Holocene epoch
(1) การแบ่งยุคสมัยทางธรณีวิทยา อยู่ในช่วงสมัยที่ 2 ของยุคควอเทอร์นารี (Quaternary period) เป็นสมัยหลังของยุคน้ำแข็ง มีอายุราว 10,000 ปีมาแล้วจนถึงปัจจุบัน เป็นช่วงสมัยที่แผ่นน้ำแข็งบนผิวโลกในยุคน้ำแข็งยุคล่าสุดละลาย เนื่องจากโลกมีอุณหภูมิสูงขึ้น ทําให้ระดับน้ำในทะเลสูงขึ้น เป็นผลให้แผ่นดินบางส่วนจมอยู่ใต้น้ำ สัตว์หลายชนิดสูญพันธุ์ อาจเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมและภูมิอากาศ มนุษย์ปัจจุบัน (Homo sapiens sapiens) เป็นสายพันธุ์เดียวของมนุษย์ที่เหลืออยู่และแพร่กระจายอยู่ทั่วภูมิภาคของโลก
(2) สมัยที่ 2 ของยุคควอเทอร์นารี มีอายุตั้งแต่สิ้นสมัยไพลสโตซีน หรือเมื่อ 0.0117 ล้านปีที่ผ่านมา เป็นช่วงที่มนุษย์มีอารยธรรม และสมัยน้ำแข็งซึ่งได้สิ้นสุดลงเมื่อ 10,000 ปีที่ผ่านมา จัดเป็นสมัยน้ำแข็งช่วงสุดท้าย หินที่เกิดในสมัยนี้เรียกว่า หินสมัยโฮโลซีน (Holocene series) ส่วนมากเป็นหินภูเขาไฟ แต่ส่วนใหญ่เป็นตะกอนที่จากลมและน้ำ ซึ่งมีทั้งบนบกและทะเล
(3) ชื่อสมัย (epoch) ทางธรณีวิทยา เริ่มตั้งแต่ 11,700 ปีมาแล้วจนถึงปัจจุบัน โดยโฮโลซีนเป็นสมัยต่อเนื่องมาจากสมัยไพลสโตซีน (Pleistocene) ทั้งสองสมัยอยู่ในยุคควอเทอร์นารี (Quaternary Period; 2.58 ล้านปีมาแล้ว - ปัจจุบัน) ของมหายุคซีโนโซอิก (Cenozoic Era; 66 ล้านปีมาแล้ว - ปัจจุบัน)
ผลการศึกษาทางธรณีวิทยาบ่งชี้ว่า โลกขณะนี้อยู่ในยุคอากาศอบอุ่น (recent interglacial period) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ “วัฏจักรหนาวสลับอุ่น” (Glacial-Interglacial Cycles) ของยุคควอเทอร์นารี ความอบอุ่นนี้ เกิดขึ้นต่อจากช่วงอากาศหนาวจัดครั้งล่าสุด (Last Glacial Period) ที่เกิดขึ้นระหว่าง 120,000 - 11,700 ปีมาแล้ว (NOAA 2021) นักธรณีวิทยาจึงกำหนดให้ตั้งแต่เริ่มยุคควอเทอร์นารี จนสิ้นสุดช่วงอากาศหนาวจัดครั้งล่าสุด เป็น “สมัยไพลสโตซีน” และจากจุดเริ่มช่วงอากาศอบอุ่นถึงปัจจุบัน เป็น “สมัยโฮโลซีน” จุดเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศดังกล่าวเกิดขึ้นราว 11,700 ปีมาแล้ว จากการกำหนดอายุชั้นน้ำแข็ง ที่ได้จากการศึกษาแกนแท่งน้ำแข็ง (ice core) ที่เกาะกรีนแลนด์ ประเทศเดนมาร์ก
การบัญญัติคำเรียกชื่อสมัยทางธรณีวิทยาในมหายุคซีโนโซอิก (Cenozoic) มีที่มาจากชาร์ลส์ ไลแอลล์ (Charles Lyell) นักธรณีวิทยาชาวสก็อตต์ โดยนำคำกรีกโบราณว่า “ไคโนส” (καινός / kainós) แผลงเป็นคำว่า -cene แปลว่า ล่าสุด (recent) เพื่ออธิบายเทียบว่าเป็นสมัยที่ฟอสซิลหอยทั้งหมดเหมือนกับหอยปัจจุบันมากหรือน้อย ทั้งนี้ก็เพื่อให้เกี่ยวข้องกับ “โลกปัจจุบัน” (recent earth) ส่วนคำว่า Holo มาจาก “โฮลอส” (ὅλος / hólos) แปลว่า “ทั้งหมด” หรือ “สมบูรณ์” กล่าวคือ เป็นสมัยที่ฟอสซิลหอยทั้งหมดเหมือนกับหอยปัจจุบัน ซึ่งบ่งชี้ว่า เป็นสมัยที่สิ่งมีชีวิตปัจจุบันถือสัดส่วน 100 เปอร์เซ็นต์ ดังนั้น “โฮโลซีน” แปลตามศัพท์คือ “ปัจจุบันโดยสมบูรณ์”
