ข่าวครึกโครมเกี่ยวกับการค้นพบทองคำโบราณในสวนปาล์มของนายวิ ทับแสง อ.เขาชัยสน จ.พัทลุง ช่วงเดือนที่ผ่านมา สร้างปรากฏการณ์กระตุ้นความสนใจในเรื่องโบราณวัตถุสมบัติของชาติและมหาสมบัติใต้ดินให้กับชาวไทยอีกครั้งหนึ่ง
หลังจากข่าวการค้นพบทองก็ตามมาด้วยข่าวมวลชนเข้าไปขุดหาทองจนเจ้าของที่ดินรับมือไม่ไหว ข่าวการเข้าควบคุมพื้นที่โดยหน่วยงานราชการ ข่าวการพบเรื่องลี้ลับของชาวบ้านและผู้ครอบครองทอง รวมทั้งเรื่องราวดีๆ อย่างการส่งมอบทองคำคืนแก่หน่วยงานราชการ
ลักษณะทองคำที่พบมีทั้งแผ่นทอง ทองรูปพรรณ แผ่นทองที่มีลวดลายและจารึก ถึงแม้ว่าในขณะนี้จะยังไม่ทราบที่ไปของทองคำที่แน่ชัด แต่ก็เริ่มปรากฏเค้าลางที่มาของทองคำเหล่านี้บ้างแล้ว
ที่มาภาพ : http://board.postjung.com/772930.html
ความคืบหน้า
การประชุมของ “คณะกรรมการกำหนดเงินรางวัลสำหรับผู้เก็บได้ซึ่งโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุที่เป็นทรัพย์สินของแผ่นดิน รวมทั้งตรวจพิสูจน์ กำหนดอายุสมัย กำหนดค่าทรัพย์สินและประเมินราคาของโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ สิ่งเทียมโบราณวัตถุและสิ่งเทียมศิลปวัตถุ” ครั้งที่ 1/2557 นอกจากจะได้หารือกันถึงแนวทางการประเมินราคาทองคำและกำหนดจ่ายค่าตอบแทนเพื่อจ่ายให้กับชาวบ้านที่ส่งมอบทองคำคืนแล้ว ยังมีการประเมินคุณค่าและอายุของทองเหล่านี้ (ดูรายละเอียดได้ใน http://thainews.prd.go.th/centerweb/News/NewsDetail?NT01_NewsID=WNSOC5706120020014#sthash.3Itu8fAV.dpuf)
การศึกษาเบื้องต้นโดยผู้เชี่ยวชาญทำให้ได้ข้อมูลว่า ทองคำดังกล่าวน่าจะมีอายุราว พ.ศ.1670–1822 หรือประมาณ 700-800 ปีมาแล้ว
อ.ดร.อชิรัชญ์ ไชยพจน์พานิช คณะโบราณคดี ม.ศิลปากร อ่านจารึกตัวอักษรจีนบนแผ่นทองได้ว่า "แซ่ หาน" สันนิษฐานว่าคือผู้ทำหน้าที่การันตีทองคำ และตัวอักษรอีกส่วนหนึ่งคาดว่าเป็นชื่อแหล่งผลิตทองแถบมณฑลเจ้อเจียง ประเทศจีน
ยิ่งไปกว่านั้น ลักษณะแผ่นทองคำที่เขาชัยสนยังมีรูปแบบเหมือนกับแผ่นทองในพิพิธภัณฑ์เวินโจว มณฑลเจ้อเจียง อีกด้วย
ที่มาภาพ : http://news.thaiza.com/ตะลึง-อธิบดีกราศิลปากรเผย-ทองพัทลุง-รุ่นเดียวกับปราสาทนครวัด/291329/
กฎหมายที่เกี่ยวข้อง
นอกเหนือไปจากคุณค่าด้านวิชาการและมูลค่าของทองคำแล้ว เหตุการณ์ความวุ่นวายของคลื่นมนุษย์นักล่าทองที่เขาชัยสน ยังเป็นสิ่งกระตุ้นเตือนให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องตระหนักถึงความสำคัญของการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ข้อมูลกฎหมายโบราณสถาน โบราณวัตถุ ฯลฯ ให้ประชาชนทั่วไปได้รับทราบเสมือนกับกฎหมายในชีวิตประจำวัน เพราะสิ่งเหล่านี้มีอยู่รอบตัว และที่สำคัญคือการปลูกฝังประชาชนโดยเฉพาะเยาวชนให้รัก ตระหนัก และหวงแหนสมบัติของชาติ เพื่อการอนุรักษ์ที่ยั่งยืนต่อไปในอนาคต
