พระธาตุพนม


โพสต์เมื่อ 13 ก.ค. 2020

ชื่ออื่น : อุรังคเจดีย์

ที่ตั้ง : วัดพระธาตุพนมวรมหาวิหาร เลขที่ 183/13 ถ.ชยางกูร บ้านธาตุพนม ต.ธาตุพนม อ.ธาตุพนม

ตำบล : ธาตุพนม

อำเภอ : ธาตุพนม

จังหวัด : นครพนม

พิกัด DD : 16.942586 N, 104.723906 E

เขตลุ่มน้ำหลัก : โขง

เขตลุ่มน้ำรอง : ลำน้ำก่ำ, เซบั้งไฟ

เส้นทางเข้าสู่แหล่ง

เดินทางจากกรุงเทพฯไปทางทิศเหนือตามทางหลวงหมายเลข 2 (ถนนมิตรภาพ) ประมาณ 210 กิโลเมตร จึงเลี้ยวขวาเข้าทางหลวงหมายเลข 2285 ประมาณ 162 กิโลเมตร แล้วเลี้ยวซ้ายเข้ทางหลวงหมายเลข 2169 ประมาณ 60 กิโลเมตร เข้าทางหลวงหมายเลข 2074 ประมาณ 7.5 กิโลเมตร แล้วเลี้ยวซ้ายเข้าทางหลวงหมายเลข 212 เข้าสู่อำเภอธาตุพนม วิ่งจนสุดทางเลียบแม่น้ำโขง พระธาตุพนมอยู่ทางซ้ายมือ ภายในวัดพระธาตุพนมวรมหาวิหาร

ประโยชน์ทางการท่องเที่ยว

เป็นแหล่งท่องเที่ยว

รายละเอียดทางการท่องเที่ยว

พระธาตุพนมเป็นพุทธศาสนสถานคู่บ้านคู่เมืองนครพนมและประเทศไทยมาช้านาน ได้รับการเคารพสักการะทั้งจากชาวไทยและชาวลาว นอกจากนี้วัดพระธาตุพนมวรมหาวิหาร ยังนับเป็นสถานศักดิ์สิทธิ์ที่ครั้งพระราชพิธีราชาภิเษกของทุกรัชกาล จะต้องมีการนำน้ำจากสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ภายในประเทศรวมทั้งที่วัดพระธาตุพนมไปร่วมพิธีเพื่อประกอบพิธีมุรธาภิเษก และเมื่อถึงเทศกาลสงกรานต์ พระเจ้าอยู่หัวจะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานต้นไม้ ทอง เงิน น้ำอบ และผ้าคลุม เพ่อนมัสการพระธาตุพนมทุกปี ในเทศกาลเข้าพรรษา ก็จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเทียนพรรษาเป็นพุทธบูชาทุกปี

งานนมัสการพระธาตุพนมประจำปีจัดขึ้นระหว่างวันขึ้น 10 ค่ำ เดือน 3 ถึงวันแรม 1 ค่ำ เดือน 3 ของทุกปี

ปัจจุบันวัดพระธาตุพนมและพระธาคุพนมได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์และดูแลรักษาเป็นอย่างดี ผู้สนใจสามารถเข้าสักการะและเยี่ยมชมได้ทุกวัน ระหว่างเวลา 8.00-18.00 น.

หน่วยงานที่ดูแลรักษา

วัดพระธาตุพนมวรมหาวิหาร, กรมศิลปากร

การขึ้นทะเบียน

ขึ้นทะเบียนของกรมศิลปากร

รายละเอียดการขึ้นทะเบียน

ได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานสำคัญของชาติในราชกิจจานุเบกษา

เล่มที่ 52 หน้า 3687 ลงวันที่ 8 มีนาคม 2478

เล่มที่ 96 ตอนที่ 160 หน้า 3217 ลงวันที่ 18 กันยายน 2522

ภูมิประเทศ

ที่ราบ

สภาพทั่วไป

สถานที่ตั้งของพระธาตุเป็นเนินดินสูงกว่าบริเวณโดยรอบประมาณ 2 เมตร เรียก(ตามตำนาน)ว่า ภูกำพร้า ภูนี้อยู่ทางทิศตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยาห่างประมาณ 600 เมตร ด้านหน้าภูกำพร้าซึ่งเป็นทิศตะวันออกเป็นถนนชยางกูร ซึ่งเป็นถนนสายนครพนม-อุบลราชธานีตัดผ่าน โดยถัดจากถนนนี้ต่อไปทางทิศตะวันออก เป็นบึงน้ำกว้างประมาณ 300 เมตร ยาวขนานไปกับแม่น้ำโขง เรียกกันว่า บึงธาตุ นอกจากนี้พระธาตุพนมยังตั้งอยู่บริเวณที่ลำน้ำใหญ่ 3 สายมาบรรจบกัน ได้แก่ แม่น้ำโขง ลำน้ำก่ำ และลำน้ำเซบั้งไฟ มีสภาพภูมิศาสตร์เหมาะสำหรับทำการเกษตรกรรม

