ทนงศักดิ์ เลิศพิพัฒน์วรกุล
วัดหินหมากเป้ง ตั้งอยู่ ม.4 บ้านไทยเจริญ ต.พระพุทธบาท อ.ศรีเชียงใหม่ จ.หนองคาย (พิกัดภูมิศาสตร์ 17.983630 N, 102.428640 E) อยู่ริมฝั่งแม่น้ำโขง บนพื้นที่ภูเขาหินทรายในหมวดหินภูพาน กลุ่มหินโคราช (ต่อเนื่องกับหมวดหินโคกกรวด กลุ่มหินโคราช ทางทิศตะวันออก)
วัดหินหมากเป้ง เป็นวัดราษฎร์ สังกัดธรรมยุติกนิกาย ก่อตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ.2482 โดยพระอาจารย์หล้า ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อ พ.ศ.2513 ปัจจุบันเป็นหนึ่งในวัดสำคัญของพระสายวิปัสสนากรรมฐาน ได้รับการพัฒนาขึ้นอย่างมากในสมัยหลวงปู่เทสก์ เทสรังสี (พระราชนิโรธรังสีคัมภีรปัญญาวิศิษฏ์) ลูกศิษย์รูปหนึ่งของหลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต ที่ได้เข้ามาจำพรรษาอยู่ที่วัดแห่งนี้เมื่อ พ.ศ.2508 และริเริ่มจัดตั้งให้เป็นสถานที่ปฏิบัติธรรมของภิกษุสงฆ์ แม่ชี และผู้แสวงบุญทั้งหลาย
คำว่า “หินหมากเป้ง” เป็นชื่อหิน 3 ก้อน ที่ตั้งเรียงรายกันอยู่ริมฝั่งโขงด้านทิศเหนือของวัด ซึ่งมีลักษณะคล้ายลูกตุ้มเครื่องชั่งทองคำสมัยโบราณ คนพื้นถิ่นเรียกว่า “เต็ง” หรือ “เป้งยอย” (หมากเป้งเป็นผลของต้นไม้ตระกูลปาล์มหรือหมากชนิดหนึ่ง) ผู้เฒ่าผู้แก่เล่าว่าหินก้อนที่ 1 เป็นของหลวงพระบาง หินก้อนที่ 2 เป็นของบางกอก ส่วนหินก้อนที่ 3 เป็นของเวียงจันทร์ (หินทั้ง 3 ก้อน จะมองเห็นได้เฉพาะในมุมมองจากแม่น้ำโขง หรือมุมมองจากฝั่งลาว)
บริเวณหน้าหอสมุด วัดหินหมากเป้ง มีหลักฐานทางโบราณคดีที่สำคัญคือ หลักหินและเสมาหิน ซึ่งมีอายุเก่าแก่อยู่ในก่อนสมัยประวัติศาสตร์ตอนปลายถึงสมัยประวัติศาสตร์ตอนต้น หลักหินและเสมาหินแหล่านี้ไม่ได้พบในพื้นที่วัดหินหมากเป้งแต่อย่างใด แต่นำมาจากบริเวณวัดอรัญญา หรือวัดดงนาคำ อ.โพธิ์ตาก จ.หนองคาย ตามประวัติกล่าวว่ามีจำนวน 52 ชิ้น
บริเวณวัดอรัญญา (ดงนาคำ) นี้ อาจเป็นชุมชนที่มีการอยู่อาศัยอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลาย เนื่องจากหลักหินที่พบจำนวนหนึ่งมีรูปทรงคล้ายแท่งหินหรือหลักศิลาที่ใช้ปักแสดงเขตประกอบพิธีกรรมตามความเชื่อหรือพิธีกรรมทางศาสนาของกลุ่มวัฒนธรรมหินตั้ง (Megalith) ในยุคสมัยดังกล่าว ก่อนที่ในสมัยต่อมาคือสมัยทวารวดี ประชาชนจะรับเอาความเชื่อในศาสนาพุทธ เถรวาท เข้ามายึดเหนี่ยวจิตใจ ดังปรากฏหลักฐานเป็นเสมาหินทราย โดยเฉพาะที่มีการสลักเป็นรูปสถูปและเรื่องราวชาดก ชุมชนแห่งนี้ นักวิชาการบางท่านสันนิษฐานว่าพื้นที่วัดอรัญญา (ดงนาคำ) อาจเป็น เวียงนกยูง ที่ปรากฏชื่อในตำนานอุรังคธาตุ
