โพสต์เมื่อ 21 พ.ค. 2022
ชื่ออื่น : ถ้ำผีแมน
ที่ตั้ง : ต.นาปู่ป้อม อ.ปางมะผ้า
ตำบล : นาปู่ป้อม
อำเภอ : ปางมะผ้า
จังหวัด : แม่ฮ่องสอน
พิกัด DD : 19.595333 N, 98.104616 E
เขตลุ่มน้ำหลัก : ของ
ใช้ทางหลวงหมายเลข 1095 (สบป่อง-แม่ฮ่องสอน) เลี้ยวขวาบริเวณจุดตรวจน้ำของ เส้นทางไปบ้านนาปู่ป้อม ก่อนที่จะตัดข้ามลำน้ำของครั้งที่ 2 ให้จอดรถแล้วใช้การเดินเท้าย้อนกลับมาตามลำน้ำ จนถึงจุดที่ริมตลิ่งที่เป็นลานหินกรวดแม่น้ำ เดินเท้าขึ้นไปบนภูเขาประมาณ 2-3 กิโลเมตร ตามความลาดชันของภูเขากระทั่งพบหน้าผาขนาดใหญ่ ซึ่งจะเห็นโพรงถ้ำจำนวนค่อนข้างมากอยู่บนนั้น ด้านหน้าผาจะสังเกตเห็นเป็นโขดหินก้อนใหญ่
ถ้ำผีเป็นถ้ำที่มีปากถ้ำขนาดค่อนข้างกว้าง ทำให้มีแสงส่องถึงเกือบทั่วบริเวณ ปากถ้ำหันไปทางทิศตะวันออก เมื่อเข้าไปจากปากถ้ำจะพบโถงที่ 1 (Lower Cave) มีซอกหลืบและโพรงถ้ำย่อยอีกหลายแห่ง สภาพโดยทั่วไปจะพบก้อนหินขนาดใหญ่กระจายอยู่ แสดงถึงการถล่มของเพดานถ้ำในอดีต (เช่นเดียวกับก้อนหินที่ปากถ้ำ) พบโลงไม้ขนาดใหญ่ตั้งอยู่บนเสาและคาน มีทั้งสภาพสมบูรณ์และไม่สมบูรณ์
ถัดจากโถงแรกเข้าไปต้องปีนกองหินถล่มขึ้นไปสู่โถงที่ 2 (Upper Cave) ซึ่งยังปรากฏร่องรอยการขุดค้นของ Chester Gorman เมื่อปี พ.ศ.2509 ให้เห็นในเพิงผาเล็กๆระหว่างทาง เมื่อเข้าสู่โถงที่ 2 จะเป็นถ้ำที่มีโถงลักษณะเป็นห้องเล็กๆ มีแสงผ่านเข้ามาตามโพรงของผนังถ้ำคล้ายหน้าต่างห้อง พบโลงไม้ตั้งอยู่บนเสาและคานอยู่ภายใน
ถ้ำผีเป็นถ้ำที่อยู่สูงจากพื้นดินบริเวณที่ราบลุ่มน้ำของประมาณ 400 เมตร หรืออยู่สูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง ประมาณ 800 เมตร ตำแหน่งของถ้ำเป็นจุดสูงสุดของยอดเขา แต่ก็ยังมียอดเขาลูกอื่นในเทือกเขาเดียวกันที่มีความสูงมากกว่า ความสูงของถ้ำอยู่ระดับที่สามารถมองเห็นภูเขาลูกที่อยู่ห่างออกไปหลายกิโลเมตรได้ชัดเจน โดยไม่มีเขาลูกใดมาบดบังความเด่นของที่ตั้งถ้ำผีแมนแห่งนี้อยู่ที่หน้าผาตระหง่าน ซึ่งปีนยากและอันตราย ทางขึ้นง่ายที่สุดคืออ้อมขึ้นจากด้านข้างของผาหิน ซึ่งพื้นดินมีความชันสูง ดินร่วนและลื่น พืชพันธุ์เป็นป่าเบญจพรรณ ซึ่งยังพบไม้สักอยู่มากบริเวณใกล้ถ้ำ ส่วนพื้นที่ลาดเชิงเขาจะพบสภาพป่าที่หลากหลาย ส่วนใหญ่เป็นแบบชื้นสูง มีไผ่ขึ้นปะปน ความอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติยังคงมีอยู่มาก ซึ่งลานหินเล็กๆหน้าทางเข้าโถงที่ 2 ยังพบมูลเลียงผาทั้งเก่าและใหม่ค่อนข้างมาก
