โพสต์เมื่อ 18 มิ.ย. 2021
ที่ตั้ง : วัดพระพุทธบาทภูเก้า ม.10 บ้านดงบาก ต.นิคมพัฒนา อ.โนนสัง
ตำบล : นิคมพัฒนา
อำเภอ : โนนสัง
จังหวัด : หนองบัวลำภู
พิกัด DD : 16.908889 N, 102.483611 E
เขตลุ่มน้ำหลัก : พอง
เขตลุ่มน้ำรอง : ห้วยซำเม็ก, ห้วยบอง, ห้วยโซม
จากตัวจังหวัดหนองบัวลำภู ใช้ทางหลวงหมายเลข 2146 มุ่งหน้า ต.บ้านถิ่น อ.โนนสัง ประมาณ 27 กิโลเมตร เมื่อถึงตัว ต.บ้านถิ่น ให้เลี้ยวขวามุ่งหน้าภูเก้าและบ้านดงบาก ต.นิคมพัฒนา ไปตามถนนประมาณ 11 กิโลเมตรถึงบ้านดงบาก พบสามแยกให้เลี้ยวซ้ายไปตามถนนประมาณ 400 เมตร จะพบทางขึ้นสู่ภูเก้าและวัดพระพุทธบาทภูเก้าอยู่ทางขวามือ ไปตามระยะทางขึ้นสู่ภูเก้าอีกประมาณ 2.7 กิโลเมตร จะถึงวัดพระพุทธบาทภูเก้า แหล่งภาพเขียนสีถ้ำอาจารย์สิมตั้งอยู่ภายในวัด
ภาพเขียนสีถ้ำอาจารย์สิมตั้งอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติภูเก้า-ภูพานคำ (สำนักอุทยานแห่งชาติ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม) ซึ่งอุทยานดังกล่าวกินพื้นที่ 3 จังหวัด คือ หนองบัวลำภู อุดรธานี และขอนแก่น มีแหล่งท่องเที่ยวมากมายทั้งทางธรรมชาติและประวัติศาสตร์โบราณคดี เช่น เขื่อนอุบลรัตน์ ทิวทัศน์ริมทะเลสาบเหนือเขื่อนอุบลรัตน์และเกาะแก่งต่างๆ น้ำตกตาดฟ้า หอสวรรค์ หามต่างหรือหามตั้ง รอยเท้านายพราน รอยตีนหมา รวมทั้งความอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติป่าไม้ต่างๆ แหล่งศิลปะถ้ำเรขาคณิตหรือถ้ำมึ้ม ถ้ำจันได ถ้ำเสือตก1 ถ้ำเสือตก2 ถ้ำพลานไฮ แหล่งโบราณคดีโนนนกทาและดอนกลาง
นักท่องเที่ยวที่สนใจเข้าเยี่ยมชมถ้ำอาจารย์สิมและสถานที่ต่างๆในอุทยานแห่งชาติภูเก้า-ภูคำ สามารถติดต่อและจองบ้านพักได้ที่ อุทยานแห่งชาติภูเก้า-ภูพานคำ ตู้ ปณ.2 ปทจ.อุบลรัตน์ อ.อุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น รหัสไปรษณีย์ 40250 โทรศัพท์ 042-956-528, 081-221-0523, 02-562- 0760 อีเมล reserve@dnp.go.th, webmaster@dnp.go.th โดยชาวไทยเสียค่าธรรมเนียมเข้าอุทยานฯ 20 บาท สำหรับผู้ใหญ่ และ 10 บาท สำหรับเด็ก ในขณะที่ชาวต่างชาติเสียค่าธรรมเนียมเข้าอุทยานฯ 100 บาท สำหรับผู้ใหญ่ และ 50 บาท สำหรับเด็ก
วัดพระพุทธบาทภูเก้า, กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช
