เมืองแขก


โพสต์เมื่อ 13 ก.ค. 2020

ชื่ออื่น : ปราสาทเมืองแขก

ที่ตั้ง : ม.7 บ้านกกกอก ต.โคราช อ.สูงเนิน

ตำบล : โคราช

อำเภอ : สูงเนิน

จังหวัด : นครราชสีมา

พิกัด DD : 14.913063 N, 101.83375 E

เขตลุ่มน้ำหลัก : มูล, ลำตะคอง

เส้นทางเข้าสู่แหล่ง

ปราสาทเมืองแขก ตั้งอยู่ใกล้ตัวอำเภอสูงเนิน โดยหากไปจากกรุงเทพฯ เมื่อใช้ถนนมิตรภาพ (ทางหลวงหมายเลข 2) เลยต่างระดับสีคิ้วไปทางตะวันออก (หรือไปทางอำเภอสูงเนิน) ประมาณ 14.5 กิโลเมตร เลี้ยวซ้ายใช้ถนนมิตรสัมพันธ์ (ทางหลวงหมายเลข 2161) เข้าสู่ตัวอำเภอสูงเนิน ประมาณ 2.7 กิโลเมตร พบสี่แยกบริเวณวัดญาณโศภิตวนาราม (วัดป่าสูงเนิน) ให้เลี้ยวขวาไปประมาณ 1.5 กิโลเมตร พบสามแยกให้เลี้ยวซ้ายไปประมาณ 1.6 กิโลเมตร (ข้ามทางรถไฟ) จะพบสามแยกให้เลี้ยวซ้าย จะพบปราสาทเมืองแขกทางขวามือ

ประโยชน์ทางการท่องเที่ยว

เป็นแหล่งท่องเที่ยว

รายละเอียดทางการท่องเที่ยว

ปัจจุบันปราสาทเมืองแขกเป็นโบราณสถานร้าง ได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์ ดูแล และจัดการโดยกรมศิลปากรรวมทั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจนเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญมากแห่งหนึ่งของอำเภอสีคิ้ว สภาพโบราณสถานมั่นคงแข็งแรง ได้รับการอนุรักษ์และปรับปรุงภูมิทัศน์จนอยู่ในสภาพดี แต่มีอาคารบางหลังที่ต้นไม้ใหญ่ขึ้นอยู่กลางอาคาร ซึ่งอาจส่งผลเสียหายต่อโบราณสถานได้ในอนาคต

ในเดือนมีนาคมของทุกปีจะมีการจัดงาน “กินเข่าค่ำ” ของดีเมืองสูงเนินขึ้นบริเวณปราสาทเมืองแขกและปราสาทโนนกู่ โดยเป็นงานสำคัญระดับจังหวัด จัดขึ้นโดยความร่วมือกันของจังหวัดนครราชสีมา องค์การบริหารส่วนจังหวัดนครราชสีมา การท่องเที่ยวจังหวัดนครราชสีมา การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย รวมทั้งเทศบาล องค์การบริหารส่วนตำบล และหน่วยงานราชการทั้งภาครัฐและเอกชนในอำเภอสูงเนิน วัตถุประสงค์ของการจัดงานคือเพื่อประชาสัมพันธ์ถึงประวัติศาสตร์การเป็นแหล่งวัฒนธรรมที่สำคัญของพื้นที่แถบนี้ในอดีต บำรุงรักษาศิลปวัฒนธรรมโบราณสถานอันเก่าแก่และประเพณีอันดีงามของท้องถิ่นให้คงอยู่ และเพื่อส่งเสริมการค้าขายและประชาสัมพันธ์ผลิตผลทางการเกษตรและผลิตภัณฑ์ทางด้านอุตสาหกรรมที่มีชื่อเสียงในพื้นที่อำเภอสูงเนิน

