(niello wares, niellowares)
(1) ภาชนะหรือเครื่องประดับที่ทำโดยใช้ผงยาถมผสมน้ำประสานทอง ถมลงบนลวดลายที่แกะสลักบนภาชนะหรือเครื่องประดับนั้น แล้วขัดผิวให้เงางาม
(2) ภาชนะหรือเครื่องประดับที่ทำด้วยโลหะ แกะสลักลวดลาย ถมด้วยยา ซึ่งทำด้วยโลหะผสมสีดำผสมกับน้ำยาประสานทอง แทรกลงในร่องลายให้เต็ม แล้วขัดผิวให้เงางาม เครื่องถมไทยแบ่งได้เป็นหลายประเภท คือ ถมเงิน ถมทอง และถมตะทอง
เครื่องถมของไทยพบหลักฐานการใช้ตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนต้น โดยนิยมทำเป็นเครื่องใช้ เครื่องประดับ หรือวัตถุมีค่าต่างๆ สำหรับพระเจ้าแผ่นดิน เจ้านาย และขุนนาง เช่น พระแท่นราชบัลลังก์ พระแท่นบรรทม เครื่องราชยานคานหาม เครื่องยศ เป็นต้น แหล่งผลิตเครื่องถมที่มีชื่อเสียงได้แก่ เครื่องถมนครศรีธรรมราช เรียกว่า “เครื่องถมนคร”
(3) งานช่างที่ใช้กรรมวิธีสลักลวดลายเป็นร่องลงไปในเนื้อโลหะที่เป็นชิ้นงาน แล้วนำโลหะจำพวกเงินหรือทองคำอุดหรือถมตามร่องลายจนเต็มและขัดจนขึ้นมันวาว จะได้งานที่มีลวดลายเป็นโลหะต่างสีกับสีโลหะที่เป็นพื้นหลัง
ที่มา :
(1) ราชบัณฑิตยสถาน. พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554. กรุงเทพฯ : ราชบัณฑิตยสถาน, 2556.
(2) กรมศิลปากร. งานประณีตศิลป์. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2555?.
(3) สำนักโบราณคดี กรมศิลปากร. ศัพทานุกรมโบราณคดี. กรุงเทพฯ: สำนักโบราณคดี กรมศิลปากร, 2550.