ทนงศักดิ์ เลิศพิพัฒน์วรกุล
นั่ง “ยอง” “ยองๆ” หรือ “หย่อง” ตรงกับภาษาอังกฤษว่า “squat” เป็นลักษณะการนั่งชันเข่าทั้ง 2 ข้าง โดยที่ก้นไม่ถึงพื้น น้ำหนักของร่างกายจะทิ้งลงเท้าทั้ง 2 ข้าง (เช่นเดียวกับการยืน) ข้อเข่าจะงออย่างเต็มที่
สังคมไทยคุ้นชินกับการนั่งยองๆ เป็นอย่างดี สามารถพบเห็นได้ทั่วไปในชีวิตประจำวัน ในทุกเพศทุกวัย และแทบจะในทุกสถานที่
ผู้อ่านส่วนใหญ่อาจนึกไปถึงหลวงพ่อคูณ ปริสุทฺโธ หรือพระเทพวิทยาคม ที่มักนั่งยองเป็นประจำจนกลายเป็นเอกลักษณ์ สิ่งหนึ่งที่ตามมาคือสารพัดวัตถุมงคล เหรียญหลวงพ่อ รูปหลวงพ่อนั่งยองๆ สูบยา เกิดการขับเคลื่อนทั้งในเรื่องศาสนาความเชื่อและเชิงเศรษฐกิจอย่างกว้างขวาง
ท่านให้เหตุผลว่าการนั่งยองนั้น เป็นท่านั่งที่สบายที่สุด เป็นลักษณะของคนเตรียมพร้อมที่ลุกเดินไปไหนมาไหนได้ทันที จะหยิบจับอะไรก็ง่ายและสะดวกในการทำงาน (http://www.manager.co.th/Local/ViewNews.aspx?NewsID=9580000055733)
ที่มา : www.prawadyai.com
ที่มา : www.pralanna.com
ราวกลางปี 2554 ท่านั่งยองปรากฏอยู่ในเทรนด์หรือกระแสความนิยมใหม่ใน social network ของโลกตะวันตก เป็น viral ต่อจากแพลงกิ้ง (Planking) นั่นคือ “Owling”
Owling คือการนั่งยองๆ ในที่สาธารณะหรือสถานที่แปลกๆ โดยที่แขนจะยืดตรงอยู่ข้างลำตัว ศีรษะหันไปมองอะไรสักอย่างไกลๆ เหมือนนกฮูก (owl) จากนั้นก็ถ่ายรูปลงเผยแพร่และแชร์ต่อๆ กันใน social network (http://thumbsup.in.th/2011/07/owling)
“Owling”
ที่มา : http://www.kwamru.com/107
“Owling” ของ Hilary Duff นักแสดงและนักร้องชื่อดังชาวอเมริกัน
ที่มา : www.eonline.com
ปัจจุบัน ‘บางคน’ เห็นว่าการนั่งยองๆ เป็นท่าทางที่ไม่สุภาพ และส่งผลเสียต่อสุขภาพ โดยเฉพาะผลกระทบต่อผู้สูงอายุ ผู้ที่เป็นโรคข้อเข่าเสื่อม
ตัวอย่างหนึ่งเห็นได้จากเมื่อ 2-3 ปีก่อน กระทรวงสาธารณสุขของไทยรณรงค์ให้ประชาชนใช้โถส้วมแบบนั่งราบห้อยขาแทนส้วมแบบนั่งยอง เพื่อป้องกันปัญหาโรคข้อเข่าเสื่อม โดยให้เหตุผลว่าการนั่งยองงอเข่า ทำให้ผิวข้อเข่าเสียดสีกันมาก เร่งข้อเข่าให้เสื่อมเร็ว จนภายหลังออกเป็น “พระราชกฤษฎีกากำหนดให้ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมเครื่องสุขภัณฑ์เซรามิก : โถส้วมนั่งราบต้องเป็นไปตามมาตรฐาน พ.ศ.2556”