ลำน้ำของ
บริเวณถ้ำผีแมน ประกอบด้วยหินปูน 3 ชนิด คือ
1.หินปูนกามากะลา (Kamakala Limestone) ชุดโคราช (Korat Series)
2.หินปูนชุดราชบุรี (Ratburi Series) เกิดขึ้นในยุคคาร์บอนิเฟอรัสและยุคเพอร์เมียน
3.หินปูนทุ่งสง (Thung Song Limestone) เกิดในยุคออร์โดวิเชียน
หินปูนแหล่านี้จะถูกปรับระดับเนื่องจากการไหลซึมของน้ำฝนผ่านหินปูน ทำให้เกิดเป็นถ้ำและเพิงผาเป็นจำนวนมาก และเกิดภูเขาที่มียอดแหลมและหน้าผาสูงชัน ส่วนบริเวณตอนล่างของถ้ำผีแมนประกอบด้วย กลุ่มหินทรายชุดกาญจนบุรี (Kanchanaburi Sandstone Series) ซึ่งเกิดขึ้นในยุคคาร์บอนิเฟอรัส ดีโวเนียน และซิลลูเวียน (Carboniferous, Devonian, and Silvanian)
ถ้ำผีเป็นถ้ำประเภท Non-active ที่เกิดบนเทือกเขาหินปูน ซึ่งเกิดจากการถูกชะล้างโดยการกระทำของน้ำจนเกิดกลายเป็นถ้ำที่มีขนาดใหญ่ขึ้นจนกระทั่งเพดานถ้ำ ไม่สามารถรับน้ำหนักได้จึงถล่มลงมากลายเป็นโพรงถ้ำบนหน้าผา ซึ่งยังปรากฏเป็นก้อนหินขนาดใหญ่บังหน้าถ้ำ การเข้าไปในถ้ำจำเป็นต้องมุดหรือปีนเข้าไปภายในถ้ำ
ดินบริเวณถ้ำผีแมนเกิดจากการสลายตัวผุพังของหินปูนตามโพรงหินต่างๆ และมีน้ำเป็นตัวพัดพามาทับถมบริเวณหุบเขาหรือตามที่ราบลุ่มต่างๆ แบ่งเป็น 4 ประเภท คือ
1.ดินหยาบที่เกิดจากหินทรายควอทไซท์ (Quartzite Sandstone)
2.ดินร่วนเหนียวปนทราย (Sandy Clay Loam) บริเวณนี้มักเป็นป่าสูง และมีหินไนส์ (Gneiss)
3.กลุ่มหินปูนโผล่และหน้าผา (Crag)
4.ดินชนิดที่ไม่อาจแบ่งประเภทได้ (Unidentified soil)
หุบเขาด้านล่างของถ้ำผีแมนบริเวณริมห้วยของ มี Terrace แคบๆ (50-60 เมตร) ซึ่งเกิดจากการทับถมของดินในปัจจุบัน
ลักษณะของป่าไม้โดยรอบถ้ำผีแมน เป็นป่าผลัดใบ มีทั้งป่าเต็งรัง ป่าเบญจพรรณ และป่าหญ้า
ชื่อผู้ศึกษา : Chester Gorman
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2508
วิธีศึกษา : สำรวจ
ผลการศึกษา :
ตุลาคม พ.ศ.2508 Chester Gorman ชาวอเมริกัน สำรวจภูเขาในเขตจังหวัดแม่ฮ่องสอน รวมถึงถ้ำผี เพื่อทำความเข้าใจเกี่ยวกับวัฒนธรรมโหบิเนียนชื่อผู้ศึกษา : Chester Gorman
