ระยะเวลากว่า 4 เดือน นับตั้งแต่มีการค้นพบทองโบราณที่ อ.เขาชัยสน จ.พัทลุง สถานการณ์ตื่นทองยังคงดำเนินมาอย่างต่อเนื่อง แม้จะลดความเข้มข้นลงตามกาลเวลาและเงื่อนไขต่างๆ โดยเฉพาะการเข้าดูแลพื้นที่ของหน่วยงานราชการ การบังคับใช้กฎหมาย และสำนึกรักหวงแหนสมบัติชาติของคนในท้องถิ่นและคนในชาติ
สวนปาล์มของนายวิ ทับแสง
พื้นที่สวนปาล์มของนายวิ ทับแสง ที่พบทองคำ ปัจจุบันถูกล้อมด้วยรั้วลวดหนาม พร้อมทั้งทั้งประกาศของทางการ “ห้ามเข้า”
ส่วนการขุดค้นของกรมศิลปากร นำโดยสำนักศิลปากรที่ 14 นครศรีธรรมราช ในช่วงเดือนมิถุนายน 2557 พบหลักฐานทางโบราณคดีจำนวนมาก แต่โบราณวัตถุที่เป็นทองคำ พบเพียงลูกปัดทอง 2 ลูก
นายเอนก สีหามาตย์ อธิบดีกรมศิลปากร ให้ข้อมูลกับนักข่าวว่า ทองคำที่ชาวบ้านส่งมอบมาให้นั้น กรมศิลปากรจะตั้งแสดงและเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑ์วัดเขียนบางแก้ว ต.จองถนน อ.เขาชัยสน จ.พัทลุง โดยกรมศิลปากรได้ตั้งงบประมาณปี 2558 ไว้แล้ว 500,000 บาท เพื่อปรับปรุงพิพิธภัณฑ์ให้อยู่ในสภาพดี มีความเหมาะสม และมีมาตรฐาน กรมศิลปากรจะรับผิดชอบด้านการรักษาความปลอดภัยและระบบเตือนภัยทั้งหมด โดยเฉพาะระบบป้องกันการโจรกรรมและอัคคีภัย
เมื่อปรับปรุงพิพิธภัณฑ์แล้วเสร็จ กรมศิลปากรจะจัดทำนิทรรศการประวัติศาสตร์เมืองพัทลุง การติดต่อสัมพันธ์กันระหว่างพัทลุงกับดินแดนต่างๆ ทั้งในและต่างภูมิภาค เส้นทางการค้าสมัยโบราณ เรื่องราวความเชื่อและศาสนาของคนสมัยโบราณ รวมถึงประวัติของมีค่าที่พบ
ส่วนโบราณวัตถุทองคำ กรมศิลปากรได้ระดมผู้เชี่ยวชาญมาร่วมกันศึกษาวิเคราะห์ ทำให้ได้ข้อมูลที่น่าสนในมากมาย
ทองคำ?
การวิเคราะห์องค์ประกอบทองด้วยวิธีเอกซเรย์ฟลูออเรสเซนส์ (X-ray Fluorescence) โดยนายศิริชัย หวังเจริญตระกูล ผู้เชี่ยวชาญด้านวิทยาศาสตร์เพื่อการอนุรักษ์ กรมศิลปากร พบว่าตัวอย่างทองที่นำไปศึกษา ล้วนมีเนื้อทองเกินกว่า 90% ทั้งสิ้น ส่วนที่เหลือเป็นโลหะเงิน ซึ่งต่างจากทองยุคปัจจุบันที่มักเป็นทองคำผสมกับทองแดง จึงทำให้สีของทองปัจจุบันกับทองโบราณแตกต่างกัน
แผ่นทอง มีเนื้อทองเป็นองค์ประกอบ 97% ส่วนที่เหลือเป็นโลหะเงิน
ศิวลึงค์ทองคำและกำไลทองคำ มีเนื้อทองเป็นองค์ประกอบ 98% ส่วนที่เหลือเป็นโลหะเงิน
