โนนกู่


โพสต์เมื่อ 20 พ.ค. 2021

ชื่ออื่น : ปราสาทโนนกู่

ที่ตั้ง : ม.7 บ้านกกกอก ต.โคราช อ.สูงเนิน

ตำบล : โคราช

อำเภอ : สูงเนิน

จังหวัด : นครราชสีมา

พิกัด DD : 14.908094 N, 101.833723 E

เขตลุ่มน้ำหลัก : มูล, ลำตะคอง

เส้นทางเข้าสู่แหล่ง

ปราสาทโนนกู่ ตั้งอยู่ใกล้ตัวอำเภอสูงเนิน โดยหากไปจากกรุงเทพฯ เมื่อใช้ถนนมิตรภาพ (ทางหลวงหมายเลข 2) เลยต่างระดับสีคิ้วไปทางตะวันออก (หรือไปทางอำเภอสูงเนิน) ประมาณ 14.5 กิโลเมตร เลี้ยวซ้ายใช้ถนนมิตรสัมพันธ์ (ทางหลวงหมายเลข 2161) เข้าสู่ตัวอำเภอสูงเนิน ประมาณ 2.7 กิโลเมตร พบสี่แยกบริเวณวัดญาณโศภิตวนาราม (วัดป่าสูงเนิน) ให้เลี้ยวขวาไปประมาณ 1.5 กิโลเมตร พบสามแยกให้เลี้ยวซ้ายไปประมาณ 1.2 กิโลเมตร (ข้ามทางรถไฟ) จะพบปราสาทโนนกู่ทางซ้ายมือ

ประโยชน์ทางการท่องเที่ยว

เป็นแหล่งท่องเที่ยว

รายละเอียดทางการท่องเที่ยว

ปัจจุบันปราสาทโนนกู่เป็นโบราณสถานร้าง ได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์ ดูแล และจัดการโดยกรมศิลปากรรวมทั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จนเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญมากแห่งหนึ่งในอำเภอสูงเนิน

ในเดือนมีนาคมของทุกปีจะมีการจัดงาน “กินเข่าค่ำ” ของดีเมืองสูงเนินขึ้นบริเวณปราสาทโนนกู่และปราสาทเมืองแขก โดยเป็นงานระดับจังหวัด จัดขึ้นโดยความร่วมือกันของจังหวัดนครราชสีมา องค์การบริหารส่วนจังหวัดนครราชสีมา การท่องเที่ยวจังหวัดนครราชสีมา การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย รวมทั้งเทศบาล องค์การบริหารส่วนตำบล และหน่วยงานราชการทั้งภาครัฐและเอกชนในอำเภอสูงเนิน วัตถุประสงค์ของการจัดงานคือเพื่อประชาสัมพันธ์ถึงประวัติศาสตร์การเป็นแหล่งวัฒนธรรมที่สำคัญของพื้นที่แถบนี้ในอดีต บำรุงรักษาศิลปวัฒนธรรมโบราณสถานอันเก่าแก่และประเพณีอันดีงามของท้องถิ่นให้คงอยู่ และเพื่อส่งเสริมการค้าขายและประชาสัมพันธ์ผลิตผลทางการเกษตรและผลิตภัณฑ์ทางด้านอุตสาหกรรมที่มีชื่อเสียงในพื้นที่อำเภอสูงเนิน

ภายในงาน“กินเข่าค่ำ” ของดีเมืองสูงเนิน จะมีกิจกรรมหลักคือ ประเพณีร่วมรับประทานอาหารเย็นแบบพื้นถิ่น ที่เรียกว่า “กินเข่าค่ำ” โดยจัดเป็นอาหารพื้นเมืองโคราช 1 โตก สำหรับ 5 คน ควบคู่ไปกับการนั่งชมการแสดงจินตภาพประกอบแสง สี เสียง นิทรรศการของดีเมืองสูงเนิน และกิจกรรมอื่นๆ อาทิ การประกวดผัดหมี่และส้มตำลีลา การประกวดแม่ม่ายสูงเนิน การประกวดไก่พื้นเมือง การสานสุ่มไก่ และการแสดงคอนเสิร์ตของศิลปินดาราต่างๆ เป็นต้น