แต่อีกฝั่งหนึ่ง (ที่ดูเหมือนว่ามีผลการศึกษาจากฝั่งตะวันตกสนับสนุนมากกว่า) ก็เห็นว่าท่านั่งในลักษณะดังกล่าวมีผลดีมากกว่าผลเสีย เป็นประโยชน์ต่อร่างกายโดยเฉพาะกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกราน อวัยวะภายในช่องท้อง และระบบขับถ่าย (ดูรายละเอียดได้ใน http://www.naturesplatform.com/health_benefits.html#historical)
ลักษณะของลำไส้ตรงและท่อทวารหนัก ขณะนั่งขับถ่ายในท่านั่งราบบนชักโครกหรือโถส้วมนั่งราบ (Sitting) กับนั่งยอง (Squatting) ซึ่งการนั่งยองจะทำให้ขับถ่ายได้สะดวกกว่า
ด้านประวัติศาสตร์-วัฒนธรรมของการนั่งยอง สามารถหาอ่านได้จากงานเขียนของคุณเจนจิรา เบญจพงศ์ เรื่อง “ท่านั่งยอง ของคนยุคก่อน” ในสยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์ ฉบับวันที่ 20 – 26 พฤษภาคม 2554 (http://www.sujitwongthes.com/suvarnabhumi/2011/05/20052554/) และงานเขียนเรื่อง “ยองๆ และชันเข่า ท่านั่งของ หลวงพ่อคูณ วัฒนธรรมร่วมอุษาคเนย์” ของ ‘ผู้สื่อข่าวพิเศษ’ ในหนังสือพิมพ์มติชนรายวัน (http://www.prachachat.net/webmobile/news_detail.php?newsid=1432803018) ที่ได้แสดงหลักฐานให้เห็นว่า การนั่งยองเป็นวัฒนธรรมร่วมของผู้คนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ตั้งแต่สมัยดึกดำบรรพ์นับพันปีมาแล้ว พบตั้งแต่เกิดจนตาย มีมิติทั้งเรื่องพฤติกรรม วัฒนธรรม ประเพณี ความเชื่อ ความสำรวมในกิริยา รวมไปถึงเป็นสิ่งบ่งชี้ความแตกต่างระหว่างวัฒนธรรมตะวันออกและตะวันตก
ด้านโบราณคดีและมานุษยวิทยากายภาพ การศึกษาที่ผ่านมาพบว่า การนั่งยองเป็นพฤติกรรมที่พบได้ทั่วไปในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในอันดับวานรหรือไพรเมต (order Primate) ทั้งสัตว์จำพวกลีเมอร์ ลิงมีหาง ลิงไม่มีหาง มนุษย์ และบรรพบุรุษมนุษย์ ทั้งที่เป็นท่านั่งในชีวิตประจำวัน ท่านั่งสำหรับทำกิจกรรมที่อยู่กับที่ ท่าปีนป่ายเกาะต้นไม้ ท่าที่ใช้ขับถ่าย ท่าที่ตัวอ่อนทำขณะอยู่ในท้องแม่ ท่าทางของแม่ที่ใช้คลอดลูก ท่าเตรียมพร้อมสำหรับการเคลื่อนที่ ทั้งการเคลื่อนที่ธรรมดาและการเคลื่อนที่อย่างรวดเร็ว เช่น การล่าและการหนี
เรียกได้ว่า เป็นพฤติกรรมที่ติดอยู่กับสายวิวัฒนาการ เป็นหนึ่งในอากัปกิริยาดั้งเดิมของมนุษย์ตั้งแต่แรกเริ่มจนถึงปัจจุบันมนุษย์ เป็นท่าทางที่มีความสัมพันธ์กับลักษณะทางกายภาพของสัตว์ไพรเมตโดยตรง โดยเฉพาะส่วนขา สะโพก และหลัง
ยองๆ ของชิมแปนซี
ที่มา : http://favimages.com/image/242448/
ชะนีกำลังออกลูก
ที่มา : https://www.youtube.com/watch?v=YFqIM7QAAXs
ลิงเวอร์เวตกำลังออกลูก
