ทนงศักดิ์ เลิศพิพัฒน์วรกุล
___________________________________________________________________________________________________
ความนำ
แหล่งโบราณคดีบ้านโป่งมะนาว ต.ห้วยขุนราม อ.พัฒนานิคม จ.ลพบุรี เป็นแหล่งโบราณคดียุคก่อนประวัติศาสตร์ในช่วงที่มนุษย์รู้จักการใช้ประโยชน์จากโลหะแล้ว พื้นที่แหล่งมีลักษณะเป็นเนินดิน ตั้งอยู่ในเขตที่สูงตอนกลางของประเทศไทย บริเวณแนวขอบของเทือกเขาที่แบ่งระหว่างที่ราบภาคกลางกับที่ราบสูงโคราช และจัดเป็นส่วนหนึ่งของลุ่มแม่น้ำป่าสัก
การขุดค้นแหล่งโบราณคดีแห่งนี้ดำเนินการระหว่างปี พ.ศ.2543-2550 พบหลักฐานทางโบราณคดีจำนวนมาก โดยเฉพาะหลักฐานเกี่ยวกับการฝังศพและการอยู่อาศัยเป็นชุมชนถาวร จากการกำหนดอายุด้วยวิธี AMS(สุรพล นาถะพินธุ 2546ก) และกำหนดอายุเชิงเทียบ(Relative Date) จากโบราณวัตถุประเภทเด่น(Diagnostic Finds) พบว่าคนก่อนประวัติศาสตร์เข้ามาใช้พื้นที่บริเวณนี้เมื่อราว 3,500-1,500 ปีมาแล้ว สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 สมัยใหญ่ ๆ (สุรพล นาถะพินธุ 2548 : 33)คือ
สมัยที่ 1 - ช่วง 3,500-3,000 ปีมาแล้ว เป็นชุมชนขนาดไม่ใหญ่นัก โบราณวัตถุที่อยู่ในช่วงเวลานี้ ได้แก่ ขวานหินขัด เครื่องประดับจากหินอ่อนสีขาว และเครื่องประดับจากเปลือกหอยทะเล
สมัยที่ 2 - ช่วง 2,800-1,500 ปีมาแล้ว เป็นชุมชนถาวรขนาดใหญ่ มีประชากรหนาแน่น และมีการจัดระเบียบการใช้พื้นที่ภายในชุมชน ซึ่งอาจมีนัยแสดงถึงการจัดระเบียบทางสังคม นอกจากนี้ยังมีประเพณีการฝังศพที่เป็นแบบแผน ทั้งการฝังศพแบบนอนหงายเหยียดยาวในพื้นที่สุสาน และการฝังศพในภาชนะดินเผาในพื้นที่อยู่อาศัย หลักฐานทางโบราณคดีในสมัยนี้ เช่น โครงกระดูกมนุษย์ ภาชนะดินเผา เครื่องประดับทำจากแก้วและหินกึ่งอัญมณีแวดินเผา ลูกกระสุนดินเผา เครื่องประดับทำจากสำริด เครื่องมือเหล็ก และแม่พิมพ์ดินเผาสำหรับหล่อหัวลูกศร โลหะ
หลักฐานทางโบราณคดีจากแหล่งโบราณคดีบ้านโป่งมะนาวได้รับการศึกษาวิเคราะห์มาบ้างแล้ว เช่น ภาชนะดินเผา (ชนาธิป ไชยานุกิจ 2544; กรรณิการ์ เปรมใจ 2545; หฤทัย อรุณสวัสดิ์ฤกษ์ 2548) เครื่องประดับต่าง ๆ (พันธุ์ทิพย์ ธีระเนตร 2544; จตุพร มะโน 2545; วรพจน์ หิรัณยวุฒิกุล 2546; นิรดา ตันติเสรี 2546; บัณฑิต สมประสงค์ และคณะ 2546; บุศรา เขมาภิรักษ์ 2548; จุธารัตน์ วงศ์แสงทิพย์ 2548; ผุสดี รอดเจริญ 2548; ณัฏฐา ชื่นวัฒนา 2549) เครื่องมือโลหะ (สิทธิศักดิ์ ปิ่นแก้ว 2544; ภาวิณี รัตนเสรีสุข 2545; สุรเดช ก้อนทอง 2545; ปริยฉัตร แสงศิริกุลชัย 2546; กิตติพงษ์ ถาวรวงศ์ 2548; ภีร์ เวณุนันทน์ 2548; อุบลรัตน์ มากไมตรี 2548) กระดูกมนุษย์ (บุรินทร์ ชวลิดาภา 2544; ทนงศักดิ์ เลิศพิพัฒน์วรกุล 2545; 2552) กระดูกสัตว์ (สารัท ชลอสันติสกุล 2546; ณัฐพร วศินยนต์ 2548; บริสุทธิ์ บริพนธ์ 2549) ประเพณีการฝังศพ (ประภาพรรณ ชื่นแขก 2546; ศศิธร โตวินัส 2548) และการใช้พื้นที่ภายในชุมชน (สุรพล นาถะพินธุ 2548 : 20)
ผลการศึกษาหลักฐานทางโบราณคดีข้างต้น สามารถนำไปแปลความถึงชีวิตมนุษย์ก่อนประวัติศาสตร์ที่บ้านโป่งมะนาวได้ทั้งลักษณะทางกายภาพของคน เทคโนโลยี ชีวิตความเป็นอยู่ วัฒนธรรมบางประการ และสภาพแวดล้อม
อย่างไรก็ตามแม้จะมีการศึกษาหลักฐานทางโบราณคดีหลากหลายประเภท แต่ยังขาดการศึกษาที่ชี้ให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงหรือพลวัตทางวัฒนธรรมตลอดช่วงเวลา 2,000 ปี ของการดำรงอยู่ของชุมชนโบราณแห่งนี้