โพสต์เมื่อ 13 ก.ค. 2020
ชื่ออื่น : ถ้ำเรขาคณิต
ที่ตั้ง : วัดพระพุทธบาทภูเก้า ม.10 บ้านดงบาก ต.นิคมพัฒนา อ.โนนสัง
ตำบล : นิคมพัฒนา
อำเภอ : โนนสัง
จังหวัด : หนองบัวลำภู
พิกัด DD : 16.908889 N, 102.483333 E
เขตลุ่มน้ำหลัก : พอง
เขตลุ่มน้ำรอง : ห้วยซำเม็ก, ห้วยบอง, ห้วยโซม
จากตัวจังหวัดหนองบัวลำภู ใช้ทางหลวงหมายเลข 2146 มุ่งหน้า ต.บ้านถิ่น อ.โนนสัง ประมาณ 27 กิโลเมตร เมื่อถึงตัว ต.บ้านถิ่น ให้เลี้ยวขวามุ่งหน้าภูเก้าและบ้านดงบาก ต.นิคมพัฒนา ไปตามถนนประมาณ 11 กิโลเมตรถึงบ้านดงบาก พบสามแยกให้เลี้ยวซ้ายไปตามถนนประมาณ 400 เมตร จะพบทางขึ้นสู่ภูเก้าและวัดพระพุทธบาทภูเก้าอยู่ทางขวามือ ไปตามระยะทางขึ้นสู่ภูเก้าอีกประมาณ 2.7 กิโลเมตร จะถึงวัดพระพุทธบาทภูเก้า แหล่งภาพเขียนสีถ้ำมึ้มตั้งอยู่ภายในวัด ใกล้กับภาพเขียนสีถ้ำอาจารย์สิม
ภาพเขียนสีถ้ำมึ้มตั้งอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติภูเก้า-ภูพานคำ (สำนักอุทยานแห่งชาติ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม) ซึ่งอุทยานดังกล่าวกินพื้นที่ 3 จังหวัด คือ หนองบัวลำภู อุดรธานี และขอนแก่น มีแหล่งท่องเที่ยวมากมายทั้งทางธรรมชาติและประวัติศาสตร์โบราณคดี เช่น เขื่อนอุบลรัตน์ ทิวทัศน์ริมทะเลสาบเหนือเขื่อนอุบลรัตน์และเกาะแก่งต่างๆ น้ำตกตาดฟ้า หอสวรรค์ หามต่างหรือหามตั้ง รอยเท้านายพราน รอยตีนหมา รวมทั้งความอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติป่าไม้ต่างๆ แหล่งศิลปะถ้ำอาจารย์สิม ถ้ำจันได ถ้ำเสือตก1 ถ้ำเสือตก2 ถ้ำพลานไฮ แหล่งโบราณคดีโนนนกทาและดอนกลาง
นักท่องเที่ยวที่สนใจเข้าเยี่ยมชมถ้ำมึ้มและสถานที่ต่างๆในอุทยานแห่งชาติภูเก้า-ภูคำ สามารถติดต่อและจองบ้านพักได้ที่ อุทยานแห่งชาติภูเก้า-ภูพานคำ ตู้ ปณ.2 ปทจ.อุบลรัตน์ อ.อุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น รหัสไปรษณีย์ 40250 โทรศัพท์ 042-956-528, 081-221-0523, 02-562- 0760 อีเมล reserve@dnp.go.th, webmaster@dnp.go.th โดยชาวไทยเสียค่าธรรมเนียมเข้าอุทยานฯ 20 บาท สำหรับผู้ใหญ่ และ 10 บาท สำหรับเด็ก ในขณะที่ชาวต่างชาติเสียค่าธรรมเนียมเข้าอุทยานฯ 100 บาท สำหรับผู้ใหญ่ และ 50 บาท สำหรับเด็ก
วัดพระพุทธบาทภูเก้า, กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช
แหล่งโบราณคดีตั้งอยู่บนภูเก้า ห่างจากวัดพระพุทธบาทภูเก้าไปทางทิศใต้ประมาณ 5 กม. ห่างจากถ้ำอาจารย์สิมไปทางทิศตะวันตกประมาณ 150 เมตร (พัชรี สาริกบุตร 2543)
ลักษณะของแหล่งเป็นก้อนหินขนาดใหญ่ที่ตั้งอยู่บนพื้นดินคล้ายภูเขาลูกเล็กๆ ยาวประมาณ 100 เมตร ตอนกลางของก้อนหินด้านทิศตะวันออกมีโพรงลึกเข้าไปเรียกว่าถ้ำมึ้ม ปากถ้ำกว้างประมาณ 8 เมตร ลึกประมาณ 4 เมตร สูงจากพื้นหินประมาณ 2.5 เมตร เพดานถ้ำภายในปรากฏภาพเขียนและภาพสลัก ส่วนผนังหินด้านล่างหน้าปากถ้ำในส่วนที่ติดกับพื้นดิน มีภาพสลักอยู่เต็มผนัง ขนาดสูง 2 เมตร ยาว 11 เมตร (กรมศิลปากร 2532 ; กองโบราณคดี 2532 ; ต่อสกุล ถิรพัฒน์ และคณะ 2540 ; พเยาว์ เข็มนาค 2539 ; พัชรี สาริกบุตร 2543)