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2509
วิธีศึกษา : ขุดค้น
ผลการศึกษา :
Chester Gorman ขุดค้นแหล่งโบราณคดีถ้ำผี พบชั้นดินที่มีหลักฐานทางโบราณคดีหฟนาประมาณ 75 เซนติเมตร แบ่งออกได้เป็น 4 สมัย อายุระหว่าง 13,000-7,500 ปีมาแล้ว ลักษณะการอยู่อาศัยคงเป็นการเข้ามาพักพิงเป็นช่วงเวลาสั้นๆ Gorman เห็นว่าสมัยนแรกของการเข้ามาใช้พื้นที่อยู่ในสมัยโหบิเนียน ส่วนชั้นดินบนหรือชั้นวัฒนธรรมสุดท้ายมีโบราณวัตถุที่แปลกออกไปจากสมัยก่อนหน้า โดยพบเศษภาชนะดินเผา เครื่องมือหินขัด 1 ชิ้น ชิ้นส่วนเครื่องมือหินขัด 2 ชิ้น มีดหินชนวน 2 ชิ้น รวมทั้งเมล็ดพืชต่างๆ หลักฐานเหล่านี้พบร่วมกับกองไฟ ซึ่งอาจแสดงนัยถึงการทำเกษตรกรรม แต่ก็ยังคงพบร่วมกับเครื่องมือหินกะเทาะแบบโหบิเนียน Gorman กำหนดอายุหลักฐานในชั้นนี้ 7,500 ปีมาแล้ว นับว่าเป็นหลักฐานเกี่ยวกับเกษตรกรรมที่เก่าที่สุดของไทยชื่อผู้ศึกษา : เขมชาติ เทพไชย
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2519
วิธีศึกษา : ศึกษาซากพืช
องค์กรร่วม / แหล่งทุน : ม.ศิลปากร
ผลการศึกษา :
เขมชาติ เทพไชย เสนอสารนิพนธ์ในหัวข้อ “พืชสมัยก่อนประวัติศาสตร์ในบริเวณถ้ำผีแมนและโนนนกทา” เพื่อปริญญาศิลปศาสตรบัณฑิต (โบราณคดี) ม.ศิลปากร และได้สรุปว่าร่องรอยพืชที่พบที่ถ้ำผี อาจไม่ใช่พืชที่มนุษย์เพาะปลูก เนื่องจากหลักฐานที่พบต่างๆ เช่น สภาพแวดล้อม ปริมาณของร่องรอยพืชที่พบ โครงสร้างและขนาดของเมล็ดพืช รวมถึงเครื่องมือเครื่องใช้ในการเพาะปลูก ไม่เพียงพอที่จะสนับสนุนข้อสันนิษฐานนี้ น่าจะเป็นเพียงพืชป่าที่มนุษย์เก็บมากินเป็นอาหารแล้วทิ้งชิ้นส่วนต่างๆไว้ชื่อผู้ศึกษา : ทิพรัตน์ สุขาถวาย
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2522
วิธีศึกษา : ศึกษาสภาพแวดล้อม
องค์กรร่วม / แหล่งทุน : ม.ศิลปากร
ผลการศึกษา :
ทิพรัตน์ สุขาถวาย เสนอสารนิพนธ์เพื่อปริญญาศิลปศาสตรบัณฑิต (โบราณคดี) ม.ศิลปากร ในหัวข้อ“การศึกษาสภาพทางนิเวศวิทยาในอดีตของถ้ำผีแมน อำเภอเมือง จังหวัดแม่ฮ่องสอน” โดยศึกษาจากสภาพแวดล้อมปัจจุบัน ร่องรอยของพืชและสัตว์ ดินและการทับถมของชั้นดินชื่อผู้ศึกษา : สิทธิพงษ์ ดิลกวณิช, รัศมี ชูทรงเดช
