การวินิจฉัยโรคมาลาเรียในไขกระดูกของคนโบราณ


ทนงศักดิ์ เลิศพิพัฒน์วรกุล 26 มี.ค. 2015

นักวิทยาศาสตร์ของมหาวิทยาลัยเยล (Yale University) ได้พัฒนาวิธีการใหม่ที่ใช้บ่งชี้การเป็นโรคมาลาเรียในไขกระดูกของมนุษย์สมัยโบราณ นับเป็นครั้งแรกที่มีการคิดค้นวิธีวินิจฉัยโรคนี้ในโครงกระดูกของคนโบราณโดยเฉพาะ

วิธีการดังกล่าวอาจช่วยให้นักวิทยาศาสตร์สืบค้นย้อนกลับไปได้ถึงมนุษย์คนแรกที่เป็นโรคมาลาเรีย รวมถึงอาจพัฒนาเทคนิคไปใช้ค้นหาโรคติดเชื้ออื่นๆ ในกระดูกของมนุษย์สมัยโบราณต่อไป

Jamie Inwood นักศึกษามหาวิทยาลัยเยล หัวหน้าคณะนักวิจัยกล่าวว่า “ชุดข้อมูลที่เราสร้างจะเป็นการปฏิวัติการทำ epidemic curve[1] ของโรคมาลาเรียในสังคมมนุษย์สมัยโบราณ การเข้าใจปฏิกิริยาของปรสิตต่อการเปลี่ยนแปลงของสังคมในอดีต จะช่วยให้เราทำนายพฤติกรรมของเชื้อโรคในอนาคต เข้าใจสายวิวัฒนาการของเชื้อโรคได้”

Inwood และทีมงานใช้เวลาหลายปีในการค้นหาตัวบ่งชี้ทางเคมีและสเปกตรัมที่ใช้แสดงถึงเชื้อมาลาเรียในกระดูกคนโบราณ โดยคณะผู้วิจัยมุ่งไปที่สาร polymer hemozoin[2] ซึ่งถูกผลิตขึ้นโดยปรสิตที่เป็นสาเหตุของโรคมาลาเรีย

 

ผลึก hemozoin ของเชื้อมาลาเรียภายใต้แสงโพลาไรซ์

ที่มา http://en.wikipedia.org/wiki/Hemozoin

 

เทคนิคนี้มีประสิทธิภาพสูงกว่าเทคนิคอื่นๆ ที่เคยใช้กันมา เช่น การสกัดหาเชื้อจากดีเอ็นเอโบราณ (pathogen aDNA extraction) ซึ่งเป็นเรื่องยากที่จะดำเนินการได้เนื่องจากสภาพกระดูกที่มักผุกร่อนแตกหักเสียหายตามกาลเวลาและผลการศึกษาก็มักจะไม่ได้ข้อสรุป

Inwood ได้ทดสอบวิธีการของเธอในตัวอย่างกระดูกจากแหล่งโบราณคดีที่ Lugnano in Teverina ประเทศอิตาลี อายุราว ค.ศ.550 ขุดค้นโดย David Soren นักโบราณคดีจากมหาวิทยาลัยแอริโซนา (University of Arizona) และคณะ

แหล่งโบราณคดีนี้เป็นสุสานภายในโรมันวิลล่า (Roman villa) ที่ถูกทำลาย ในสุสานพบกระดูกเด็กแรกเกิดและเด็กทารกกว่า 100 โครงที่ถูกฝังแล้วปิดทับด้วยกระเบื้องมุงหลังคาหนักๆ

ผู้ขุดค้นสันนิษฐานว่าการฝังศพในลักษณะดังกล่าวอาจเป็นพิธีกรรมของพวกนอกรีตในสมัยนั้น แต่ Inwood ตั้งข้อสงสัยว่าน่าจะมีการระบาดของโรคในชุมชนนี้ จึงได้นำตัวอย่างกระดูกต้นขาและต้นแขนไปศึกษาและพบกลุ่มผลึก hemozoin สีดำหลายกลุ่มในไขกระดูก

Inwood และเพื่อนร่วมงานของเธอกล่าวว่า การต่อสู้กับโรคมาลาเรียในปัจจุบันและอนาคตจำเป็นต้องใช้ข้อมูลและเข้าใจเรื่องราวจากอดีต

Roderick McIntosh ศาสตราจารย์ด้านมานุษยวิทยาของมหาวิทยาลัยเยลกล่าวว่า “โรคมาลาเรียมีวิวัฒนาการต่อเนื่องตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน สาเหตุมาจากการเปลี่ยนแปลงของประชากรมนุษย์และการใช้ยารักษา เราจึงจำเป็นที่จะต้องมีข้อมูลวิวัฒนาการของเชื้อโรค ประวัติกลไกการเกิดโรคและการระบาดที่เพียงพอ”

Inwood เริ่มเดินทางไปยังแหล่งโบราณคดีในแอฟริกาตะวันตกเพื่อเก็บสะสมข้อมูลเพิ่มเติม และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าในอนาคตนักวิจัยทีมอื่นๆ จะนำเทคนิควิธีการนี้ของเธอไปพัฒนาเพื่อใช้สืบหาและวินิจฉัยเชื้อโรคอื่นๆ ในกระดูกมนุษย์สมัยโบราณต่อไป

 

ทนงศักดิ์ เลิศพิพัฒน์วรกุล เรียบเรียงจาก

http://www.pasthorizonspr.com/index.php/archives/03/2015/identifying-malaria-in-the-bone-marrow-of-ancient-human-remains

 


[1] epidemic curve คือกราฟเส้นโค้งโรคระบาด หรือกราฟแสดงจำนวนผู้ป่วยในแกนตั้งและวันหรือเวลาเริ่มป่วยเป็นแกนนอน ซึ่งจะทำให้ทราบว่าช่วงเวลาใดเกิดการป่วยขึ้นเท่าไร

[2] เมื่อติดเชื้อ เชื้อมาลาเรียจะเปลี่ยนฮีโมโกลบินในเลือดให้เป็น malarial pigment หรือ hemozoin ซึ่งเป็นสารผลึกที่สะท้อนแสงให้เห็นได้ (birefringent) ขณะผ่านแสงโพลาไรซ์ (polarized light)