เมื่อวันที่ 10 กันยายน 2556 ที่ผ่านมา ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้พิจารณาเห็นชอบตามที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (สคก.) เสนอขอความเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.โบราณสถานฉบับใหม่ หรือชื่อเต็มๆว่า “พ.ร.บ.โบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พ.ศ. .....”
นอกจากนั้นยังมีการขอให้แก้ไขเพิ่มเติมตามมติคณะกรรมการกลั่นกรองเรื่องเสนอคณะรัฐมนตรีคณะที่ 2 (ฝ่ายสังคมและกฎหมาย)
เนื้อหาในร่าง พ.ร.บ. ฉบับดังกล่าวมีเปลี่ยนแปลงแก้ไขเนื้อหาสำคัญบางมาตรา หนึ่งในนั้นคือนิยามของ “โบราณสถาน” (ร่างมาตรา 4)
ขั้นตอนหลังจากนี้ ร่าง พ.ร.บ. จะถูกส่งให้คณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎรพิจารณา ก่อนเสนอสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาต่อไป
หากร่างมาตรา 4 นี้ ผ่านความเห็นชอบตามขั้นตอนตลอดรอดฝั่งไปจนประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษา จะทำให้เป็นครั้งแรกที่มีการกำหนดอายุขั้นต่ำของโบราณสถานในกฎหมายไทย นับตั้งแต่ พ.ร.บ.ว่าด้วยโบราณสถาน ศิลปวัตถุ โบราณวัตถุ และการพิพิธภัณฑ์แห่งชาติ พ.ศ.2477
และอาจส่งผลให้โบราณสถานหลายแห่ง “หลุด” ออกจากคำว่า “โบราณสถาน” ตามกฎหมาย เพราะมีอายุน้อยกว่า 75 ปี
คิดกันเล่นๆ หากมีการประกาศใช้ร่างกฎหมายฉบับนี้ในปีหน้า คือปี พ.ศ.2557 นั่นเท่ากับว่า โบราณสถานที่สร้างขึ้นหลังปี พ.ศ.2482 จะไม่ใช่โบราณสถานตามกฎหมาย (พ.ศ.2557 – 75 ปี = พ.ศ.2482)
โบราณสถานที่สร้างขึ้นหลังปี พ.ศ.2482 เช่น ตึกแถวริมถนนราชดำเนินกลาง (พ.ศ.2484) ประตูสวัสดิโสภา พระบรมมหาราชวัง (พ.ศ.2484) วัดพระศรีมหาธาตุ บางเขน (พ.ศ.2484-2485) กลุ่มอาคารศาลฎีกา สนามหลวง (พ.ศ.2483-2486) อาคารโรงแรมรัตนโกสินทร์ (พ.ศ.2486) อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย (พ.ศ.2482-2483) อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ (พ.ศ.2484-2485) พระอุโบสถวัดไตรมิตร (พ.ศ.2492) พระอุโบสถวัดราชบุรณะ หรือวัดเลียบ (พ.ศ.2503) ฯลฯ
นั่นหมายความว่า อาคารหรือสิ่งก่อสร้างทรงคุณค่าที่มีอายุต่ำกว่า 75 ปี ผู้ถือกรรมสิทธิ์จะสามารถดำเนินการใดๆต่อตัวอาคารก็ได้โดยไม่ผิดกฎหมาย พ.ร.บ.โบราณสถานฯ
คงต้องติดตามเรื่องนี้กันต่อไป...
ทนงศักดิ์ เลิศพิพัฒน์วรกุล
(ดูข่าว ร่าง พ.ร.บ.โบราณสถานฯ ได้ใน http://www.thairath.co.th/content/edu/368995, http://www.manager.co.th/qol/viewnews.aspx?NewsID=9560000114168)