โพสต์เมื่อ 13 ก.ค. 2020
ชื่ออื่น : พระเวียง
ที่ตั้ง : ต.ในเมือง อ.เมืองนครศรีธรรมราช
ตำบล : ในเมือง
อำเภอ : เมือง
จังหวัด : นครศรีธรรมราช
พิกัด DD : 8.394141 N, 99.972943 E
เขตลุ่มน้ำหลัก : ท่าเรือ
เขตลุ่มน้ำรอง : คลองคูพาย, คลองสวนหลวง
เมืองโบราณพระเวียงตั้งอยู่บนถนนราชดำเนิน ต.ในเมือง อ.เมือง โดยผู้สนใจสามารถเดินทางจากถนนราชดำเนินมาตามทางหลวงหมายเลข 408 ห่างจากวัดพระมหาธาตุนครศรีธรรมราชประมาณ 1 กิโลเมตร ถนนสายนี้มีรถสองแถวให้บริการ
ปัจจุบันชุมชนโบราณพระเวียงได้ถูกปรับเปลี่ยนจากเดิมเนื่องจากมีการอาศัยของคนที่ต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน ในส่วนของคูน้ำคันดินเดิมถูกปรับเปลี่ยนทับถมเหลือให้เห็นเพียงบางส่วน ส่วนวัดภายในเมืองบางแห่งได้ถูกปรับเปลี่ยนเป็นพื้นที่อยู่อาศัย พื้นที่เอกชนและพื้นที่ราชการ นอกจากวัดร้างต่างๆแล้ว ภายในเมืองพระเวียงยังเป็นสถานที่ตั้งของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาตินครศรีธรรมราช โดยเป็นสถานที่รวบรวมเก็บโบราณวัตถุที่พบภายในเมืองนครศรีธรรมราชรวมถึงเมืองโบราณพระเวียง พิพิธภัณฑสถานแห่งชาตินครศรีธรรมราช ตั้งอยู่ที่ถนนราชดำเนิน ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช ผู้สนใจสามารถเข้าชมได้ในเวลา 9.00 – 12.00 น. และ 13.00 – 16.00 น. วันพุธ – อาทิตย์ ค่าเข้าชมสำหรับคนไทย 30 บาท คนต่างชาติ 150 บาท
กรมศิลปากร, กรมธนารักษ์, เทศบาลนครนครศรีธรรมราช
เมืองพระเวียง หรือเมืองกระหม่อมโคกตามคำเรียกของคนท้องถิ่น เป็นชุมชนโบราณตั้งอยู่บนสันทรายเก่านครศรีธรรมราช ผังเมืองเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีขนาดกว้าง 450 เมตร ยาว 1110 เมตร วางตัวในแนวทิศเหนือใต้ โดยมีคลองสวนหลวงและคลองคูพายขนาบทิศเหนือและใต้ ปัจจุบันเป็นที่ตั้งของวัดสวนหลวง วัดเพชรจริก บ้านศรีธรรมราชของกรมประชาสงเคราะห์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาตินครศรีธรรมราชและสำนักศิลปากรที่ 14 นครศรีธรรมราช
จากการศึกษาพบว่าเป็นชุมชนโบราณที่มีความสำคัญในช่วงพุทธศตวรรษที่ 14 -19
ผังอาณาเขตของเมืองโบราณพระเวียงในปัจจุบัน
ทิศเหนือ ติดคลองสวนหลวงซึ่งเป็นลำน้ำธรรมชาติ ปัจจุบันไม่เหลือร่องรอยใดๆ
ทิศใต้ ติดคลองคูพายเป็นคลองธรรมชาติ ปัจจุบันเหลือเพียงร่องรอยทางมุมทิศตะวันออกเฉียงใต้ และเหลือแนวคันดินทางทิศตะวันออก
ทิศตะวันออก เป็นคลองขุดพบคันดินตั้งแต่คลองคูพายถึงคลองสวนหลวง มีคันดินสูงประมาณ 1 -1.50 เมตร กว้างประมาณ 3 -5 เมตร ยาวประมาณ 200 เมตร อยู่ทั่วไปตลอดแนวและเหลือคันดินชั้นนอกบ้าง