ที่มา : https://www.youtube.com/watch?v=TDuc7l__Cuo
การศึกษาจนกระทั่งปัจจุบันพบหลักฐานที่ทำให้เชื่อได้ว่า การนั่งยองเป็นประจำส่งผลถึงลักษณะทางกายภาพบางประการต่อกระดูกขา โดยเฉพาะการปรากฏ “squatting facet” หรือรอยกดบริเวณปลายกระดูกด้านหน้าของกระดูกหน้าแข้ง (tibia) และส่วนคอของกระดูกข้อเท้า (neck of talus, talar neck) หรือในจุดที่กระดูกทั้งสองชิ้นนี้กระทบกันขณะที่นั่งยองและนั่งคุกเข่าแบบที่ตั้งขาขึ้นหรือที่เรียกว่า “ท่าเทพบุตร”
กิริยาทั้งสองเป็นท่าทางที่เท้าจะกระดกขึ้นมากที่สุด เข่างอมากที่สุด เท้ากับหน้าแข้งทำมุมกันน้อยที่สุด ปลายกระดูกหน้าแข้งด้านหน้ากับกระดูกข้อเท้าปะทะหรือกดทับกันมากที่สุด เมื่อเทียบกับกิริยาท่าทางอื่นๆ
ลักษณะของกระดูกขาขณะนั่งยอง จะเห็นได้ว่าปลายกระดูกหน้าแข้งด้านหน้ากับกระดูกข้อเท้าปะทะหรือกดทับกันมากที่สุด
ที่มา : Mays, Simon. The archaeology of human bones. London : Routledge, 1998 : 118.
การนั่งคุกเข่าในท่าเทพบุตร
ที่มา : http://www.kalyanamitra.org/th/Buddhist_culture_detail.php?page=72
ปลายกระดูกหน้าแข้งที่ไม่ปรากฏ squatting facet
ที่มา : http://bio.sunyorange.edu/updated2/ap.HTML/1%20FOOT.htm
ปลายกระดูกหน้าแข้งที่ไม่ปรากฏ squatting facet
ที่มา : http://pixshark.com/head-of-tibia.htm
กระดูกข้อเท้า (talus) ที่ไม่ปรากฏ squatting facet
ปลายกระดูกหน้าแข้งและกระดูกข้อเท้าที่ปรากฏ squatting facet (ลูกศรชี้)
ปลายกระดูกหน้าแข้งที่ปรากฏ squatting facet (ลูกศรชี้)
ที่มา : Slaus, Mario et al. Photographic Atlas of Bioarchaeology from the Osteological Collection of the Croatian Academy of Sciences and Arts (online). Accessed 25 July 2015. Available from http://www.researchgate.net/publication/259144700_Atlas_of_Bioarchaeology_from_the_Osteological_collection_of_the_Croatian_Academy_of_Sciences_and_Arts
ปลายกระดูกหน้าแข้งที่ปรากฏ squatting facet ของ Australopithecus africanus หนึ่งในสายพันธุ์บรรพบุรุษมนุษย์ พบที่แหล่งโบราณคดี Sterkfontein ประเทศแอฟริกาใต้
ที่มา : Berger, L.R. and Tobias, P.V. “A chimpanzee-like tibia from Sterkfontein. South Africa and its implications for the interpretation of bipedalism in Australopithecus africanus.” Journal of Human Evolution 30 (1996) : 346.
