พระนอน


โพสต์เมื่อ 13 ก.ค. 2020

ชื่ออื่น : วัดพระนอน, วัดธรรมจักรเสมาราม, พระพุทธไสยาสน์วัดธรรมจักรเสมาราม

ที่ตั้ง : ม.3 บ้านคลองขวาง ต.เสมา อ.สูงเนิน

ตำบล : เสมา

อำเภอ : สูงเนิน

จังหวัด : นครราชสีมา

พิกัด DD : 14.916038 N, 101.793399 E

เขตลุ่มน้ำหลัก : มูล, ลำตะคอง

เขตลุ่มน้ำรอง : คลองตูม, ห้วยไผ่

เส้นทางเข้าสู่แหล่ง

พระนอนตั้งอยู่ภายในวัดธรรมจักรเสมาราม ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของเมืองเสมา จากตัวอำเภอสูงเนินใช้ถนนมิตรสัมพันธ์ (ทางหลวงหมายเลข 2161) มุ่งหน้าทางทิศเหนือประมาณ 3 กิโลเมตร ถึงบ้านหินตั้ง จะพบสามแยกให้เลี้ยวซ้ายใช้ถนนเลาะคูเมืองด้านทิศใต้ของเมืองเสมา ประมาณ 1 กิโลเมตร พบสามแยกให้เลี้ยวซ้าย ไปตามถนนประมาณ 180 เมตร จะพบทางเข้าสู่บ้านคลองขวางและวัดธรรมจักรเสมารามอยู่ทางขวามือ ไปตามถนนอีกประมาณ 220 เมตร จะพบวัดอยู่ทางซ้ายมือ  

ประโยชน์ทางการท่องเที่ยว

เป็นแหล่งท่องเที่ยว

รายละเอียดทางการท่องเที่ยว

พระนอนและวัดธรรมจักรเสมารามเป็นศาสนสถานและปูชนียสถานที่มีความสำคัญมากแห่งหนึ่งของอำเภอสูงเนินและจังหวัดนครราชสีมา เป็นที่เคารพสักการะและยึดเหนี่ยวจิตใจของพุทธศาสนิกชนโดยทั่วไป เป็นศูนย์กลางของชุมชน สถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์โบราณคดีภายในวัด ได้แก่ พระนอนหรือพระพุทธไสยาสน์ และอาคารจัดแสดงโบราณวัตถุเสมาธรรมจักรหรือพิพิธภัณฑ์วัดธรรมจักรเสมาราม อย่างไรก็ตาม เพื่อประโยชน์แก่ผู้เข้าเยี่ยมชมอาคารจัดแสดง ควรมีป้ายหรือสื่อให้ข้อมูลของโบราณวัตถุจัดแสดงชิ้นต่างๆ

หลักฐานทางโบราณคดีภายในวัดได้รับการดูแลและอนุรักษ์เป็นอย่างดี ผู้สนใจสามารถเข้าเยี่ยมชมได้ทุกวัน ตั้งแต่เวลา 9.00-16.00 น. โดยไม่เสียค่าเข้าชม มีสิ่งอำนวยความสะดวกรองรับผู้มาเยือน เช่น ลานจอดรถ ห้องน้ำ ร้านขายขนม เครื่องดื่ม และของที่ระลึก

หน่วยงานที่ดูแลรักษา

วัดธรรมจักรเสมาราม (วัดพระนอน), กรมศิลปากร

การขึ้นทะเบียน

ขึ้นทะเบียนของกรมศิลปากร

รายละเอียดการขึ้นทะเบียน

1. ประกาศกำหนดจำนวนโบราณสถานสำหรับชาติ ในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 53 หน้า 1528 วันที่ 27 กันยายน พ.ศ.2479

2. ประกาศกำหนดจำนวนและขอบเขตโบราณสถานสำหรับชาติ เล่ม 69 ตอนที่ 60 วันที่ 30 กันยายน พ.ศ.2495