ทิศตะวันตก มีคลองหัวหว่อง บริเวณหลังณาปนสถานวัดเพชรจริก พบคันดินกว้าง 3 เมตร สูง 1 -1.50 เมตร ยาวประมาณ 100 เมตร
สภาพของเมืองพระเวียงถูกบุกรุกทำลายเนื่องจากเป็นที่อาศัยของคนในสมัยต่อมาจนถึงปัจจุบัน ในส่วนของคูเมืองตื้นเขินเหลือเพียงร่องน้ำหรือคูระบายน้ำ
อิทธิพลเขตลุ่มแม่น้ำคลองท่าเรือ
ทางน้ำรอง คือ คลองคูพายและคลองสวนหลวงที่ไหลจากทิวเขานครศรีธรรมราช ผ่านขนาบทางทิศเหนือและทิศใต้ของเมืองพระเวียงและไหลลงสู่คลองท่าเรือ (ธราพงศ์ ศรีสุชาติ, 2542,3309)
ตั้งอยู่บนพื้นที่ตะกอนสันทรายที่เกิดจากการกระทำของน้ำทะเลและลมขึ้นเมื่อประมาณ 6,000 ปีมาแล้ว โดยเป็นหาดสันทรายเก่า (ชาคริต สิทธิฤทธิ์, 2554, ไม่ปรากฏเลขหน้า)
ชื่อผู้ศึกษา : นิคม สุทธิรักษ์
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2509
วิธีศึกษา : ศึกษาตำนาน
ผลการศึกษา :
เสนอบทความเรื่อง “เมืองพระเวียง (ทางโบราณคดี)” กล่าวถึงชื่อเมืองพระเวียงที่ปรากฏในตำนานพระธาตุเมืองนครศรีธรรมราช ว่าตั้งอยู่บริเวณที่ชาวบ้านเรียกวัดพระเวียงในปัจจุบัน โดยเป็นเมืองของพระเจ้าจันทรภานุผู้ครองอาณาจักรตามพรลิงค์ราวพุทธศตวรรษที่ 18 ดังในจารึกหลักที่ 24 (จารึกวัดเวียง สุราษฎร์ธานี) เมืองพระเวียงน่าจะสร้างขึ้นราวพุทธศตวรรษที่ 18ชื่อผู้ศึกษา : ศรีศักร วัลลิโภดม
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2510
วิธีศึกษา : สำรวจ
องค์กรร่วม / แหล่งทุน : ม.ศิลปากร
ผลการศึกษา :
ศรีศักร วัลลิโภดม นำนักศึกษาชุมนุมศึกษาวัฒนธรรมโบราณคดี คณะโบราณคดีมหาวิทยาลัยศิลปากรมาสำรวจจซากโบราณสถานในเมืองพระเวียง พบฐานสถูปจำนวน 11 แหล่ง พระพิมพ์ เศษภาชนะดินเผา ภาชนะเครื่องถ้วยสุโขทัยชื่อผู้ศึกษา : พิสิฐ เจริญวงศ์
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2515
วิธีศึกษา : ขุดค้น
องค์กรร่วม / แหล่งทุน : ม.ศิลปากร, กรมศิลปากร
ผลการศึกษา :
คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร และหน่วยศิลปากรที่ 8 นครศรีธรรมราช ทำการขุดค้นบริเวณที่ทำการหน่วยศิลปากรที่ 8 นครศรีธรรมราช (วัดสวนหลวงตะวันออกร้าง) พบภาชนะดินเผากุณฑีและคนโฑดินเผาศิลปะศรีวิชัยชื่อผู้ศึกษา : ธราพงศ์ ศรีสุชาติ
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2523
วิธีศึกษา : ศึกษาภาชนะดินเผา
ผลการศึกษา :
