ปราสาทขอมในประเทศไทย


1. ความหมาย ที่มาของรูปแบบ คติการสร้าง และความสำคัญของปราสาทขอม

1.1 ความหมาย

คำว่า “ปราสาท” (Prasada) มาจากรากศัพท์ภาษาสันสกฤต หมายถึง อาคารที่มีส่วนกลางเป็นห้องเรียกว่า “ห้องครรภคฤหะ” หรือ “เรือนธาตุ”  และมีหลังคาเป็นชั้นซ้อนกันหลายชั้นเรียกว่า “เรือนชั้น” หลังคาแต่ละชั้นนั้น เป็นการย่อส่วนของปราสาท โดยนำมาซ้อนกันในรูปของสัญลักษณ์ แทนความหมายของเรือนฐานันดรสูง อันเป็นที่สถิตของเหล่าเทพเทวดา ดังนั้น ปราสาทจึงหมายถึง อาคารที่เป็นศาสนสถาน เพื่อประดิษฐานรูปเคารพ และการทำพิธีกรรมทางศาสนา ไม่ใช่พระราชมณเฑียร อันเป็นที่ประทับของพระมหากษัตริย์ ด้วยเหตุนี้จึงมีความแตกต่างในเรื่องของวัสดุ กล่าวคือ ปราสาทที่เป็นศาสนสถานนั้น สร้างด้วยวัสดุ ที่มั่นคงแข็งแรงประเภทอิฐหรือหิน ส่วนพระราชมณเฑียร ที่ประทับของพระมหากษัตริย์ สร้างด้วยไม้ทั้งสิ้น

 “ปราสาทขอม” หมายถึง อาคารทรงปราสาทที่สร้างขึ้นในวัฒนธรรมขอม หรือเขมรโบราณ เพื่อใช้เป็นศาสนสถานในการประกอบพิธีกรรมทางศาสนา ทั้งในศาสนาฮินดู และพระพุทธศาสนานิกายมหายาน ส่วนคำว่า “ปราสาทขอมในประเทศไทย” นั้น หมายถึง อาคารทรงปราสาทในวัฒนธรรมขอม ที่พบในดินแดนไทยในปัจจุบัน ซึ่งดินแดนเหล่านี้ครั้งหนึ่งเคยเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรขอม รวมทั้งบางส่วนได้มีการรับอิทธิพลทางศาสนา และงานศิลปกรรมขอมมาสร้าง โดยคนในท้องถิ่น แต่เดิมมักเรียกงานศิลปะของวัฒนธรรมขอมในประเทศไทยว่า “ศิลปะลพบุรี” เนื่องจากเชื่อว่า เมืองลพบุรี เคยเป็นเมืองศูนย์กลางของขอมในประเทศไทย ในระหว่างพุทธศตวรรษที่ 16 - 18 และมีลักษณะของงานศิลปกรรมบางอย่าง ที่แตกต่างจากศิลปะขอม แต่ในปัจจุบันนิยมเรียกว่า “ศิลปะขอมที่พบในประเทศไทย” เพราะเป็นคำรวมที่ครอบคลุมพื้นที่และระยะเวลามากกว่า กล่าวคือ  พื้นที่ของประเทศไทย ที่รับวัฒนธรรมขอมอยู่ในระหว่างพุทธศตวรรษที่ 12 - 18

1.2 ที่มาของรูปแบบ

อาคารทรงปราสาทที่ใช้เป็นศาสนสถานในวัฒนธรรมขอมนั้น มีที่มาจากอินเดีย กล่าวคือ ชาวอินเดียได้สร้างปราสาทขึ้น เพื่อประดิษฐานรูปเคารพทางศาสนา เรียกว่า เทวาลัย โดยสร้างเป็นอาคารที่มีหลังคาซ้อนชั้นขึ้นไปหลายชั้น แต่ละชั้นมีการ ประดับอาคารจำลอง สามารถแยกออกเป็น 2 สายวัฒนธรรม ได้แก่ อินเดียภาคเหนือ เรียกว่า “ทรงศิขร” (สิ-ขะ-ระ) คือ ปราสาทที่มีหลังคารูปโค้งสูง ส่วนในอินเดียภาคใต้ เรียกว่า “ทรงวิมาน” คือ ปราสาทที่มีหลังคาซ้อนเป็นชั้นๆ แต่ละชั้นมักประดับอาคาร จำลองจากรูปแบบของปราสาทขอม ในระยะแรกเชื่อกันว่า ได้รับอิทธิพลของทรงศิขร จากอินเดียภาคเหนือ ส่วนทรงวิมานนั้น ส่งอิทธิพลมายังศิลปะชวา ต่อมาภายหลังช่างขอมได้นำเอารูปแบบทั้ง 2 สายวัฒนธรรม มาผสมผสานกัน จนกลายเป็นรูปแบบเฉพาะของตัวเองขึ้น