สาระสำคัญใน “พระราชบัญญัติโบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พ.ศ.2504 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติโบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2535” ที่เกี่ยวข้องและควรทราบจากกรณีเขาชัยสน คือ
โบราณวัตถุ โบราณสถาน แหล่งโบราณคดี : ความหมาย
โบราณวัตถุ หมายความว่า สังหาริมทรัพย์ที่เป็นของโบราณ ไม่ว่าจะเป็นสิ่งประดิษฐ์หรือเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ หรือที่เป็นส่วนหนึ่งส่วนใดของโบราณสถาน ซึ่งโดยอายุหรือโดยลักษณะแห่งการประดิษฐ์หรือโดยหลักฐานเกี่ยวกับประวัติของสังหาริมทรัพย์นั้น เป็นประโยชน์ในทางศิลปประวัติศาสตร์หรือโบราณคดี (มาตรา 4)
โบราณสถาน หมายความว่า อสังหาริมทรัพย์ซึ่งโดยอายุหรือโดยลักษณะแห่งการก่อสร้าง หรือโดยหลักฐานเกี่ยวกับประวัติของอสังหาริมทรัพย์นั้นเป็นประโยชน์ในทางศิลปประวัติศาสตร์ หรือโบราณคดี ทั้งนี้ ให้รวมถึงสถานที่ที่เป็นแหล่งโบราณคดี แหล่งประวัติศาสตร์และอุทยานประวัติศาสตร์ด้วย (มาตรา 4)
แหล่งโบราณคดี คือ สถานที่ที่ก่อสร้างขึ้นโดยฝีมือมนุษย์ หรือสถานที่ที่พบร่องรอยของกิจกรรมของมนุษย์ในอดีตที่มีคุณค่าในทางศิลปะ ประวัติศาสตร์ และโบราณคดี
นั่นหมายความว่าพื้นที่สวนปาล์มของนายวิ ทับแสง ที่พบทองคำโบราณจำนวนมากนั้น เป็นแหล่งโบราณคดีหรือโบราณสถานตาม พ.ร.บ.โบราณสถานฯ และทองคำเหล่านั้นก็เป็นโบราณวัตถุของชาติ
โบราณวัตถุ : การค้นพบ ครอบครอง และรางวัล
โบราณวัตถุที่ถูกซ่อนหรือทอดทิ้งหรือฝังไว้ในดินแดนประเทศไทย โดยไม่มีผู้ใดสามารถอ้างได้ว่าเป็นเจ้าของ ไม่ว่าสถานที่ที่พบจะอยู่ในกรรมสิทธิ์ของบุคคลใดก็ตาม ให้โบราณวัตถุนั้นตกเป็นของแผ่นดิน (จะโอน ขาย หรือแลกเปลี่ยนกันไม่ได้) (มาตรา 24 และมาตรา 18)
ผู้ที่พบหรือเก็บโบราณวัตถุได้ ต้องส่งมอบโบราณวัตถุนั้นให้พนักงานเจ้าหน้าที่ของกรมศิลปากร หรือพนักงานฝ่ายปกครอง หรือเจ้าหน้าที่ตำรวจ โดยเร็ว (มาตรา 24)
(หากยึดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1323 เกี่ยวกับการเก็บทรัพย์สินได้นั้น ผู้พบโบราณวัตถุจำเป็นต้องส่งมอบโบราณวัตถุให้พนักงานเจ้าหน้าที่ภายใน 3 วัน นับจากวันที่พบ)
หลังจากส่งมอบให้พนักงานเจ้าหน้าที่แล้ว พนักงานเจ้าหน้าที่ที่ได้รับมอบจะต้องแจ้งรายงานต่ออธิบดีกรมศิลปากร และอธิบดีจะดำเนินการแต่งตั้ง “คณะกรรมการพิจารณากำหนดค่าของทรัพยสินและเงินรางวัล” (มาตรา 24)
ผู้พบโบราณวัตถุมีสิทธิได้รับรางวัลไม่เกิน 1 ใน 3 ของมูลค่าโบราณวัตถุตามที่คณะกรรมการพิจารณาประเมิน ทั้งนี้ หากผู้พบโบราณวัตถุไม่พอใจค่าของโบราณวัตถุตามที่คณะกรรมการประเมิน สามารถยื่นอุทธรณ์ต่ออธิบดีกรมศิลปากรได้ภายใน 15 วัน นับจากวันที่ทราบค่าของโบราณวัตถุ ซึ่งอธิบดีจะดำเนินการวินิจฉัย และคำวินิจฉัยของอธิบดีจะถือเป็นที่สุด (มาตรา 24)
โบราณสถาน/แหล่งโบราณคดี : ห้ามบุกรุก ห้ามขุด
