โพสต์เมื่อ 10 มิ.ย. 2021
ที่ตั้ง : สถาบันราชประชาสมาสัย ต.บางหญ้าแพรก อ.พระประแดง
ตำบล : บางหญ้าแพรก
อำเภอ : พระประแดง
จังหวัด : สมุทรปราการ
พิกัด DD : 13.651742 N, 100.537565 E
เขตลุ่มน้ำหลัก : เจ้าพระยา
จากอำเภอพระประแดงข้ามไปฝั่งตรงข้าม จากท่านา (ถนนปู่เจ้าสมิงพราย) มีทางแยกขวาเข้าตามถนนเทศบาลสำโรงใต้ 23 ป้อมปู่เจ้าสมิงพรายอยู่ในสถาบันราชประชาสมาลัย กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ทางด้านหลังอาคารฟื้นฟู 5 ชั้น
สำนักงานเทศบาลเมืองปู่เจ้าสมิงพราย และสถาบันราชประชาสมาสัย เห็นถึงความสำคัญของป้อมปู่เจ้าสมิงพราย จึงร่วมกันดำเนินโครงการบูรณปฏิสังขรณ์ตัวป้อมและอาคารไม้โบราณที่อยู่ในพื้นที่ป้อมรวมทั้งปรับสภาพภูมิทัศน์ เพื่อส่งเสริมให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้ให้กับเยาวชนในพื้นที่
กรมศิลปากร, สถาบันราชประชาสมาสัย กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข
ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 96 ตอนที่ 97 วันที่ 16 มิถุนายน 2522
ตั้งอยู่บริเวณที่ราบริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งตะวันออก บริเวณตอนปลายสุดของแม่น้ำเจ้าพระยาเหนืออ่าวไทย หรือที่เรียกว่า ปากน้ำ เนื่องจากติดชายทะเลทางตอนใต้จึงได้รับอิทธิพลของน้ำทะเลท่วมถึง
ตัวป้อมปัจจุบันอยู่ภายในสถาบันราชประชาสมาสัย กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ตั้งอยู่ด้านหลังอาคารฟื้นฟู 5 ชั้น มีสภาพทรุดโทรมเนื่องจากพื้นที่ติดกับชุมชนแออัด ปัจจุบันกำลังมีการฟื้นฟูปรับปรุงซ่อมแซมอาคารไม้ป้อมปู่เจ้าสมิงพราย โดยเทศบาลเมืองปู่เจ้าสมิงพราย
แม่น้ำเจ้าพระยา
ป้อมปู่เจ้าสมิงพรายตั้งอยู่บนที่ราบลุ่มแม่น้ำภาคกลางตอนล่าง หรือบริเวณดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำ เป็นพื้นที่ที่เกิดจากการทับถมของตะกอนจนโผล่เหนือระดับน้ำทะเล ซึ่งยังมีการทับถมอยู่ตลอดเวลา โดยบริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยานี้เป็นบริเวณที่ท้องน้ำตื้นเขิน น้ำไหลช้าจึงเกิดการตกตะกอนได้มาก ซึ่งทำให้เกิดสันดอนขึ้นและน้ำจะเปลี่ยนทางเดินเสมอ จัดได้ว่าการกระทำของน้ำไหลเป็นกระบวนการทางธรณีสัณฐานวิทยาของพื้นที่บริเวณนี้ที่ทำให้เกิดการกัดกร่อน การนำพา และการทับถม ลักษณะเนื้อดินประกอบด้วยเนื้อดินเป็นดินเหนียวปนทรายเล็กน้อย เก็บกักน้ำอย่างดีเมื่อน้ำแช่ขัง (สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ กระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม, 2538, 45-46)
ชื่อผู้ศึกษา : กรมศิลปากร
ปีที่ศึกษา : 2522
วิธีศึกษา : สำรวจ
องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร
ผลการศึกษา :
ทำผังและรังวัดพื้นที่เพื่อประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานสำคัญของชาติชื่อผู้ศึกษา : สำนักงานโบราณคดีและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่ 1 ราชบุรี
ปีที่ศึกษา : 2539-2541
วิธีศึกษา : สำรวจ
องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร
ผลการศึกษา :
สำนักงานโบราณคดีและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่ 1 ราชบุรี สำรวจแหล่งโบราณคดีและโบราณสถานในพื้นที่รับผิดชอบ (จังหวัดราชบุรี เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ สมุทรสงคราม สมุทรสาคร และสมุทรปราการ) ตามโครงการการจัดทำฐานข้อมูลทางโบราณคดีชื่อผู้ศึกษา : สำนักงานเทศบาลเมืองปู่เจ้าสมิงพราย
ปีที่ศึกษา : 2555
วิธีศึกษา : บูรณปฏิสังขรณ์
องค์กรร่วม / แหล่งทุน : สำนักงานเทศบาลเมืองปู่เจ้าสมิงพราย
ผลการศึกษา :