ภูมิประเทศ

ที่ราบ

สภาพทั่วไป

วัดธรรมจักรเสมาราม เป็นวัดราษฎร์สังกัดมหานิกาย สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ.2295 ตั้งอยู่บนเนินดินท่ามกลางที่ราบ ปัจจุบันบนเนินดินเป็นที่ตั้งของชุมชนบ้านคลองขวาง ส่วนพื้นที่ราบโดยรอบเป็นพื้นที่เกษตรกรรมทำนา ขนาดของเนินดินและชุมชนประมาณ กว้างประมาณ 550 เมตร (แนวทิศตะวันออก-ตะวันตก) และ 350 เมตร (ตามแนวทิศเหนือ-ใต้) ตั้งอยู่ห่างจากคูเมืองเสมามาทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ประมาณ 500 เมตร ด้านทิศตะวันตกของเนินดินและของวัดมีคลองตูมไหลผ่าน คลองตูมนี้ไหลไปรวมกับห้วยไผ่ที่อยู่ห่างออกไปทางทิศเหนือของวัดประมาณ 300 เมตร (หรือ 400 เมตร ตามระยะทางคลอง) ซึ่งห้วยไผ่จะไหลไปรวมกับลำตะคองในที่สุด

ความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง

218 เมตร

ทางน้ำ

คลองตูม, ห้วยไผ่, ลำตะคอง, แม่น้ำมูล

สภาพธรณีวิทยา

ลักษณะทางธรณีสัณฐานของพื้นที่เกิดจากการทับถมของดินตะกอนน้ำพา หินกรวดแม่น้ำ ทรายแป้ง และดินเหนียว ในยุคควอเทอร์นารี ส่วนหินฐานเป็นหินทรายในกลุ่มหินโคราช

ยุคทางโบราณคดี

ยุคประวัติศาสตร์

สมัย/วัฒนธรรม

สมัยทวารวดี, สมัยเขมร

อายุทางโบราณคดี

พุทธศตวรรษที่ 13-14, พุทธศตวรรษที่ 15-17

ประวัติการศึกษา

ชื่อผู้ศึกษา : กรมศิลปากร

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2533

วิธีศึกษา : ขุดแต่ง

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร

ผลการศึกษา :

สำนักโบราณคดีและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่ 9 นครราชสีมา ขุดแต่งที่ประดิษฐานพระนอนและเสมาธรรมจักร ขุดแต่งพบส่วนอาคารประดิษฐานพระนอน

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2536

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : สุวัจน์ ลิปตพัลลภ, กรมศิลปากร

ผลการศึกษา :

ก่อสร้างอาคารคลุมพระนอนในปี พ.ศ.2536 และสร้างเสร็จใน พ.ศ.2537

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2539

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : ชาติชาย ชุณหะวัณ, สุวัจน์ ลิปตพัลลภ

ผลการศึกษา :

ก่อสร้างอาคารจัดแสดงโบราณวัตถุเสมาธรรมจักร ภายในวัดธรรมจักรเสมาราม

ชื่อผู้ศึกษา : หจก.ไพรลดา

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2543?

วิธีศึกษา : บูรณปฏิสังขรณ์, ปรับปรุงภูมิทัศน์

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร

ผลการศึกษา :

บูรณปฏิสังขรณ์และปรับปรุงสภาพภูมิทัศน์พระนอนและวัดธรรมจักรเสมาราม

ชื่อผู้ศึกษา : บัณฑิต ลิ่วชัยชาญ, อรุณศักดิ์ กิ่งมณี, วงฉัตร ฉัตรกุล ณ อยุธยา, สุภาพร บำรุงวงศ์

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2553

วิธีศึกษา : ศึกษาความเชื่อ, ประวัติศาสตร์ศิลปะ

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร

ผลการศึกษา :

บัณฑิต ลิ่วชัยชาญ, อรุณศักดิ์ กิ่งมณี, วงฉัตร ฉัตรกุล ณ อยุธยา และสุภาพร บำรุงวงศ์ เผยแพร่ผลงานวิจัยเรื่อง “การประดิษฐานพระพุทธศาสนาจากลังกาทวีปในดินแดนประเทศไทยสมัยวัฒนธรรมทวารวดี” โดยระบุว่าคติการสร้างพระพุทธไสยาสน์ที่เมืองเสมานี้ คล้ายคลึงกับพระพุทธไสยาสน์ที่เมืองโปโลนนารุวะของศรีลังกา