ผู้สนใจสามารถเข้าเยี่ยมชมได้ทุกวัน โดยไม่เสียค่าเข้าชม มีที่จอดรถและป้ายให้ข้อมูลปราสาท ผู้ที่โดยสารรถสาธารณะสามารถโดยสารรถสองแถวหรือรถมอเตอร์ไซค์รับจ้างจากตัวอำเภอสูงเนินได้

หน่วยงานที่ดูแลรักษา

กรมศิลปากร, องค์การบริหารส่วนตำบลโคราช

การขึ้นทะเบียน

ขึ้นทะเบียนของกรมศิลปากร

รายละเอียดการขึ้นทะเบียน

1. การกำหนดจำนวนโบราณสถานสำหรับชาติ เล่ม 53 หน้า 1528 วันที่ 27 กันยายน พ.ศ.2479

2. การกำหนดจำนวนและขอบเขตโบราณสถานสำหรับชาติ เล่ม 69 ตอนที่ 60 วันที่ 30 กันยายน พ.ศ.2495

3. การกำหนดเขตที่ดินโบราณสถานสำหรับชาติ เล่ม 99 (ฉบับพิเศษ) ตอนที่ 155 วันที่ 21 ตุลาคม พ.ศ.2525

ภูมิประเทศ

ที่ราบ

สภาพทั่วไป

ปราสาทโนนกู่เป็นโบราณสถานร้าง ตั้งอยู่บนเนินสูงหรือพื้นที่สูงใกล้กับที่ราบริมลำตะคอง โดยลำตะคองอยู่ห่างไปทางทิศเหนือและทิศตะวันตกของปราสาทประมาณ 800 เมตร

ปราสาทโนนกู่ตั้งอยู่ห่างจากปราสาทเมืองแขกมาทางทิศใต้ 500 เมตร (ตามแนวแกนทิศพอดี) เป็นโบราณสถานที่ได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์และปรับปรุงภูมิทัศน์ พื้นที่โดยรอบเป็นพื้นที่ป่าละเมาะ ฝั่งตรงข้ามถนน (ด้านทิศตะวันออก) เป็นที่อยู่อาศัยของราษฎรและพื้นที่เกษตรกรรม

ความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง

216 เมตร

ทางน้ำ

ลำตะคอง, แม่น้ำมูล

สภาพธรณีวิทยา

ปราสาทโนนกู่ตั้งอยู่บนเนินสูงหรือพื้นที่สูงใกล้กับที่ราบริมลำตะคองที่เกิดจากการทับถมของตะกอนน้ำพาในยุคควอเทอร์นารี ประกอบด้วยหินกรวดแม่น้ำ ทรายแป้ง และดินเหนียว ส่วนหินฐาน ยุคมีโซโซอิก

ยุคทางโบราณคดี

ยุคประวัติศาสตร์

สมัย/วัฒนธรรม

สมัยเขมร, สมัยเกาะแกร์, สมัยแปรรูป

อายุทางโบราณคดี

ปลายพุทธศตวรรษที่ 15 – ต้นพุทธศตวรรษที่ 16

ประวัติการศึกษา

ชื่อผู้ศึกษา : มานิต วัลลิโภดม, กรมศิลปากร

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2502

วิธีศึกษา : ขุดค้น, ขุดแต่ง

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร

ผลการศึกษา :

นายมานิต วัลลิโภดม ขุดแต่งโนนกู่พบวัตถุโบราณหลายชิ้น เช่น ปรางค์จำลอง เทวรูปทวารบาล เป็นต้น ปัจจุบันโบราณวัตถุเหล่านั้นนำไปจัดแสดงที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พิมาย

ชื่อผู้ศึกษา : กรมศิลปากร

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2534, พ.ศ.2535

วิธีศึกษา : ขุดค้น, ขุดแต่ง, ปรับปรุงภูมิทัศน์

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร

ผลการศึกษา :