1.3 คติการสร้าง

การสร้างอาคารทรงปราสาทมาจากคติความเชื่อของชาวอินเดียที่ว่า เทพเจ้าทั้งหลายสถิตอยู่ ณ เขาพระสุเมรุ อันเป็นแกนกลางของจักรวาล ซึ่งอยู่บนสวรรค์ การสร้างปราสาทจึงเปรียบเสมือนการจำลองเขาพระสุเมรุมายังโลกมนุษย์ เพื่อเป็นที่สถิตของเทพเจ้า   และมีการสร้างรูปเคารพของเทพเจ้าขึ้น เพื่อประดิษฐานไว้ภายใน โดยตัวปราสาทมีสัญลักษณ์ต่างๆ ที่ใช้แทนความหมายของเขาพระสุเมรุ เช่น มีปราสาทประธานตรงกลาง มีปราสาทบริวารล้อมรอบ ถัดออกมามีสระน้ำ และกำแพงล้อมรอบอีกชั้นหนึ่ง การที่ทำหลังคาปราสาทเป็นเรือนซ้อนชั้นก็หมายถึง สวรรค์หรือวิมานของเทพเทวดานั่นเอง ด้วยเหตุที่เป็นการจำลองจักรวาลมาไว้บนโลกมนุษย์ และเป็นที่สถิตของเทพเจ้า จึงต้องมีระเบียบกฎเกณฑ์ ตามที่กำหนดไว้ในคัมภีร์ทางศาสนาอย่างเคร่งครัด ตัวปราสาทจึงมีขนาดใหญ่โต และใช้เวลาก่อสร้างยาวนาน

1.4 ความสำคัญ

ด้วยเหตุที่ปราสาทขอมคือ ศูนย์กลางของจักรวาล ดังนั้น ตัวปราสาท และเขตศาสนสถานจึงถือว่า เป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ และใช้ในความหมายที่เป็นศูนย์กลางของเมืองหรือชุมชน ปราสาทเป็นที่ประดิษฐานรูปเคารพ และใช้ทำพิธีกรรมทางศาสนา ซึ่งในศาสนาฮินดูจะมีพราหมณ์เป็นผู้ทำพิธี เช่น การสรงน้ำรูปเคารพที่อยู่ภายในห้องครรภคฤหะ น้ำที่สรงแล้วจะไหลออกมาทางท่อน้ำเรียกว่า ท่อโสมสูตร ซึ่งต่อออกมาภายนอกตัวปราสาท เพื่อที่ชาวบ้านจะได้นำน้ำศักดิ์สิทธิ์นี้ไปใช้ นอกเหนือจากปราสาทที่เป็นศูนย์กลางของชุมชนแล้ว การสร้างสระน้ำและบาราย (สระน้ำขนาดใหญ่) ก็เป็นส่วนหนึ่งของปราสาท เพื่อเป็นอ่างเก็บน้ำ สำหรับชุมชน ในการอุปโภคบริโภค ดังนั้น การสร้างปราสาทจึงเป็นภาระสำคัญของพระมหากษัตริย์ ที่เมื่อขึ้นครองราชย์แล้ว ต้องสร้างขึ้น เพื่ออุทิศให้แก่บรรพบุรุษ หรือให้แก่พระองค์เอง และสร้างบารายให้แก่ประชาชน การสร้างปราสาทที่มีขนาดใหญ่จึงแสดงให้เห็นถึงบุญบารมี และพระราชอำนาจของกษัตริย์แต่ละพระองค์ด้วย

 

2. ความเกี่ยวเนื่องระหว่างปราสาทกับศาสนา

โดยทั่วไปศาสนสถานในศิลปะขอม จะสร้างขึ้น เนื่องในศาสนาฮินดูเป็นส่วนใหญ่ มีเพียงบางแห่ง หรือบางสมัยเท่านั้น ที่สร้างขึ้น เนื่องในพระพุทธศาสนานิกายมหายาน เช่น ปราสาทที่สร้างขึ้นในศิลปะแบบบายนทั้งหมด เพราะในขณะนั้น มีการเปลี่ยนมานับถือพระพุทธศาสนานิกายมหายานแล้ว วิธีสังเกตว่า ศาสนสถานแห่งนั้นๆ สร้างขึ้น เนื่องในศาสนา และลัทธิใด ดูได้จากรูปเคารพ ที่ประดิษฐานภายในปราสาทประธานเป็นสำคัญ ถ้าไม่ปรากฏรูปเคารพ ให้ดูได้จากภาพเล่าเรื่องบนทับหลัง โดยเฉพาะทับหลังประดับด้านหน้าของห้องครรภคฤหะ จะเป็น ตัวบอกได้ดีที่สุด ในส่วนของปราสาทที่สร้างขึ้นในศาสนาฮินดูแยกออกเป็น 2 ลัทธิ ได้แก่ "ไศวนิกาย" คือ การบูชาพระอิศวร หรือพระศิวะเป็นใหญ่ เช่น ปราสาทพนมรุ้ง และ "ไวษณพนิกาย" คือ การบูชาพระนารายณ์ หรือพระวิษณุเป็นใหญ่ เช่น ปราสาทนครวัด ส่วนปราสาทหินพิมาย และกลุ่มปราสาทรุ่นหลัง ในศิลปะแบบบายน ที่พบทางภาคกลางของประเทศไทยทั้งหมดนั้น สร้างขึ้น เนื่องในพระพุทธศาสนานิกายมหายาน เช่น พระปรางค์สามยอด จังหวัดลพบุรี

 

3. วัสดุที่ใช้ในการก่อสร้าง

การสร้างปราสาทในวัฒนธรรมขอมจะใช้วัสดุประเภทไม้ อิฐ หิน (ส่วนใหญ่ เป็นหินทราย) และศิลาแลงในการก่อสร้าง

