การบรรยายพิเศษ "วิสาขบูชา ศิลปกรรมเกี่ยวกับการประสูติ ตรัสรู้ ปรินิพพาน"*


ทนงศักดิ์ เลิศพิพัฒน์วรกุล 26 ต.ค. 2014

รุ้งตะวัน อ่วมอินทร์

 

            เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2557  ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) จัดการบรรยายพิเศษ "วิสาขบูชา ศิลปกรรมเกี่ยวกับการประสูติ ตรัสรู้ ปรินิพพาน" โดย ศ.ดร.ศักดิ์ชัย สายสิงห์ รศ.ดร.เชษฐ์ ติงสัญชลี และ ผศ.ดร.รุ่งโรจน์ ธรรมรุ่งเรือง จากภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร

            ศ.ดร.ศักดิ์ชัย สายสิงห์ เกริ่นนำถึงอิทธิพลของพระพุทธศาสนาที่ปรากฏในงานประวัติศาสตร์ศิลปะ จากนั้น ผศ.ดร.เชษฐ์ ติงสัญชลี ได้บรรยายถึง สังเวชนียสถานที่เกี่ยวข้องกับวันวิสาขบูชา สังเวชนียสถาน คือ สถานที่ที่ควรสังเวชในความอนิจจัง เพราะแม้แต่พระพุทธเจ้าผู้เป็นมหาบุรุษของโลก ก็เสด็จดับขันธปรินิพพาน ไม่เหลือสิ่งใดนอกจากสถานที่ที่ควรสังเวช ในมหาปรินิพพานสูตร  สังเวชนียสถาน 4 แห่ง  ได้แก่ สถานที่ประสูติที่ลุมพินี  ตรัสรู้และเสวยวิมุตติสุขที่พุทธคยา  ปฐมเทศนาที่สารนาถ  และเสด็จดับขันธปรินิพพานที่กุสินารา พระพุทธเจ้าตรัสในมหาปรินิพพานสูตรว่า หากผู้ใดจาริกแสวงบุญมายังสถานที่ทั้งสี่นี้ด้วยใจศรัทธาแล้ว จะถึงสุคติโลกสวรรค์ จึงทำให้สังเวชนียสถาน 4 แห่งนี้ กลายเป็นสถานที่แสวงบุญสำคัญของพุทธศาสนิกชน ตั้งแต่อดีตเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน

            สังเวชนียสถานได้ปรากฏหลักฐานที่เป็นศิลปกรรมอินเดีย 4 สมัย ได้แก่ ศิลปะอินเดียโบราณ (พุทธศตวรรษที่ 3-6) เช่น  เสาพระเจ้าอโศกที่สารนาถ  ศิลปะมถุรา (พุทธศตวรรษที่ 6-9) เช่น พระพุทธรูป พบจากทางจงกรมที่สารนาถ ศิลปะคุปตะ (พุทธศตวรรษที่ 9-11) เช่น พระพุทธรูปปางปรินิพพานที่กุสินารา และศิลปะปาละ (พุทธศตวรรษที่ 14-18) เช่น สถูปจำลองที่นาลันทา และพุทธคยา

             ผศ.ดร.รุ่งโรจน์ ธรรมรุ่งเรือง ตั้งข้อสังเกตว่า โลกทัศน์เรื่องสังเวชนียสถาน ทั้ง 4 ของพุทธศาสนิกชนไทยมีมาตั้งแต่สมัยทวารวดี และอาจเป็นการรับรู้ผ่านคัมภีร์ในพระพุทธศาสนา  เห็นได้จากพระพิมพ์คูบัว ราชบุรี และพระพิมพ์ที่พบจากกรุวัดพระศรีสรรเพชญ์ พระนครศรีอยุธยา ที่เป็นพระพิมพ์ และมีรูปพุทธคยาและพระศรีมหาโพธิ์อยู่หลังเบื้องหลัง สะท้อนให้เห็นว่า พุทธศาสนิกชนในอดีตน่าจะมีความรับรู้เรื่องสังเวชนียสถาน ดังที่มีการนำรูปพุทธคยามาเป็นองค์ประกอบของพระพิมพ์ตั้งแต่สมัยทวารวดี นอกจากนี้ อาจารย์รุ่งโรจน์ได้บรรยายในหัวข้อ พุทธศิลป์ปางประสูติ  ตรัสรู้: พระพุทธรูปปางมารวิชัย ต้นพระศรีมหาโพธิ์ และสัตตมหาสถาน และพระไสยาสน์-พระพุทธรูปปางปรินิพพาน  

ผู้สนใจสามารถชมบันทึกการบรรยายย้อนหลังได้ทาง SAC channel

 

*บทความจาก จดหมายข่าวศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร ปีที่ 16 ฉบับที่ 83 (พฤษภาคม-กันยายน 2557) : 28.