กรมศิลปากรขุดค้นและขุดแต่ง รวมทั้งปรับปรุงภูมิทัศน์โดยรอบปราสาทโนนกู่

ประเภทของแหล่งโบราณคดี

ศาสนสถาน

สาระสำคัญทางโบราณคดี

ปราสาทโนนกู่เป็นโบราณสถานร้าง มีขนาดเล็ก ก่อด้วยหินทรายและอิฐ (ใช้ก้อนหินทรายก่อส่วนฐาน ส่วนอิฐใช้ก่อสร้างตัวสิ่งก่อสร้างด้านบน) มีแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า หันหน้าไปทางทิศตะวันออก

ปราสาทประธานมีอาคารขนาดเล็ก ฐานสูงก่อด้วยหินทราย ตัวอาคารก่อด่วยอิฐ พื้นภายในอาคารเป็นอิฐ หันหน้าไปทางทิศตะวันออก มีบันไดทางขึ้นไปที่ด้านหน้าและหลัง มีกรอบประตูทำจากก้อนหินทรายตั้งอยู่ก่อนเข้าห้องประธาน ภายในห้องประธานหรือห้องครรภคฤหะ (หรือเรือนธาตุ) มีฐานประติมากรรมหินทรายวางอยู่ภายใน

ด้านหน้าปราสาทประธานเบื้องซ้าย-ขวา มีอาคารขนาดเล็ก อาจเป็นวิหารหรือบรรณาลัยตั้งอยู่ด้านละ 1 หลัง ส่วนฐานอาคารก่อด้วยหินทราย ตัวอาคารด้วยอิฐ พื้นเป็นอิฐ ตั้งหันหน้าเข้าปราสาทประธานหรือหันไปทางทิศตะวันตก วิหารหรือบรรณาลัยเบื้องขวาหรือด้านใต้มีบันไดขึ้นสู่อาคารที่ด้านหน้าเพียงด้านเดียว ตัวอาคารแบ่งเป็นห้องมุขด้านหน้าและห้องประธาน มีกรอบประตูหินทรายอยู่ที่ช่องประตูด้านหน้าของแต่ละห้อง ส่วนวิหารหรือบรรณาลัยเบื้องซ้ายหรือด้านทิศเหนือ มีบันไดขึ้นสู่อาคารที่ด้านทิศตะวันออกหรือด้านหลัง (?) ตัวอาคารแบ่งเป็นมุขหน้าและห้องประธานเช่นเดียวกัน ภายในห้องประธานมีฐานประติมากรรมหินทรายตั้งอยู่กลางห้อง

อาคารทั้ง 3 หลัง ล้อมรอบด้วยกำแพงแก้ว ก่อด้วยอิฐ มีโคปุระหรือซุ้มประตูชั้นใน ที่ด้านหน้าและด้านหลัง คือด้านทิศตะวันออกและทิศตะวันตก ผังเป็นรูปกากบาท ฐานก่อด้วยหินทรายตัวซุ้มก่อด้วยอิฐ ถัดออกไปด้านทิศตะวันออกของซุ้มประตูกำแพงแก้วด้านหน้า ซึ่งอยู่ส่วนหน้าสุดของปราสาทโนนกู่ ปรากฏฐานก่อด้วยหินทรายของสิ่งก่อสร้างลักษณะคล้ายซุ้มประตู ผังรูปกากบาท สันนิษฐานว่าเป็นโคปุระหรือซุ้มประตูชั้นนอก

จากประวัติการขุดค้นขุดแต่งของกรมศิลปากรพบโบราณวัตถุหลายชิ้น รวมทั้งโคนนทิหมอบที่ลานระหว่างวิหารหรือบรรณาลัยทั้งสองหลัง ทำให้สันนิษฐานได้ว่าปราสาทแห่งนี้สร้างขึ้นเนื่องในศาสนาฮินดูไศวนิกาย และจากรูปแบบสถาปัตยกรรมและโบราณวัตถุต่างๆ นำไปสู่ข้อสันนิษฐานว่าปราสาทโนนกู่สร้างขึ้นตามแบบศิลปะเกาะแกร์ในศิลปะเขมรเช่นเดียวกับปราสาทเมืองแขก มีอายุอยู่ในช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ 15 หรือราว พ.ศ.1440-1490

ผู้เรียบเรียงข้อมูล-ผู้ดูแลฐานข้อมูล

ทนงศักดิ์ เลิศพิพัฒน์วรกุล

บรรณานุกรม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ภาพเกี่ยวกับแหล่งโบราณคดี