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2541
วิธีศึกษา : สำรวจ
องค์กรร่วม / แหล่งทุน : สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย
ผลการศึกษา :
“โครงการสำรวจและจัดทำระบบฐานข้อมูลถ้ำ จังหวัดแม่ฮ่องสอน” สำรวจแหล่งโบราณคดีประเภทถ้ำในจังหวัดแม่ฮ่องสอน รวมทั้งสำรวจที่ถ้ำผีด้วยชื่อผู้ศึกษา : เชิดศักดิ์ ตรีรยาภิวัฒน์
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2541
วิธีศึกษา : ศึกษาสภาพแวดล้อม, ศึกษาการตั้งถิ่นฐาน/การใช้พื้นที่
องค์กรร่วม / แหล่งทุน : ม.ศิลปากร
ผลการศึกษา :
เชิดศักดิ์ ตรีรยาภิวัฒน์ เสนอสารนิพนธ์ศิลปศาสตรบัณฑิต (โบราณคดี) ม.ศิลปากร หัวข้อ “การศึกษาตำแหน่งและที่ตั้งแหล่งโบราณคดีประเภท “ถ้ำผีแมน” สมัยก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลาย ในบริเวณลุ่มน้ำของ-ลาง อำเภอปางมะผ้า จังหวัดแม่ฮ่องสอน” ซึ่งศึกษาสภาพแวดล้อมและการเลือกตำแหน่งที่ตั้งของ “ถ้ำผีแมน” หรือถ้ำที่พบโลงไม้ ในลุ่มน้ำของ-ลาง รวมถึงถ้ำผี (spirit cave) โดยอาศัยการเลือกตัวแปรที่ตั้งมาเปรียบเทียบลักษณะหรือตัวแปรที่เหมือนกัน เพื่อใช้สรุปแนวคิดเกี่ยวกับการเลือกที่ตั้งของ “ถ้ำผีแมน” อีกทั้งยังนำเอาหลักฐานเกี่ยวกับรูปแบบหัวโลงไม้มาร่วมศึกษาเปรียบเทียบเพื่อหาความสัมพันธ์ของที่ตั้งแหล่งโบราณคดีเหล่านั้นด้วย ผลการศึกษาโดยสังเขปพบว่า “ถ้ำผีแมน” มักเป็นถ้ำที่อยู่ฃึกเข้าไปในหน้าผาหรือบนเทือกเขาหินปูน ในตำแหน่งที่สูงเกือบถึงยอดเขา และจากการเปรียบเทียบหัวโลงไม้พบว่า “ถ้ำผีแมน” ในลุ่มน้ำของ-ลาง เกิดจากการทำพิธีกรรมเกี่ยวกับความตายเป็นคนในวัฒนธรรมเดียวกันการขุดค้นของ Chester f. Gorman (1970) แห่งมหาวิทยาลัยฮาวาย ร่วมกับคณะสำรวจจากกรมศิลปากร ซึ่งได้ขุดค้นที่ถ้ำผีแมน จังหวัดแม่ฮ่องสอน ผลการขุดค้น Gorman ได้แบ่งวัฒนธรรมออกเป็น 2 ระยะ
ระยะที่ 1 หลักฐานทางโบราณคดีที่พบในระยะนี้ ได้แก่ เครื่องมือหิน ซากพืช และซากสัตว์
เครื่องมือหิน มีลักษณะเป็นเครื่องมือแบบโหบิเนียน (Hoabinhian) ทำจากหินควอทไซท์เนื้อหยาบ (Coarse-grained Quartzite) ประเภทของเครื่องมือที่พบคือ เครื่องมือแกนหิน เครื่องมือสะเก็ดหิน และเครื่องมือหินบด (Grinding Stone Implements)