ตีพิมพ์บทความเรื่อง “ภาชนะดินเผาในภาคใต้” กล่าวว่า ภาชนะรูปทรงกุณฑีทีและกุณฑีที่พบจากชุมชนโบราณท่าเรือ – เมืองพระเวียงกับภาชนะดินเผาที่พบที่ชุมชนปะโอในคาบสมุทรสทิงพระ จังหวัดสงขลา และที่แหล่งโบราณคดีวัดเวียงไชยา อ.ไชยา จ.สุราษฎร์ธานีมีลักษณะ คล้ายคลึงกันชื่อผู้ศึกษา : พิริยะ ไกรฤกษ์
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2523
องค์กรร่วม / แหล่งทุน : ประวัติศาสตร์ศิลปะ
ผลการศึกษา :
พิริยะ ไกรฤกษ์ วินิจฉัยว่าหม้อปากภายมีเชิง ตกแต่งลายเส้นสลักเบาลายก้านขดเครือเถา ที่พบที่แหล่งโบราณคดีเมืองพระเวียง มีอายุราวพุทธศตวรรษที่ 14ชื่อผู้ศึกษา : ผาสุข อินทราวุธ
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2525
วิธีศึกษา : ศึกษาภาชนะดินเผา
ผลการศึกษา :
ตีพิมพ์บความเรื่อง “ความสัมพันธ์ด้านเครื่องถ้วยในภาคใต้เกี่ยวข้องกับศรีวิชัยเน้นเฉพาะเครื่องถ้วยพื้นเมือง” สันนิษฐานว่าภาชนะแบบกุณฑีในภาคใต้ รวมทั้งที่พบที่ชุมชนโบราณท่าเรือ เมืองพระเวียงน่าจะได้รับอิทธิพลหรือเลียนแบบมาจากหม้อน้ำโลหะที่ชาวอินเดียนำเข้ามาชื่อผู้ศึกษา : อนุวิทย์ เจริญศุภกุล
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2526
วิธีศึกษา : ศึกษาสถาปัตยกรรม
ผลการศึกษา :
ตีพิมพ์บทความเรื่อง สถาปัตยกรรมแบบศรีวิชัยในคาบสมุทรประเทศไทย กล่าวว่า เจดีย์ที่วัดสวนหลวงในเมืองพระเวียง เป็นเจดีย์ทรงกลม ฐานจัสตุรัส เป็นเจดีย์ฐานเตี้ย อันเป็นอิทธิพลสุดท้ายในสถาปัตยกรรมแบบศรีวิชัยราวพุทธศตวรรษที่ 19ชื่อผู้ศึกษา : สุดาพร มณีรัตน์
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2543
วิธีศึกษา : ประวัติศาสตร์
องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร
ผลการศึกษา :
สำนักโบราณคดีและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กรมศิลปากร จัดทำหนังสือ “นำชมพิพิธภัณฑสถานแห่งชาตินครศรีธรรมราช” โดยแสดงโบราณวัตถุและโบราณสถานในเมืองนครศรีธรรมราชและกล่าวถึงเมืองพระเวียงชื่อผู้ศึกษา : กรมศิลปากร
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2549
วิธีศึกษา : สำรวจ, ขุดค้น, ขุดตรวจ
องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร
ผลการศึกษา :
สำนักศิลปากรที่ 14 นครศรีธรรมราช สำรวจภายในเมืองในปี พ.ศ.2549 ทำการขุดค้นภายในเมืองพระเวียงจำนวน 3 หลุม และขุดตรวจตรงคันดินจำนวน 1 หลุม โบราณวัตถุที่พบได้แก่ เครื่องถ้วยจีนสมัยราชวงศ์ซุ่ง หยวน หมิง,เครื่องถ้วยเวียดนาม,เครื่องถ้วยสังคโลกจากแหล่งเตาสุโขทัย – ศรีสัชนาลัย, เครื่องถ้วยจากเตาบางปูน จ.สุพรรณบุรี, ปล่องบ่อน้ำ เป็นต้น กำหนดสันนิษฐานว่าเมืองโบราณพระเวียงมีความสัมพันธ์กับกลุ่มชุมชนโบราณกลุ่มคลองท่าเรือ สรุปว่าเมืองพระเวียงอาจพัฒนาจากเมืองแรกเริ่มประวัติศาสตร์และกลายเป็นเมืองท่าค้าขายกับชุมชนภายนอกและภายในประเทศในช่วงพุทธศตวรรษที่ 14 -19ชื่อผู้ศึกษา : มัณฑนา เพ็ชร์คง