ภายในงาน“กินเข่าค่ำ” ของดีเมืองสูงเนิน จะมีกิจกรรมหลักคือ ประเพณีร่วมรับประทานอาหารเย็นแบบพื้นถิ่น ที่เรียกว่า “กินเข่าค่ำ” โดยจัดเป็นอาหารพื้นเมืองโคราช 1 โตก สำหรับ 5 คน ควบคู่ไปกับการนั่งชมการแสดงจินตภาพประกอบแสง สี เสียง นิทรรศการของดีเมืองสูงเนิน และกิจกรรมอื่นๆ อาทิ การประกวดผัดหมี่และส้มตำลีลา การประกวดแม่ม่ายสูงเนิน การประกวดไก่พื้นเมือง การสานสุ่มไก่ และการแสดงคอนเสิร์ตของศิลปินดาราต่างๆ เป็นต้น

ผู้สนใจสามารถเข้าเยี่ยมชมได้ทุกวัน โดยไม่เสียค่าเข้าชม มีที่จอดรถและป้ายให้ข้อมูลปราสาท รวมทั้งมัคคุเทศก์ท้องถิ่น ผู้ที่โดยสารรถสาธารณะสามารถโดยสารรถสองแถวหรือรถมอเตอร์ไซค์รับจ้างจากตัวอำเภอสูงเนินได้

หน่วยงานที่ดูแลรักษา

กรมศิลปากร, องค์การบริหารส่วนตำบลโคราช

การขึ้นทะเบียน

ขึ้นทะเบียนของกรมศิลปากร

รายละเอียดการขึ้นทะเบียน

1. การกำหนดจำนวนโบราณสถานสำหรับชาติ เล่ม 53 หน้า 1528 วันที่ 27 กันยายน พ.ศ.2479

2. การกำหนดจำนวนและขอบเขตโบราณสถานสำหรับชาติ เล่ม 69 ตอนที่ 60 วันที่ 30 กันยายน พ.ศ.2495

3. การกำหนดเขตที่ดินโบราณสถานสำหรับชาติ เล่ม 100 ตอนที่ 36 วันที่ 15 มีนาคม พ.ศ.2526

ภูมิประเทศ

ที่ราบ

สภาพทั่วไป

ปราสาทเมืองแขกเป็นโบราณสถานร้างขนาดค่อนข้างใหญ่ ตั้งอยู่บนเนินสูงหรือพื้นที่สูงติดกับที่ราบริมลำตะคอง โดยลำตะคองอยู่ห่างไปทางทิศเหนือประมาณ 150 เมตร

ปราสาทเมืองแขกตั้งอยู่ห่างจากปราสาทโนนกู่มาทางทิศเหนือ 500 เมตร (ตามแนวแกนทิศพอดี) ได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์และปรับปรุงภูมิทัศน์แล้ว พื้นที่โดยรอบเป็นสนามหญ้าที่ได้รับการดูแลจากกรมศิลปากรและท้องถิ่น ถัดออกไปเป็นพื้นที่ป่าละเมาะ บ้านเรือนราษฎร และพื้นที่เกษตรกรรม

ความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง

210 เมตร

ทางน้ำ

ลำตะคอง, แม่น้ำมูล

สภาพธรณีวิทยา

ปราสาทเมืองแขกตั้งอยู่บนเนินสูงหรือพื้นที่สูงติดกับที่ราบริมลำตะคองที่เกิดจากการทับถมของตะกอนน้ำพาในยุคควอเทอร์นารี ประกอบด้วยหินกรวดแม่น้ำ ทรายแป้ง และดินเหนียว ส่วนหินฐาน ยุคมีโซโซอิก

ยุคทางโบราณคดี

ยุคประวัติศาสตร์

สมัย/วัฒนธรรม

สมัยเขมร, สมัยเกาะแกร์, สมัยแปรรูป

อายุทางโบราณคดี

ปลายพุทธศตววษที่ 15 – ต้นพุทธศตวรรษที่ 16

ประวัติการศึกษา

ชื่อผู้ศึกษา : มานิต วัลลิโภดม, กรมศิลปากร

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2502

วิธีศึกษา : ขุดค้น, ขุดแต่ง

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร

ผลการศึกษา :

