ธรณีกาล


geologic time scale


(1) ลำดับอายุทางธรณีวิทยา เริ่มตั้งแต่กำเนิดโลกราว 4,500 ล้านปีมาแล้ว ประกอบด้วย บรมยุค (eon) มหายุค (era) ยุค (period) และสมัย (epoch)

ปัจจุบันอยู่ใน บรมยุคฟาเนอโรโซอิก (Phanerozoic eon) มหายุคซีโนโซอิก (Cenozoic era) ยุคควอเทอร์นารี (Quaternary period) สมัยโฮโลซีน (Holocene epoch)

(2) การลำดับช่วงเวลาของโลกตั้งแต่เกิดจนถึงปัจจุบัน แบ่งเป็น บรมยุค (Eon) มหายุค (Era) ยุค (Period) และสมัย (Epoch)

หินทุกชนิดที่พบบนโลกจะถูกจัดลำดับแก่อ่อนตามอายุที่วิเคราะห์ได้ อายุของหินเหล่านี้จะถูกนำมาจัดทำเป็นตารางธรณีกาล (Chronostratigraphic Chart) สำหรับการศึกษาทางธรณีวิทยาทุกแขนงทั่วโลก

มาตรธรณีกาล หรือ ตารางธรณีกาล (Geologic Time Scale) ฉบับสากล จัดทำโดยคณะทำงานการลำดับชั้นหินสากล (International Commission on Stratigraphy) มีลักษณะเป็นรูปแบบตาราง เนื้อหาประกอบด้วยชื่อบรมยุค มหายุค ยุค และสมัย พร้อมตัวเลขอายุของเส้นแบ่งแต่ละยุคสมัยในหน่วยล้านปี (Ma) ซึ่งได้มาจากข้อมูลของชุดหินอ้างอิง (Global Stratotype Sections and Points หรือ GSSPs) หินต้นแบบที่จะใช้อ้างอิงได้จะต้องอยู่ในเงื่อนไขที่ว่า เข้าศึกษาได้สะดวก มีหินโผล่ให้เห็นมากสำหรับการศึกษาในอนาคต สามารถเปรียบเทียบกับหินอื่นได้ และมีขอบเขตของชุดหินชัดเจน สังเกตในตารางธรณีกาลจะมีเข็มหมุดปักอยู่ด้วย

[ตารางธรณีกาล]

ที่มา :

(1) สำนักโบราณคดี กรมศิลปากร. ศัพทานุกรมโบราณคดี. กรุงเทพฯ: สำนักโบราณคดี กรมศิลปากร, 2550.

(2) สุคนธ์เมธ จิตรมหันตกุล. ธรณีกาล ตารางเวลาของโลก. (ออนไลน์) เข้าถึงเมื่อ 13 กุมภาพันธ์ 2557. แหล่งที่มา http://geothai.net/gneiss/?p=2025