ทองคำก้อน มีเนื้อทองเป็นองค์ประกอบ 91% ส่วนที่เหลือเป็นโลหะเงิน
ตัวอักษรบนแผ่นทอง
ดร.อชิรัชญ์ ไชยพจน์พานิช อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ คณะโบราณคดี ม.ศิลปากร ผู้ศึกษาตัวอักษรบนแผ่นทองให้ข้อมูลว่า แผ่นทองที่ปรากฏตัวอักษรจะมีลักษณะคล้ายกันอย่างหนึ่ง คือมีตัวอักษรจีนประทับ (ดุนนูน) อยู่ทั่วทั้งแผ่น ความคมชัดของตัวอักษรจะแตกต่างกันไปตามตำแหน่งต่างๆ
ดร.อชิรัชญ์ อธิบายว่า การผลิตแผ่นทองคำนั้น ต้องมีการสัมปทานจากรัฐหรือราชสำนัก เมื่อได้ทองคำเป็นแผ่นมาแล้วก็จะนำมาพับ แล้วกดหรือประทับตัวอักษรลงเฉพาะส่วนมุมและกลางแผ่น ทำให้เกิดรอยประทับติดลงไปในแผ่นทองทุกชั้น เมื่อคลี่แผ่นทองจึงปรากฏเป็นตัวอักษรเหมือนๆ กันกระจายไปทั่วทั้งแผ่น แต่ความคมชัดจะแตกต่างกัน
ตัวอย่างแผ่นทองที่ ดร.อชิรัชญ์ ศึกษาพบว่าตัวอักษรจีนที่มุมเป็นชื่อของแหล่งผลิตแผ่นทอง เช่น “ป้าเป่ยเจียซี” “ป้าเป่ยเจียตง”
ดร.อชิรัชญ์ ถอดความว่า คำว่า ‘ป้าเป่ย’ เป็นคำโบราณที่ใช้เรียกกันในสมัยราชวงศ์ซ่งใต้ ปัจจุบันไม่พบชื่อนี้แล้ว
‘ป้าเป่ย’ คือชื่อของสถานที่โบราณในสมัยราชวงศ์ซ่งใต้ (พ.ศ.1670-1822) ซึ่งปัจจุบันไม่มีชื่อสถานที่นี้แล้ว
‘เจีย’ แปลว่าถนน
‘ซี’ แปลว่าตะวันตก
‘ตง’ แปลว่าทิศตะวันออก
ดังนั้น “ป้าเป่ยเจียซี” จึงหมายถึง ด้านตะวันตกของถนนป้าเป่ย หรือถนนป้าเป่ยฝั่งตะวันตก
และ “ป้าเป่ยเจียตง” หมายถึง ด้านตะวันออกของถนนป้าเป่ย หรือถนนป้าเป่ยฝั่งตะวันออก
“ป้าเป่ยเจียซี” เป็นสถานที่แห่งหนึ่งอยู่บริเวณทะเลสาบซีหู เมืองหางโจว มณฑลเจ้อเจียง ประเทศจีน ในปัจจุบัน
ชี้ให้เห็นว่า แผ่นทองเหล่านี้ผลิตในสมัยเดียวกัน แต่มีแหล่งผลิตที่หลากหลาย
ส่วนตัวอักษรที่กลางแผ่นทองเป็นแซ่และชื่อของผู้การันตีหรือผู้รับรองคุณภาพทองคำ เช่น แซ่หาน แซ่หวาง (แต่ไม่สามารถอ่านชื่อได้ เพราะตัวอักษรไม่ชัด)
ตอนท้ายของชื่อยังมีตัวอักษรที่บอกค่าความบริสุทธ์ของทองหรือเปอร์เซ็นต์ทองคำนั่นเอง ที่อ่านได้เช่น “สือเฟินจิน”
‘สือเฟิน’ แปลว่าสิบส่วน
‘จิน’ แปลว่าทอง
“สือเฟินจิน” จึงหมายถึง ทองคำสิบส่วน
(อาจแตกต่างจากทองคำ 10 ส่วน หรือทอง 10K ในปัจจุบัน เพราะทอง 10K มีเปอร์เซ็นต์ทองอยู่ที่ 41.7% เท่านั้น)
ตัวอักษรจีนบนแผ่นทอง
ที่มา : http://clip.thaipbs.or.th/file-12690
แผ่นทอง...ใช้ทำอะไร?
