ผมขออนุญาตแนะนำโลโก้ (Logo หรือที่ในภาษาไทยอาจใช้คำว่า “เครื่องหมาย” หรือ “สัญลักษณ์”) ของ “ฐานข้อมูลแหล่งโบราณคดีที่สำคัญในประเทศไทย” นะครับ
โลโก้ของฐานฯ ได้รับแรงบันดาลใจมาจากภาพเขียนสีบนเพดานถ้ำผีหัวโต จ.กระบี่ นำมาดัดแปลงท่าทางให้กำลังใช้คอมพิวเตอร์หรือฐานข้อมูลออนไลน์ ซึ่งเป็นสื่อที่กำลังเติบโตอย่างไม่หยุดยั้งในโลกยุคปัจจุบัน
โลโก้ฐานข้อมูลแหล่งโบราณคดีที่สำคัญในประเทศไทย
ในแง่มุมวิชาการ ภาพดังกล่าวที่ถ้ำผีหัวโตยังไม่สามารถกล่าวได้อย่างเต็มปากว่าเป็นรูป “คน” ลักษณะของภาพเป็นภาพเขียนสีแดงแบบโครงร่างแล้วตกแต่งลวดลายเป็นลายเส้น เป็นรูปกึ่งคนกึ่งสัตว์ หรืออาจเป็นบุคคลที่เป็นหมอผีหรือผู้ประกอบพิธีกรรม หันข้าง แสดงท่าทางคล้ายการเดินเหมือนคน หรืออาจเป็นท่ายืนด้วย 2 เท้าหลัง (ส่วนท้ายเป็นหาง?) มีเขาเหมือนสัตว์ หรืออาจเป็นเครื่องประดับศีรษะ ลักษณะมือและเท้าไม่เหมือนของทั้งคนและสัตว์ สวมเสื้อคลุมยาวถึงข้อเท้า
ภาพเขียนสีบนเพดานถ้ำผีหัวโต ต้นแบบของโลโก้ฐานข้อมูลฯ
นอกเหนือไปจากนั้น การนำภาพเขียนสีภาพนี้มาดัดแปลงเป็นโลโก้ของฐานฯ ยังมีวัตถุประสงค์เพื่อเตือนใจและกระตุ้นให้ตระหนักถึงความสำคัญในการจัดการและการอนุรักษ์หลักฐานทางโบราณคดี
ภาพเขียนสีภาพนี้สะท้อนถึงโศกนาฏกรรมทางวิชาการและการอนุรักษ์ได้เป็นอย่างดี นักโบราณคดีบางท่านตั้งฉายาให้ภาพนี้ว่า “ซินเดอเรลล่า” เนื่องจากรองเท้า (เท้า) หายไป จากผู้ที่เรียกตัวเองว่าเป็น “อาจารย์และนักวิชาการ” คนหนึ่ง ที่ได้ขูดเอาส่วนเท้าของภาพเขียนสีออกไป เหตุผลเพื่อนำไปศึกษาองค์ประกอบของสีและอายุของภาพ แต่ในที่สุดก็ไม่ได้ผลการวิเคราะห์ใดๆออกมา อีกทั้งยังขัดแย้งกับหลักการอนุรักษ์เบื้องต้นอย่างไม่น่าให้อภัย การขูดสีออกไปเพื่อศึกษาอาจสามารถทำได้โดยผ่านการศึกษาความคุ้มค่า ผลได้ผลเสีย และต้องได้รับอนุญาตอย่างเป็นทางการจากหน่วยงานราชการที่รับผิดชอบ เนื่องจากเป็นสมบัติของชาติ
การยอมเสียหลักฐานทางโบราณคดีที่ไม่สามารถนำกลับมาได้ไปวิเคราะห์ในห้องทดลอง โดยทั่วไปจะยอมเสียสละส่วนที่ “สำคัญน้อยที่สุด” ออกไป แต่การขูดสีไปวิเคราะห์ในครั้งนี้ แทบจะเรียกได้ว่า เป็นการเสีย “หลักฐานที่สำคัญที่สุด” ของถ้ำผีหัวโตออกไป
“ซินเดอเรลล่า”
ทนงศักดิ์ เลิศพิพัฒน์วรกุล