ภาพสันนิษฐานบรรพบุรุษมนุษย์ขณะกำลังนั่งยองทำเครื่องมือหิน
ที่มา : https://commons.wikimedia.org/wiki/File:Daka_Homo_erectus.jpg
ภาพสันนิษฐานบรรพบุรุษมนุษย์ขณะกำลังนั่งยองทำเครื่องมือหิน
ที่มา : http://goingprimal.com/category/going-primal-blog-primal-sense/
Arthur Thomson (1889) จากมหาวิทยาลัยอ็อกฟอร์ด คือนักวิชาการคนแรกๆ ที่ศึกษาเรื่องนี้อย่างจริงจัง ซึ่งนอกจากจะพบความสัมพันธ์ระหว่าง squatting facet กับการนั่งยองแล้ว ยังพบความสัมพันธ์ระหว่างการนั่งยองกับความดั้งเดิม (primitive) ของสังคมมนุษย์ โดยเผยแพร่ผลการศึกษาเมื่อ ค.ศ.1889 ในบทความเรื่อง “The influence of posture on the form of the articular surfaces of the tibia and astralagus in the different races of man and higher apes” ก่อนที่ในเวลาต่อมาจะมีผลงานของนักวิชาการสนับสนุนข้อคิดเห็นของ Thomson ออกมาอีกหลายชิ้น
ในอดีต ในยุคสมัยที่ยังไม่มีเฟอร์นิเจอร์ ยังไม่มีเก้าอี้ ในสมัยที่เก้าอี้หรืออะไรก็ตามที่มีระดับสูงกว่าพื้น แล้วคนใช้เป็นวัสดุรองก้นเพื่อนั่งห้อยขาเหมือนกับเก้าอี้ เช่น แท่น บัลลังก์ ตั่ง ฯลฯ ยังไม่เป็นที่นิยมของผู้คนทุกกลุ่มทุกชนชั้นเหมือนในปัจจุบัน คนก็มักนั่งกับพื้นเป็นกิจวัตร ตามพฤติกรรมที่มีมาตั้งแต่ดั้งเดิม (หรืออย่างมากอาจมีวัสดุหรือเก้าอี้เตี้ยๆ ไว้นั่งรองก้น) ทั้งนั่งเพื่อพักผ่อนและประกอบกิจกรรมต่างๆ นั่งทั้งในท่าทางที่ก้นติดพื้นและไม่ติดพื้น ซึ่งท่านั่งยองก็เป็นหนึ่งในนั้น
เก้าอี้ไม้เตี้ยๆ ที่ทุกวันนี้เรียกกันติดปากว่า “เก้าอี้ซักผ้า”
ที่มา : http://www.forum.munkonggadget.com/detail.php?id=55349
ยิ่งเวลาผ่านไป มนุษย์ได้ประดิษฐ์และพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกสบายเพิ่มขึ้นมากมาย รวมถึงเฟอร์นิเจอร์และสุขภัณฑ์ต่างๆ การนั่งบนเก้าอี้และการขับถ่ายในโถส้วมแบบนั่งราบห้อยขาได้รับความนิยมแพร่หลายเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะในโลกตะวันตก สวนทางกับการนั่งบนพื้นและการขับถ่ายในส้วมแบบนั่งยองที่ลดน้อยลงเรื่อยๆ จนกระทั่งปัจจุบัน ซึ่งสัมพันธ์กับการศึกษาโครงกระดูกชาวยุโรปที่ผ่านมาหลายชิ้นที่พบว่า การปรากฏ squatting facet มีแนวโน้มลดลงเรื่อยๆ ตั้งแต่สมัยกลาง (ราวคริสต์ศตวรรษที่ 5-15) เป็นต้นมา (Boulle 2001)
การนั่งขับถ่ายบนโถส้วมในปัจจุบัน
ที่มา : Fubar Obfusco. “Roman public toilets.” แหล่งที่มา https://en.wikipedia.org/wiki/Toilet
ที่มา : http://www.naturesplatform.com/health_benefits.html#historical
ส้วมโรมัน ซึ่งกำลังมีข้อถกเถียงกันอยู่ว่าชาวโรมันขับถ่ายในท่านั่งราบห้อยขาหรือนั่งยอง