ไม้

ถือเป็นวัสดุพื้นฐานที่ใช้ในการก่อสร้างอาคารโดยทั่วไป จากหลักฐานการสร้างปราสาทที่ใช้เป็นศาสนสถานในอินเดีย ระยะเริ่มแรกนั้นสร้างด้วยไม้ แต่ไม้เป็นวัสดุที่ผุพังได้ง่าย จึงไม่เหลือหลักฐานให้ศึกษา ต่อมาจึงก่อด้วยอิฐหรือหิน แต่ก็ยังสังเกตได้ว่า อาคารหรือลวดลายในระยะแรกนั้น มักสร้างหรือสลักเลียนแบบเครื่องไม้ อาคารในวัฒนธรรมขอมก็เช่นเดียวกัน ระยะแรกพบว่า สร้างเลียนแบบเครื่องไม้     องค์ประกอบทางสถาปัตยกรรมบางอย่างใช้ไม้เป็นส่วนประกอบ เช่น กรอบประตู ประตู หน้าต่าง เพดาน รวมทั้งโครงหลังคาที่เป็นเครื่องไม้มุงกระเบื้องก็มี

อิฐ

เป็นวัสดุที่ใช้สร้างปราสาทขอมในระยะแรกเริ่ม ได้แก่ สมัยก่อนเมืองพระนคร ถึงสมัยเมืองพระนครตอนต้น (พุทธศตวรรษที่ 12 - 14)  ในราวพุทธศตวรรษที่ 15 จึงเริ่มมีความนิยมสร้างปราสาทด้วยหินทราย วิธีการก่ออิฐในปราสาทขอมนั้น จะมีลักษณะเฉพาะคือ ใช้อิฐขนาดเล็ก การก่อเป็นแบบไม่สอปูน มีการขัดแผ่นอิฐก่อนนำมาเรียง ต่อกันแน่นจนแทบเป็นแผ่นเดียวกัน โดยสันนิษฐานว่า เชื่อมด้วยยางไม้ เสร็จแล้วจะขัดผิวอิฐจนเรียบ ในส่วนที่ต้องการลวดลายจะสลักลงไปบนเนื้ออิฐส่วนหนึ่ง และอีกส่วน หนึ่งจะปั้นปูนทับลงไป ปราสาทที่สร้างด้วยอิฐมีส่วนที่ใช้หินประกอบด้วย ได้แก่ ส่วนของกรอบประตู เสา และทับหลัง

หิน

ที่ใช้กันทั่วไป ได้แก่ หินทราย เพราะเป็นวัสดุที่มีความมั่นคงแข็งแรง หาได้ง่าย สลักลวดลายง่าย และมีความงดงาม จึงได้รับความนิยมนำมาสร้างปราสาทขอมมากที่สุด การนำวัสดุประเภทหินมาใช้สร้างปราสาทนั้น ช่างขอมรู้จักมาแล้วตั้งแต่ในยุคแรกเริ่ม เช่นเดียวกับอิฐ  แต่ในระยะแรก นำมาใช้ประกอบ เพื่อความมั่นคงแข็งแรง เช่น ทำเป็นส่วนฐานอาคาร เสา กรอบประตู ทับหลัง การสร้างปราสาทด้วยหินทรายเริ่มได้รับความนิยมในสมัยเมืองพระนครตั้งแต่ราวพุทธศตวรรษที่ 15 เป็นต้นมา จนหมดสมัยที่รุ่งเรืองแห่งอาณาจักรขอมใน ช่วงพุทธศตวรรษที่ 18 หลังจากนั้นจึงกลับมาใช้วัสดุที่เป็นอิฐและเครื่องไม้อีกครั้งหนึ่ง

อาคารที่สร้างด้วยหินไม่ใช้ตัวเชื่อม เช่นเดียวกับอิฐ แต่จะใช้น้ำหนักของหินเป็นตัวยึดกันเอง มีส่วนที่ใช้ตัวยึดอยู่บ้างตรงมุมปราสาท โดยจะใช้เหล็กรูปตัวไอ (I) หรือตัวที (T) ฝังไว้ภายใน วิธีการก่อสร้าง คือ จะนำหินที่โกลนเป็นเค้าโครงเรียงซ้อนกันขึ้นไปก่อน แล้วจึงสลักรายละเอียดของลวดลายต่างๆ ในภายหลัง

ศิลาแลง

เป็นวัสดุที่มีความคงทนและ แข็งแรง เมื่ออยู่ใต้ดินจะอ่อนตัวสามารถตัด เป็นรูปทรงที่ต้องการได้ง่าย แต่เมื่อสัมผัส กับอากาศแล้วจะแข็งตัว ไม่สามารถตกแต่งเป็นรูปทรงได้ ดังนั้น จึงนิยมใช้ศิลาแลงมาทำเป็นส่วนฐานของอาคาร เพราะสามารถรับ น้ำหนักได้ดี อย่างไรก็ตาม การนำศิลาแลง มาใช้สร้างปราสาททั้งหลังได้เกิดขึ้นในศิลปะ แบบบายนในช่วงพุทธศตวรรษที่ 18 โดยพบในประเทศไทยทั้งในภาคอีสานและภาคกลาง จนถือเป็นลักษณะเฉพาะอย่างหนึ่ง ของวัฒนธรรมขอมศิลปะแบบบายนที่พบในประเทศไทย เหตุที่ในสมัยนี้นิยมใช้ศิลาแลง อาจเป็นเพราะว่า เป็นวัสดุที่หาง่ายในท้องถิ่นและสามารถก่อสร้างได้อย่างรวดเร็ว เทคนิคของการสร้างอาคารด้วยศิลาแลงคือ การตัดมาทั้งก้อนตามขนาดที่ต้องการ นำมาวางซ้อนกัน ฉาบปูนทับ และปั้นลายปูนปั้น ประดับส่วนต่างๆ ให้สวยงาม