ภูเก้า ประกอบด้วยภูเขา 9 ลูก คือ ภูฝาง ภูขุมปูน ภูหัน ภูเมย ภูค้อหม้อ ภูชั้น ภูเพราะ ภูลวก และภูวัด ภูทั้ง 9 ลูกนี้มี ความสลับซับซ้อนมาก มีสัณฐานคล้ายกะทะหงาย โดยมีที่ราบอยู่ตอนกลาง ล้อมรอบด้วยเทือกเขาสองชั้น ชั้นนอกเป็นภูเขาสูงและมีความลาดชันมาก ไหล่เขาด้านในมีความลาดชันไม่มากนัก (ถ้ำมึ้มตั้งอยู่ในไหล่เขาด้านในของเทือกเขาชั้นนอก) พื้นที่ส่วนใหญ่มีลักษณะ สูงๆต่ำๆ บางแห่งเป็นที่ราบ พื้นที่เช่นนี้น่าจะเป็นซากภูเขาไฟโบราณที่ดับสนิทไปแล้วหลายร้อยล้านปี หรือมิฉะนั้นก็เป็นการโก่งตัวของเปลือกโลกในบริเวณนี้ขึ้นมาเป็นขอบเทือกเขา
ปัจจุบันภูเก้ารวมถึงแหล่งโบราณคดีตั้งอยู่ในเขตพื้นที่อุทยานแห่งชาติภูเก้า-ภูพานคำ ลักษณะโดยรอบทั่วไปเป็นป่าเต็งรัง มีไม้ขึ้นอยู่กระจัดกระจายอยู่ทั่วไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริเวณที่เป็นไหล่เขาและสันเขา พรรณไม้ที่สำคัญได้แก่ เต็ง รัง เหียง พลวง พะยอม กระโดน ไม้พื้นล่างประกอบด้วย ปรงป่า หญ้าเพ็ก เป้ง เถาวัลย์ และไม้หนามหลายชนิด ส่วนป่าเบญจพรรณเป็นป่าที่มีอยู่ในบริเวณที่ลุ่มริมฝั่งห้วย หุบเขา และไหล่เขาบางส่วน พรรณไม้ที่สำคัญได้แก่ แดง ประดู่ มะค่าแต้ กระบก ตะคร้อ ตีนนก ไม้พื้นล่าง เป็นไม้ไผ่ ป่าดงดิบมีอยู่เฉพาะบริเวณริมฝั่งห้วยเท่านั้น พรรณไม้ที่สำคัญได้แก่ ตะแบก ยาง ตะเคียนหิน มะค่าโมง กระบก และชิงชัน
แม่น้ำพอง, ห้วยซำเม็ก, ห้วยบอง, ห้วยโซม
แหล่งโบราณคดีตั้งอยู่บนภูเขาหินทรายซึ่งเป็นขอบเทือกเขาชั้นนอกของภูเก้า จัดอยู่ในหมวดหินพระวิหาร กลุ่มหินโคราช ในยุคครีเทเชียสถึงจูแรสซิก ส่วนเทือกเขาชั้นในและภายในภูเก้าเป็นหินทรายกลุ่มหินโคราช ยุคครีเทเชียส หมวดหินโคกกรวด ภูพาน และเสาขัว
ชื่อผู้ศึกษา : Wilhelm G. Solheim
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2506
วิธีศึกษา : สำรวจ
ผลการศึกษา :
Wilhelm G. Solheim สำรวจพบแหล่งศิลปะถ้ำที่ถ้ำมึ้ม (พเยาว์ เข็มนาค 2539 : 126)ชื่อผู้ศึกษา : กองโบราณคดี กรมศิลปากร, ม.ฮาวาย
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2512
วิธีศึกษา : สำรวจ
องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร, ม.ฮาวาย
ผลการศึกษา :
คณะสำรวจจากกองโบราณคดี กรมศิลปากร ร่วมกับ ม.ฮาวาย เข้าสำรวจถ้ำมึ้มอีกครั้ง (กรมศิลปากร 2532 : 206)ชื่อผู้ศึกษา : โครงการโบราณคดีภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กรมศิลปากร
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2525
วิธีศึกษา : สำรวจ, ศึกษาศิลปะถ้ำ
ผลการศึกษา :
โครงการโบราณคดีภาคตะวันออกเฉียงเหนือ สำรวจถ้ำมึ้มอีกครั้ง รวมทั้งยังได้คัดลอกภาพบนผนังถ้ำ (พเยาว์ เข็มนาค 2539 : 126)ชื่อผู้ศึกษา : กรมศิลปากร, กองโบราณคดี กรมศิลปากร