แหล่งโบราณคดีตั้งอยู่บนภูเก้า ห่างจากวัดพระพุทธบาทภูเก้าไปทางทิศใต้ประมาณ 5 กม. ห่างจากถ้ำมึ้มไปทางทิศตะวันออกประมาณ 150 เมตร (พัชรี สาริกบุตร 2543)
ลักษณะของแหล่งเป็นเพิงผาของหินทราย มีความสูงประมาณ 5 เมตร ยาว 10 เมตร (กรมศิลปากร 2532) หรือ 20 เมตร (กองโบราณคดี 2532 ; ต่อสกุล ถิรพัฒน์ และคณะ 2540 ; พเยาว์ เข็มนาค 2539 ; พัชรี สาริกบุตร 2543) หันหน้าไปทางทิศเหนือ อยู่ใต้ลานหินสูงจากพื้นล่างประมาณ 5 เมตร เพิงผานี้เว้าลึกลักษณะเป็นหลืบหินที่ถูกน้ำกัดเซาะเข้าไปเป็นทางน้ำไหลผ่าน
ภูเก้า ประกอบด้วยภูเขา 9 ลูก คือ ภูฝาง ภูขุมปูน ภูหัน ภูเมย ภูค้อหม้อ ภูชั้น ภูเพราะ ภูลวก และภูวัด ภูทั้ง 9 ลูกนี้มี ความสลับซับซ้อนมาก มีสัณฐานคล้ายกะทะหงาย โดยมีที่ราบอยู่ตอนกลาง ล้อมรอบด้วยเทือกเขาสองชั้น ชั้นนอกเป็นภูเขาสูงและมีความลาดชันมาก ไหล่เขาด้านในมีความลาดชันไม่มากนัก (ถ้ำอาจารย์สิมตั้งอยู่ในไหล่เขาด้านในของเทือกเขาชั้นนอก) พื้นที่ส่วนใหญ่มีลักษณะ สูงๆต่ำๆ บางแห่งเป็นที่ราบ พื้นที่เช่นนี้น่าจะเป็นซากภูเขาไฟโบราณที่ดับสนิทไปแล้วหลายร้อยล้านปี หรือมิฉะนั้นก็เป็นการโก่งตัวของเปลือกโลกในบริเวณนี้ขึ้นมาเป็นขอบเทือกเขา
ปัจจุบันภูเก้ารวมถึงแหล่งโบราณคดีตั้งอยู่ในเขตพื้นที่อุทยานแห่งชาติภูเก้า-ภูพานคำ ลักษณะโดยรอบทั่วไปเป็นป่าเต็งรัง มีไม้ขึ้นอยู่กระจัดกระจายอยู่ทั่วไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริเวณที่เป็นไหล่เขาและสันเขา พรรณไม้ที่สำคัญได้แก่ เต็ง รัง เหียง พลวง พะยอม กระโดน ไม้พื้นล่างประกอบด้วย ปรงป่า หญ้าเพ็ก เป้ง เถาวัลย์ และไม้หนามหลายชนิด ส่วนป่าเบญจพรรณเป็นป่าที่มีอยู่ในบริเวณที่ลุ่มริมฝั่งห้วย หุบเขา และไหล่เขาบางส่วน พรรณไม้ที่สำคัญได้แก่ แดง ประดู่ มะค่าแต้ กระบก ตะคร้อ ตีนนก ไม้พื้นล่าง เป็นไม้ไผ่ ป่าดงดิบมีอยู่เฉพาะบริเวณริมฝั่งห้วยเท่านั้น พรรณไม้ที่สำคัญได้แก่ ตะแบก ยาง ตะเคียนหิน มะค่าโมง กระบก และชิงชัน
แม่น้ำพอง, ห้วยซำเม็ก, ห้วยบอง, ห้วยโซม
แหล่งโบราณคดีตั้งอยู่บนภูเขาหินทรายซึ่งเป็นขอบเทือกเขาชั้นนอกของภูเก้า จัดอยู่ในหมวดหินพระวิหาร กลุ่มหินโคราช ในยุคครีเทเชียสถึงจูแรสซิก ส่วนเทือกเขาชั้นในและภายในภูเก้าเป็นหินทรายกลุ่มหินโคราช ยุคครีเทเชียส หมวดหินโคกกรวด ภูพาน และเสาขัว