 

4. แผนผัง รูปแบบ และองค์ประกอบทางสถาปัตยกรรม

4.1 แผนผังและรูปแบบ

ปราสาทขอมจะมีการออกแบบการก่อสร้างอย่างมีระเบียบ เนื่องจากคติการสร้างดังกล่าวแล้วข้างต้น โดยทั่วไปจะมีแผนผัง 2 แบบ แบบแรกคือ แผนผังแบบล้อมรอบจุดศูนย์กลาง ซึ่งมีปราสาทประธานอยู่ตรงกลาง ล้อมรอบด้วยระเบียงคด อาจมีสระน้ำและกำแพง ล้อมรอบอีกชั้นหนึ่ง ส่วนใหญ่ ได้แก่ ศาสนสถานที่สร้างอยู่บนพื้นราบ เช่น ปราสาทเมืองต่ำ ปราสาทหินพิมาย ส่วนแผนผังแบบที่ 2 คือ แผนผังแบบตรงเข้าสู่จุดศูนย์กลาง ได้แก่ ศาสนสถานที่อยู่บนภูเขา มีบันไดทางเดินและสิ่งปลูกสร้างเป็นระยะๆ นำขึ้นไปสู่ปราสาทประธานที่อยู่บนยอดเขา เช่น ปราสาทพนมรุ้ง ปราสาทเขาพระวิหาร

รูปแบบของปราสาทขอมที่สมบูรณ์นั้น จะประกอบด้วยกำแพงล้อมรอบศาสนสถาน ตรงกลางกำแพงมีซุ้มประตูทางเข้าทั้ง 4 ด้าน เรียกว่า "โคปุระ" ถัดเข้าไปมีสระน้ำ อาจเป็นรูปคล้ายตัวซี (C) ในกรณีที่มีทางเข้า 2 ทาง หรือรูปคล้ายตัวแอล (L) ในกรณีที่มีทางเข้า 4 ทาง จนถึงกำแพงชั้นในที่ล้อมรอบปราสาทประธาน ซึ่งเรียกว่า "ระเบียงคด" โดยมีโคปุระทั้ง 4 ด้านเช่นเดียวกัน ภายในระเบียงคด เป็นที่ตั้งของปราสาทประธาน ซึ่งอาจเป็นปราสาทหลังเดียวโดดๆ หรือเป็นปราสาทหมู่ 3 หลัง 5 หลัง หรือ 6 หลัง ก็ได้ อาจมีอาคารขนาดเล็กมีผังสี่เหลี่ยมผืนผ้า ที่เรียกว่า "บรรณาลัย" เป็นที่เก็บรักษาคัมภีร์อันศักดิ์สิทธิ์ อยู่ด้านหน้าปราสาทประธานปราสาทขนาดใหญ่ เช่น ปราสาทหินพิมาย และปราสาทพนมรุ้ง จะมีส่วนที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ "ทางดำเนิน" มักประดับด้วยเสา ตั้งเป็นแนวตลอดทางเดินเรียกว่า เสานางเรียง หรือเสานางจรัล มี  "สะพานนาคราช" ซึ่งมีผังเป็นรูปกากบาท ราวสะพานทำเป็นลำตัวของพญานาค 5 เศียร หันหน้าออกแผ่พังพาน ทั้ง 4 ทิศ เปรียบเสมือนเป็นทางเดินเชื่อม ระหว่างโลกมนุษย์กับโลกสวรรค์ หากเป็นปราสาทที่ตั้งอยู่บนภูเขา จะมีทางเดินเป็นขั้นบันได ทอดขึ้นไปสู่บริเวณที่ตั้งของปราสาทประธาน

4.2 องค์ประกอบทางสถาปัตยกรรม

ส่วนฐาน

โดยทั่วไปแล้วปราสาทขอม มักตั้งอยู่บนฐานบัวเตี้ยๆ ต่อมาในสมัยของศิลปะแบบบายน ฐานบัวนี้ได้พัฒนามาเป็นรูปแบบเฉพาะที่เรียกว่า "ฐานบัวลูกฟัก" หมายถึง ฐานบัวที่มีการประดับท้องไม้ด้วยแถบสี่เหลี่ยมคล้ายกับลูกฟัก

ส่วนกลาง

ได้แก่ ส่วนของอาคารทรงสี่เหลี่ยม ภายในเป็นห้องประดิษฐานรูปเคารพ เรียกว่า "ห้องครรภคฤหะ" (หรือเรือนธาตุ) ส่วนนี้จะทำเป็นอาคารเพิ่มมุม เพื่อจะออกมุข และรับกับซุ้มประตูทางเข้า ด้านหน้าของห้อง ครรภคฤหะมีที่ยื่นออกมาเรียกว่า มณฑป มีตัวเชื่อมส่วนนี้เรียกว่า อันตราละ (มุขกระสัน) ส่วนของประตูมีองค์ประกอบที่สำคัญ ได้แก่