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2532
วิธีศึกษา : สำรวจ, ศึกษาศิลปะถ้ำ
องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร
ผลการศึกษา :
เผยแพร่ผลการสำรวจและศึกษาภาพเขียนสีที่พบในภาคตะวันออกเฉียงเหนือรวมทั้งที่ถ้ำมึ้มไว้ในหนังสือ “แหล่งโบราณคดีประเทศไทย เล่ม 3” และ “ศิลปะถ้ำในอีสาน”ชื่อผู้ศึกษา : พัชรี สาริกบุตร
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2543
วิธีศึกษา : ศึกษาศิลปะถ้ำ
องค์กรร่วม / แหล่งทุน : ม.ศิลปากร
ผลการศึกษา :
ผศ.พัชรี สาริกบุตร คณะโบราณคดี ม.ศิลปากร รวบรวม ศึกษา และวิเคราะห์ตีความภาพเขียนสีและภาพสลักยุคก่อนประวัติศาสตร์ที่พบในประเทศไทย รวมทั้งภาพเขียนสีถ้ำมึ้มศิลปะถ้ำที่ปรากฏในถ้ำมึ้มมีทั้งที่เป็นภาพเขียนสี (Pictograph) และภาพสลัก (Petroglyph) ซึ่งส่วนใหญ่เป็นภาพสลักและนับเป็นภาพแกะสลักที่ผนังหินที่ใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยพบในไทย (พัชรี สาริกบุตร 2543)
ศิลปะถ้ำที่ปรากฏในถ้ำมึ้มมีทั้งที่ใช้เทคนิคการลงสี (pictograph) และการทำรูปรอยลงบนหิน (petroglyph) ซึ่งส่วนใหญ่เป็นภาพสลักและนับเป็นภาพแกะสลักที่ผนังหินที่ใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยพบในไทย (พัชรี สาริกบุตร 2543)
ภาพบนผนังถ้ำมึ้มแบ่งออกเป็น 2 ส่วน ตามตำแหน่งที่พบ คือ 1.ภาพบนผนังปากถ้ำ 2.ภาพบนผนังและเพดานภายในถ้ำ (พเยาว์ เข็มนาค 2539 ; กรมศิลปากร 2532 ; กองโบราณคดี 2532 ; พัชรี สาริกบุตร 2543)
1.ภาพบนผนังปากถ้ำ ปรากฏภาพสลักหรือการทำรูปรอยลงในเนื้อหิน (petroglyph) มีทั้งถูให้เป็นร่อง (abraded) สลักหรือจาร (engraved) แกะหรือตอก (pecked) ผสมกันไป แต่ส่วนมากจะเป็นการถูให้เป็นร่อง
ภาพตรงกลางผนังมีความหนาแน่นมากกว่าส่วนริมทั้ง 2 ด้าน ผิวของหินไม่เรียบ เพราะมีรอยแตกของหินเป็นเส้นตามธรรมชาติของหินชนิดนี้ บางเส้นเห็นได้ชัดว่าผู้ทำภาพได้ใช้รอยแตกนี้ฝนและสลักตกแต่งให้เป็นเส้นเพื่อสร้างเป็นภาพเป็นรูปร่างต่างๆด้วย ภาพด้านซ้ายสุดเป็นลายเส้นคู่ สามเหลี่ยม สี่เหลี่ยมขนมเปียกปูน และรูปปลาหันหัวขึ้น บริเวณหัวมีหินกรวดสีขาวอยู่ในตำแหน่งตรงหัวพอดี ซึ่งเป็นการจงใจวางภาพปลาไว้ตำแหน่งนี้ ภาพถัดไปเป็นภาพลายเส้นห่างกันเป็นช่วงๆ มีภาพหัวลูกศรด้วย
ต่อจากนั้นเป็นภาพกลุ่มใหญ่อยู่ตรงกลางผนัง ทำเป็นเส้นตรงเรียงแถวค่อนข้างมีระเบียบ บางช่วงมีเส้นตัดขวางทำให้เกิดรูปร่างต่างๆ คือ สามเหลี่ยม สี่เหลี่ยม สี่เหลี่ยมขนมเปีนยกปูน เส้นคู่ขนาน กากบาท หยักฟันปลา ตัวปลา หัวลูกศร รูปคล้ายหน้าไม้ รูปคล้ายแม่พิมพ์ขวาน และรูปแบบขวานโลหะ จำแนกภาพต่างๆ ที่พบบนผนังหินนี้ได้ (พเยาว์ เข็มนาค 2539) คือ
ภาพสัตว์ มีปลา 3 ตัว สร้างรูปโดยใช้สี่เหลี่ยมขนมเปียกปูน
ภาพวัตถุ ขวาน? 11 ภาพ และแม่พิมพ์ 1 คู่ รูปร่างคล้ายขวานสำริดและเหล็ก พร้อมกับภาพหน้าไม้?