ดร.อชิรัชญ์ ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า แผ่นทองคำที่เขาชัยสนเหมือนกับแผ่นทองที่จัดแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑ์เวินโจว มณฑลเจ้อเจียง
โดยแผ่นทองลักษณะนี้เรียกว่า “จินเย่จื่อ” หรือทองใบ ซึ่งใช้เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนสินค้าในสมัยนั้น (คล้ายกับธนบัตรในปัจจุบัน) และตั้งใจทำให้พับได้ เพื่อสะดวกต่อการพกพา
ส่วนแผ่นทองบางแผ่นที่มีลักษณะฉีกขาดนั้น เกิดจากการถูกฉีกแบ่งออกให้มีขนาดหรือมีมูลค่าที่เหมาะสมกับสินค้าที่จะซื้อ
ทองคำ...อยู่ที่นี่ได้อย่างไร?
ผลการศึกษาชั้นดินจากการขุดค้นของกรมศิลปากรพบว่า พื้นที่สวนปาล์มที่พบทองในอดีต น่าจะเคยเป็นแอ่งน้ำหรือหนองน้ำ บวกกับคำบอกเล่าของคนในพื้นที่ว่า ในอดีตพื้นที่บริเวณนี้เป็นหนองน้ำขนาดใหญ่ ชาวบ้านเรียกว่า “หนองนายเขียว”
หนองน้ำนี้เชื่อมโยงไปถึงคลองพะเนียดและคลองท่ามะเดื่อ
เป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่า ในอดีต พื้นที่ จ.พัทลุง เป็นหนึ่งในเส้นทางเดินทางข้ามคาบสมุทรมลายูที่สำคัญ คลองพะเนียดและคลองท่ามะเดื่อก็เป็นเส้นทางน้ำสำคัญที่ใช้ในการเดินทาง คลองทั้งสองสายจะไหลออกสู่ทะเลสาบสงขลาและอ่าวไทย โดยวัดเขียนบางแก้วซึ่งเป็นวัดโบราณ ก็ตั้งอยู่ริมคลองท่ามะเดื่อเช่นเดียวกัน
ดังนั้น จึงมีข้อสันนิษฐานว่า ทองคำที่พบในสวนของนายวิ ทับแสง ที่สมัยก่อนเป็นหนองน้ำนั้น อาจเป็นทองของพ่อค้าหรือบุคคลมีฐานะหรือบุคคลชั้นสูง ชาวจีน? ที่เดินทางผ่านเส้นทางนี้โดยทางเรือ อาจมาเพื่อการค้าหรือกิจธุระอื่นๆ ก่อนที่เรือจะล่มลงพร้อมกับทองคำในบริเวณนี้
อย่างไรก็ตาม ยังมีข้อสันนิษฐานว่าอื่นอีก เช่น ทองคำเหล่านี้ถูกขนถ่ายมาจากแหล่งอื่น (โดยเฉพาะจากจีน) เพื่อนำมาถวายเป็นพุทธบูชาแด่วัดเขียนบางแก้ว หรือทองคำเหล่านี้อาจเป็นทองที่ผลิตได้จากแร่ทองในพื้นที่ เนื่องจากมีวัตถุดิบปรากฏอยู่หลายจุด โดยเฉพาะบริเวณ อ.ปะเหลียน จ.ตรัง (ในสมัยรัชกาลที่ 3 เคยมีการทำเหมืองแร่ทองที่เมืองปะเหลียน)
เพื่อความกระจ่างเรื่องที่มาที่ไปของทองคำเหล่านี้ การศึกษาจึงยังคงดำเนินต่อไป พร้อมๆ กับการพิทักษ์รักษาโบราณสถาน-โบราณวัตถุ และเพิ่มพูนจิตสำนึกการหวงแหนรักษามรดกวัฒนธรรมให้กับชาวไทยทุกคน
ทนงศักดิ์ เลิศพิพัฒน์วรกุล เรียบเรียงจาก
สมาน สุตโต. “กรมศิลป์นำทองพัทลุงเข้าพิพิธภัณฑ์วัด.” โพสต์ทูเดย์ ปีที่ 12 ฉบับที่ 4196 หน้า B3
http://clip.thaipbs.or.th/file-12690
http://news.mthai.com/general-news/360270.html