ชื่อผู้ศึกษา : คณะโบราณคดี ม.ศิลปากร
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2512
วิธีศึกษา : สำรวจ
องค์กรร่วม / แหล่งทุน : ม.ศิลปากร
ผลการศึกษา :
คณะโบราณคดี ม.ศิลปากร สำรวจพบแหล่งภาพเขียนสีถ้ำอาจารย์สิม ภายในวัดพระพุทธบาทภูเก้า ต.นิคมพัฒนา อ.โนนสัง จ.อุดรธานี (ในขณะนั้น จ.หนองบัวลำภู ยังเป็นส่วนหนึ่งของ จ.อุดรธานี)ชื่อผู้ศึกษา : โครงการโบราณคดีภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กรมศิลปากร
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2525
วิธีศึกษา : สำรวจ, ศึกษาศิลปะถ้ำ
องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร
ผลการศึกษา :
โครงการโบราณคดีภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กรมศิลปากร เข้าสำรวจศึกษาแหล่งภาพเขียนสีถ้ำอาจารย์สิม และคัดลอกภาพชื่อผู้ศึกษา : กรมศิลปากร, กองโบราณคดี กรมศิลปากร
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2532
วิธีศึกษา : สำรวจ, ศึกษาศิลปะถ้ำ
องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร
ผลการศึกษา :
เผยแพร่ผลการสำรวจและศึกษาภาพเขียนสีที่พบในภาคตะวันออกเฉียงเหนือรวมทั้งที่ถ้ำอาจารย์สิมไว้ในหนังสือ “แหล่งโบราณคดีประเทศไทย เล่ม 3” และ “ศิลปะถ้ำในอีสาน”ชื่อผู้ศึกษา : ต่อสกุล ถิรพัฒน์, ภาวิทย์ มหัทธนาสิงห์, สมภพ พงษ์พัฒน์
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2540
วิธีศึกษา : ศึกษาศิลปะถ้ำ
องค์กรร่วม / แหล่งทุน : ม.ศิลปากร
ผลการศึกษา :
ต่อสกุล ถิรพัฒน์ ภาวิทย์ มหัทธนาสิงห์ และสมภพ พงษ์พัฒน์ จัดทำสารนิพนธ์เสนอต่อ ม.ศิลปากร เรื่อง “การศึกษาเปรียบเทียบภาพเขียนสีรูปคนสมัยก่อนประวัติศาสตร์ในแหล่ง ศิลปะถ้ำภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้” โดย ได้อธิบายภาพเขียนสีที่พบที่ถ้ำอาจารย์สิม โดยเฉพาะภาพคน และสันนิษฐานว่าอาจเป็นภาพเล่าเรื่องราวการทำประมงของคนสมัยนั้นชื่อผู้ศึกษา : พัชรี สาริกบุตร
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2543
วิธีศึกษา : ศึกษาศิลปะถ้ำ
องค์กรร่วม / แหล่งทุน : ม.ศิลปากร
ผลการศึกษา :
