โพสต์เมื่อ 13 ก.ค. 2020
ที่ตั้ง : ต.เสมา อ.สูงเนิน
ตำบล : เสมา
อำเภอ : สูงเนิน
จังหวัด : นครราชสีมา
พิกัด DD : 14.922 N, 101.79832 E
เขตลุ่มน้ำรอง : ห้วยไผ่
โบราณสถานหมายเลข 2 เมืองเสมา ตั้งอยู่ภายในเมืองเสมาชั้นใน ทางด้านทิศใต้ของบ่ออีกา [ดู เมืองเสมา]
โบราณสถานหมายเลข 2 เมืองเสมา ได้รับการดูแลรักษาและปรับปรุงภูมิทัศน์ค่อนข้างดี มีป้ายบอกข้อมูลโบราณสถานของกรมศิลปากรแต่อยู่ในสภาพทรุดโทรม คำบรรยายค่อนข้างเลือนราง
นักท่องเที่ยวสามารถเดินทางเยี่ยมชมแหล่งโบราณคดีใกล้เคียงซึ่งอยู่ในเส้นทางเดียวกัน คือ วัดธรรมาจักรเสมารามซึ่งประดิษฐานพระนอนหินทราย และธรรมจักรศิลาสมัยทวารวดี ปราสาทเมืองแขกและปราสาทโนนกู่ซึ่งเป็นโบราณสถานแบบเขมร
ผู้สนใจสามารถเข้าเยี่ยมชมได้ทุกวันโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ตั้งแต่เวลา 09.00-16.00 น.
กรมศิลปากร, องค์การบริหารส่วนตำบลเสมา
ประกาศในราชกิจจานุเบกษา การกำหนดจำนวนและขอบเขตโบราณสถานสำหรับชาติ เล่ม 69 ตอนที่ 60 วันที่ 30 กันยายน 2495
ตั้งอยู่ภายในเมืองเสมาชั้นใน ทางด้านทิศใต้ของบ่ออีกา สภาพก่อนการขุดแต่งมีป่าไม้ขึ้นปกคลุม ตรงกลางของพื้นที่เป็นเนินดินสูง มีร่องรอยของการลักลอบขุดหาสมบัติ สภาพปัจจุบันได้รับการขุดแต่ง บูรณะ และปรับปรุงภูมิทัศน์โดยกรมศิลปากรอยู่ในสภาพค่อนข้างดี
ลำตะคอง, แม่น้ำมูล, ลำน้ำสาขา ได้แก่ ห้วยไผ่
[ดู เมืองเสมา]
ชื่อผู้ศึกษา : กรมศิลปากร
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2533
วิธีศึกษา : สำรวจ, ขุดค้น, ทำผัง
องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร
ผลการศึกษา :
หน่วยศิลปากรที่ 6 กรมศิลปากรทำการสำรวจ ทำผัง และปักหมุดโบราณสถานภายในเมืองเสมาพร้อมทั้งขุดทดสอบทางโบราณคดี จำนวน 1 หลุม ขนาด 3x3 เมตร บริเวณเมืองชั้นในทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ชื่อผู้ศึกษา : หจก. ปุราณรักษ์
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2542
วิธีศึกษา : ขุดค้น, บูรณปฏิสังขรณ์, ขุดแต่ง, ปรับปรุงภูมิทัศน์
องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร
ผลการศึกษา :
หจก. ปุราณรักษ์ได้ทำการขุดแต่ง บูรณะและเสริมความมั่นคงให้แก่โบราณสถานภายในเมืองเสมาจำนวน 9 แห่ง และได้ขุดค้นทางโบราณคดีจำนวน 1 หลุม พร้อมทั้งปรับปรุงภูมิทัศน์ภายในเมืองชื่อผู้ศึกษา : เขมิกา หวังสุข
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2543
วิธีศึกษา : ศึกษาเครื่องมือเครื่องใช้, ศึกษาภาชนะดินเผา, ศึกษาความเชื่อ, ประวัติศาสตร์ศิลปะ, ศึกษาการตั้งถิ่นฐาน/การใช้พื้นที่, ศึกษาเอกสาร/จารึก
องค์กรร่วม / แหล่งทุน : ม.ศิลปากร
ผลการศึกษา :
เขมิกา หวังสุข เสนอวิทยานิพนธ์เพื่อสำเร็จการศึกษาปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาโบราณคดีสมัยประวัติศาสตร์ ภาควิชาโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ในหัวข้อ “พัฒนาการทางวัฒนธรรมในลุ่มแม่น้ำมูล : กรณีศึกษาแหล่งโบราณคดีเมืองเสมา อำเภอสูงเนิน จังหวัดนครราชสีมา” โดยศึกษาพัฒนาการทางวัฒนธรรมของชุมชนโบราณเมืองเสมาและศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างชุมชนโบราณเมืองเสมากับชุมชนโบราณร่วมสมัยในบริเวณลุ่มน้ำมูล จากหลักฐานข้อมูลทุกประเภท ได้แก่ โบราณวัตถุประเภทต่างๆ โบราณสถาน และเอกสาร จารึกโบราณสถานหมายเลข 2 เมืองเสมา มีแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสเพิ่มมุมไม้ 