โพสต์เมื่อ 13 ก.ค. 2020
ที่ตั้ง : ม.4 ต.ตลาด อ.ไชยา
ตำบล : ตลาด
อำเภอ : ไชยา
จังหวัด : สุราษฎร์ธานี
พิกัด DD : 9.382207 N, 99.190407 E
เขตลุ่มน้ำหลัก : ไชยา
เขตลุ่มน้ำรอง : คลองไชยา
จากตัวอำเภอไชยา ขับรถตามทางหลวงหมายเลข 4011 ไปทางสี่แยกไชยา ข้ามทางรถไฟ ขับรถไปประมาณ 500 เมตร จะพบวัดเวียงอยู่ทางซ้ายมือ จากนั้นเลี้ยวซ้ายตรงเข้าไปในซอยข้างวัดเวียง (ซอยไปเขาน้ำพุร้อน) ขับตรงไป 500 เมตรวัดหลงจะอยู่ทางซ้ายมือ
ปัจจุบันโบราณสถานวัดหลง ตั้งอยู่ที่ หมู่ 4 ตำบลตลาด อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี เป็นโบราณสถานกลางแจ้ง สามารถเข้าชมโดยไม่เสียค่าเข้าชม
กรมศิลปากร
ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 53 ตอนที่ 34 วันที่ 27 กันยายน พ.ศ.2479
โบราณสถานวัดหลง ตั้งอยู่บนสันทรายขนาดใหญ่มีความยาวจากด้านทิศเหนือสู่ทิศใต้ประมาณ 3 กม. กว้าง 500 เมตร สูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง 3 -4 เมตรและสูงกว่าพื้นที่โดยรอบประมาณ 1 -2 เมตร บริเวณกลางสันทรายมีศาสนสถานกระจายตัวเรียงกัน คือ วัดเวียง วัดหลง วัดแก้ว (นงคราญ ศรีชาย, 2543, 169) วัดหลงจะตั้งอยู่ระหว่างกลางของวัดเวียงและวัดแก้ว ห่างจากวัดเวียงทางทิศเหนือและวัดแก้วทางทิศใต้ประมาณ 500 เมตร มีคลองไชยาไหลผ่านทางทิศใต้ห่างจากโบราณสถานวัดหลงไปประมาณ 30 เมตร ปัจจุบันโบราณสถานวัดหลงเหลือเพียงส่วนฐานของโบราณสถานเนื่องจากอิฐส่วนบนถูกรื้อไปทำกำแพงแก้วในครั้งบูรณะวัดพระบรมธาตุไชยา
คลองไชยา ที่ผ่านทางทิศใต้ของโบราณสถาน
ลักษณะทางธรณีวิทยาของสุราษฎร์ธานี จัดอยู่ในกลุ่มเดียวกับที่ราบชายฝั่งทะเลตะวันออก ที่มีเกิดการงอกของแผ่นดินจากตะกอนของแม่น้ำ การพัดพาของลมและน่ำทะเลทำให้เกิดที่ราบล่มแม่น้ำและริ้วสันทรายหลายแห่งโดยเป็นริ้วสันทรายที่เกิดขึ้นใหม่ราวในช่วง Holocene มีอายุประมาณ 11,000 ปีมาแล้ว (โครงการโบราณคดีประเทศไทย (ภาคใต้) กองโบราณคดี กรมศิลปากร 2526 : 1-4)
ชื่อผู้ศึกษา : Jean Yves Claeys
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2472
ผลการศึกษา :
Jean Yves Claeys ได้เดินทางไปสำรวจศึกษาโบราณวัตถุที่วัดพระบรมธาตุไชยา วัดเวียง วัดแก้ว วัดหลง เขาน้ำร้อน วัดใหม่ชลธาร วัดประสบ วัดป่าเลไลย์ วัดศาลาทึงกับหลวงบริบาลบุรีภัณฑ์ จากนั้นได้ขุดตรวจสอบฐานของโบราณสถานวัดเวียงและวัดหลง เปรียบเทียบกับวัดแก้ว เสนอแนวความคิดลงใน L’Archéeologie du Siam ในปี ค.ศ. 1931 กล่าวว่าโบราณสถานอิฐวัดแก้วคล้ายกับเจดีย์ในเมืองจาม ส่วนโบราณสถานที่วัดหลงและวัดเวียงเป็นศาสนสถานฐานสี่เหลี่ยม มีการบูรณะในสมัยหลัง สันนิษฐานว่าเป็นโบราณสถานร่วมสมัยกับพระบรมธาตุไชยาชื่อผู้ศึกษา : หลวงบริบาลบุรีภัณฑ์
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2498
วิธีศึกษา : ขุดตรวจ
ผลการศึกษา :
ทำการขุดตรวจสอบฐานของโบราณสถานวัดหลง พบว่าเป็นฐานรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส ขนาด 30x30 เมตร เป็นโบราณสถานก่ออิฐไม่สอปูนชื่อผู้ศึกษา : กรมศิลปากร
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2525, พ.ศ.2526, พ.ศ.2527
วิธีศึกษา : ขุดแต่ง
องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร
ผลการศึกษา :
หน่วยศิลปากรที่ 14 กองโบราณคดี กรมศิลปากร ทำการขุดแต่งและบูรณะวัดหลง อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี พบโบราณวัตถุประเภทเครื่องถ้วยสมัยราชวงศ์หยวนกำหนดอายุราวพุทธศตวรรษที่ 19ชื่อผู้ศึกษา : ณัฎฐภัทร จันทวิช, ภุชชงค์ จันทวิช
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2524, พ.ศ.2525, พ.ศ.2526
วิธีศึกษา : ศึกษาภาชนะดินเผา
ผลการศึกษา :
ทำการศึกษาเกี่ยวกับเครื่องถ้วยจีนที่พบในเมืองไทย รวมถึงที่พบในไชยา ตีพิมพ์วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตร์มหาบัณฑิต บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร เรื่องเครื่องถ้วยจีนที่พบจากแหล่งโบราณคดีในประเทศไทย ,บทความเรื่อง “ความสัมพันธ์ทางด้านเครื่องถ้วยจีนที่เกี่ยวข้องกับศรีวิชัย” และ “เครื่องถ้วยจีนจากแหล่งโบราณคดีแหลมโพธิ์และป่ายาง อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎรธานี” ได้กล่าวว่า เครื่องถ้วยที่ได้จากการขุดค้นที่แหล่งโบราณสถานวัดหลงมาจากเตาหลงฉวน สมัยราชวงศ์หยวนกำหนดอายุราวพุทธศตวรรษที่ 19โบราณสถานวัดหลงในปัจจุบันเหลือเพียงส่วนฐาน เนื่องอิฐส่วนบนนถูกรื้อไปทำกำแพงแก้วในคราวบูรณะวัดพระบรมธาตุไชยา มีการดำเนินงานทางโบราณคดีขุดตรวจสอบเนินดิน ในปี พ.ศ. 2498 และการขุดแต่งและบูรณะโดยกรมศิลปากรที่ 14 ในปี พ.ศ. 2525 -2527 พบว่าเป็นฐานของอาคารศาสนสถาน ประกอบด้วย
ฐานล่างสุด ฐานบัวลูกแก้ว 1 ชุด อยู่ในผังรูปกากบาท ขนาด 21.65x21.65 เมตร มีการเพิ่มมุมรับกับเรือนธาตุทรงจตุรมุข โดยประกอบไปด้วยฐานเขียง มีการเซาะร่องและก่ออิฐเว้นช่อง เหนือขึ้นไปเป็นฐานบัวคว่ำท้องไม้คาดด้วยลูกแก้วมีร่องรอยการประดับเสาติดผนัง ฐานชั้นนี้ใช้เป็นลานประทักษิณ มีทางขึ้นทางทิศตะวันออกเพื่อเข้าสู่โถงอาคารของอาคารเรือนธาตุ ปรากฏร่องรอยการปรับเปลี่ยนโบราณสถานในสมัยหลัง คือ มีการก่ออิฐเป็นกรอบล้อมรอบฐานแก้วแล้วถมดินอัดปูพื้นเป็นลานกว้างคล้ายลานประทักษิณครอบฐานเดิม จากนั้นเปลี่ยนทางขึ้นใหม่ตรงกับมุขทั้ง 4 ด้านของเรือนธาตุ ถัดจากลานประทักษิณเป็นชุดฐานบัวเขียงและฐานบัวลูกแก้ว
เรือนธาตุพบเพียงส่วนฐานของเรือนธาตุ เรือนธาตุมีมุขยืนออกมา 4 ด้าน มุขด้านตะวันออกมีขนาด 4x4 เมตร ส่วนมุขอีก 3 ด้านมีขนาด 1.75x2.70 เมตร ทุกผนังด้านนอกมีเสาประดับอาคารอยู่ตรงกึ่งกลาง (นงคราญ ศรีชาย, 2544,177 -179)
โบราณวัตถุที่สำคัญที่พบจากการขุดแต่งโบราณสถานวัดหลง ได้แก่ พระพิมพ์ดินดิบศิลปะทวารวดีและขอมปะปนกันพบบริเวณรอบฐานอาคารโบราณสถาน กำหนดอายุราวพุทธศตวรรษที่ 17 -18, เครื่องถ้วยสมัยราชวงศ์ซุ้งและหยวนกำหนดอายุราวพุทธศตวรรษที่ 18 -19 , เครื่องเคลือบเซลาดอน, เครื่องถ้วยจีนสมัยราชวงศ์หมิงและชิง ,เครื่องถ้วยสุโขทัย,เศษภาชนะดินเผาเนื้อดินแบบพื้นบ้าน เป็นต้น
โบราณสถานวัดหลงถือเป็นสถูปที่ใหญ่ที่สุดในเมืองโบราณไชยา โดยมีขนาดใหญ่กว่าพระบรมธาตุไชยา 1 เท่า สันนิษฐานว่าแต่เดิมคงเป็นศาสนสถานที่มีความสำคัญ โดยสร้างขึ้นในช่วงราวพุทธศตวรรษที่ 14 -15 และมีการเข้ามาใช้ศาสนสถานอีกครั้งในช่วงสมัยอยุธยาราวพุทธศตวรรษที่ 18 -22