ผศ.พัชรี สาริกบุตร คณะโบราณคดี ม.ศิลปากร รวบรวม ศึกษา และวิเคราะห์ตีความภาพเขียนสีและภาพสลักยุคก่อนประวัติศาสตร์ที่พบในประเทศไทย รวมทั้งภาพเขียนสีถ้ำอาจารย์สิมแหล่งโบราณคดีตั้งอยู่บริเวณไหล่เขาด้านในของเทือกเขาชั้นนอกของภูเก้า ห่างจากวัดพระพุทธบาทภูเก้าไปทางทิศใต้ประมาณ 5 กม. ห่างจากถ้ำมึ้มไปทางทิศตะวันออกประมาณ 150 เมตร (พัชรี สาริกบุตร 2543)
ลักษณะของแหล่งโบราณคดีเป็นเพิงผาของหินทราย มีความสูงประมาณ 5 เมตร ยาว 10 เมตร (กรมศิลปากร 2532) หรือ 20 เมตร (กองโบราณคดี 2532 ; ต่อสกุล ถิรพัฒน์ และคณะ 2540 ; พเยาว์ เข็มนาค 2539 ; พัชรี สาริกบุตร 2543) หันหน้าไปทางทิศเหนือ พบหลักฐานทางโบราณคดีที่สำคัญคือ ภาพเขียนสียุคก่อนประวัติศาสตร์
ภาพเขียนปรากฎอยู่ 2 กลุ่มตามตำแหน่งที่พบ แต่ทั้ง 2 กลุ่มเป็นภาพยาวต่อเนื่องกัน คือบริเวณบนเพดานใต้หลืบ และบนผนังเพิงหินด้านทิศเหนือยาวตลอดผนังประมาณ 4 เมตร สูงจากพื้นประมาณ 2 เมตร ภาพทุกภาพล้วนเขียนด้วยสีแดง
ภาพกลุ่มที่ 1 เป็นภาพที่พบมาแต่เดิม บนผนังเพิงผาหันหน้าไปทางทิศเหนือ เขียนอยู่บนเนื้อที่ขนาด 2x4 เมตร เป็นเพิงหินเตี้ยๆติดกับพื้น สูงจากพื้นประมาณ 2 เมตร สามารถยืนเขียนได้ ภาพกลุ่มนี้เขียนอยู่ในกรอบสี่เหลี่ยมผืนผ้า ภาพด้านซ้าย (ด้านทิศตะวันออก) เป็นภาพคน เขียนป็นลายเส้นโครงนอก ยืนกางแขนขา มีรูปคล้ายอวัยวะเพศชายอยู่ตรงกลาง ส่วนศีรษะเขียนเป็นวงกลม มีเส้นหยักยาวออกจากลำตัวไปทางด้านขวาหรือด้านทิศตะวันตกของเพิงผา
ต่ำจากภาพคนภาพไปประมาณ 15 เซนติเมตร มีรูปกากบาทโดยใช้เส้นขนานตัดกัน ลายเส้นแบบก้างปลา ลายเส้นตรง จากนั้นก็เป็นภาพปลาโดยเขียนเป็นรูปโครงนอกด้วยเส้นเล็กๆ ภายในลำตัวมีเส้นเป็นแถวๆ คล้ายเกล็ดปลา? มีครีบบน 1 ครีบ ไม่มีครีบล่าง หางปลาเป็นแฉก มีลายเส้นพันกันที่หางนี้ด้วย ส่วนบริเวณกลางลำตัวมีเส้นคล้ายห่วงคล้องอยู่ ภาพปลาตัวนี้มีความยาว 1 เมตร ลำตัวกว้าง 30 เซนติเมตร ใต้ภาพปลาตัวนี้มีลายเส้นเรียงแถวกัน 5 เส้น กับลายคดไปมา ต่อจากภาพปลาตัวที่ 2 มีภาพคนเขียนแบบโครงร่างภายนอก ภาพลบเลือนไปมาก เหลือแขนเพียงข้างข้างเดียว จากหัวเข่าถึงปลายเท้าขาดหายไป มีรูปคล้ายอวัยวะเพศชายตรงหว่างขา (พเยาว์ เข็มนาค 2539 : 126)
