Petrographic analysis
เป็นเทคนิควิธีการวิเคราะห์ของธรณีวิทยา (Geology) ที่ใช้ตรวจสอบวิเคราะห์หินและแร่ โดยศึกษาลักษณะโครงสร้างและแร่ธาตุต่างๆ โดยจัดทำเป็นสไลด์แผ่นบางและตรวจสอบด้วยกล้องจุลทรรศน์ชนิด polarizing เพื่อวิเคราะห์ในระดับจุลสัณฐานของวัตถุที่ต้องการศึกษา ผลการวิเคราะห์สามารถนำไปใช้อธิบายและจำแนกหินรวมทั้งแร่ ให้ข้อมูลเกี่ยวกับแหล่งกำเนิด ลักษณะการเกิด โครงสร้าง และประวัติของหิน นอกจากนี้วิธีศิลาวรรณนายังใกล้ชิดและสัมพันธ์กับปฐพีวิทยา (Pedology) ซึ่งเป็นวิธีการวิเคราะห์ถึงจุลสัณฐานของดิน วัตถุต้นกำเนิดดิน แร่ในดิน และองค์ประกอบต่างๆ ที่อยู่ในดิน เช่น อินทรียวัตถุและสิ่งเจือปนต่างๆ ฯลฯ การศึกษาทางโบราณคดีจึงนำเอาเทคนิควิธีการนี้มาศึกษาโบราณวัตถุที่มีวัสดุประเภทหิน แร่ แก้ว ดิน หรืออินทรียวัตถุอื่นๆ
การศึกษาวิเคราะห์ภาชนะดินเผาด้วยวิธีนี้เป็นการจำแนกส่วนประกอบหรือองค์ประกอบของเนื้อภาชนะดินเผา (fabric) โดยสามารถวิเคราะห์แร่ธาตุ (Mineralogical analysis) ได้ทั้งในเชิงปริมาณ (จำนวนและร้อยละ) และเชิงคุณภาพขององค์ประกอบของแร่ (เช่น แร่ควอตซ์ แร่ไมกา แร่เฟล์ดสปาร์ ฯลฯ) การศึกษาองค์ประกอบของเนื้อผลึกที่มีขนาดใหญ่ ซึ่งอาจรวมถึงเนื้อดินตามธรรมชาติ (clay) รวมทั้งส่วนผสม (Temper, Filter) และใช้วิเคราะห์ชนิดของแร่ดิน (Clay mineral) หรือองค์ประกอบของแร่ นอกจากนี้ ศิลาวรรณายังสามารถวิเคราะห์เชิงลึกถึงโครงสร้าง (Structural analysis) และลักษณะภายในของเนื้อวัตถุ ทำให้สามารถศึกษาแปลความได้ถึงขั้นตอนของเทคโนโลยีการผลิตภาชนะดินเผา ตั้งแต่วัตถุดิบ เนื้อดิน ส่วนผสม เทคนิคการปั้นและการขึ้นรูปภาชนะ ลักษณะการตกแต่งภาชนะและอุณหภูมิการเผา สะท้อนถึงองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีสมัยโบราณได้เป็นอย่างดี
ที่มา :
ดวงกมล อัศวมาศ. “ศิลาวรรณนากับการศึกษาเทคโนโลยีการผลิตภาชนะดินเผาสมัยทวารวดี.” ดุษฎีนิพนธ์ปริญญาปรัชญาดุษฎีบัณฑิต (โบราณคดีสมัยประวัติศาสตร์) มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2553 : 42-43.