ประเภทของแหล่งโบราณคดี

ศาสนสถาน

สาระสำคัญทางโบราณคดี

สิ่งสำคัญภายในวัดธรรมจักรเสมาราม ได้แก่      

พระนอนหรือพระพุทธไสยาสน์ (ทนงศักดิ์ หาญวงษ์ 2534 ; ธวัช ปุณโณทก 2542) เป็นพระนอนหินทรายที่มีขนาดใหญ่ที่พบในประเทศไทย  สร้างด้วยก้อนหินทรายแดงขนาดใหญ่หลายก้อนประกอบกันขึ้นตามแนวทิศเหนือ-ใต้ มีการสลักหินทรายให้เป็นรูปทรงพระนอน สภาพโดยรวมชำรุด ความยาวตลอดองค์พระนอนประมาณ 13.3 เมตร สูง 2.8 เมตร นอนตะแคงขวา พระเศียรหันไปทางทิศใต้ ผินพระพักตร์ไปทางทิศตะวันออก

ส่วนพระพักตร์ประกอบด้วยด้วยหินทราย 4 แผ่นซ้อนกัน พระพักตร์ค่อนข้างเหลี่ยม พระขนงสลักเป็นสันนูนต่อกันเป็นปีกกา พระเนตรเหลือบต่ำลง พระนาสิกค่อนข้างกว้าง มุมพระโอษฐ์ชี้ขึ้นแย้มพระสรวล พระศกขมวดเป็นก้นหอยสภาพแตกชำรุด ด้านหลังพระเศียรสลักโกลนไว้อย่างคร่าวๆ มีเฉพาะพระหัตถ์ที่รองรับพระเศียร ส่วนพระศอเป็นหินกลม เส้นผ่าศูนย์กลาง 90 เซนติเมตร พระวรกายประกอบด้วยหินทรายขนาดใหญ่ยาวตลอดเป็นแผ่นเดียวกัน (ปัจจุบันมีการคลุมผ้าคลุมส่วนพระวรกาย) ส่วนพระนาภีลงมาถึงข้อพระบาทแตกหักชำรุดส่วนพระบาททั้งสองข้างชิดติดเสมอกัน มีสภาพดีเป็นรูปพระบาทและฝ่าพระบาทชัดเจน มีการก่อแท่นอิฐหนุนส่วนพระขนอง (หลัง) องค์พระ รูปแบบศิลปะของพระพุทธไสยาสน์นี้คงได้รับอิทธิพลของศิลปะแบบทวารวดีปะปนกับศิลปะพื้นเมือง อายุราวพุทธศตวรรษที่ 15

บัณฑิต ลิ่วชัยชาญ และคณะ (2553 : 206-209) กล่าวว่าคติการสร้างพระพุทธไสยาสน์ของเมืองเสมานี้ เหมือนกับพระพุทธไสยาสน์เมืองโปโลนนารุวะ กล่าวคือ (1) หันพระเศียรไปทางทิศใต้ (2) สร้างพระพุทธไสยาสน์ภายในคันธกุฎีที่เป็นอาคารแคบๆ      

วิหารพระนอน (ทนงศักดิ์ หาญวงษ์ 2534 ; ธวัช ปุณโณทก 2542) หรือคันธกุฎี จากการขุดแต่งของกรมศิลปากรพบว่าแต่เดิมนั้นมีอาคารประดิษฐานพระนอน มีแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ก่อด้วยอิฐ ขนาดกว้าง 6.5 เมตร ยาว 26 เมตร ยาวตลอดองค์พระ ลักษณะฐานประกอบด้วยฐานเขียงเตี้ยๆ ถัดขึ้นมาเป็นกระดานบัวคว่ำ ท้องไม้ และบัวหงาย โดยช่วงรอยต่อของส่วนต่างๆ จะก่ออิฐเป็นแนวหรือก้อนเป็นตัวเชื่อม ช่วงรอยต่อระหว่างบัวหงายถึงผนังอาคารของชุดฐานบัวนั้น ไม่มีหน้ากระดานบนเหมือนอย่างชุดฐานโบราณสถานแบบศิลปะเขมร จึงมีความสูงเพียง 80 เซนติเมตร ส่วนผนังที่ต่อขึ้นไป ปัจจุบันยังคงเหนือส่วนที่สูงที่สุดเพียง 50 เซนติเมตร และยังได้พบแนวการพังทลายลงมาของอิฐเป็นชั้นๆ โดยมีแนวหินทรายสลักเป็นรูปฉากมีลวดลายกลีบบัวอยู่ด้านนอกวางอยู่บนสุดของผนังอาคาร จึงสันนิษฐานได้ว่าแต่เดิมนั้นผนังอาคารโดยรอบคงไม่สูงเกินกว่า 1 เมตร