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2554
วิธีศึกษา : สำรวจ
องค์กรร่วม / แหล่งทุน : ม.ศิลปากร
ผลการศึกษา :
จัดทำสารนิพนธ์ เรื่อง "การใช้พื้นที่มืองโบราณนครศรีธรรมราชโดยทำการสำรวจทั้งในตัวเมืองนครศรีธรรมราชและเมืองพระเวียง"เมืองโบราณพระเวียง เป็นชุมชนที่มีคูน้ำคันดินล้อมรอบ มีผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ขนาดกว้าง 450 เมตร ยาว 1110 เมตร โดยมีคลองคูพายและคลองสวนหลวงขนาบทางทิศเหนือและทิศใต้ ในตำนานพระบรมธาตุเมืองนครศรีธรรมราช กล่าวถึงเมืองพระเวียงราวศุกราช 1200 แต่หลักฐานทางด้านโบราณคดีที่พบภายในเมือง
สันนิษฐานว่ามีการสร้างชุมชนตั้งแต่ช่วงพุทธศตวรรษที่ 14 – 19 และมีการใช้ต่อเนื่องเรื่อยมา
ภายในตัวเมืองพระเวียง มีวัดที่สำคัญ ได้แก่ วัดสวนหลวงตะวันออก(ร้าง) ปัจจุบันเป็นที่ตั้งพิพิธภัณฑสถานแห่งชาตินครศรีธรรมราชและสำนักศิลปากรที่ 14 นครศรีธรรมราช
วัดสวนหลวงตะวันตกและวัดเสด็จ (ร้าง)ปัจจุบันตั้งอยู่บริเวณทิศใต้ของวัดส่วนหลวงตะวันออก ปัจจุบันคือที่ตั้งห้องสมุดแห่งชาตินครศรีธรรมราช นอกจากนี้มีวัดเพชรจริกตะวันออก (ร้าง) ,วัดเพชรจริกตะวันตก ,วัดบ่อโพง (ร้าง), วัดพระเวียง (ร้าง)และวัดกุฎิ (ร้าง) เป็นต้น
ตัวอย่างโบราณวัตถุที่พบในเมืองพระเวียง ได้แก่ พระพิมพ์กำหนดอายุราวพุทธศตวรรษที่ 18, เหรียญชวา,ประติมากรรมสำริดรูปผู้หญิง, ภาชนะดินเผาแบบพื้นเมืองที่มีลวดลายคล้ายศิลปะภาคกลางกำหนดอายุราวพุทธศตวรรษที่ 14 ,กุณฑีดินเผาแบบมีเชิง กำหนดอายุราวพุทธศตวรรษที่ 13-15 โบราณวัตถุที่พบจากการขุดค้นในปี พ.ศ.2550ได้แก่ เครื่องถ้วยจีนสมัยราชวงศ์ซุ่งถึงหยวน ราวพุทธศตวรรษที่ 16 -19) ตลอดจนภาชนะดินเผาแบบพื้นเมืองในปริมาณมากและค่อนข้างหนาแน่น, เครื่องถ้วยเวียดนาม,เครื่องถ้วยสังคโลกจากแหล่งเตาสุโขทัย – ศรีสัชนาลัย, เครื่องถ้วยจากเตาบางปูน จ.สุพรรณบุรี, ปล่องบ่อน้ำ
เป็นต้น
จากการศึกษาสันนนิษฐานว่าชุมชนโบราณเมืองพระเวียง มีความสัมพันธ์กับกลุ่มชุมชนโบราณกลุ่มคลองท่าเรือ เนื่องจากคลองคูพายและคลองสวนหลวงไหลลงสู่คลองท่าเรือที่อยู่ห่างทางทิศใต้ไปราว 3 กม. โดยพบว่าโบราณวัตถุที่พบมีความคล้ายคลึงกันและแหล่งโบราณคดีต่างตั้งอยู่บนสันทรายเดียวกัน
