สมัยเด็กๆแทบทุกคนคงจะคุ้นเคยกับคำว่า “แมงกินฟัน” ที่เป็นตัวการให้เกิด “ฟันผุ”
ความเชื่อนี้มีมาช้านานและไม่ได้มีเฉพาะในคนไทย บันทึกของชาวซูเมอร์ (Sumerians) ในดินแดนเมโสโปเตเมียเมื่อหลายพันปีก่อนได้กล่าวถึง “หนอนในฟัน” (tooth worm) ที่เป็นต้นตอของฟันผุ
ความเชื่อนี้อยู่มายาวนานจนกระทั่งคริสต์ศตวรรษที่ 18 Robertson ทันตแพทย์ชาวอังกฤษเสนอว่า “ฟันผุเกิดจากเศษอาหารที่ติดและหมักหมมในซอกฟัน” คำอธิบายที่ว่านี้เป็นแนวทางในการศึกษาสาเหตุของฟันผุในเวลาต่อมา จนคริสต์ศตวรรษที่ 19 จึงได้รู้แน่ชัดว่าแบคทีเรียนี่เองที่เป็นตัวการ (http://uto.moph.go.th/dental/sara/teeh03/teeh03.htm)
ความรู้ในปัจจุบัน ฟันผุเกิดจากแบคทีเรีย Streptococcus matans และ Lactobacillus ในปากย่อยสลายคราบอาหาร (dental plaque) ที่เกาะบนผิวฟัน ทำให้เกิดกรดขึ้นในช่องปากจนไปทำลายผิวฟันให้กร่อนยุ่ย นิ่มเป็นขุย และผุเป็นรูในที่สุด
แม้ว่าฟันผุจะมีแต่โทษ แต่นักโบราณคดียังหาประโยชน์จากมันได้
เหตุเกิดมาจากนักวิชาการ (ทั้งทันตแพทย์ นักมานุษยวิทยากายภาพ และนักโบราณคดี) พบว่าอัตราการเกิดฟันผุของกลุ่มคนที่ดำรงชีวิตแบบหาของป่า-ล่าสัตว์จะมีน้อยกว่าในกลุ่มคนที่ดำรงชีพแบบเกษตรกรรม
(นักวิชาการบางท่านให้เกณฑ์อยู่ที่ 10% นั่นคือ อัตราฟันผุในกลุ่มคนหาของป่า-ล่าสัตว์ ต่ำกว่า 10% ส่วนอัตราฟันผุของคนในชุมชนเกษตรกรรม มีมากกว่า 10% ขึ้นไป)
สาเหตุเพราะคนในชุมชนเกษตรกรรมนิยมบริโภคอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรตและน้ำตาล โดยเฉพาะพืชให้พลังงานกับร่างกายที่เพาะปลูกขึ้นได้เอง เช่น ข้าว แป้ง พืชหัว และผลไม้ต่างๆ อาหารเหล่านี้มีความอ่อนนิ่มและย่อยได้ในปาก (ในน้ำลายมีเอนไซม์อะไมเลส ที่ย่อยแป้งให้เป็นน้ำตาลมอลโทส) ทำให้เศษอาหารสะสมในช่องปากได้ง่าย ซึ่งเป็นสาเหตุหลักทำให้เกิดฟันผุ
ในขณะที่กลุ่มคนหาของป่า-ล่าสัตว์ กินอาหารที่หาได้ในธรรมชาติตามยถากรรม ทั้งสัตว์และพืช ลักษณะอาหารมีความหยาบและแข็งมากกว่าอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรต การสะสมของเศษอาหารในช่องปากจึงน้อยกว่า อัตราการเกิดฟันผุจึงน้อยกว่า (แต่มีอัตราฟันสึกมากกว่า)
อย่างไรก็ตาม การเกิดฟันผุไม่ได้ขึ้นอยู่กับประเภทของอาหารแต่เพียงอย่างเดียว ยังมีปัจจัยอื่นๆที่ต้องคำนึงถึงด้วย เช่น ความเป็นกรดเบสในน้ำลายของแต่ละคน ลักษณะรูปร่างของฟันที่แต่ละคนมีซอกหลืบมากน้อยแตกต่างกัน การทำความสะอาดภายในช่องปากของแต่ละคน การได้รับแร่ธาตุที่เป็นประโยชน์ต่อฟันไม่เท่ากัน (โดยเฉพาะฟลูออไรด์) รวมทั้งโรคภัยไข้เจ็บบางอย่าง เช่น โรคกรดไหลย้อน ที่น้ำกรดในกระเพาะอาหารไหลย้อนขึ้นมาที่ช่องปาก จนไปกัดกร่อนฟันในที่สุด
ทนงศักดิ์ เลิศพิพัฒน์วรกุล