ภาพกลุ่มที่ 2 ที่ใต้เพิงผามีลักษณะเป็นหลืบหินที่ถูกน้ำกัดเซาะเข้าไปเป็นทางน้ำไหลผ่าน ภายในหลืบหินพบภาพปลาคล้ายปลาประเภทสวาย-เทโพ เขียนเป็นเส้นโครงนอก ส่วนในลำตัวมีเส้นเป็นแถบ อาจเป็นลักษณะโครงสร้างภายในของปลา ลักษณะของปลาตัวนี้ยาว 65 เซนติเมตร ลำตัวกว้าง 13 เซนติเมตร มีครีบบน 1 ครีบ ครีบล่าง 2 ครีบ หางเป็นแฉก 1 แฉก ส่วนหัวไม่ชัดเจน ข้างตัวปลามีภาพลายเส้นรูปกากบาท เขียนโดยใช้เส้นคู่ขนาน ลายรูปตัววาย (Y) และแบบที่หารูปร่างแน่นอนไม่ได้ (พเยาว์ เข็มนาค 2539 : 126)
อาจสรุปลักษณะของภาพตามลวดลายที่เขียนได้เป็น 3 กลุ่ม (พเยาว์ เข็มนาค 2539 ; พัชรี สาริกบุตร 2543) คือ
1. ภาพคน จำนวน 2 คน ทั้งคู่อาจเป็นเพศชายเพราะวาดแสดงรูปคล้ายอวัยวะเพศชาย เป็นภาพคนแบบกิ่งไม้เหมือนจริง เขียนด้วยเส้นโครงร่างภายนอก ยืนอยู่หัวและท้ายขนาบปลาทั้ง 2 ตัว เป็นภาพที่แสดงการประมงน้ำจืดที่เกิดข้นในแถบนี้ หากพิจารณาถึงสภาพแวดล้อมใกล้เคียงกับภูเก้า จะเห็นว่ามีแม่น้ำพองเป็นลำน้ำสายหลัก แต่ก่อนอาจมีปลาชุกชุม ภาพเขียนและภาพสลักบนเทือกเขาภูเก้าจึงแสดงภาพปลาเป็นส่วนใหญ่ ความอุดมสมบูรณ์ของแม่น้ำพองสายนี้ทำให้เกิดชุมชน “โนนนกทา” อ.ภูวียง จ.ขอนแก่น และที่เชิงภูเก้าคือ “ดอนกลาง” บ้านกุดกวางสร้อย
2. ภาพปลา 3 ตัว ชนิดเดียวกันทั้งหมด คือ พวกสวาย-เทโพ (วงศ์ปลาสวาย หรือวงศ์ Pangasiidae) ความยาวเฉลี่ยประมาณ 1 เมตร ลำตัวกว้าง 30 เซนติเมตร ซึ่งนับว่ามีขนาดใหญ่ ศิลปินที่เขียนภาพรวมถึงผู้คนพื้นที่นี้ในอดีตคงคุ้นเคยกับปลาลักษณะดังกล่าวเป็นอย่างดี
3. ภาพลายเส้น มีทั้งลายหยักฟันปลา รูปตัววาย (Y) กากบาท เส้นคู่ขนาน เส้นตรง เส้นคด และลายเส้นรูปร่างไม่แน่นอน
พัชรี สาริกบุตร (2543) วิเคราะห์ภาพที่ถ้ำอาจารย์สิม พบว่าลักษณะของเส้นมีความประณีต น่าจะใช้พู่กันเขียน มีการเลือกผนังหินที่เหมาะสม แสดงถึงความตั้งใจในการเขียนภาพ การกระจายตัวของภาพแต่ละภาพเป็นภาพโดดๆ และมีจุดเด่นในตัว ภาพเหล่านี้มีความสัมพันธ์กันในระหว่างภาพและกลุ่มภาพในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง อาจต้องการอธิบายเกี่ยวกับสัตว์ที่เป็นอาหาร หรืออาจเกี่ยวเนื่องในพิธีกรรมความเชื่ออย่างใดอย่างหนึ่ง
พเยาว์ เข็มนาค (2539) กล่าวว่าเมื่อพิจารณาภาพที่พบแล้วจะเห็นความเกี่ยวพันระหว่างคนกับปลา คงไม่พ้นเรื่องอาหาร การเขียนภาพนั้นเกิดจากความต้องการภายในศิลปินเองและสิ่งเร้าภายนอก ซึ่งอาจเป็นทั้งประเพณีและพิธีกรรม ในที่นี้น่าจะเป็นพิธีกรรมเกี่ยวกับการจับปลา โดยเฉพาะสอดคล้องกับการเขียนรูปอวัยวะเพศชายไว้ ซึ่งหมายถึงความเจริญงอกงาม