นายมานิต วัลลิโภดม ขุดแต่งโนนกู่พบวัตถุโบราณหลายชิ้น เช่น ปรางค์จำลอง เทวรูปทวารบาล เป็นต้น ปัจจุบันโบราณวัตถุเหล่านั้นนำไปจัดแสดงที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พิมาย

ชื่อผู้ศึกษา : กรมศิลปากร

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2533, พ.ศ.2534

วิธีศึกษา : ขุดค้น, ขุดแต่ง, ปรับปรุงภูมิทัศน์

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร

ผลการศึกษา :

กรมศิลปากรขุดค้นและขุดแต่ง รวมทั้งปรับปรุงภูมิทัศน์โดยรอบปราสาทเมืองแขก

ชื่อผู้ศึกษา : ชะเอม แก้วคล้าย, บุญเลิศ เสนานนท์

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2535

วิธีศึกษา : ศึกษาเอกสาร/จารึก

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร

ผลการศึกษา :

ชะเอม แก้วคล้าย และบุญเลิศ เสนานนท์ อ่านและแปลจารึกปราสาทเมืองแขก 1, 2 และ 3 ที่พบเมื่อวันที่ 11 มกราคม 2535

ประเภทของแหล่งโบราณคดี

ศาสนสถาน

สาระสำคัญทางโบราณคดี

ปราสาทเมืองแขกเป็นโบราณสถานร้าง มีขนาดค่อนข้างใหญ่ ก่อด้วยหินทรายและอิฐ แผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า หันหน้าไปทางทิศเหนือ สิ่งก่อสร้างสำคัญได้แก่ ปราสาทประธาน บรรณาลัย 2 หลัง ระเบียงคด ซุ้มประตูหรือโคปุระ กำแพงแก้ว สระน้ำ และปราสาทก่อด้วยอิฐขนาดเล็ก

ลักษณะผังโบราณสถานแบ่งออกได้เป็น 3 ส่วน คือ

ส่วนที่ 1 หรือส่วนในสุด ประกอบด้วยปราสาท 3 หลัง ก่อด้วยหินทรายและอิฐตั้งอยู่บนฐานเดียวกัน หัวหน้าไปทางทิศเหนือ เฉพาะองค์ปรางค์หรือปราสาทประธานมีมุขหรือมณฑปซึ่งมีลักษณะเป็นห้องต่อออกมาทางด้านหน้า มีบันไดขึ้นทั้งด้านหน้าและด้านข้างทั้ง 2 ข้าง พบฐานประติมากรรมหินทรายที่ครรภคฤหะของปราสาทประธานและปราสาทหลังด้านทิศตะวันออก อาคารทั้งสามหลังเหลือเพียงเฉพาะส่วนฐานและตัวอาคารบางส่วน รวมทั้งที่ปราสาทประธานยังคงหลงเหลือช่องหน้าต่างและลูกมะหวด เสาประดับกรอบประตู กรอบประตูหินทราย และทับหลังสลักภาพนารายณ์บรรทมสินธุ์ที่ด้านบนกรอบประตูหน้าสุดหรือส่วนมณฑป

ด้านข้างองค์ปรางค์ประธานมีฐานอาคารก่อด้วยอิฐ 2 หลัง อยู่ด้านซ้ายและขวาด้านละ 1 หลัง หันด้านหน้าเข้าสู่ปราสาทประธาน อาจเป็นวิหารหรือบรรณาลัย ในส่วนแรกนี้มีกำแพงแก้วก่อด้วยอิฐล้อมรอบ ทางด้านทิศตะวันออกของกำแพงมีอาคารอิฐผังสี่เหลี่ยมผืนผ้าก่อขนานยาวไปกับกำแพง อาคารหลังนี้มีประตูเข้าออกอยู่ด้านทิศตะวันตกและทิศเหนือ ยังคงหลงเหลือเสาประดับกรอบประตูอยู่ที่ประตูด้านทิศเหนือ

