กฎหมาย “โบราณสถาน” ฉบับแรกของไทย


ทนงศักดิ์ เลิศพิพัฒน์วรกุล 5 เม.ย. 2015

ทนงศักดิ์ เลิศพิพัฒน์วรกุล เรียบเรียง

 

ข่าวคราวการทำลายโบราณสถานยังคงปรากฏให้เห็นอย่างต่อเนื่อง ทั้งโดยตั้งใจและไม่ตั้งใจ กรณีโด่งดังล่าสุดเช่นเหตุการณ์ทำลายโบราณสถานในวัดดัง

ปัจจุบันกฎหมายที่ใช้ปกป้องดูแลโบราณสถานโดยตรง คือ พระราชบัญญัติ โบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พ.ศ.2504 (แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2535) ส่วนกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง อาทิ พระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 (แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2535 พ.ศ.2543 และ พ.ศ.2550) และประมวลกฎหมายอาญา

คุณประโยชน์ของการอนุรักษ์โบราณสถานมีมากมายหลากหลายตามแต่ที่จะคิดและประยุกต์ใช้ได้ ทั้งนามธรรมและรูปธรรม เช่น เป็นสิ่งที่บอกความเป็นมาของบรรพบุรุษ เป็นสิ่งแสดงความรุ่งเรืองของชาติในอดีต ทำให้เกิดความภาคภูมิใจของคนในท้องถิ่นและในชาติ นำมาซึ่งความสมัครสมานสามัคคี ..... คุณค่าด้านวิชาการ ไปจนถึงเป็นแหล่งท่องเที่ยวนำมาซึ่งรายได้ของชุมชนและประเทศชาติ ฯลฯ

จากการศึกษาของอาจารย์ปฐมฤกษ์ เกตุทัต (2539) และ ดร.กรรณิการ์ สุธีรัตนภิรมย์ (2548) พบว่าความคิดเรื่องการอนุรักษ์คุ้มครองโบราณสถานของไทยเกิดขึ้นอย่างเห็นได้ชัดในสมัยรัชกาลที่ 4 เมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้ออก “หมายประกาศเขตรังวัดผู้ร้ายขุดวัด” ใน จ.ศ.1216 หรือ พ.ศ.2397

หมายประกาศฉบับนี้เป็นหมายประกาศที่ให้ภาระหน้าที่กับชาวบ้าน ช่วยดูแลเอาใจใส่วัดวาอารามใกล้บ้านของตัว ไม่ว่าจะเป็นวัดที่มีพระสงฆ์อยู่หรือวัดร้างก็ตาม (ปฐมฤกษ์ เกตุทัต 2539 : 4) โดยหากมีผู้ร้ายขุดทำลายวัดหรือพระพุทธรูปจนชำรุดหักพังลง ให้ชาวบ้านที่อยู่รอบวัดในรัศมี 4 เส้น เข้าชื่อกันแล้วร้องเรียนมายังนายอำเภอภายใน 1 เดือน มิเช่นนั้นชาวบ้านจะมีความผิด ต้องเสียค่าปฏิสังขรณ์ซ่อมแซมสิ่งของในวัดที่ชำรุดลงจนกว่าจะเสร็จ

หรือหากมีผู้ที่มิใช่พุทธศาสนิกชน โดยเฉพาะชาวต่างชาติ ไม่ยอมศรัทธาทำวัด ก็ให้เอาตัวมาทำการพระนคร (ใช้แรงงาน?) 1 เดือนบ้าง 22 วันบ้าง 14 วันบ้าง 7 วันบ้าง ตามระยะทางที่อยู่อาศัยห่างวัด