20 ขนาด 7.90 x 8 เมตร สภาพชำรุดเหลือเพียงส่วนฐานสูงประมาณ 1 เมตรเศษ ฐานทางด้านทิศใต้มีสภาพค่อนข้างสมบูรณ์ที่สุด ประกอบด้วยฐานหน้ากระดานรองรับฐานบัวเพิ่มมุมไม้ 20 ตรงกึ่งกลางฐานมีทางเดินขึ้นบนอาคารรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ฐานด้านทิศตะวันออกปรากฏทางเดินเล็กน้อย ส่วนฐานด้านทิศเหนือและทิศใต้มีสภาพชำรุดมาก ด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ของโบราณสถานมีแนวอิฐบางๆ แผ่เป็นลานกว้าง และในแนวเดียวกันนี้ห่างออกไปอีกประมาณ 15 เมตร มีแนวอิฐแบบเดียวกันแต่มีหลุมเสากลมประกอบอยู่หลายหลุม สันนิษฐานว่าอาจเป็นอาคารขนาดเล็ก
โบราณสถานหมายเลข 2 เมืองเสมา เป็นศาสนสถานเนื่องในศาสนาพุทธ น่าจะเป็นส่วนของฐานเจดีย์ เนื่องจากซากอาคารที่เป็นเจดีย์ในวัฒนธรรมทวารวดีส่วนใหญ่มีแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส (ศักดิ์ชัย สายสิงห์ 2547 : 110)
เทคนิคการก่อสร้าง ใช้วิธีปรับถมดินให้แน่นโดยการนำทรายและหินทรายสีม่วงก้อนเล็กมาอัดเป็นแกนกลาง แล้วก่อด้วยอิฐก้อนใหญ่มีแกลบข้าวปน เป็นอิฐแบบที่ใช้ในวัฒนธรรมทวารวดี ก่อซ้อนขึ้นมาโดยไม่สอปูนแล้วฉาบปูนปิดผนัง
จากการขุดแต่งเมื่อพ.ศ.2542 พบชิ้นส่วนธรรมจักรศิลาภายในฐานเจดีย์ แตกเป็น 2 ชิ้น สลักทึบทั้งสองด้าน บริเวณขอบโดยรอบสลักลวดลายผักกูด ถัดเข้ามาเป็นลายดอกวงกลมสลับรูปสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูนแทรกด้วยลายผักกูดภายในเส้นคู่ขนาน บริเวณซี่ธรรมจักรสลักเป็นแท่งยึดกงไว้ ปลายซี่สลักเป็นลายผักกูดคั่นด้วยลายจุดไข่ปลาภายในลายเส้นคู่ขนาน บริเวณระหว่างซี่ด้านแรกสลักเป็นลายดอกบัว ด้านที่สองสลักเป็นลายก้านต่อดอก (เขมิกา หวังสุข 2543 : 173) เป็นลักษณะศิลปกรรมที่เหมือนกับธรรมจักรศิลาพบที่วัดธรรมาจักรเสมาราม และสามารถเทียบได้กับธรรมจักรที่พบในเมืองโบราณสมัยทวารวดีอื่นๆ เช่น เมืองนครปฐมโบราณ จังหวัดนครปฐม เมืองคูบัว จังหวัดราชบุรี เมืองอู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี (สำนักงานโบราณคดีและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่ 10 สุพรรณบุรี 2545 : 77-78) เป็นต้น อายุราวพุทธศตวรรษที่ 12-13
นอกจากนี้ยังพบชิ้นส่วนมือของประติมากรรมปูนปั้นสันนิษฐานว่าเป็นพระโพธิสัตว์ และชิ้นส่วนปูนปั้นรูปสัตว์
แผนผังของโบราณสถานหมายเลข 2 เมืองเสมา มีลักษณะคล้ายคลึงกับโบราณสถานหมายเลข 8, 10, 21, 22, 28, 29, 34 ที่เมืองคูบัว จังหวัดราชบุรี (สมศักดิ์ รัตนกุล 2535 : 24)
เขมิกา หวังสุข. “พัฒนาการทางวัฒนธรรมในลุ่มแม่น้ำมูล : กรณีศึกษาแหล่งโบราณคดีเมืองเสมา อำเภอสูงเนิน จังหวัดนครราชสีมา.” วิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต (โบราณคดีสมัยประวัติศาสตร์) บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2543.
ปุราณรักษ์, หจก. รายงานการขุดแต่งเพื่อการบูรณะโบราณสถานเมืองเสมา ตำบลเสมา อำเภอสูงเนิน จังหวัดนครราชสีมา. รายงานเสนอต่อสำนักงานโบราณคดีและพิพิธภัณฑ์แห่งชาติที่ 9 จังหวัดนครราชสีมา, 2542. (อัดสำเนา)
ศักดิ์ชัย สายสิงห์. ศิลปะทวารวดี. กรุงเทพฯ : เมืองโบราณ, 2547.
สำนักงานโบราณคดีและพิพิธภัณฑ์แห่งชาติที่ 2 สุพรรณบุรี. โบราณคดีเมืองอู่ทอง. นนทบุรี : โรงพิมพ์สหมิตรพริ้นติ้ง, 2545.
สมศักดิ์ รัตนกุล. โบราณคดีเมืองคูบัว. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร (จัดพิมพ์เนื่องในงานพระราชทานเพลิงศพ ว่าที่ ร.ต.สมศักดิ์ รัตนกุล), 2535.