มีซุ้มประตูทางเข้าหรือโคปุระชั้นในอยู่ด้านเดียวคือด้านหน้าหรือด้านทิศเหนือ (มีช่องประตู 3 ช่อง) ที่ยังคงหลงเหลือกรอบประตูและเสาประดับกรอบประตูหินทราย นอกจากนี้ยังปรากฏฐานอาคารก่อด้วยอิฐอีก 2 หลังที่มุมกำแพงแก้วด้านหน้าของปราสาทประธาน ข้างโคปุระหรือซุ้มประตูชั้นในด้านหน้าหรือด้านทิศเหนือทั้ง 2 ด้าน ซ้ายและขวา โดยอาคารด้านขวามีทางเดินปูอิฐเชื่อมกับอาคารยาวที่ขนานไปกับกำแพงแก้วด้านทิศตะวันออก

ส่วนที่ 2 เป็นกำแพงชั้นนอก ซึ่งขุดเป็นสระเกือบจะล้อมรอบโบราณสถาน เว้นเพียงส่วนกลางด้านหน้า โดยใช้ดินที่ได้จากการขุดสระทำเป็นคันกำแพงล้อมรอบกำแพงแก้วและสระน้ำ ทางด้านทิศเหนือมีทางเดินเชื่อมกับส่วนในหรือส่วนที่หนึ่ง กำแพงชั้นนอกด้านหน้าหรือด้านทิศเหนือมีซุ้มประตูขนาดใหญ่หรือโคปุระชั้นนอกรูปกากบาท ตรงกับโคปุระชั้นใน (มีช่องประตู 3 ช่อง) ยังคงปรากฏช่องหน้าต่างและลูกมะหวดรวมทั้งกรอบประตูหินทราย

ส่วนที่ 3 อยู่นอกกำแพงชั้นนอกหรือส่วนที่สองออกมาทางด้านหน้าหรือด้านทิศเหนือ มีฐานอาคารก่อด้วยฐานก่อด้วยศิลาแลง หินทราย และอิฐ 2 หลัง ด้านซ้ายและขวาด้านละ 1 หลัง หันหน้าเข้าหากัน (อาคารหลังด้านขวาหันหน้าไปทางทิศตะวันตก ส่วนอาคารหลังด้านซ้ายหันหน้าไปทางทิศตะวันออก) ส่วนบนอาจจะสร้างด้วยไม้ ฐานอาคารทั้งสองหลังมีผังเป็นสี่เหลี่ยมมีมุขยื่นมาทางด้านหน้า ฐานสูง มีบันไดขึ้นสู่ด้านบนของฐานทั้ง 4 ด้าน มีกำแพงล้อมรอบ มีโคปุระที่ด้านหน้าและหลัง (ด้านหน้ามีขนาดใหญ่กว่า) ภายในห้องประธานของอาคารหลังด้านทิศตะวันตกมีฐานศิวลึงค์และโยนิหินทรายตั้งอยู่กลางห้อง เช่นเดียวกับอาคารหลังด้านทิศตะวันออกที่มีฐานประติมากรรมหินทรายตั้งอยู่กลางห้องประธาน

จากการศึกษาและขุดค้นขุดแต่งเมื่อ พ.ศ.2502 และ พ.ศ.2533-2534 ของกรมศิลปากรที่หลักฐานสำคัญ เช่น ศิวลึงค์ ฐานศิวลึงค์ หน้าบันสลักภาพอุมามเหศวร ทับหลังภาพพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ ทับหลังรูปพระนารายณ์บรรทมสินธุ์ ทับหลังรูปเทวดาประทับนั่งในซุ้มเหนือหน้ากาล ประติมากรรมโคนนทิ และจารึก 3 หลัก (จารึกปราสาทเมืองแขก 1, 2 และ 3 พบจากการขุดค้นบริเวณโคปุระชั้นนอก อักษรขอม ภาษาเขมร ปัจจุบันเก็บรักษาอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ มหาวีรวงศ์) ทำให้สันนิษฐานได้ว่าโบราณศาสนสถานหลังนี้สร้างขึ้นเนื่องในศาสนาพรามหณ์ลัทธิไศวนิกาย อายุราวปลายพุทธศตวรรษที่ 15 ถึงต้นพุทธศตวรรษที่ 16 รูปแบบศิลปะเกาะแกร์-แปรรูป ในศิลปะเขมร ส่วนจารึกระบุศักราช 896 ตรงกับ พ.ศ.1517