ภาพลายเส้นหรือที่เรียกว่า ภาพสัญลักษณ์ มีเส้นเดี่ยว ลายเส้นคู่ สามเหลี่ยม สี่เหลี่ยม และกากบาท
2.ภาพบนผนังและเพดานภายในถ้ำ ช่างได้พยายามเลือกบริเวณผนังหินที่ค่อนข้างรียบ จึงทำให้ภาพกระจายออกเป็นกลุ่มๆ จำนวน 3 กลุ่มด้วยกัน (พเยาว์ เข็มนาค 2539)
กลุ่มที่ 1 อยู่บนผนังถ้ำติดกับพื้นหิน ขนาดของกลุ่มภาพสูง 50 เซนติเมตร ยาว 3 เมตร เทคนิคการทำภาพเป็นการถูหรือเซาะร่อง โดยใช้เส้นตรงสร้างภาพให้เกิดเป็นรูปร่างต่างๆ เช่นเดียวกับภาพที่ผนังปากถ้ำที่มีลายเส้นตรง เส้นคู่ สามเหลี่ยม สี่เหลี่ยมขนมเปียกปูน กากบาท และภาพปลาหันหัวลง
กลุ่มที่ 2 อยู่ติดกับปากถ้ำด้านใน ขนาดของกลุ่มภาพขนาด 1x1.5 เมตร เทคนิคการทำภาพเป็นเช่นเดียวกับภาพกลุ่มที่ 1 ลวดลายภาพส่วนใหญ่คล้ายกัน
กลุ่มที่ 3 อยู่กลางเพดานถ้ำ มีทั้งภาพเขียนและภาพสลักอยู่ด้วยกัน เป็นภาพลายเส้นแบบต่างๆ เช่น ลายเส้นคู่ขนานเรียงแถวกัน 5 เส้น ภาพสี่เหลี่ยม ตาราง ลายบั้ง ลายเส้นโค้ง ลายเส้นคด ส่วนภาพสลักนั้นมีลายหินแล้วสลักภาพคล้ายงูลงไป ภาพมือแดงแบบทาบและมีการเซาะร่องลงบนฝ่ามือ แสดงให้เห็นถึงเทคนิคการทำทั้ง 2 วิธี คือ การลงสีและการทำรูปรอยลงบนหินที่ถ้ำมึ้มนั้นเกิดขึ้นพร้อมกัน ซึ่งเป็นของกลุ่มชนที่รู้จักการใช้ประโยชน์จากโลหะแล้ว
พัชรี สาริกบุตร (2543) ให้ข้อมูลว่า เทคนิคในการเขียนภาพที่ถ้ำมึ้มนี้น่าจะใช้พู่กันที่มีขนาดเส้นเล็ก สังเกตได้จากน้ำหนักการลงสีที่เสมอกัน พู่กันอุ้มเนื้อสีได้มาก เนื้อสีไหลซึมเข้าตามรูพรุนได้ดี ส่วนการแกะสลักคงจะใช้วัตถุที่มีเนื้อแข็ง อาจเป็นโลหะปลายแหลมเซาะเป็นร่อง อาจขัดถูทำให้ร่องนั้นมีปลายแหลมทั้งสองข้าง น้ำหนักมือกดลงตรงส่วนกลางของร่อง ทำให้กว้างและลึกกว่าส่วนปลาย ภาพที่ได้ออกมาจึงมีมุมต่อที่สนิท เช่น รูปสามเหลี่ยม เป็นต้น การที่รู้จักเลือกผิวหิน ลักษณะของเส้น ความจงใจในการสร้างภาพให้เป็นรูปร่างต่างๆ ภาพสัญลักษณ์ ภาพเขียนสีที่อยู่ร่วมกับภาพสลัก ทั้งหมดย่อมมีความหมายอย่างใดอย่างหนึ่ง และภาพทั้งหมดทำขึ้นในคราวเดียวกัน
ในขณะที่คณะสำรวจของกรมศิลปากร (2532) สันนิษฐานว่าภาพเขียนสีเหล่านี้ถูกเขียนขึ้นเพื่อตอบสนองความเชื่อทางสังคม ศิลปินผู้วาดภาพสันนิษฐานว่าอยู่ในกลุ่มชนที่ดำรงชีวิตแบบสังคมดั้งเดิม ผูกพันกับธรรมชาติ การเขียนภาพเป็นส่วนหนึ่งของพิธีกรรม ทำขึ้นเพื่อสร้างความมั่นคงเกี่ยวกับสภาพความเป็นอยู่ของสังคม