- เสาติดผนัง คือ วงกบกรอบประตู เป็นเสาสี่เหลี่ยมรองรับน้ำหนักของส่วนบน  นิยมสลักลวดลายอย่างงดงาม เช่น ลายก้านต่อดอก

- เสาประดับกรอบประตู จะอยู่ด้านหน้าวงกบกรอบประตู ทำขึ้น เพื่อการประดับตกแต่งมากกว่าการรับน้ำหนัก ดังนั้น ตัวเสาประดับกรอบประตูจึงใช้เป็นหลักฐานสำคัญอย่างหนึ่ง ในการกำหนดอายุของศาสนสถานแห่งนั้นๆ ตามหลักของวิวัฒนาการทาง ศิลปะ เช่น ในระยะแรกจะเป็นเสากลมแบบ อินเดีย ต่อมาทำเป็นเสาแปดเหลี่ยม รวมทั้งการแบ่งส่วนของเสาและการสลักลวดลาย ก็บอกถึงวิวัฒนาการได้เช่นกัน

- ทับหลัง หมายถึง แท่งหินรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ที่อยู่เหนือกรอบประตูทางเข้า ในลักษณะเดียวกับขื่อ เพื่อรับน้ำหนักของชั้นหลังคา ทับหลังมี 2 ประเภท คือ ทับหลังจริง ซึ่งอยู่ชั้นใน ทำหน้าที่รับน้ำหนักชั้นหลังคาอย่างแท้จริง และทับหลังประดับ ซึ่งอยู่ชั้นนอก เป็นงานประดับสถาปัตยกรรม ซึ่งนิยมสลักลวดลาย และภาพเล่าเรื่องต่างๆ ทับหลังจึงเป็นหลักฐานสำคัญที่สุดอย่างหนึ่ง ในการกำหนดอายุศาสนสถานแห่งนั้น และเป็นตัวบอกได้ว่า ศาสนสถานนั้นสร้างขึ้นในศาสนาและลัทธิใด โดยเฉพาะชิ้นที่สำคัญที่สุด ได้แก่ ทับหลังที่อยู่ด้านหน้าของห้องครรภคฤหะ เหตุที่เชื่อว่า ทับหลังใช้เป็นตัวกำหนดอายุได้ดีที่สุด เพราะส่วนใหญ่จะสร้างขึ้น พร้อมกับตัวปราสาท และสลักด้วยศิลา จึงเป็นสิ่งที่คงทนถาวร รวมทั้งมีภาพเล่าเรื่อง และลวดลายประดับ ที่สามารถบอกวิวัฒนาการได้เป็นอย่างดี

- หน้าบัน คือ ส่วนของหลังคา รูปทรงสามเหลี่ยมเหนือทับหลัง ในลักษณะเดียวกับหน้าจั่ว ตัวกรอบหน้าบันนิยมทำเป็นตัวนาค และเศียรนาค เรียกว่า ซุ้มโค้งเข้าโค้งออกแบบขอม ตัวหน้าบันนิยมสลักลวดลาย และภาพเล่าเรื่อง โดยทั่วไปจะสัมพันธ์กับภาพเล่าเรื่องบนทับหลัง ซึ่งใช้เป็นตัวบอกอายุสมัย และบ่งบอกว่า เป็นศาสนสถานในศาสนาและลัทธิใด ด้วยเช่นกัน

ส่วนยอด

ได้แก่ ส่วนยอดของปราสาทเหนือส่วนเรือนธาตุขึ้นไป ที่ทำเป็นหลังคาซ้อนชั้นลดหลั่นกัน เรียกว่า "ชั้นวิมาน" หรือ "ชั้นบัญชร" โดยทั่วไปจะมี 5 ชั้น แต่ละชั้นมีนาคปัก หมายถึง หัวพญานาคประดับที่มุมประธาน แต่ละด้านประดับด้วย  "บันแถลง" หมายถึง รูปจั่ว หรือซุ้มหน้าต่าง เป็นรูปสัญลักษณ์ของวิมานซึ่งเป็นที่สถิตของเทวดา ส่วนยอดสุดเป็นรูปกลีบบัวเรียก บัวทรงคลุ่ม รองรับส่วนยอดที่เรียกชื่อว่า กลศ (กะ-ละ-สะ) มีรูปร่างคล้ายหม้อน้ำเทพมนตร์ในศาสนาฮินดู

 

5. ปราสาทขอมและพัฒนาการในดินแดนไทย

ในการศึกษาศิลปะขอมในประเทศไทย ได้ใช้การเรียกชื่อศิลปะอย่างเดียวกับศิลปะขอมในประเทศกัมพูชาเป็นหลัก ซึ่งในการกำหนดอายุของปราสาทขอมนั้นได้แบ่งออกเป็น 2 สมัยใหญ่ๆ ได้แก่ สมัยก่อนเมืองพระนคร (พุทธศตวรรษที่ 11 - 14) และสมัยเมืองพระนคร (พุทธศตวรรษที่ 14 - 18) และแบ่งออกเป็นสมัยย่อยเรียกเป็นชื่อศิลปะแบบต่างๆ รวม 14 แบบ ดังนี้