ส้วมนั่งยองของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 แห่งฝรั่งเศส
ที่มา : http://www.isranews.org/2012/drilling-band-reformed/item/10662-2010-11-29-15-50-29.html
ส้วมแบบนั่งยองของพระสงฆ์ภายในโบราณสถานที่เมืองอนุราธปุระ ประเทศศรีลังกา
http://freelanceflaneur.blogspot.com/2012/05/citadel.html
ส้วมแบบนั่งยองของพระสงฆ์ ณ วัดอาวาสใหญ่ จ.กำแพงเพชร สมัยสุโขทัย
ที่มา : http://www.snc.lib.su.ac.th/snclibblog/?p=29178
ยกตัวอย่างงานของ Theya Mollesson (อ้างถึงใน Mays 1998 : 119) ที่ศึกษา squatting facet ในโครงกระดูกคนยุโรปสมัยใหม่จากแหล่งโบราณคดี Spitalfields ในกรุงลอนดอน อายุอยู่ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 18-19 เปรียบเทียบกับโครงกระดูกเกษตรกรชาวยุโรปสมัยกลางที่พบในแหล่งโบราณคดี Wharram Percy อายุราวคริสต์ศตวรรษที่ 11-16 พบว่า ชาวยุโรปสมัยใหม่มีสัดส่วนของการปรากฏ squatting facet น้อยมากเมื่อเทียบกับชาวยุโรปสมัยกลาง ซึ่งสอดคล้องกับหลักฐานทางประวัติศาสตร์ว่า ชาวยุโรปสมัยใหม่ นั่งบนเก้าอี้มากกว่าชาวนายุโรปสมัยกลาง
จำนวนและสัดส่วนโครงกระดูกจากแหล่งโบราณคดี Spitalfields และ Wharram Percy ที่พบและไม่พบ squatting facet จากการศึกษาของ Theya Mollesson (อ้างถึงใน Mays 1998 : 119)
|
Spitalfields (ยุโรปสมัยใหม่) |
Wharram Percy (ยุโรปสมัยกลาง) |
พบ squatting facet |
9 โครง (2%) |
102 โครง (55%) |
ไม่พบ squatting facet |
455 โครง (98%) |
85 โครง (45%) |
รวม |
464 โครง (100%) |
187 โครง (100%) |
ขณะที่คนในฝั่งตะวันออก (เช่น อินเดีย จีน เอเชียตะวันออกเฉียงใต้) ชนพื้นเมืองของฝั่งตะวันตก (เช่น Native Americans และ Aboriginal Australians) รวมถึงคนในทวีปแอฟริกา ที่ดำรงชีวิตแบบดั้งเดิม (primitive) ยังคงนิยมนั่งกับพื้นเพื่อพักผ่อนและประกอบกิจกรรมต่างๆ มากกว่า แม้ว่าภายหลังวัฒนธรรมตะวันตกจะไหลบ่าเข้าไป ทำให้คนในพื้นที่เหล่านี้นิยมนั่งบนเก้าอี้และขับถ่ายในโถส้วมนั่งราบมากขึ้น แต่การนั่งกับพื้นและนั่งยองก็ยังคงปรากฏอยู่ให้เห็นในชีวิตประจำวัน
พระพุทธรูปประทับนั่งบนบัลลังก์ ห้อยพระบาททั้งสองข้าง ศิลปะอมราวดี ประเทศอินเดีย พุทธศตวรรษที่ 6-7
จากรูปแบบศิลปะ ลักษณะการนั่งห้อยขาที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนในงานศิลปกรรมก่อนหน้า รวมถึงข้อมูลทางประวัติศาสตร์
ทำให้นักประวัติศาสตร์ศิลปะสันนิษฐานว่าเป็นภาพสลักที่ได้รับอิทธิพลจากวัฒนธรรมกรีก-โรมัน
ที่มา : UNESCO. The image of the Buddha. edited by David L. Snellgrove. Tokyo : Kodansha International, 1978 : 81.