อาคารทั้งหมดอาจแบ่งออกได้เป็น 3 ส่วน คือ ห้องประดิษฐานพระนอน ห้องประกอบพิธี และลานหรือทางเดินด้านหน้า (ด้านทิศเหนือ)

ห้องประดิษฐานพระนอน มีพื้นที่ทางเดินรอบองค์พระกว้างประมาณ 1 เมตรเศษ ส่วนตอนปลายพระบาทเป็นห้องขนาดเล็กๆ อีกห้องหนึ่ง ห้องเล็กดังกล่าวคงเป็นห้องประกอบพิธีบูชา อย่างไรก็ตามพบว่ามีแนวก่อสร้างลานด้านหน้าขยายออกมาเพิ่มเติม แนวลานด้านหน้านี้สร้างคร่อมกำแพงแก้ว และแนวเสมาหิน ซึ่งน่าจะสร้างเพิ่มภายหลังจากที่อาคารชำรุดมาก จนเกือบหาแนวกำแพงแก้วไม่พบแล้ว รอบวิหารมีเสมาล้อมรอบ 2 ชั้น และปรากฏฐานสิ่งก่อสร้างอิฐขนาดเล็ก 1 ฐานอยู่ทางด้านหน้าองค์พระ

ห้องประดิษฐานพระนอน มีขนาดห้องพอดีกับองค์พระ โดยเว้นช่องทางเดินได้รอบองค์พระ 1 เมตรเศษ

ห้องประกอบพิธี เป็นห้องขนาดเล็ก ตั้งอยู่เบื้องใต้พระบาทหรือทิศเหนือติดกับห้องประดิษฐานพระนอน มีบันไดทางขึ้นหลักอยู่ทางด้านหน้าหรือด้านทิศเหนือ ต่อมาภายหลังได้ก่อบันไดทางขึ้นด้านข้างหรือทางทิศตะวันออกเพิ่มอีกด้านหนึ่ง พร้อมๆกับการก่อสร้างลานหรือทางเดินด้านหน้า (ด้านทิศเหนือ) เพิ่มขึ้น ทั้งนี้จะเห็นแนวลานด้านหน้านี้สร้างคร่อมแนวเสมาหินและแนวกำแพงแก้วที่อยู่เดิมรวมทั้งได้นำเอาหิน อิฐ มาเรียงเป็นพื้นใหม่ด้วย ห้องเล็กดังกล่าวคงเป็นห้องที่ใช้ประกอบพิธีหรือบูชาพระพุทธรูป ซึ่งเป็นหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่ามีการก่อสร้างฐานอาคารเพิ่มเติมในสมัยหลัง

สำหรับการเตรียมดินเพื่อก่อสร้างฐานรากของอาคารนั้น ได้มีการขุดชั้นดินเพื่อบดอัดหินทรายแดงและหินปูนชั้นดินทรายเป็นฐานรากก่อน จากนั้นจึงก่ออิฐเป็นฐานเขียง แล้วนำเอาเศษอิฐมาบดอัดเป็นชั้นหนาประมาณ 10 เซนติเมตรทั่วบริเวณ เพื่อเสริมความมั่นคงของอาคาร รวมทั้งเพื่อใช้ประโยชน์เป็นพื้นทางเดินโดยรอบอาคาร (ทนงศักดิ์ หาญวงษ์ 2534 ; ธวัช ปุณโณทก 2542)

ปัจจุบันพระนอนประดิษฐานอยู่ภายในอาคารโถงโล่งยาวคลุมตลอดองค์พระ หลังคามุงกระเบื้องลอน มีกระเบื้องบางแผ่นเป็นกระเบื้องโปร่งแสง ทำให้แสงส่องเข้ามาภายในวิหารได้ รวมทั้งยังติดตั้งระบบระบายอากาศบนหลังคาอีกด้วย ภายในมีทางเดินไม้เกือบรอบองค์พระ (ยกเว้นด้านทิศใต้หรือเหนือพระเศียร และเว้นช่องทางเดินในส่วนที่เป็นเสมาหินทราย) มีเครื่องสักการะและร้านเช่าวัตถุมงคลของทางวัดตั้งอยู่ด้านหน้าองค์พระภายในอาคาร อาคารหลังนี้สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ.2536 และสร้างเสร็จใน พ.ศ.2537