ก. สมัยก่อนเมืองพระนคร

            1. ศิลปะแบบพนมดา ราว พ.ศ. 1100 - 1150

            2. ศิลปะแบบสมโบร์ไพรกุก ราว พ.ศ. 1150 - 1200

            3. ศิลปะแบบไพรกเมง ราว พ.ศ. 1180 - 1250

            4. ศิลปะแบบกำพงพระ ราว พ.ศ. 1250 - 1350

ข. สมัยเมืองพระนคร

            5. ศิลปะแบบกุเลน ราว  พ.ศ. 1370 - 1420

            6. ศิลปะแบบพระโค ราว  พ.ศ. 1420 - 1440

            7. ศิลปะแบบบาแค็ง ราว  พ.ศ. 1440 - 1470

            8. ศิลปะแบบเกาะแกร์ ราว  พ.ศ. 1465 - 1490

            9. ศิลปะแบบแปรรูป ราว  พ.ศ. 1490 - 1510

            10. ศิลปะแบบบันทายสรี ราว พ.ศ. 1510 - 1550

            11. ศิลปะแบบคลัง (หรือเกลียง) ราว พ.ศ. 1550 - 1560

            12. ศิลปะแบบบาปวน ราว  พ.ศ. 1560 - 1630

            13. ศิลปะแบบนครวัด ราว  พ.ศ. 1650 - 1720

            14. ศิลปะแบบบายน ราว  พ.ศ. 1720 – 1780

5.1 ช่วงพุทธศตวรรษที่ 12 - 14

ในราวพุทธศตวรรษที่ 12 - 14 ซึ่งตรงกับศิลปะขอมสมัยก่อนเมืองพระนคร และร่วมสมัยกับวัฒนธรรมทวารวดีในภาคกลางของประเทศไทย อันเป็นสมัยแรกที่เริ่มปรากฏหลักฐานการรับศาสนาจากอินเดีย ในระยะแรกนี้ สิ่งปลูกสร้างที่เป็นปราสาทนั้นแทบจะไม่เหลือหลักฐานไว้ให้ศึกษาเลย เนื่องจากปราสาทในสมัยนี้ส่วนใหญ่ก่อด้วยอิฐ จึงพังทลายไปตามกาลเวลา ยกเว้นเพียงชิ้นส่วนที่เป็นหิน เช่น ทับหลัง หน้าบัน และเสาประดับกรอบประตูเท่านั้นที่ยังคง ปรากฏอยู่ มีปราสาทที่ยังหลงเหลือหลักฐานค่อนข้างสมบูรณ์อยู่เพียงหลังเดียวเท่านั้น คือ ปราสาทภูมิโพน อำเภอสังขะ จังหวัดสุรินทร์ ที่สามารถศึกษารูปแบบได้

หลักฐานที่พบในช่วงนี้จะอยู่ในภาคตะวันออกและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่จังหวัดจันทบุรี ปราจีนบุรี สระแก้ว บุรีรัมย์ สุรินทร์ และอุบลราชธานี ความสำคัญของภาคตะวันออกนั้น นอกจากเป็นดินแดนที่รับอารยธรรมจากภายนอกในระยะแรกแล้ว ยังเป็นจุดเชื่อมต่อทางวัฒนธรรม เช่น มีความสัมพันธ์กับทางภาคใต้ และแสดงการผสมผสานทางวัฒนธรรม ระหว่างทวารวดีภาคกลาง กับศิลปะขอมสมัยก่อนเมืองพระนคร หน้าบันหลายชิ้นที่พบที่วัดทองทั่ว ซึ่งปัจจุบัน ชิ้นหนึ่งจัดแสดงไว้ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร อีก 2 ชิ้นเก็บรักษาไว้ที่วัดทองทั่ว และวัดบน บริเวณเขาพลอยแหวน จังหวัดจันทบุรี หน้าบันดังกล่าว มีความสัมพันธ์กับศิลปะ ที่พบบริเวณจังหวัดอุบลราชธานี ทางตอนเหนือของประเทศกัมพูชา และทางตอนใต้ของประเทศลาว หลักฐานที่พบอีกชิ้นหนึ่งคือ ทับหลัง ซึ่งพบที่ปราสาทเขาน้อย อำเภออรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว กำหนดอายุอยู่ในศิลปะแบบไพรกเมง

ในด้านประติมากรรม ได้พบหลักฐานชิ้นสำคัญเป็นรูปเทวสตรี ซึ่งสันนิษฐานว่า เป็นพระอุมาเทวี พบที่อำเภออรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว ปัจจุบันเป็นสมบัติของพิพิธภัณฑ์วังสวนผักกาด จัดเป็นประติมากรรมรุ่นเก่าสุด ที่พบในประเทศไทย ตรงกับสมัยสมโบร์ไพรกุก (ราวพุทธศตวรรษที่ 12) โดยดูจากการนุ่งผ้ายาวและมีจีบหน้านาง ยกเป็นริ้วตามธรรมชาติ คาดเข็มขัดที่ส่วนหัวเป็นรูปไข่ ใกล้เคียงกับศิลปะอินเดียสมัยคุปตะ จนถึงสมัยหลังคุปตะเป็นอย่างมาก

ประติมากรรมเนื่องในศาสนาฮินดูอีกจำนวนหนึ่ง ที่พบในแถบจังหวัดปราจีนบุรี และจังหวัดสระแก้ว ได้แก่ ศิวลึงค์ และพระนารายณ์ โดยเฉพาะพระนารายณ์สวมหมวกทรงกระบอกนั้น แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์กับศิลปะ ที่พบทางภาคใต้ และที่เมืองศรีเทพ จังหวัดเพชรบูรณ์ด้วย