สำนักงานเทศบาลเมืองปู่เจ้าสมิงพรายจัดทำโครงการ “ฟื้นฟูปรับปรุงซ่อมแซมอาคารไม้ป้อมปู่เจ้าสมิงพราย” ดำเนินการโดย หจก.ช.ประชุมพันธุ์การช่าง (สิ้นสุดโครงการในเดือนมีนาคม 2556)ป้อมปู่เจ้าสมิงพราย สร้างในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย อยู่ชิดริมแม่น้ำฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา สร้างพร้อมป้อมปิศาจสิง ป้อมราหูจร และป้อมฝั่งตะวันตกอีก 5 ป้อม ลักษณะเป็นป้อมสองชั้น ก่ออิฐถือปูน หลังคาป้อมเป็นเครื่องไม้มุงกระเบื้อง ตัวป้อมเป็นรูปหกเหลี่ยมด้านไม่เท่า มีแนวกำแพงปีกกาต่อออกไปล้อมพื้นที่บริเวณป้อมเป็นรูปสี่เหลี่ยม มีป้อมรักษาการที่มุมกำแพง พบร่องรอยอยู่สามป้อม ส่วนแนวกำแพงปีกกาเหลือหลักฐานชัดเจนที่สุดคือทางด้านทิศเหนือ ตัวเชิงเทินก่อเว้นช่องเป็นระยะ
มีบันไดขึ้นสู่ลานป้อมชั้นบน ตรงกลางเป็นโรงเรือนห้องพักทหาร ก่ออิฐถือปูน หลังคาเครื่องไม้มุงกระเบื้องว่าวซีเมนต์ ตรงกลางมีมุขหน้าจั่ว ภายในอาคารกั้นเป็นห้องๆ พื้นปูด้วยไม้กระดาน ตัวอาคารมีการตกแต่งด้วยช่องวงโค้งและหัวเสาอิทธิพลศิลปะตะวันตกแบบที่นิยมในสมัยรัชกาลที่ 5 จึงสันนิษฐานว่าสร้างต่อเติมสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวที่ทรงโปรดให้ปรับปรุงป้อมต่างๆ
มูลเหตุการณ์สร้างป้อมปู่เจ้าสมิงพราย ด้วยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกต้องการปรับปรุงให้มีหัวเมืองชายทะเลที่มั่นคงแข็งแรงไว้รับทัพข้าศึก เนื่องจากมีเชื้อพระวงศ์ของกษัตริย์ญวนที่เข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารในแผ่นดินพระองค์ลอบหนีกลับไปหลังจากอยู่ในประเทศไทยมาหลายปีจนรู้จักยุทธศาสตร์เมืองไทยเป็นอย่างดี พระองค์จึงต้องการป้องกันความยุ่งยากหากญวนกลับมารุกรานไทย ในคราวนี้โปรดให้กรมพระราชวังบวรฯลงไปสำรวจพื้นที่บริเวณปากแม่น้ำเจ้าพระยาเพื่อสร้างเมืองใหม่ขึ้นอีกเมืองหนึ่ง โดยกรมพระราชวังบวรฯทรงเลือกบริเวณลัดโพธิ์ (อยู่ระหว่างสมุทรปราการกับกรุงเทพมหานคร) เป็นที่ตั้งเมือง มีการสร้างป้อมค่ายขึ้นที่ฝั่งซ้ายของแม่น้ำเจ้าพระยา 1 ป้อมในปี พ.ศ.2352 คือป้อมวิทยาคม พอดีกับพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าเสด็จสวรรคตขณะการสร้างเมืองยังค้างอยู่
รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย โปรดให้สร้างเมืองต่อจนแล้วเสร็จในปีพ.ศ.2358 พระราชทานชื่อว่า “เมืองนครเขื่อนขันธ์” พร้อมกับเสริมความมั่นคงเพื่อป้องกันข้าศึกทางทะเลด้วยการโปรดให้สร้างป้อมทางฝั่งตะวันออก 3 ป้อม คือ ป้อมปู่เจ้าสมิงพราย ป้อมปิศาจสิง ป้อมราหูจร รวมกับป้อมวิทยาคมในสมัยรัชกาลที่ 1 มีป้อมฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา 4 ป้อม และให้สร้างป้อมทางตะวันตกอีก 5 ป้อม ได้แก่ ป้อมแผลงไฟฟ้า ป้อมมหาสังหาร ป้อมศัตรูพินาศ ป้อมจักรกรด และป้อมพระจันทร์พระอาทิตย์ ป้อมทั้งหมดชักปีกกาถึงกัน ทำกำแพงล้อมรอบข้างหลัง ตั้งยุ้งฉางตึกดินและศาลาไว้เครื่องศาสตราวุธ ที่ริมน้ำทำลูกทุ่นสายโซ่สำหรับขึงกั้นแม่น้ำ เอาท่อนซุงมาทำเป็นต้นโกลนร้อยเกี่ยวเข้ากระหนาบเป็นตอนๆเข้าไปปักหลักระหว่างต้นโกลนทุกช่อง ร้อยโซ่ผูกทุ่นมั่นคงแข็งแรง
ป้อมปู่เจ้าสมิงพราย ใช้เป็นโรงพยาบาลโรคเรื้อนมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 6 จนปัจจุบันเป็นสถาบันราชประชาสมาลัย กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข
คณะกรรมการอำนวยการจัดงานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว. วัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์และภูมิปัญญา จังหวัดสมุทรปราการ. กรุงเทพฯ : คณะกรรมการ, 2542.
จังหวัดสมุทรปราการ. รวมเรื่องเมืองสมุทรปราการ. สมุทรปราการ : [ม.ป.พ.], 2519.
ฝ่ายวิชาการ สำนักงานโบราณคดีและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่ 1 ราชบุรี. แหล่งโบราณคดีและโบราณสถาน จังหวัดสมุทรปราการ. เอกสารอัดสำเนา.
สังข์ พัธโนมัย ผู้รวบรวม. ประวัติเมืองนครเขื่อนขันธ์. พระนคร : กรมศิลปากร, 2501.
สงวน อั้นคง. พระที่นั่ง ประตูและป้อมฯ ในพระราชอาณาจักรไทย. พระนคร : เกษมบรรณกิจ, 2515.
สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ. ธรณีสัณฐานประเทศไทยจากห้วงอวกาศ. กรุงเทพฯ : สำนักงาน, 2538.