จากหลักฐานจึงทำให้สรุปว่าเมืองพระเวียงอาจพัฒนาจากเมืองแรกเริ่มประวัติศาสตร์และกลายเป็นเมืองท่าค้าขายกับชุมชนภายนอกและภายในประเทศในช่วงพุทธศตวรรษที่ 14 -19
ตำนานท้องถิ่นที่เกี่ยวข้อง
ตำนานพระบรมธาตุเมืองนครศรีธรรมราช (สันนิษฐานว่าแต่งขึ้นในช่วงสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช) กล่าวถึงเมืองพระเวียง ว่า “ เมื่อพระยาศรีธรรมโศกราชถึงแก่กรรมศักราช 1200 ปี พระญาจันทรภาณุเป็นเจ้าเมือง พระญาพงษาสุราเป็นพระญาพระญาจันทราภาณูตั้งฝ่ายทักษิณพระมหาธาตุเป็นเมืองพระเวียง.... ต่อมาพระญาก็ให้ขุดคูรอบเมืองพระเวียง....หลังจากนั้นก็เกิดการรบกับพระญาชวา จนกระทั่งเมืองเกิดไข้ห่าเป็นเมืองร้าง.... (กรมศิลปากร, 2503)
กรมศิลปากร. (2503). ตำนานพระธาตุนครศรีธรรมราช.พระนคร.
ชาคริต สิทธิฤทธิ์.(2554). การขุดค้นทางโบราณคดีเมืองพระเวียง ต.ในเมือง อ.เมือง จ.นครศรีธรรมราช.นครศรีธรรมราช : กลุ่มโบราณคดี สำนักศิลปากรที่ 14 นครศรีธรรมราช
ชาคริต สิทธิ์ฤทธิ์.(2554). “การขุดค้นทางโบราณคดีเมืองพระเวียง ต.ในเมือง อ.เมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช” ศิลปากร 54 (3) พฤษภาคม – มิถุนายน , หน้า 4 -19
ธราพงศ์ ศรีสุชาติ.(2542). “ท่าเรือ – เมืองพระเวียง : ชุมชนโบราณ” ในสารานุกรมภาคใต้ เล่มที่ 5. กรุงเทพฯ : ธนาคารทหารไทยพานิชย์, หน้า 3301 - 3311
ธราพงศ์ ศรีสุชาติ .(2523). ภาชนะดินเผาในภาคใต้.ในหนังสือ เครื่องถ้วยในประเทศไทย . กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร
ผาสุข อินทราวุธ. (2525). “ความสัมพันธ์เครื่องถ้วยในภาคใต้ที่เกี่ยวข้องกับศรีวิชัยเน้นเฉพาะเครื่องถ้วยพื้นเมือง” ใน รายงานการสัมมนาประวัติศาสตร์โบราณคดีศรีวิชัย ณ จังหวัดสุราษฎรธานี วันที่ 25-30 มิถุนายน พ.ศ. 2525. กรุงเทพฯ : กองโบราณคดี กรมศิลปากร
นิคม สุทธิรักษ์. (2509). “เรื่องเมืองพระเวียง (ทางโบราณคดี)” ศิลปากร. 10 (1) พฤษภาคม, หน้า 53 - 61
มัณฑณา เพ็ชร์คง. (2554). “การใช้พื้นที่เมืองโบราณนครศรีธรรมราช” สารนิพนธ์ของปริญญาศิลปศาสตรบัณฑิต (โบราณคดี) มหาวิทยาลัยศิลปากร
สุดาพร มณีรัตน์. (2543). นำชมพิพิธภัณฑสถานแห่งชาตินครศรีธรรมราช . กรุงเทพฯ : สำนักโบราณคดีและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กรมศิลปากร
อนุวิทย์ เจริญศุภกุล.( 2526). “สถาปัตยกรรมแบบศรีวิชัยในคาบสมุทรประเทศไทย” ศิลปากร, 27 (3) กรกฎาคม. หน้า 17 - 25