นอกจากนี้ยังได้พบหลักฐานที่สำคัญคือ ร่องรอยของปราสาทแบบสมโบร์ไพรกุก บริเวณแก่งสะพือ อำเภอพิบูลมังสาหาร จังหวัดอุบลราชธานี พร้อมประติมากรรมหินทราย ที่สำคัญคือ ทับหลัง หรือหน้าบัน ที่วัดสุปัฏนาราม ซึ่งกำหนดอายุอยู่ในราวพุทธศตวรรษที่ 12 อีกชิ้นหนึ่งพบที่วัดสระแก้วใกล้กับแก่งสะพือ จัดอยู่ในศิลปะแบบไพรกเมง ราวพุทธศตวรรษที่ 13 จากลักษณะลวดลายแสดงว่า มีความสัมพันธ์กับงานประติมากรรมทวารวดีในภาคกลางของประเทศไทย

ปราสาทภูมิโพน (ภูมิโปน)

จังหวัดสุรินทร์ อยู่ที่ตำบลดม อำเภอสังขะ เชื่อกันว่า เป็นหลักฐานทางสถาปัตยกรรมขอมสมัยก่อนเมืองพระนครที่เก่าที่สุด ในประเทศไทย ที่ยังเหลือหลักฐานอยู่ จัดเป็นศิลปะแบบสมโบร์ไพรกุกต่อไพรกเมง ราวพุทธศตวรรษที่ 12 - 13 โดยดูจากระบบโครงสร้างทางสถาปัตยกรรมที่มีแบบแผนของศิลปะขอม ก่อนเมืองพระนคร เช่น การมีเสาประดับมุม ซึ่งต่างจากสมัยหลังเมืองพระนครที่มีการเพิ่มมุม รวมทั้งมีการประดับปราสาทจำลองตรงส่วนของเหนือกรอบประตูแต่ละด้าน และที่มุมหลังคาในแต่ละชั้น ในขณะที่สมัยหลังเมืองพระนครจะเปลี่ยนจากปราสาทจำลอง มาเป็นบันแถลงแล้ว นอกจากนี้การประดับทับหลังที่มีส่วนวงโค้งรูปเกือกม้ากับหน้าบัน ก็เป็นงานในลักษณะที่ใกล้เคียงกับศิลปะของประเทศอินเดีย   รวมทั้งลวดลายที่หน้าบันที่เหลืออยู่ ก็มีความสัมพันธ์อย่างมากกับศิลปะทวารวดีในภาคกลาง และในอินเดียสมัยคุปตะ ที่ปราสาทภูมิโพนยังพบอาคารขนาดเล็ก ตั้งอยู่ในแผนผังสี่เหลี่ยมผืนผ้า และทับหลังชิ้นสำคัญชิ้นหนึ่ง ที่แสดงลวดลายสิงห์ ที่มีปากเป็นนก มีวงโค้ง 4 วง ประดับรูปเหรียญ 3 วง อันเป็นลักษณะของทับหลัง ศิลปะแบบสมโบร์ไพรกุกต่อไพรกเมง เป็นหลักฐานสำคัญ ในการกำหนดอายุศาสนสถานแห่งนี้

5.2 ช่วงพุทธศตวรรษที่ 14 - 15

ในช่วงระยะเวลานี้จัดเป็นช่วงแรกของศิลปะขอมสมัยเมืองพระนคร ซึ่งเป็นศิลปะแบบพระโค บาแค็ง เกาะแกร์ และแปรรูป ตามลำดับ หลักฐานปราสาทขอมในช่วงเวลานี้ ที่พบในประเทศไทยมีน้อยมาก และส่วนใหญ่อยู่ในสภาพพัง เพราะเป็นปราสาทที่ก่อด้วยอิฐ การกำหนดอายุทำได้ค่อนข้างยาก สิ่งที่สามารถกำหนดอายุได้ดีที่สุดคือ ทับหลัง รวมทั้งอาจมีศิลาจารึกที่กล่าวถึงการก่อสร้างไว้ด้วย ตัวอย่างปราสาท ที่จัดอยู่ในช่วงระยะเวลานี้ ได้แก่ ปราสาทสระเพลง ปราสาทโนนกู่ ปราสาทเมืองแขก ที่อำเภอโนนสูง จังหวัดนครราชสีมา ปราสาทสังข์ศิลป์ชัย ที่อำเภอสังขะ จังหวัดสุรินทร์ และปรางค์แขก ที่อำเภอเมืองฯ จังหวัดลพบุรี ส่วนแหล่งอื่นๆ พบเฉพาะทับหลัง แต่องค์ปราสาทพังทลายไปหมดแล้ว เช่น ทับหลังที่พบในบริเวณเทวสถานพระนารายณ์ อำเภอเมืองฯ จังหวัดนครราชสีมา เป็นศิลปะแบบพระโค ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 15