- เครื่องมือแกนหิน มำจากหินกรวดแม่น้ำ (Pebble) มีลักษณะคล้ายกับ Sumatralith บางชิ้นมีร่องรอยการใช้งาน
- เครื่องมือสะเก็ดหิน ส่วนใหญ่ทำจากหินควอทไซท์ และบะซอลท์ มักมีการตกแต่งขอบใหม่ เพื่อประโยชน์ในการใช้งานได้ดียิ่งขึ้น นอกจากนี้ยังพบเครื่องมือใบมีด (Blade tool) ลักษณะเป็นรูปโค้งครึ่งวงกลม ทำด้วย Cakite และปรากฏร่องรอยการใช้งาน
- หินบด มีขนาดเล็ก ทำจากหินกรวดแม่น้ำ ส่วนผิวของหินบดมีดินเทศติดอยู่ นอกจากนี้บริเวณที่พบหินบดก็พบดินเทศอยู่ด้วย
ซากสัตว์ กระดูกสัตว์ที่พบ ได้แก่ วัว เต่า กวาง เก้ง ค้างคาว สัตว์เลื้อยคลาน งู หนู นก ลิง กระรอก หอย และปลาน้ำจืด
ซากพืช ร่องรอยพืชที่พบมีทั้งที่เป็นเมล็ด ส่วนขั้ว เปลือก และถูกเผาจนเป็นถ่าน ชนิดของพืชที่พบมีทั้งพืชล้มลุกและพืชยืนต้น พืชล้มลุก ได้แก่ น้ำเต้า แตงกวา ดีปลี พริกไทย ถั่วลันเตา ถั่วแขกหรือถั่วปากอ้าหรือถั่วเหลือง กระจับเสือหรือมะเว่ง ส่วนพืชยืนต้น ได้แก่ หมาก พลู สมอไทย สมอภิเภก ท้อ กาน้ำหรือมะเกิ้มหรือมะกอกเลื่อม มะซาง และมะเยา
ระยะที่ 2 หลักฐานที่พบในช่วงเวลานี้ ได้แก่
เครื่องมือหิน เครื่องมือสะเก็ดหิน ขวานหินขัด และมีดหินขัด จากการกำหนดอายุโดยการหาค่าคาร์บอน-14 ได้ค่าอายุ 8,806±200 ปีมาแล้ว
เครื่องปั้นดินเผา
- เครื่องปั้นดินเผาลายเชือกทาบ มีสีเทาแก่ถึงดำเข้ม ผิวด้านในภาชนะดินเผาขัดมันจนเป็นเงา ผิวด้านนอกเป็นกายเชือกทาบ เชือกที่ใช้ทาบส่วนใหญ่เป็นเชือกที่ถักเป็นเกลียว มี 2 ขนาด คือ เกลียวเชือกแน่น ซึ่งมีองศาของเกลียวเชือกประมาณ 10 องศา และเกลียวเชือกหลวมๆ ประมาณ 15-20 องศา ความกว้างของเกลียวเชือกวัดได้ประมาณ 1-2 มิลลิเมตร (วัดจากเส้นผ่าศูนย์กลาง) เชือกดังกล่าวจะถูกนำไปพันรอบแกนไม้แน่นๆ แล้วนำไปกดลงบนผิวภาชนะขณะที่ยังไม่แห้ง ซึ่งจากการวิเคราะห์พบว่าเชือกที่นำมาทำลายเป็นพวกพืชเส้นใยจำพวก Roffia ซึ่งพบได้ในพื้นที่บริเวณถ้ำผี
ส่วนผิวด้านในของภาชนะดินเผา พบว่าอาจใช้หินกรวดก้อนเล็กๆ เมล็ดพืช หรือวัสดุผิวเรียบอื่นๆ ช่วยขัดผิวของภาชนะ
- เครื่องปั้นดินเผาขัดมัน มีทั้งที่ขัดผิวด้านนอกและด้านใน สีผิวภาชนะมีสีอ่อนและสีเข้ม ตั้งแต่สีน้ำตาลแกมเทาขนถึงสีน้ำตาลปนเหลือง วัสดุที่มช้ในการขัดเงาดูจากรอยขัด มีความกว้างประมาณ 1.5-2 มิลลิเมตร เป็นแนวขนานไปรอบๆผิวของภาชนะ