ห้ามไม่ให้ผู้ใดซ่อมแซม แก้ไข เปลี่ยนแปลง รื้อถอน ต่อเติมทำลายเคลื่อนย้ายโบราณสถาน หรือส่วนต่างๆ ของโบราณสถาน/แหล่งโบราณคดี หรือขุดค้นสิ่งใดๆ หรือปลูกสร้างอาคารภายในบริเวณโบราณสถาน/แหล่งโบราณคดี เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากอธิบดีกรมศิลปากร (มาตรา 10)
พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจเข้าไปในโบราณสถาน/แหล่งโบราณคดีเพื่อตรวจสอบดูว่ามีการบุกรุกหรือขุดค้นที่ผิดกฎหมายตามมาตรา 10 หรือไม่ (มาตรา 10 ทวิ)
พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจในการยึดหรืออายัดวัตถุที่มีเหตุอันสงสัยได้ว่าจะเป็นวัตถุที่ได้มาจากการขุดค้นในบริเวณโบราณสถาน/แหล่งโบราณคดี โดยกระบวนการยึดหรืออายัดของพนักงานเจ้าหน้าที่นี้ จะกระทำได้เฉพาะช่วงพระอาทิตย์ขึ้นถึงพระอาทิตย์ตก และเมื่อยึดหรืออายัดแล้ว พนักงานเจ้าหน้าที่ต้องรายงานต่ออธิบดีกรมศิลปากร (กรณีอยู่ในเขตกรุงเทพฯ) หรือผู้ว่าราชการจังหวัดและอธิบดี (กรณีที่อยู่ต่างจังหวัด) เพื่อทราบ (มาตรา 10 ทวิ)
บทกำหนดโทษ
ผู้ที่พบหรือเก็บโบราณวัตถุได้แล้วไม่แจ้งพนักงานเจ้าหน้าที่ และเบียดบังเอาโบราณวัตถุนั้นมาเป็นของตนเองหรือของผู้อื่น มีโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี หรือปรับไม่เกิน 700,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ (มาตรา 31)
ผู้ที่ซ่อน จำหน่าย เอาไป รับซื้อ รับจำนำ หรือรับเอาโบราณวัตถุที่ได้มาผิดกฎหมาย (ตามมาตรา 31) ไว้ไม่ว่าในกรณีใดๆ (นอกเหนือจากพนักงานเจ้าหน้าที่) มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 500,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และหากเป็นการกระทำเพื่อการค้า ผู้กระทำผิดมีโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี หรือปรับไม่เกิน 700,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ (มาตรา 31 ทวิ)
ผู้ที่บุกรุกแหล่งโบราณคดี หรือทำให้แหล่งโบราณคดี เสียหาย ทำลาย ทำให้เสื่อมค่า หรือทำให้ไร้ประโยชน์ มีโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี หรือปรับไม่เกิน 700,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ (มาตรา 32)
ผู้ที่ซ่อมแซม แก้ไข เปลี่ยนแปลง รื้อถอน ต่อเติมทำลายเคลื่อนย้ายโบราณสถาน หรือส่วนต่างๆ ของโบราณสถาน/แหล่งโบราณคดี หรือขุดค้นสิ่งใดๆ หรือปลูกสร้างอาคารภายในบริเวณโบราณสถาน/แหล่งโบราณคดีอย่างผิดกฎหมายตามมาตรา 10 มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 300,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ (มาตรา 35)
ผู้ที่ขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานเจ้าหน้าที่ซึ่งปฏิบัติตาม พ.ร.บ.โบราณสถาน ฯ มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ (มาตรา 37 ตรี)
ทนงศักดิ์ เลิศพิพัฒน์วรกุล