ในท้ายหมายประกาศระบุมูลเหตุของการออกหมายฉบับนี้อย่างชัดเจน คือ “เพื่อจะให้ชาวบ้านเอาใจใส่วัดวาอารามใกล้บ้านของตัว ไม่ปล่อยให้ผู้ร้ายขุดเสีย ทำลายเสีย เพราะของที่เป็นของท่านทำไว้สร้างไว้แต่ก่อนด้วยอิฐ ปูน ศิลาใด ๆ ใหญ่ก็ดี เล็กก็ดี ถึงจะคร่ำคร่าชำรุดทรุดโทรมไปแล้ว ก็ยังเป็นเครื่องประดับพระนครอยู่”

อาจารย์ปฐมฤกษ์ เกตุทัต (2539 : 5) ให้ความเห็นว่า คำว่า “เครื่องประดับพระนคร” มีความหมายว่าเก็บเอาไว้ศึกษา เก็บเอาไว้ดู เก็บเอาไว้อวด ซึ่งนับว่าเป็นวิธีคิดใหม่ที่เกิดขึ้นในสังคมไทย

ดร.กรรณิการ์ สุธีรัตนาภิรมย์ (2548 : 61) เสนอความเห็นต่อไปว่าวิธีคิดนี้น่าจะสัมพันธ์กับนัยทางการสังคมและการเมืองสมัยนั้นที่อยู่ในภาวะกดดันจากชาติตะวันตก และความต้องการใช้พระพุทธศาสนาสร้างความเข้มแข็งมั่นคงของสถาบันและชาติ เพื่อตอบรับกับกระแสวัฒนธรรมตะวันตกที่เข้ามา

แต่เดิมก่อนที่หมายประกาศฉบับนี้จะประกาศใช้ การคุ้มครอง “ของเก่า” นั้น มุ่งคุ้มครองพระพุทธศาสนามากกว่าการคุ้มครองโบราณสถานหรือโบราณวัตถุ ดังเช่นที่ปรากฏในพระไอยการลักขณโจร  กฎหมายตราสามดวง (ราชบัณฑิตยสถาน 2550) ที่กำหนดโทษผู้ลักขโมยพระพุทธรูปและผู้ลอกของมีค่าที่องค์พระ

พระไอยการลักขณโจร บทที่ 47 บัญญัติวา “ผู้ใดทุจริตรจิตรบาปหยาบชาเปนโจรลักเอาองคพระพุทธิ รูปทอง, หนาก, เงีน, แกว, สําฤท, ทองแดงหรือดีบุก แลสิ่งใดซึ่งเปนรูปพระปติมากอรอยูนั้นไปขาย หรือทําลายก็ดีเอาไปหมีทันขายแลเอาไปหมีทันทําลายจับไดที่ใด ๆ ก็ดีใหเกาะกุมมันมาถาม เอาพวกเพื่อนรูเหนเปนเพื่อนซื้อขายทําดวยกันจงไดถาเปนสัจโดยคําโจรใหทวนดวยลวดหนังคล ๖๐ ที ใหตัดตีนสีนมือพวกเพื่อนทังนั้นเสีย แลวใหไหมเปนเบี้ยคล ๗๐๐๐๐๐ บุณพระพุทธรูปนั้น สวรโจรแลพวกมันนั้นใหฆาเสียไชบาปมันจงลางแลว”

บทที่ 48 บัญญัติวา “ถาโจรมันเอาพระพุทธรูปไปลางไปเผาสํารอกเอาทองก็ดี เอาพระบทไปสํารอกแชน้ำเอาผาไปก็ดี ใหเอามันใสเตาเพลีงสูบมันเสียดั่งมันทําแกพระนั้นบาง ไช้บาปมันจงลางแลว”