ยุคควอเทอร์นารี (Quaternary Period) เป็นยุคที่มีสภาพอากาศหนาวจัดสลับกับอบอุ่นเป็นช่วง หรือที่เรียกว่า วัฏจักรหนาวสลับอุ่น มากกว่า 50 ครั้ง แต่ละช่วงล้วนกินเวลาหลายหมื่นปี วัฏจักรดังกล่าวเปลี่ยนแปลงระดับน้ำทะเลทำให้ภูมิประเทศเอื้อให้สิ่งมีชีวิตทั้งพืชและสัตว์สามารถแพร่กระจายสายพันธุ์ออกไปอย่างกว้างขว้าง เหตุเพราะเมื่อน้ำทะเลลด เกิดทางเชื่อมระหว่างดินแดนให้สิ่งมีชีวิตใช้ข้ามไปมา ต่อเมื่อน้ำทะเลขึ้น สายพันธุ์ที่ถูกตัดขาดให้อยู่อีกฟากหนึ่ง ก็วิวัฒนาการแยกชนิดออกไปอีกมากมายก่อนเข้าสู่สมัยโฮโลซีน (Belknap 2021) หนึ่งในนั้นก็คือ “มนุษย์รุ่นปัจจุบัน” (Homo sapiens) เคลื่อนออกจากทวีปอาฟริกาไปยังพื้นที่เอเชียตะวันตกในช่วง 120,000-90,000 ปีมาแล้วตามทฤษฎี “ออกจากอาฟริกา” (Out of Africa)
ประมาณกันว่าหลัง 90,000 ปีมาแล้ว มนุษย์รุ่นปัจจุบันเคลื่อนย้ายผ่านยูเรเชีย เอเชียกลาง และเข้าสู่อนุทวีปอินเดียราว 70,000 ปีมาแล้ว จากนั้นได้เคลื่อนแยกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มหนึ่งมุ่งไปถึงเอเชียตะวันออกราว 60,000 ปีมาแล้ว และไปถึงช่องแคบแบริงราว 15,000 ปีมาแล้ว จึงได้ข้ามเข้าสู่ทวีปอเมริกาเหนือผ่านลงไปถึงทวีปอเมริกาใต้ราว 14,000 ปีมาแล้ว ส่วนอีกกลุ่มมุ่งไปทางเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และไปถึงทวีปออสเตรเลียราว 50,000 ปีมาแล้ว สำหรับในยุโรปนั้นประมาณว่า “มนุษย์รุ่นปัจจุบัน” เคลื่อนไปถึงราว 40,000 ปีมาแล้ว ดังนั้นการเกิดขึ้นของวัฏจักรหนาวสลับอุ่นรอบก่อนยุคธารน้ำแข็งล่าสุดจึงเป็นโอกาสและแรงพลักดันให้มนุษย์เคลื่อนออกจากทวีปอาฟริกาไปตั้งถิ่นฐานใหม่ในทวีปต่างๆ และต้องปรับตัวให้เข้ากับสิ่งแวดล้อมใหม่ ก่อให้เกิดรูปแบบสังคมและวัฒนธรรมที่เหมาะสมเฉพาะกลุ่มที่ไม่พร้อมกัน และจะเห็นผลได้อย่างชัดเจนเมื่อภูมิอากาศที่หนาวเย็นจากยุคธารน้ำแข็งล่าสุดได้กลับมาอบอุ่นอีกครั้ง ซึ่งในทางธรณีวิทยาถือเป็นการเริ่มต้นสมัยอันใหม่ที่ชื่อว่า “โฮโลซีน” ซึ่งเริ่มต้นขึ้นเมื่อ 11,700 ปีมาแล้ว
สังคมมนุษย์เริ่มขยายตัวมากขึ้นตามขนาดประชากร ทำให้นักโบราณคดีสามารถศึกษาค้นคว้าร่องรอยการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ที่อาจสัมพันธ์กับการเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศในครั้งอดีตได้มากขึ้นตามไปด้วย เช่น ชุมชนก่อนประวัติศาสตร์ในพื้นที่เมโสโปเตเมียของลุ่มน้ำไทกริส-ยูเฟรติส เข้าสู่สมัยหินใหม่แรกเริ่ม (Proto-Neolithic) ตั้งแต่ 14,500 – 10,400 ปีมาแล้ว ซึ่งเป็นช่วงรอยต่อระหว่างสมัยไพลสโตซีนกับสมัยโฮโลซีน จากนั้นราว 10,000 ปีมาแล้ว จึงเกิดปรากฏการณ์ทางวัฒนธรรมที่เรียกว่า “การปฏิวัติสมัยหินใหม่” (Neolithic Revolution) คือรู้จักเพาะปลูกและเลี้ยงสัตว์ จนกระทั่งราว 9,000 ปีมาแล้ว จึงรู้จักทำภาชนะดินเผา และสุดท้าย ราว 8,000 ปีมาแล้ว หมู่บ้านเกษตรกรรมได้กลายเป็น “เมือง” ในที่สุดก่อนสังคมหลายๆแห่งในพื้นที่อื่นของโลก
ที่มา :
(1) สำนักโบราณคดี กรมศิลปากร. ศัพทานุกรมโบราณคดี. กรุงเทพฯ: สำนักโบราณคดี กรมศิลปากร, 2550.
(2) หน่วยปฏิบัติการวิจัยธรณีวิทยาแผ่นดินไหวและธรณีแปรสัณฐานผืนแผ่นดินเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ ภาควิชาธรณีวิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. ศัพท์ธรณีวิทยา (Geological Dictionary). (ออนไลน์). เข้าถึงเมื่อ 6 กรกฎาคม 2564. เข้าถึงจาก http://www.eatgru.sc.chula.ac.th/Thai/interest/html/dictionary.html
(3) ตรงใจ หุตางกูร, นัทกฤษ ยอดราช. "Holocene" ฐานข้อมูลคำศัพท์มานุษวิทยา ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน). (ออนไลน์). เข้าถึงเมื่อ 6 กรกฎาคม 2564. เข้าถึงจาก https://www.sac.or.th/databases/anthropology-concepts/glossary/169