ภาพเขียนที่พบคล้ายกับภาพเขียนของแหล่งอื่นที่อยู่ไกลออกไป อาจเนื่องมาจากอพยพจากชุมชนหนึ่งไปอีกชุมชนหนึ่ง เป็นกลุ่มชนที่มีระดับพัฒนาการทางสังคมบนพื้นฐานเดียวกัน หรือเป็นกลุ่มชนที่มีการติดต่อกัน กลุ่มชนเหล่านี้ใช้ประโยชน์จากเพิงหินเป็นที่พักพิงชั่วคราวเพื่อทำกิจกรรมบางอย่าง บริเวณนี้น่าจะเป็นที่อยู่อาศัยของกลุ่มชนคือแถบที่ราบชายเขา และมีการเคลื่อนย้ายถิ่นฐานไปเรื่อยๆ ทำให้ไม่พบเครื่องมือที่ใช้เขียนภาพในบริเวณแหล่งภาพเขียนสี
พเยาว์ เข็มนาค (2539) สันนิษฐานว่าภาพเขียนและภาพสลักเหล่านี้ น่าจะเกิดจากการประกอบพิธีกรรมเกี่ยวกับการทำมาหากิน และบันทึกเหตุการณ์บางอย่างที่มีความหมายต่อชีวิตและสังคม จากภาพปลาทำให้สันนิษฐานได้ถึงการให้ความสำคัญกับลำน้ำและเรื่องอาหาร ผลจากการขุดค้นทางโบราณคดีหลายแห่งพบก้างปลาชนิดใหญ่เป็นจำนวนมาก รวมทั้งที่บ้านเชียงในสมัยสำริด
แหล่งถ้ำมึ้มนี้เป็นแหล่งแรกและแหล่งเดียวในภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่มีการแกะสลักขนาดใหญ่ และจากลักษณะของภาพ ภาพเหล่านี้สร้างขึ้นในช่วงใดช่วงหนึ่งในสมัยโลหะ (พัชรี สาริกบุตร 2543) หรือรุ่นราวคราวเดียวกับศิลปะถ้ำบนภูพระบาท อ.บ้านผือ (พเยาว์ เข็มนาค 2539 ; กรมศิลปากร 2532)
ทั้งนี้ บริเวณภูเก้า พบแหล่งโบราณคดียุคก่อนประวัติศาสตร์หลายแห่ง ทั้งแหล่งศิลปะถ้ำบนภูเก้าและดอนกลาง ที่อยู่บนที่ราบเชิงเขาภูเก้าด้านทิศตะวันออก
กรมศิลปากร. แหล่งโบราณคดีประเทศไทย เล่ม 3. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2532.
กองโบราณคดี กรมศิลปากร. ศิลปะถ้ำในอีสาน. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2532.
ต่อสกุล ถิรพัฒน์, ภาวิทย์ มหัทธนาสิงห์ และสมภพ พงษ์พัฒน์. “การศึกษาเปรียบเทียบภาพเขียนสีรูปคนสมัยก่อนประวัติศาสตร์ในแหล่ง ศิลปะถ้ำภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้” สารนิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรบัณฑิต (โบราณคดี) มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2540.
พเยาว์ เข็มนาค. ศิลปะถ้ำสมัยก่อนประวัติศาสตร์ในประเทศไทย. กรุงเทพฯ : กองโบราณคดี กรมศิลปากร, 2539.
พัชรี สาริกบุตร. “ถ้ำมึ้ม.” ภาพเขียนสีและภาพสลัก : ศิลปะสมัยก่อนประวัติศาสตร์ในประเทศไทย. (ออนไลน์), 2543. เข้าถึงเมื่อ 13 กุมภาพันธ์ 2557. แหล่งที่มา http://www.era.su.ac.th/RockPainting/northeast/index.html