การศึกษาของ ดร.กรรณิการ์ สุธีรัตนาภิรมย์ ยังนำมาซึ่งกรอบแนวคิดว่า ช่วงก่อนออกหมายประกาศเขตรังวัดผู้ร้ายขุดวัด หรือช่วงต้นกรุงรัตนโกสินทร์นั้น การบูรณปฏิสังขรณ์วัด พระราชวัง วัง กระทำเป็นกุศลของพุทธศาสนิกชนโดยทั่วไป เพื่อบรรลุกรอบความศรัทธาทางศาสนา ส่วนกษัตริย์กระทำเป็นราชประเพณี ซึ่งนอกจากจะปฏิบัติตามความเชื่อทางศาสนาแล้ว ยังเป็นเครื่องมือสำคัญของกษัตริย์และแสดงนัยทางการเมือง เสริมสร้างแสนยานุภาพ เพิ่มพูนความเชื่อ ความศรัทธา ต่อผู้ถูกปกครอง (กรรณิการ์ สุธีรัตนาภิรมย์ 2548 : 55)

แม้ว่า “หมายประกาศเขตรังวัดผู้ร้ายขุดวัด” จะระบุไว้เพียงเฉพาะวัดวาอารามและวัตถุเนื่องในพุทธศาสนา (ซึ่งก็คือโบราณสถานและโบราณวัตถุประเภทหนึ่งตามความหมายปัจจุบัน) แต่ด้วยแนวคิดที่เปลี่ยนไปจากเดิม คือ ประกาศให้ชาวบ้านช่วยกันเป็นหูเป็นตา ดูแล ทำนุบำรุง คุ้มครอง พุทธศาสนสถาน ทั้งที่ยังใช้งานอยู่และที่ร้างไป แม้ว่าศาสนสถานนั้นจะมีสภาพชำรุดทรุดโทรม แต่ก็ยังมีคุณค่า เพราะอย่างน้อยก็เป็น “เครื่องประดับพระนคร” ซึ่งต่างไปจากเดิมที่มุ่งคุ้มครองพุทธศาสนสถานในฐานะสัญลักษณ์ของพระพุทธศาสนา การปกป้องและปฏิสังขรณ์ศาสนสถานเป็นเรื่องของความศรัทธาในศาสนา การทำร้ายวัตถุสถานทางพุทธศาสนสถานเป็นความผิดลักษณะโจร

จึงอาจกล่าวได้ว่า “หมายประกาศเขตรังวัดผู้ร้ายขุดวัด” ถือเป็น "กฎหมายคุ้มครองโบราณสถานฉบับแรก" (ปฐมฤกษ์ เกตุทัต 2539 : 5 ; กรรณิการ์ สุธีรัตนาภิรมย์ 2548 : 61) โดยคุ้มครองศาสนสถานในฐานะที่นอกเหนือไปจากเรื่องความเชื่อหรือพลังศรัทธาต่อศาสนา ก่อนที่ในสมัยต่อมาความหมายของโบราณสถานจะกว้างขึ้น ครอบคลุมสิ่งก่อสร้างทั้งของศาสนา ของเจ้านาย ของหลวง ของราษฎร์ ดังเช่นปัจจุบัน

 

 

........................................................................

หมายประกาศเขตรังวัดผู้ร้ายขุดวัด

คัดจากหมายรับสั่ง

(วันเสาร์ เดือน ๙ แรม ๓ ค่ำ ปีขาล ฉศก)

 