พระพุทธรูปศิลาขาวในพระอิริยาบถประทับนั่งบนบัลลังก์ ห้อยพระบาททั้งสองข้าง
อยู่ในสมัยทวารวดี อายุราวพุทธศตวรรษที่ 12-13 พบที่วัดพระเมรุ จ.นครปฐม
ปัจจุบันประดิษฐาน ณ วัดพระปฐมเจดีย์ราชวรมหาวิหาร นักวิชาการอธิบายว่าต้นแบบการนั่งในลักษณะดังกล่าวน่าจะ
มาจากวัฒนธรรมอินโด-เปอร์เซีย โดยอาจผ่านเข้ามาทางชาติต่างๆ โดยหลักฐานก่อนหน้านั้นในดินแดนประเทศไทย
ไม่ปรากฏการนั่งในท่าทางนี้ นับเป็นหลักฐานเก่าแก่สุดที่พบในไทย
ที่มา : Heinrich Damm. “พระพุทธรูปปางแสดงธรรมที่พระปฐมเจดีย์.” (ออนไลน์). เข้าถึงเมื่อ 1 กรกฎาคม 2558. แหล่งที่มา https://th.wikipedia.org/wiki/ศิลปะทวารวดี
ที่มา : https://goyavier.wordpress.com/2012/06/20/real-food-whats-that/
ที่มา : Artur Andrzej “Squatting on the ground as a resting position.” แหล่งที่มา https://en.wikipedia.org/wiki/Squatting_position
ที่มา : http://www.jenniferdurning.com/contractile-fields
ที่มา : http://askmaryrd.com/2012/07/
ที่มา : http://sotanice.tumblr.com/post/1018831097/doing-the-kimchi-squat
นั่งยองๆ ของคนในปัจจุบัน
นั่งยองๆ ขณะทำกิจกรรมและขับถ่ายของคนในปัจจุบัน
ที่มา : http://www.asiafinest.com/forum/lofiversion/index.php/t248432.html
นั่งยองๆ ขณะยกน้ำหนัก
ที่มา : https://www.joetoproathlete.com/3-tips-clean-jerk-pr
นั่งยองๆ ของชัง อู-ย็อง ศิลปินชื่อดังชาวเกาหลี
ที่มา : http://www.siamzone.com/board/view.php?sid=3216153
นักโบราณคดีและนักมานุษยวิทยากายภาพนอกจากจะใช้ squatting facet ศึกษาลักษณะท่าทางบางประการที่คนในอดีตใช้ในชีวิตประจำวันแล้ว ความแตกต่างของสัดส่วนการปรากฏ squatting facet ในแต่ละกลุ่มคน ยังสามารถนำไปใช้ตีความรูปแบบกิจกรรม การแบ่งหน้าที่การงาน ความแตกต่างเหลื่อมล้ำรวมถึงนัยทางสังคมอื่นๆ ได้อีกด้วย
ดังเช่นการศึกษาโครงกระดูกเกษตรกรชาวยุโรปสมัยกลางจาก Wharram Percy ของ Theya Mollesson (อ้างถึงใน Mays 1998 : 119) ที่กล่าวถึงในข้างต้นนั้นพบว่า โครงกระดูกเพศชาย ปรากฏ squatting facet 44% ขณะที่โครงกระดูกเพศหญิง ปรากฏ squatting facet ถึง 71%
แม้ว่าจากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ระบุว่าในสังคมเกษตรกรยุโรปสมัยกลางจะไม่มีการแบ่งงานระหว่างเพศที่ชัดเจน แต่ในชีวิตประจำวัน เพศหญิงจะอยู่ในอิริยาบถนั่งบนพื้นและนั่งยองมากกว่าเพศชาย เช่น กิจกรรมที่เกี่ยวกับการเจาะ ทำความสะอาด เตรียมอาหาร ปั่นด้ายและทอผ้า การเลี้ยงและดูแลเด็ก ฯลฯ