เครื่องปั้นดินเผาที่ถ้ำผีแมน มีอายุระหว่าง 9,000 ปี และ 7,322 ปีมาแล้ว จึงจัดว่าเป็นเครื่องปั้นดินเผาที่เก่าที่สุดในประเทศไทย ในสมัยหินกลาง ซึ่งล้มล้างทฤษฎีว่าการทำภาชนะดินเผาเริ่มทำในสมัยหินใหม่
ซากพืชและซากสัตว์ พบเช่นเดียวกับชั้นวัฒนธรรมที่ 1
จากการศึกษาโบราณวัตถุประเภทเด่น สามารถกำหนดอายุเชิงเทียบได้ว่าอยู่ในสมัยหินกลางและหินใหม่ อายุประมาณ 8,350-10,440 ปีมาแล้ว
จากการกำหนดอายุทางวิทยาศาสตร์ด้วยวิธีคาร์บอน-14 โดยตัวอย่างถ่าน ได้ค่าอายุ (ชิน อยู่ดี 2512) ดังนี้
8,550±200 ปีมาแล้ว (ตัวอย่างจากชั้นดินที่ 2)
8,750±140 ปีมาแล้ว (ตัวอย่างจากชั้นดินที่ 2)
9,180±360 ปีมาแล้ว (ตัวอย่างจากใต้พื้นชั้นดินที่ 4)
มนุษย์ในยุคก่อนประวัติศาสตร์ ใช้พื้นที่ถ้ำผีแมนเป็นที่อยู่อาศัยชั่วคราว มีการใช้เครื่องมือหินและภาชนะดินเผา เช่น เครื่องมือสะเก็ดหิน และใบมีดหิน ใช้แล่เนื้อสัตว์เพื่อนำมากินเป็นอาหาร โดยมีใช้ภาชนะดินเผาในการหุงต้ม เนื่องจากพบเมล็ดพืชที่ถูกเผาไฟและถ่าน แสดงให้เห็นถึงการใช้ไฟของมนุษย์
หลักฐานที่พบจากการสำรวจของโครงการสำรวจและจัดทำระบบฐานข้อมูลถ้ำ จังหวัดแม่ฮ่องสอน
โลงไม้ (เชิดศักดิ์ ตรีรยาภิวัฒน์ 2541) พบทั้งที่เป็นชิ้นฝาสมบูรณ์และส่วนเหลือของหัวโลง รวมทั้งสิ้น 12 ฝา หรือ 6 โลง ซึ่งพบในโถงที่ 2 จำนวน 2 โลง และโถงที่ 1 จำนวน 4 โลง ทั้งหมดล้วนทำจากไม้สัก มีขนาดความกว้างเฉลี่ยประมาณ 40-50 เซนติเมตร ความยาวเฉลี่ย 2.5-3.5 เมตร การตกแต่งหัว-ท้ายโลง สามารถจำแนกได้เป็น
- แบบแท่งสี่เหลี่ยมปลายมน ยื่นออกมาก 1 แท่ง ด้านล่างทำเป็นสันเหลี่ยมเจาะรูบริเวณใกล้ตัวโลง
- แบบแท่งไม้สี่เหลี่ยมปลายมน ยื่นออกมา 1 แท่ง ด้านบนแกะให้ได้ระนาบแล้วโค้งมนที่ปลายมีขนาดค่อนข้างสั้น
- แบบแท่งไม้ยาวรี ยื่นออกมา 1 แท่ง
- แบบแท่งไม้ยาวรี ยื่นออกมา 2 แท่ง
- แบบแท่งไม้ยาวรีคล้ายหัวจุกทรงกระบอก 1 แท่ง ด้านบนและด้านล่างตัดเรียบ
ลักษณะการวางโลง สามารถจำแนกได้เป็น
- วางบนเสา ซึ่งมีทั้งแบบเสากลมและเป็นแผ่นค่อนข้างแบน ประกอบเข้ากับบริเวณคานพบรอยถากโค้งรับกับส่วนโค้งของโลง
