มะเร็งเป็นโรคร้ายแรงที่คร่าชีวิตมนุษย์ไปปีละหลายล้านคนทั่วโลก และมีแนวโน้มผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตเพิ่มมากขึ้นทุกปี ดูเหมือนว่าโรคมะเร็งจะเป็นโรคสมัยใหม่ที่เติบโตขึ้นพร้อมๆกับความเจริญด้านเทคโนโลยี ความเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อมและสภาพสังคม
แต่เมื่อไม่มานี้มีการเปิดเผยหลักฐานว่า โรคมะเร็งไม่ใช่โรคสมัยใหม่แต่อย่างใด หากแต่เกิดขึ้นมาไม่น้อยกว่า 3,000 ปีมาแล้ว
Michaela Binder นักศึกษาปริญญาเอกมหาวิทยาลัยเดอร์แฮม (Durham University) ขุดค้นสุสานอายุ 1,200 ปีก่อนคริสตกาล ที่แหล่งโบราณคดี Amara West ทางตอนเหนือของประเทศซูดาน ในเขตลุ่มแม่น้ำไนล์ พบร่องรอยโรคมะเร็งในโครงกระดูกมนุษย์โครงหนึ่งที่ถูกฝังอยู่ในโลงไม้ที่มีการเขียนหรือระบายสี
Michaela Binder ศึกษาโครงกระดูกโครงนี้ร่วมกับ Daniel Antoine ภัณฑารักษ์ของบริติชมิวเซียม (British Museum) พบว่าเจ้าของโครงกระดูกโครงนี้เป็นเพศชาย อายุระหว่าง 25-35 ปี โครงกระดูกมีสภาพดีจึงทำให้สามารถสังเกตเห็นถึงความผิดปกติของกระดูกได้ด้วยตาเปล่า
เมื่อนำโครงกระดูกไปศึกษาด้วยการฉายรังสี (radiography) และกล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอนแบบส่องกราด (scanning electron microscope - SEM) ก็พบร่องรอยของโรคมะเร็งชัดเจนที่กระดูกไหปลาร้า กระดูกส่วนไหล่ ต้นแขน ต้นขา กระดูกสันหลัง ซี่โครง และกระดูกเชิงกราน
มะเร็งที่พบเป็นชนิด metastatic carcinoma (มะเร็งที่เกิดจากเนื้อเยื่อบุผิวและแพร่กระจายไปยังส่วนอื่นๆของร่างกาย ซึ่งเป็นมะเร็งชนิดที่พบมากที่สุดในปัจจุบัน) ทำให้เป็นหลักฐานมะเร็งแพร่กระจายที่เก่าที่สุดเท่าที่ค้นพบในขณะนี้
Michaela Binder และ Daniel Antoine กล่าวว่าการค้นพบนี้อาจจะช่วยให้เราได้ข้อมูลเพิ่มขึ้นเกี่ยวกับโบราณระบาดวิทยา สุขอนามัยของคนสมัยโบราณ ชนิดและวิวัฒนาการของโรคมะเร็ง การกลายพันธุ์ของยีน (gene) ที่เกี่ยวเนื่องกับการเกิดโรคมะเร็ง
ปัจจัยที่ทำให้เกิดโรคมะเร็งในสมัยนั้นอาจมาจากสารก่อมะเร็งจากสิ่งแวดล้อม เช่น ควันจากฟืนไฟ หรือปัจจัยด้านพันธุกรรม หรือโรคติดเชื้อบางอย่าง เช่น โรคพยาธิใบไม้ในเลือด (schistosomiasis)
ทนงศักดิ์ เลิศพิพัฒน์วรกุล สรุปความจาก :
http://www.bbc.com/news/science-environment-26627941