จากการสำรวจเมื่อวันที่ 3 กันยายน 2557 พบว่ามีหลักหินและเสมาหินภายในบริเวณวัดหินหมากเป้งจำนวนกว่า 20 หลัก โดยปักอยู่ในพื้นดินด้านหน้าอาคารหอสมุดของวัด มีทั้งที่ค่อนข้างสมบูรณ์และเป็นชิ้นส่วนแตกหักขนาดเล็ก ในจำนวนนี้มีเสมา 6 หลักที่ปรากฏภาพสลักสถูป
จากการสัมภาษณ์พระลูกวัดทำให้ได้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า หลักหินและเสมาเหล่านี้ถูกเคลื่อนย้ายมาจากที่อื่นเมื่อสมัยหลวงปู่เทสก์ เทสรังสี เป็นเจ้าอาวาส และได้รับการเอาใจใส่ต่อเนื่องมาในสมัยพระอธิการพิชิต ชิตมาโร เป็นเจ้าอาวาส แต่ปัจจุบันอาจไม่ได้รับความสนใจเท่าที่ควร เนื่องจากพระครูมงคลญาณโสภณ (พระอาจารย์บุญทวี สีตุจิตโต) เจ้าอาวาสรูปปัจจุบัน เน้นการวิปัสสนาเป็นสรณะ
นอกจากนี้ ภายในวัดยังมีการสร้างสถานที่ต่างๆ เพื่อระลึกถึงหลวงปู่เทสก์ เทสรังสี เช่น มณฑปอนุสรณ์หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี (สร้างเมื่อ พ.ศ.2524) เจดีย์พิพิธภัณฑ์พระราชนิโรธรังสีฯ (สร้าง พ.ศ.2534 ก่อสร้างเสร็จ พ.ศ.2540) เมรุหลวงปู่เทสก์ เทสรังสี พิพิธภัณฑ์ และศาลาหุ่นขี้ผึ้งหลวงปู่เทสก์ เทสรังสี ภายในสถานที่แต่ละแห่งจัดแสดงวัตถุและเรื่องราวเกี่ยวกับหลวงปู่เทสก์ เช่น อัฐิ รูปปั้น เครื่องอัฐบริขาร ของใช้ และชีวประวัติของหลวงปู่เทสก์
เจดีย์พิพิธภัณฑ์พระราชนิโรธรังสีฯ เมรุหลวงปู่เทสก์ เทสรังสี พิพิธภัณฑ์ และศาลาหุ่นขี้ผึ้งหลวงปู่เทสก์ เทสรังสี เปิดให้เข้าสักการะและเยี่ยมได้ทุกวัน ตั้งแต่เวลา 8.30-16.30 น. โดยไม่เสียค่าเข้าชม ส่วนผู้ที่ต้องการเข้าไปภายในมณฑปอนุสรณ์หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี ควรติดต่อทางวัดล่วงหน้า
ทุกวันที่ 17-19 ธันวาคมของทุกปี ทางวัดจะจัดงานครบรอบวันมรณภาพของหลวงปู่เทสก์ เทสรังสี
การเดินทางสู่วัดหินหมากเป้ง จากบริเวณหน้าที่ว่าการอำเภอศรีเชียงใหม่ ใช้ถนนริมโขง (ทางหลวงหมายเลข 211) มุ่งหน้าทางทิศตะวันตกหรือมุ่งหน้าอำเภอสังคม ประมาณ 19.6 กิโลเมตร จะพบวัดหินหมากเป้งทางขวามือ
อรรถาภิธานศัพท์ :