตะวันออก ทำจากหินศิลาทรายแดงที่ฐานสลักเป็นรูปสิงห์ข้างละตัว มีวัชระอยู่ตรงกลาง กำหนดอายุราวพุทธศตวรรษที่ 15, พระพุทธรูปสมัยทวารวดีและสมัยอยุธยา , ชิ้นส่วนประติมากรรมรูปมือถือดอกบัว, ศึวลึงค์, ชิ้นส่วนสถาปัตยกรรม เช่น กรอบประตูศิลา, ธรณีประตูศิลา,ยอดสถูปศิลาทำเป็นรูปดอกบัว เป็นต้น (นงคราญ ศรีชาย, 2543, 181 – 186)
นอกจากนี้ ในการขุดค้นทางโบราณคดีใน ปี พ.ศ.2523 พบแนวอิฐทางด้านตะวันออกบริเวณที่สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นซากวิหารรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ขนาดกว้าง 3 เมตร ยาว 7.5 เมตร
จากหลักฐานทางด้านโบราณคดีที่พบ สันนิษฐานว่าโบราณสถานวัดแก้วสร้างขึ้นในช่วงพุทธศตวรรษที่ 14 -15 สร้างขึ้นเนื่องในพุทธมหายาน นิกายวัชรยาน จากนั้นได้มีการเข้ามาใช้ศาสนสถานแห่งนี้อีกครั้งในสมัยอยุธยา
ตำนานท้องถิ่นที่เกี่ยวข้อง :
นิทานพื้นบ้าน เรื่องเล่าเกี่ยวกับ “พ่อตาพัดหมัน” กล่าวว่า ปะหมอกับปะมัน สองคนพี่น้องเป็นชาวอินเดีย ใช้เรือเดินใบมาจนถึงเมืองไชยา ขึ้นบกด้วยข้าทาสบริวารที่บ้านนาค่ายตรงวัดหน้าเมืองในตำบลเลม็ด ปะหมอเป็นนายช่างมีความรู้ด้านวิศวกรรมก่อสร้างถูกตัดมือตัดตีนเมื่อสร้างพระบรมธาตุเสร็จ และทนพิษบาดแผลไม่ไหวจึงตาย ที่ปะหมอถูกตัดมือตัดตีนเนื่องจากเจ้าเมืองไม่อยากให้ปะหมอไปสร้างโบราณสถานแห่งอื่นอีก เมื่อปะหมอตายแล้ว จึงได้คิดหล่อรูปพระอวโลกิเตศวรไว้เป็นเครื่องหมายแทนตัว ส่วนปะหมันได้ครองอยู่เกาะพัดหมันและตั้งรกรากอยู่กระทั้งเสียชีวิต สถานที่ปะหมันไปอาศัยอยู่นั่นเป็นพื้นที่ดอนน้ำไม่ท่วม มีนาล้อมรอบ เนื้อที่ 1 ไร่เศษ สมัยก่อนมีความศักดิ์สิทธิ์มาก ชาวบ้านเคารพนับถือ คณะมโนราห์เดินทางผ่านต้องรำถวาย
บางตำนานก็กล่าวว่าชาวอินเดียที่มาไชยาในครั้งนั้นมี 4 คนพี่น้อง คือ ปะหมอ ปะหมัน ปะเว ปะหุม โดยปะหมอเป็นช่างฝีมือดีเป็นลูกของศรีวิชัย เมือสร้างพระบรมธาตุเสร็จ ถูกตัดมือตัดตีนและทนพิษบาดแผลไม่ไหวจึงตาย สิ่งก่อสร้างที่ปะหมอสร้างอีกได้แก่ วัดแก้วและวัดหลง วัดแก้วมีลายแทงและปริศนาว่า “วัดแก้วศรีธรรมโศกราชสร้างแล้ว ขุดแล้วเรืองรอง สี่เท้าพระบาท เหยียบปากพะเนียงทอง ผู้ใดคิดต้อง กินไม่รู้สิ้นเอย”
สถานที่อยู่อาศัยของปะหมอนั้น สันนิษฐานว่าคือบริเวณต้นสำโรงใหญ่ข้างวัดเวียง บริเวณที่ตั้งศาลปะหมอ ถือเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์จนถึงปัจจุบัน (ประทุม ชุมเพ็งพันธ์, 2519,20 -21)
เขมชาติ เทพไชย.(2523,กรกฎาคม).การสำรวจขุดค้นวัดแก้ว อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี. ศิลปากร, 24 (3), 13 -23
โครงการโบราณคดีประเทศไทย (ภาคใต้) กองโบราณคดี กรมศิลปากร. (2526).รายงานการสำรวจขุดค้นทางด้านโบราณคดี บริเวณแหลมโพธิ์ ตำบลพุมเรียง อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี. กรุงเทพ : กรมศิลปากร.
ธราพงศ์ ศรีสุชาติ.(2542).ชุมชนโบราณไชยา.ในสารานุกรมภาคใต้ เล่มที่ 5. กรุงเทพ : ธนาคารทหารไทยพานิชย์, หน้า 2195 - 2218
ณัฎฐภัทร และภุชชงค์ จันทวิช.(2524). เครื่องถ้วยจีนที่พบจากแหล่งโบราณคดีในประเทศไทย. วิทยานิพนธ์ของปริญญาศิลปศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาวิชาโบราณคดีสมัยประวัติศาสตร์ ภาควิชาโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร
ณัฎฐภัทร และภุชชงค์ จันทวิช. (2525). ความสัมพันธ์ทางด้านเครื่องถ้วยจีนที่เกี่ยวข้องกับศรีวิชัย.ใน รายงานการสัมมนาประวัติศาสตร์โบราณคดีศรีวิชัย ณ จังหวัดสุราษฎรธานี วันที่ 25-30 มิถุนายน พ.ศ. 2525. กรุงเทพ : กองโบราณคดี กรมศิลปากร
ประทุม ชุ่มเพ็งพันธ์.(2513). ไชยา – สุราษฎร์ธานี. กรุงเทพ : กรุงเทพการพิมพ์
เนื้ออ่อน ขรัวทองเขียว.(2555, ตุลาคม – ธันวาคม).รูปแบบและประติมานวิทยาพระพุทธรูปจากวัดแก้วเมืองไชยา.เมืองโบราณ. 38 (4), 138 – 147.
นงคราญ ศรีชาย. (2543). โบราณคดีศรีวิชัย : มุมมองใหม่การศึกษาวิเคราะห์แหล่งโบราณคดีรอบอ่าวบ้านดอน. นครศรีธรรมราช : สำนักโบราณคดีและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่ 11 นครศรีธรรมราช
ศิลปากร,กรม.(2522) การขุดแต่งโบราณสถานวัดแก้ว อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี. กรุงเทพ: หน่วยศิลปากรที่ 14 กองโบราณคดี กรมศิลปากร
อนุวิทย์ เจริญศุภกุล.(2526, กรกฎาคม).สถาปัตยกรรมแบบศรีวิชัยในคาบสมุทรภาคใต้. ศิลปากร. 27 (3), 17 – 25.
อนุวิทย์ เจริญศุภกุล.(2549, ตุลาคม – ธันวาคม).การออกแบบศาสนสถานสกุลช่างทวารวดี เขมรและชุมชนภาคใต้ไชยาในประเทศไทย. เมืองโบราณ. 27(4), 21 -40