(prabhāmanฺdaฺla, halo)
(1) รัศมีที่ปรากฏอยู่รอบพระเศียรของพระพุทธเจ้า หรือเศียรของบุคคลอื่นๆ นอกเหนือจากพระพุทธเจ้า เช่น พระโพธิสัตว์ เทพ เทพี บุคคลชั้นสูง หรือบุคคลอันประเสริฐ อันแสดงถึงปัญญาหรืออำนาจที่แผ่กระจายออกมา ในงานศิลปกรรมมักทำเป็นแผ่นกลบรอบเศียรหรือบางครั้งทำเป็นรูปเปลวไฟหรือบัวบาน
(2) ตามพระพุทธประวัติกล่าวไว้ว่า ประภามณฑล หรือ ศิรประภา เปล่งออกมาจากพระวรกายเป็นรัศมี 6 ประการ (พระฉัพพรรณรังสี) คือ
1.นีล เขียวเหมือนดอกอัญชัน
2.ปีต เหลืองเหมือนหรดาลทอง
3.โลหิต แดงเหมือนตะวันอ่อน
4.โอทาต ขาวเหมือนแผ่นเงิน
5.มัญเชฐ สีหงสบาทเหมือนดอกเซ่งหรือหงอนไก่
6.ประภัสสร เลื่อมพรายเหมือนแก้วผลึก
พระฉัพพรรณรังสีทั้ง 6 ประการ แผ่ออกมาโดยรอบพระวรกายประมาณ 12 ศอก ในสัปดาห์ที่ 4 หลังการตรัสรู้ เมื่อพระพุทธองค์เสด็จไปประทับในรัตนฆระ (เรือนแก้ว) ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของต้นโพธิ์
ประภามณฑลในงานจิตรกรรมซึ่งรวมถึงภาพลายเส้น เขียนเป็นวงรีรอบพระเศียร สำหรับประภามณฑลที่ล้อมรอบพระเศียรของพระพุทธเจ้านั้น ได้มีการประดิษฐ์ยักย้ายมากมายหลายแบบ จนในที่สุดเขียนเป็นภาพเรือนแก้วล้อมรอบพระวรกาย (ประภาวลี)
ในเชิงช่าง ภาพประภามณฑลเป็นวงรอบพระเศียร หรือที่เป็นภาพเรือนแก้ว (ประภาวลี) คือวิธีการหนึ่งที่เน้นความสำคัญของภาพพระพุทธองค์ให้ดูเด่นชัดเป็นประธานของฉากนั้นๆ
ที่มา :
(2) สนธิวรรณ อินทรลิบ. อภิธานศัพท์จิตรกรรมไทยเนื่องในพระพุทธศาสนา. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์มหามกุฎราชวิทยาลัย, 2536 : 265.
(ภาพ1) กรมศิลปากร. พระพุทธรูปปางต่างๆ. กรุงเทพฯ : บริษัท รุ่งศิลป์การพิมพ์ (1977) จำกัด, 2548.
(ภาพ 2-4) บุหลง ศรีกนก, ภูธิปนิธิศร์ คงโภคานันทน์. ช่างสิบหมู่. กรุงเทพฯ : คณะกรรมการฝ่ายประมวลเอกสารและจดหมายเหตุ ในนามคณะกรรมการอำนวยการจัดงานฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี, 2549.