 

จารึกปราสาทเมืองแขก

ขุดพบศิลาจารึกหินทราย 3 ชิ้น ที่บริเวณโคปุระกำแพงชั้นนอกปราสาทเมืองแขก รูปอักษรมีลักษณะอย่างเดียวกัน ยุคสมัยเดียวกัน คือ อักษรขอมโบราณ ภาษาเขมร ข้อความของจารึกทั้ง 3 หลัก สอดคล้องกัน เป็นเรื่องเดียวกัน ดังนั้นจึงมีการรวมจารึกทั้ง 3 หลักนี้เข้าเป็นชื่อเดียวกัน คือ จารึกปราสาทเมืองแขก และแยกเป็น 3 หลัก คือ จารึกปราสาทเมืองแขก 1, 2 และ 3

จารึกปราสาทเมืองแขกหลักที่ 1 กล่าวถึงพระราชโองการของพระราชา ให้สถาปนาเทวรูปคือ กัมรเตงอัญศรีอสมานธฤตจันทรมเหศวร มรเตงอัญศรีอสมานธฤตจันทรสถามะ และพระแม่เจ้ากัมรเตงอัญศรีอสมานธฤตจันทรเทวี และหลังจากนั้นยังได้รวมพระกัมรเตงอัญแห่งลิงคปุระไว้ด้วย แล้วให้บรรดาขุนนางและข้าราชบริพาร ร่วมกันดูแลเทวรูปและเทวสถานเหล่านี้ โดยกัลปนาข้าทาสและสิ่งของ เช่น ข้าวสาร น้ำมัน ฯลฯ เป็นประจำ โดยในบรรทัดที่ 9 ของ ระบุศักราช 896 ซึ่งตรงกับ พ.ศ.1517 

จารึกปราสาทเมืองแขกหลักที่ 2 ข้อความในจารึกทั้งหมดเป็นรายชื่อทาส

จารึกปราสาทเมืองแขกหลักที่ 3 ข้อความเกือบทั้งหมดในจารึกเป็นรายชื่อทาส ตอนท้ายมีรายการสิ่งของที่ถวาย

 

ผู้เรียบเรียงข้อมูล-ผู้ดูแลฐานข้อมูล

ทนงศักดิ์ เลิศพิพัฒน์วรกุล

บรรณานุกรม

ชะเอม แก้วคล้าย และบุญเลิศ เสนานนท์. “จารึกปราสาทเมืองแขก 1, 2 และ 3 ศิลปากร 37, 2 (มีนาคม – เมษายน 2537) : 99-112.

มานิต วัลลิโภดม. นำเที่ยวพิมายและโบราณสถานในจังหวัดนครราชสีมา. พระนคร : กรมศิลปากร, 2513.

สนอง โกศัย (เรียบเรียง). “เมืองแขก : ปราสาทหิน” ใน สารานุกรมวัฒนธรรมไทยภาคอีสาน เล่ม 14. กรุงเทพฯ : มูลนิธิสารานุกรมวัฒนธรรมไทย ธนาคารไทยพาณิชย์, 2542 : 3664-3666.

สุภัทรดิศ ดิศกุล, ม.จ. โบราณสถานจังหวัดนครราชสีมา. พระนคร : สมาคมเพื่อการรักษาสมบัติวัฒนธรรม, 2509.

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ภาพเกี่ยวกับแหล่งโบราณคดี