การคำนวณค่าอายุปีปฏิทินใหม่ด้วยโปรแกรม CALIB 6.1
จากค่าอายุเดิมของการขุดค้นทางโบราณคดี
ที่ตำบลพระประโทนเจดีย์ เมืองนครปฐมโบราณ เมื่อ พ.ศ. 2526
ดร. ตรงใจ หุตางกูร
นักวิชาการศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)
12 พฤศจิกายน 2555
1. บทนำ
เมื่อ พ.ศ. 2526 ภาควิชาโบราณคดี คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ได้ขุดค้นพื้นที่ทางใต้และตะวันตกเฉียงใต้ของวัดเกาะต้นสำโรง บริเวณขุดค้นนี้อยู่ห่างจากพระประโทนเจดีย์ไปทิศตะวันออกเฉียงใต้ไปราว 1 กิโลเมตร หลุมขุดค้นมีจำนวน 4 หลุม ตั้งอยู่หมู่ 1 และ หมู่ 4 ในเขตตำบลพระประโทนเจดีย์ และอยู่บริเวณด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือในเขตแนวคูเมืองโบราณ (ภาพที่ 1)
ผาสุข[1] (2526: 69-73) รายงานสรุปว่า ผลจากการวิเคราะห์ชั้นดิน[2] บ่งชี้ว่า หลุมขุดค้น 2 หลุม ในเขตหมู่ 1 มีชั้นดินที่แสดงถึงการอยู่อาศัยของมนุษย์เพียงระยะเดียว จากนั้นก็ถูกทิ้งร้างไป ส่วนหลุมขุดค้น 1 หลุมในหมู่ 1 และอีก 1 หลุม ในหมู่ 4 นั้น ไม่พบว่ามีชั้นอยู่อาศัยของมนุษย์ โบราณวัตถุที่พบ เช่น ภาชนะดินเผาแบบทวารวดี เครื่องมือโลหะ และเครื่องประดับแบบต่างๆ มีลักษณะที่สามารถนำไปเทียบเคียงได้กับโบราณวัตถุที่พบในแหล่งโบราณคดีอื่นๆ ในเขตที่ราบภาคกลางของประเทศไทย เช่น เมืองคูบัว (ราชบุรี) เมืองอู่ทอง (สุพรรณบุรี) บ้านคูเมือง (สิงห์บุรี) เมืองซับจำปา (ลพบุรี) เมืองจันเสน และเมืองบน (นครสวรรค์) เป็นต้น เมืองโบราณเหล่านี้ เจริญขึ้นในช่วงสมัยประวัติศาสตร์ตอนต้น เมื่อราวพุทธศตวรรษที่ 11-16 โดยมีพุทธศาสนาเป็นศาสนาสำคัญของกลุ่มวัฒนธรรมนี้ นักโบราณคดีกำหนดเรียกวัฒนธรรมนี้ว่า “วัฒนธรรมทวารวดี” นักประวัติศาสตร์ได้ตั้งข้อสันนิษฐานว่าเมืองนี้ถูกปล่อยให้เป็นเมืองร้างหลังพุทธศตวรรษที่ 16-17 เนื่องจากไม่ปรากฏชื่อเมืองนี้ในศิลาจารึกของพ่อขุนรามคำแหง
ด้วยเหตุนี้ ผาสุข (2526) จึงเสนอว่า ผลการขุดค้นทางโบราณคดีที่ตำบลพระประโทน สอดคล้องกับข้อสันนิษฐานของนักประวัติศาสตร์ ซึ่งยืนยันด้วยอายุของถ่านที่พบบริเวณช่วงสุดท้ายของชั้นอยู่อาศัยของหลุมขุดค้นในเขตหมู่ 1 ตำบลพระประโทน แต่น่าเสียดายที่มีตัวอย่างถ่านเพียงตัวอย่างเดียวเท่านั้น ที่มีปริมาณมากพอสำหรับการกำหนดอายุด้วยวิธีเรดิโอคาร์บอน ดังรายงานดังนี้
“แม้ว่าจะได้มีการส่งตัวอย่างถ่านไปหาค่าอายุที่สำนักงานพลังงานปรมาณูเพื่อสันติ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโลโลยี่แล้ว แต่ตัวอย่างถ่านที่ได้นั้น ได้จากชั้นดินทับถม
[1] ตำแหน่งวิชาการปัจจุบันคือ ศาสตราจารย์ ดร. ผาสุข อินทราวุธ
[2] วิเคราะห์โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ชาติชาย ร่มสนธิ์