หลักฐานจากปราสาทพนมวัน อำเภอเมืองฯ จังหวัดนครราชสีมา น่าจะเป็นแหล่งหนึ่งที่เคยมีปราสาทขอม ในช่วงระยะเวลานี้ เพราะได้พบทับหลัง และจารึก ที่กรอบประตู กล่าวถึงพระนามของกษัตริย์เขมร 2 พระองค์ คือ พระเจ้าอินทรวรมันที่ 1 (พ.ศ. 1420 - 1432) และพระเจ้ายโศวรมันที่ 1 (พ.ศ. 1432 - 1443) โดยทับหลังชิ้นหนึ่งเป็นศิลปะแบบพระโค และอีกชิ้นหนึ่งเป็นศิลปะแบบบาแค็ง สำหรับศิลปะแบบเกาะแกร์ ได้พบหลักฐานทับหลังหลายชิ้นจากปราสาทหลายแห่ง เช่น ที่ปราสาทเมืองแขก อำเภอสูงเนิน จังหวัดนครราชสีมา และที่ปราสาทสังข์ศิลป์ชัย อำเภอสังขะ จังหวัดสุรินทร์ นอกจากนี้ยังมีหลักฐานสำคัญแห่งหนึ่ง เป็นฐานปราสาทขนาดเล็กที่ก่อด้วยอิฐ บริเวณปราสาทพนมรุ้ง จากลวดลายบนเสาประดับกรอบประตูและศิลาจารึก แสดงให้เห็นว่า บริเวณนี้เคยมีการสร้างปราสาทมาแล้วก่อนที่จะสร้างปราสาทพนมรุ้งขึ้นในภายหลัง

ปรางค์แขก จังหวัดลพบุรี

อยู่ที่อำเภอเมืองฯ นับเป็นหลักฐานปราสาทขอมในภาคกลางที่สำคัญ และเหลืออยู่ในสภาพค่อนข้างสมบูรณ์ที่สุด ศาสนสถานแห่งนี้เป็นปราสาทอิฐ 3 หลัง โดยมีปราสาทหลังกลางที่มีขนาดใหญ่เป็นประธาน จากลักษณะทางสถาปัตยกรรม แสดงให้เห็นถึงวิธีการก่อสร้าง ที่สืบทอดมาจากในสมัยก่อนเมืองพระนคร กล่าวคือ เป็นปราสาทที่ก่ออิฐแบบไม่สอปูน และยังไม่มีการเพิ่มมุมชัดเจน ในขณะที่ในสมัยหลังจะทำเป็นแบบเพิ่มมุมแล้ว การเข้ากรอบประตูศิลา ยังเลียนแบบเครื่องไม้ คือ มีลักษณะเป็นเสาติดผนังปรากฏอยู่ แต่ที่ศาสนสถานแห่งนี้ไม่ได้พบหลักฐานอื่นๆ เช่น ทับหลัง หรือลวดลาย ที่จะสามารถกำหนดอายุได้อย่างแน่นอน

นอกจากนี้ ที่ปรางค์แขกยังแสดงถึงความเป็นศิลปะพื้นเมืองที่ต่างไปจากศิลปะของขอมคือ    การประดับลายปูนปั้นที่ฐานสูงขึ้นอย่างมาก และเครื่องบนหลังคาก็เพิ่มมุมมากยิ่งขึ้น อันเป็นต้นเค้าของปราสาท และปรางค์ที่มียอดเป็นทรงพุ่มในระยะต่อมา สันนิษฐานว่า ปราสาทนี้อยู่ในช่วงประมาณ พุทธศตวรรษที่ 15  และจัดเป็นปราสาทขอมที่เก่าที่สุด ในภาคกลางของประเทศไทย

5.3 ช่วงพุทธศตวรรษที่ 16 - 17

ในช่วงระยะเวลานี้ตรงกับศิลปะขอมแบบคลัง-บาปวน และแบบนครวัด ได้พบปราสาทขอม ในประเทศไทยหลายแห่ง เช่น ปราสาทพนมวัน และปราสาทหินพิมาย ที่จังหวัดนครราชสีมา ปราสาทกู่สวนแตง ปราสาทพนมรุ้ง และปราสาทเมืองต่ำ ที่จังหวัดบุรีรัมย์ ปราสาทตาเมือนธม ปราสาทบ้านพลวง และปราสาทศีขรภูมิ ที่จังหวัดสุรินทร์ ปราสาทสระกำแพงใหญ่ ที่จังหวัดศรีสะเกษ ปราสาทกู่กาสิงห์  ที่จังหวัดร้อยเอ็ด ปราสาทสด็อกก็อกธม ที่จังหวัดสระแก้ว

รูปแบบและแผนผังของปราสาทในช่วงระยะเวลานี้ มีระเบียบแบบแผนเดียวกับปราสาทในกัมพูชา สมัยเมืองพระนคร และเป็นศาสนสถานขนาดใหญ่ที่จัดเป็นศาสนสถานประจำเมือง มีโครงสร้างที่สำคัญ คือ ปราสาทประธานที่อยู่ตรงกลางอาจมีหลังเดียว เช่น ปราสาทหินพิมาย ปราสาทพนมรุ้ง หรือเป็นหมู่ 3 หลัง 5 หลัง หรือ 6 หลัง เช่น ปราสาทเม

ที่มา :

โครงการสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนโดยพระราชประสงค์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว. “ปราสาทขอมในประเทศไทย.” สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน โดยพระราชประสงค์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เล่มที่ 30. (ออนไลน์), 2548. เข้าถึงเมื่อ 1 กุมภาพันธ์ 2558. แหล่งที่มา http://www.saranukromthai.or.th/sub/book/book.php?book=30&chap=3&page=chap3.htm