ต่อสกุล ถิรพัฒน์ และคณะ (2540) สันนิษฐานว่าภาพคนสองคนยืนขนาบปลาขนาดใหญ่ที่ปรากฏ อาจหมายถึงการทำประมง
ในขณะที่คณะสำรวจของกรมศิลปากร (2532) สันนิษฐานว่าภาพเขียนสีเหล่านี้ถูกเขียนขึ้นเพื่อตอบสนองความเชื่อทางสังคม ศิลปินผู้วาดภาพสันนิษฐานว่าอยู่ในกลุ่มชนที่ดำรงชีวิตแบบสังคมดั้งเดิม ผูกพันกับธรรมชาติ การเขียนภาพเป็นส่วนหนึ่งของพิธีกรรม ทำขึ้นเพื่อสร้างความมั่นคงเกี่ยวกับสภาพความเป็นอยู่ของสังคม ภาพเขียนที่พบคล้ายกับภาพเขียนของแหล่งอื่นที่อยู่ไกลออกไป อาจเนื่องมาจากอพยพจากชุมชนหนึ่งไปอีกชุมชนหนึ่ง เป็นกลุ่มชนที่มีระดับพัฒนาการทางสังคมบนพื้นฐานเดียวกัน หรือเป็นกลุ่มชนที่มีการติดต่อกัน กลุ่มชนเหล่านี้ใช้ประโยชน์จากเพิงหินเป็นที่พักพิงชั่วคราวเพื่อทำกิจกรรมบางอย่าง บริเวณนี้น่าจะเป็นที่อยู่อาศัยของกลุ่มชนคือแถบที่ราบชายเขา และมีการเคลื่อนย้ายถิ่นฐานไปเรื่อยๆ ทำให้ไม่พบเครื่องมือที่ใช้เขียนภาพในบริเวณแหล่งภาพเขียนสี
ทั้งนี้ บริเวณภูเก้า พบแหล่งโบราณคดียุคก่อนประวัติศาสตร์หลายแห่ง ทั้งแหล่งศิลปะถ้ำบนภูเก้าและดอนกลาง ที่อยู่บนที่ราบเชิงเขาภูเก้าด้านทิศตะวันออก
กรมศิลปากร. แหล่งโบราณคดีประเทศไทย เล่ม 3. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2532.
กองโบราณคดี กรมศิลปากร. ศิลปะถ้ำในอีสาน. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2532.
ต่อสกุล ถิรพัฒน์, ภาวิทย์ มหัทธนาสิงห์ และสมภพ พงษ์พัฒน์. “การศึกษาเปรียบเทียบภาพเขียนสีรูปคนสมัยก่อนประวัติศาสตร์ในแหล่ง ศิลปะถ้ำภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้” สารนิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรบัณฑิต (โบราณคดี) มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2540.
พเยาว์ เข็มนาค. ศิลปะถ้ำสมัยก่อนประวัติศาสตร์ในประเทศไทย. กรุงเทพฯ : กองโบราณคดี กรมศิลปากร, 2539.
พัชรี สาริกบุตร. “ถ้ำอาจารย์สิม.” ภาพเขียนสีและภาพสลัก : ศิลปะสมัยก่อนประวัติศาสตร์ในประเทศไทย. (ออนไลน์), 2543. เข้าถึงเมื่อ 13 กุมภาพันธ์ 2557. แหล่งที่มา http://www.era.su.ac.th/RockPainting/northeast/index.html