- วางอยู่บนคานไม้ ลักษณะกลม ซึ่งค้ำระหว่างผนังถ้ำ
- วางอยู่บนคาน ซึ่งปลายข้างหนึ่งค้ำกับผนังถ้ำ ส่วนอีกข้างหนึ่งมีเสารองรับ
เศษภาชนะดินเผา จากการสำรวจพบโบราณวัตถุประเภทนี้น้อยมาก คือเป็นเศษภาชนะดินเผาชิ้นเล็กๆ ขนาด 1x2 เซนติเมตร จำนวน 7 ชิ้น และขนาดที่ใหญ่กว่า 3 ชิ้น เป็นส่วนปาก 1 ชิ้น และส่วนลำตัว 2 ชิ้น
ภาชนะดินเผาชิ้นเล็ก 7 ชิ้นที่พบจากการสำรวจเป็นภาชนะดินเผาเนื้อดิน (Earthenware) สีภาชนะเป็นสีน้ำตาลแดง-ดำ ขึ้นรูปภาชนะด้วยมือและแป้นหมุน บางชิ้นมีการตกแต่งด้วยการรมควันขัดมัน ลายเชือกทาบ บางชิ้นเป็นส่วนไหล่ของภาชนะประเภทหม้อ ปากภาชนะทรงชามสีน้ำตาลแดง เส้นป่าศูนย์กลาง 31-32 เซนติเมตร
เครื่องมือหิน สำรวจพบบริเวณที่ Chester Gorman ได้เคยทำการขุดค้นเป็นหลักฐานที่ไม่ได้ถูกเก็บไปด้วย ลักษณะเป็นเครื่องมือสะเก็ดหิน (รัศมี ชูทรงเดช 2541)
เขมชาติ เทพไชย. “พืชสมัยก่อนประวัติศาสตร์ในบริเวณถ้ำผีแมนและโนนนกทา.” สารนิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรบัณฑิต (โบราณคดี) คณะโบราณคดี มหาวิทยาศิลปากร, 2519.
ชิน อยู่ดี. คนก่อนประวัติศาสตร์ในประเทศไทย. กรมศิลปากร, 2512.
เชิดศักดิ์ ตรีรยาภิวัฒน์. “การศึกษาตำแหน่งและที่ตั้งแหล่งโบราณคดีประเภท “ถ้ำผีแมน” สมัยก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลาย ในบริเวณลุ่มน้ำของ-ลาง อำเภอปางมะผ้า” สารนิพนธ์ศิลปศาสตรบัณฑิต (โบราณคดี) มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2541.
ทิพรัตน์ สุขาถวาย. “การศึกษาสภาพทางนิเวศวิทยาในอดีตของถ้ำผีแมน อำเภอเมือง จังหวัดแม่ฮ่องสอน” สารนิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรบัณฑิต (โบราณคดี) มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2522.
รัศมี ชูทรงเดช. “ข้อมูลการสำรวจด้านโบราณคดี.” โครงการการสำรวจและการจัดทำระบบฐานข้อมูลเกี่ยวกับถ้ำ จังหวัดแม่ฮ่องสอน. ระหว่างปี พ.ศ.2541-2543. (เอกสารอัดสำเนา)
Gorman, Chester F.. “Excavation at Spirit Cave, North Thailand : Some Interim Interpretations.” Asian Perspective, 8 (1970) : 79-107.
Higham, Charles. “Spirit Cave : The Faunal Remains.” Dunedin : Otago University, n.d.