ธรรมจักรหินทรายหรือเสมาธรรมจักร พบอยู่เบื้องหน้าพระพักตร์พระพุทธไสยาสน์ (จากคำบอกเล่าของชาวบ้านในพื้นที่) ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 1.2 เมตร เส้นผ่าศูนย์กลางดุมล้อ 31 เซนติเมตร เป็นธรรมจักรแบบทึบ แกะสลักเป็นรูปสี่กงล้อ ตอนล่างของธรรมจักรมีลายสลักหน้ากาลหรือพนัสบดี ลักษณะทางศิลปกรรมเทียบได้กับธรรมจักรที่พบจากเมืองนครปฐม น่าจะสร้างขึ้นในเวลาเดียวกับพระพุทธไสยาสน์และเมืองเสมา (ทนงศักดิ์ หาญวงษ์ 2534 ; ธวัช ปุณโณทก 2542)

การขุดแต่งของกรมศิลปากรยังพบหลักฐานเพิ่มเติมคือกวางหมอบและเสาเสมาธรรมจักร อาจแสดงให้เห็นว่าแต่เดิมเสมาธรรมจักรชิ้นนี้คงตั้งอยู่บนหัวเสา มีกวางหมอบอยู่ด้านหน้า และวางอยู่ด้านหน้าพระนอน (ทนงศักดิ์ หาญวงษ์ 2534 ; ธวัช ปุณโณทก 2542)

ปัจจุบันเสมาธรรมจักรหินทรายนี้ประดิษฐานอยู่ในตู้กระจกใน “อาคารจัดแสดงโบราณวัตถุเสมาธรรมจักร” ภายในวัดธรรมจักรเสมาราม อาคารหลังนี้สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ.2539 นอกจากเสมาธรรมจักรแล้ว ภายในอาคารยังจัดแสดงโบราณวัตถุต่างๆ ที่ได้จากในพื้นที่ (?) เช่น ชิ้นส่วนประติมากรรม ชิ้นส่วนสถาปัตยกรรม เสาธรรมจักร (มีจารึก) ฐานประติมากรรม หินบด รวมทั้งเสมาธรรมจักรจำลอง เป็นต้น นอกจากนี้ที่ด้านหน้าอาคารยังมีชิ้นส่วนสถาปัตยกรรมหินทรายวางจัดแสดงอยู่อีกหลายชิ้น เช่น ธรณีประตู และลูกมะหวด

ผู้เรียบเรียงข้อมูล-ผู้ดูแลฐานข้อมูล

ทนงศักดิ์ เลิศพิพัฒน์วรกุล

บรรณานุกรม

ทนงศักดิ์ หาญวงษ์. “พระนอนวัดธรรมจักรเสมาราม.” ศิลปากร 34, 6 (2534) : 60-75.

ธวัช ปุณโณทก (เรียบเรียง). “เสมา, เมือง : ชุมชนโบราณ.” ใน สารานุกรมวัฒนธรรมไทยภาคอีสาน เล่ม 11. กรุงเทพฯ : มูลนิธิสารานุกรมวัฒนธรรมไทย ธนาคารไทยพาณิชย์, 2542 : 4822-4827.

บัณฑิต ลิ่วชัยชาญ, อรุณศักดิ์ กิ่งมณี, วงฉัตร ฉัตรกุล ณ อยุธยา และสุภาพร บำรุงวงศ์. รายงานผลการวิจัยเรื่องการประดิษฐานพระพุทธศาสนาจากลังกาทวีปในดินแดนประเทศไทยสมัยวัฒนธรรมทวารวดี. กรุงเทพฯ สมาพันธ์, 2553.

ห้างหุ้นส่วนจำกัดไพรลดา. รายงานการบูรณะพัฒนาวัดธรรมจักรเสมาราม บ้านคลองขวาง ตำบลเสมา อำเภอสูงเนิน จังหวัดนครราชสีมา. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2544. 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ภาพเกี่ยวกับแหล่งโบราณคดี