ในส่วนของประเทศไทย มีการศึกษา squatting facet ที่พบในโครงกระดูกจากแหล่งโบราณคดีก่อนประวัติศาสตร์หลายแหล่ง เช่น แหล่งโบราณคดีบ้านโคกคอน จ.สกลนคร (กรกฎ บุญลพ 2546) บ้านเชียง จ.อุดรธานี (Pietrusewsky and Douglas 2002) และบ้านโป่งมะนาว จ.ลพบุรี (ทนงศักดิ์ เลิศพิพัฒน์วรกุล 2545 ; 2552) ซึ่งนอกจากจะแปลความถึงอากัปกิริยาและกิจกรรมที่เจ้าของโครงกระดูกทำอย่างสม่ำเสมอแล้ว ยังมีการเสนอข้อสันนิษฐานเกี่ยวกับการแบ่งหน้าที่การงานของคนในชุมชนและนัยทางสังคม
ทุกวันนี้ไม่ใช่ว่าคนจากฝั่งยุโรปหรืออเมริกาจะสามารถนั่งยองได้น้อยลง หรือนั่งยองไม่ได้เลย แต่การนั่งยองของคนตะวันตกส่วนใหญ่จะแตกต่างไปจากการนั่งยองของชาวเอเชีย
ชาวเอเชียนั่งยองโดยที่ฝ่าเท้าทั้งหมดแนบอยู่กับพื้น น้ำหนักทั้งหมดทิ้งลงไปที่ฝ่าเท้า ก้นหย่อนลงเกือบถึงพื้น (เรียกว่า Full Squat หรือ Asian Squat) ในขณะที่ชาวยุโรป-อเมริกามักนั่งยองแบบเขย่ง (เรียกว่า Western Squat) ส่วนปลายเท้าด้านหน้าเท่านั้นที่แนบอยู่กับพื้น ทำให้ก้นอยู่เหนือพื้นมากกว่าการนั่งยองแบบเอเชีย บางคนก้นหย่อนทิ้งน้ำหนักลงบนส้นเท้า
นั่งยองๆ แบบ Full Squat และ Western Squat
ที่มา : http://www.somastruct.com/5-reasons-to-start-full-squatting/
การนั่งยองแบบ Full Squat และ Western Squat ของชาวตะวันตก
ที่มา : http://bootsmcblog.com/2011/09/02/folly-a-hankering-for-hunkering/
ด้วยเหตุที่การนั่งยองแบบ Full Squat เป็นของแปลกสำหรับชาวตะวันตก และด้วยคุณประโยชน์ของการนั่งยองแบบ Full Squat ที่ผ่านการศึกษาวิจัยมาระยะหนึ่ง มีการนำท่า Full Squat ไปเป็นหนึ่งในท่าออกกำลังกายและโยคะ ทำให้ชาวตะวันตกบางส่วนหันมาให้ความสนใจเป็นพิเศษ ถึงขนาดมีงานเขียน หนังสือ และคลิปสอนการนั่งยองแบบ Full Squat มากมาย
อย่างไรก็ตาม มีข้อสังเกตว่า “เด็ก” ไม่ว่าเป็นชาวเอเชียหรือยุโรป สามารถนั่ง Full Squat ได้อย่างง่ายดาย
Full Squat ในโยคะ
ที่มา : http://www.popsugar.com/fitness/Wide-Squat-Yoga-Pose-948666
Full Squat ในท่าทางออกกำลังกาย
ที่มา : http://www.paceliving.com/exercise/sample-exercises/hindu-squats
Full Squat ของเด็กเอเชีย
ที่มา : รศ.ดร.เพชรากร หาญพานิชย์ ใน https://www.gotoknow.org/posts/274483
Full Squat ของเด็กยุโรป
ส่วนเหตุผลที่ว่าเพราะเหตุใดชาวตะวันตกปัจจุบันสามารถนั่งยองแบบ Full Squat ได้น้อยนั้น มีผู้รู้เสนอทฤษฎีอยู่หลายข้อด้วยกัน เช่น (1) ข้อเสนอที่ว่าด้วยเรื่องสรีระของร่ายกาย คือชาวเอเชียมีสัดส่วนร่างกายส่วนขาที่สั้นกว่าชาวตะวันตก ทำให้มีจุดทรงตัวที่สมดุลขณะนั่งยอง (2) ข้อเสนอด้านพฤติกรรมและการปรับตัวของสรีระ คือชาวเอเชียนั่งยองๆ อยู่เป็นประจำ สม่ำเสมอ ทั้งนั่งเป็นท่าสามัญในชีวิตประจำวัน และโดยเฉพาะนั่งขับถ่าย ขณะที่ชาวตะวันตกส่วนใหญ่นั่งสูงห้อยขา ไม่ค่อยได้นั่งยอง ทำให้ระบบกล้ามเนื้อ เส้นเอ็น กระดูก ไม่คุ้นชินกับการนั่งยอง จนทำให้ไม่สามารถนั่งในท่าทางดังกล่าวได้