          ให้กรมพระนครบาลมีหมายประกาศทั่วไปว่า ตั้งแต่นี้สืบไปเมื่อหน้า ถ้าที่วัดอารามเจดียสถานใด ๆ มีผู้ร้ายขุดคัดทำลายในพระอุโบสถ วิหาร พระเจดีย์ พระพุทธรูป ให้ชำรุดหักพังลง ให้ชาวบ้านที่อยู่ในรังวัด ๔ เส้นรอบที่นั้นเข้าชื่อกันมาทำคำตราสินร้องเรียนแก่นายอำเภอรั้วแขวงกรมการเสียในเร็ว ๆ ภายในเดือนหนึ่ง จนมีผู้อื่นนอกรังวัดไปเห็นเข้ามาว่ากล่าวขึ้นก็ดี มีผู้ฟ้องร้องกล่าวโทษผู้ร้ายที่ขุดที่ทำลาย จึงให้ข้าหลวงแลกรมการไปสืบได้ความว่า มีผู้ร้ายขุดจริงก็ดี ชาวบ้านในรังวัดถ้าเพิกเฉยเสียไม่เข้าชื่อกันมาตราสินร้องเรียนเสียในเดือนหนึ่งนั้น จะให้มีพินัยเสียค่าปฏิสังขรณ์ซ่อมแซมสิ่งของในอารามที่ชำรุดลงเพราะเหตุนั้นกว่าจะสำเร็จดังเก่า ถ้าเป็นแขกฝรั่งคนนอกพระพุทธศาสนาไม่ยอมศรัทธาทำวัด ก็จะปรับให้เอาตัวมาทำการพระนครให้ถ้วนเดือนหนึ่งบ้าง ๒๒ วันบ้าง ๑๔ วันบ้าง ๗ วันบ้าง ตามที่อยู่ห่างแลชิดอารามนั้น ผู้ที่ได้มาบอกกล่าวนายอำเภอรั้วแขวงกรมการเสียแต่เดือนหนึ่ง แต่วันที่สืบความได้ว่าเป็นวันผู้ร้ายขุดทำลายนั้นจะไม่ได้มีพินัยรังวัดเลย.

อนึ่งการซึ่งเป็นมาแต่หลัง คือวัดมีผู้ขุดทำลายชำรุดมานานก่อนพระราชบัญญัตินี้นั้นก็จะไม่ให้มีโทษแก่ผู้อยู่ในรังวัดดอก ซึ่งมีพระราชบัญญัติมาทั้งนี้เพื่อจะให้ชาวบ้านเอาใจใส่วัดวาอารามใกล้บ้านของตัว ไม่ปล่อยให้ผู้ร้ายขุดเสีย ทำลายเสีย เพราะของที่เป็นของท่านทำไว้สร้างไว้แต่ก่อนด้วยอิฐ ปูน ศิลาใด ๆ ใหญ่ก็ดี เล็กก็ดี ถึงจะคร่ำคร่าชำรุดทรุดโทรมไปแล้ว ก็ยังเป็นเครื่องประดับพระนครอยู่.

สั่ง ณ วันเสาร์ เดือน ๙ แรม ๓ ค่ำ ปีขาล ฉศก จุลศักราช ๑๒๑๖

         

(ที่มา : ชาญวิทย์ เกษตรศิริ (บรรณาธิการ). ประชุมประกาศรัชกาลที่ 4. กรุงเทพฯ : มูลนิธิโตโยต้าประเทศไทย, 2547 : 50-51)

........................................................................

 

 

บรรณานุกรม

กรรณิการ์ สุธีรัตนาภิรมย์. “พัฒนาการแนวคิดและวิธีการอนุรักษ์โบราณสถานในประเทศไทย.” วิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต (ประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรม) บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2548.

ชาญวิทย์ เกษตรศิริ (บรรณาธิการ). ประชุมประกาศรัชกาลที่ 4. กรุงเทพฯ : มูลนิธิโตโยต้าประเทศไทย, 2547.

ปฐมฤกษ์ เกตุทัต. “พัฒนาการของโบราณคดีในประเทศไทย.” ใน สถานภาพของความรู้ด้านโบราณคดีของประเทศไทยใน 15 ปีที่ผ่านมา. เอกสารการสัมมนาทางวิชาการเรื่องสถานภาพของความรู้ด้านโบราณคดีของประเทศไทย ใน 15 ปีที่ผ่านมา 22-23 สิงหาคม 2539 ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2539 : 2-20.

ราชบัณฑิตยสถาน. กฎหมายตราสามดวง ฉบับราชบัณฑิตยสถาน : จัดพิมพ์ตามต้นฉบับหลวง. กรุงเทพฯ : ราชบัณฑิตยสถาน, 2550.