บรรณานุกรม
กรกฎ บุญลพ. “การวิเคราะห์โครงกระดูกมนุษย์สมัยก่อนประวัติศาสตร์ในวัฒนธรรมบ้านเชียงจากแหล่งโบราณคดีบ้านโคกคอน จังหวัดสกลนคร.” วิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต (โบราณคดีสมัยก่อนประวัติศาสตร์) บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2546.
ทนงศักดิ์ เลิศพิพัฒน์วรกุล. “การศึกษาโครงกระดูกมนุษย์ยุคก่อนประวัติศาสตร์จากแหล่งโบราณคดีบ้านโป่งมะนาว อำเภอพัฒนานิคม จังหวัดลพบุรี.” สารนิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรบัณฑิต (โบราณคดี) คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2545.
ทนงศักดิ์ เลิศพิพัฒน์วรกุล. “การศึกษาความผิดปกติของกระดูกมนุษย์ที่แหล่งโบราณคดีบ้านโป่งมะนาว ตำบลห้วยขุนราม อำเภอพัฒนานิคม จังหวัดลพบุรี.” วิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต (โบราณคดีสมัยก่อนประวัติศาสตร์) บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2552.
Boulle, E.L. “Evolution of two human skeletal markers of the squatting position : A diachronic study from antiquity to the modern age.” American Journal of Physical Anthropology 115 : 50-56.
Berger, L.R. and Tobias, P.V. “A chimpanzee-like tibia from Sterkfontein. South Africa and its implications for the interpretation of bipedalism in Australopithecus africanus.” Journal of Human Evolution 30 (1996) : 343-348.
Mays, Simon. The archaeology of human bones. London : Routledge, 1998.
Pietrusewsky, M., and M. T. Douglas. Ban Chiang. A prehistoric village site in northeast Thailand I : The human skeletal remains. Philadelphia : University of Pennsylvania, 2002.
Slaus, Mario et al. Photographic Atlas of Bioarchaeology from the Osteological Collection of the Croatian Academy of Sciences and Arts (online). Accessed 25 July 2015. Available from http://www.researchgate.net/publication/259144700_Atlas_of_Bioarchaeology_from_the_Osteological_collection_of_the_Croatian_Academy_of_Sciences_and_Arts
Thomson, A. 1889. “The influence of posture on the form of the articular surfaces of the tibia and astralagus in the different races of man and higher apes.” Journal of Anatomy 23 : 210-217.
UNESCO. The image of the Buddha. edited by David L. Snellgrove. Tokyo : Kodansha International, 1978.
อรรถาภิธานศัพท์ :