ทางน้ำ

แม่น้ำโขง, ลำน้ำก่ำ, ลำน้ำเซบั้งไฟ

สภาพธรณีวิทยา

โดยทั่วไปเป็นหินชั้น หรือตะกอนของหินชุด หรือหินตะกอนที่เกิดสะสมตัวในยุคซีโนโซอิค แบ่งเป็นสภาพสันดินริมน้ำเก่าและที่ราบน้ำท่วมถึงกับสภาพลานตะพักลำน้ำ ซึ่งมีสภาพพื้นที่สูงกว่าที่ราบน้ำท่วมถึง วัตถุต้นกำเนิดดินเกิดจากน้ำพัดพามาทับถมทั้งเก่าและใหม่ ลักษณะตะกอนเป็นดินทราย ดินทรายแห้ง ดินร่วนเหนียวปนทรายแป้ง และดินเหนียวทับถมทั่วไป ทางด้านใต้ของจังหวัดบริเวณที่ตั้งของแหล่งโบราณคดีมีลักษณะเป็นที่ราบน้ำท่วมถึงสลับกับเนินดินหรือหิน 

ยุคทางโบราณคดี

ยุคประวัติศาสตร์

สมัย/วัฒนธรรม

สมัยทวารวดี, สมัยรัตนโกสินทร์, สมัยล้านช้าง, สมัยเจนละ

อายุทางโบราณคดี

พุทธศตวรรษที่ 12-14

อายุทางตำนาน

พ.ศ.8

ประวัติการศึกษา

ชื่อผู้ศึกษา : สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2472

วิธีศึกษา : ประวัติศาสตร์ศิลปะ, ศึกษาสถาปัตยกรรม, ประวัติศาสตร์

ผลการศึกษา :

พระธาตุพนมสร้างก่อนสมัยขอม อยู่ราวสมัยฟูนัน

ชื่อผู้ศึกษา : เลอ เมย์

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2472

วิธีศึกษา : ประวัติศาสตร์ศิลปะ, ศึกษาสถาปัตยกรรม

ผลการศึกษา :

พระธาตุพนมควรมีอายุระหว่างพุทธศตวรรษที่ 11 หรือ 12 ตรงกับสมัยไพรกเมงของอาณาจักรเจนละ และทวารวดีในที่ราบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาหรือทวารวดีอีสาน

ชื่อผู้ศึกษา : ฌ็อง บวสเซอรีเย่

วิธีศึกษา : ประวัติศาสตร์ศิลปะ

ผลการศึกษา :

ภาพสลักอิฐของพระธาตุพนมคงอยู่ในสมัยพุทธศตวรรษที่ 15

ชื่อผู้ศึกษา : อนุวิทย์ เจริญศุภกุล

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2518

วิธีศึกษา : ประวัติศาสตร์ศิลปะ, ศึกษาสถาปัตยกรรม, ศึกษาตำนาน

ผลการศึกษา :

ศึกษาเทคนิคการก่ออิฐตัวอาคารพระธาตุพนม เป็นเทคนิคแบบผสม (คือไม่มีระเบียบที่ตายตัว) เมื่อเปรียบเทียบลักษณะการก่อสร้างเรียงอิฐของพระธาตุพนมพบว่าใช้อยู่ในหมู่ปราสาทอิฐจำนวนหนึ่งที่มีอายุราวพุทธศตวรรษที่ 15 เช่นปราสาทเนินกู่ ปราสาทเมืองแขก ปราสาทอิฐที่ปราสาทหินพนมรุ้ง ปรางค์แขกที่ลพบุรี ซึ่งแตกต่างไปจากปราสาทอิฐที่มีอายุก่อนหน้าในพุทธศตวรรษที่ 13 คือปราสาทภูมิโพน และแตกต่างจากปราสาทอิฐที่มีอายุหลังพุทธศตวรรษที่ 17 ลงมา เช่นปราสาทอิฐศรีขรภูมิ กู่สวนแตง และปรางค์กู่ ซึ่งก่อสร้างโดยระบบอิงลิชบอนด์เป็นส่วนมาก ดังนั้น จากเทคนิคการก่ออิฐจึงกำหนดอายุพระธาตุพนมอยู่ระหว่างพุทธศตวรรษที่ 13-15

ชื่อผู้ศึกษา : พิเศษ เจียจันทร์พงษ์

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2518, พ.ศ.2519, พ.ศ.2520, พ.ศ.2521, พ.ศ.2522

วิธีศึกษา : ประวัติศาสตร์ศิลปะ, ศึกษาสถาปัตยกรรม, ศึกษาตำนาน

ผลการศึกษา :

อุรังคธาตุ หรือตำนานพระธาตุพนม มีเนื้อหาตอนต้นกล่าวถึงระยะเวลาก่อนพระพุทธจ้านิพพาน พระองค์ได้ทำนายเหตุการณ์บ้านเมือง ซึ่งพระเทพรัตนโมลี เจ้าอาวาสวัดพระธาตุพนมได้เคยตั้งข้อสังเกตไว้สั้นๆในหนังสืออุรังคนิทานของท่านว่า เป็นประวัติศาสตร์ของกษัตริย์ลาว ซึ่งเมื่อนำบุคคลในตำนานมาเปรียบเทียบกับเหตุการณ์ที่เกี่ยวกับกษัตริย์ลาวแล้วก็รับกัน โดยเนื้อเรื่องจบลงในสมัยพระเจ้าสุริวงศา ทำให้เข้าใจว่าเขียนขึ้นในสมัยนี้ ช่วงพ.ศ.2176-2181 (จ.ศ.995-1000) โดยพระยาศรีไชยชมพูข้าราชสำนักเป็นผู้เรียบเรียง เพื่อเฉลิมฉลองเวลาอันเป็นมงคล คือพิธีราชาภิเษกใน พ.ศ.2181 (จ.ศ.1000) ซึ่งลาวถือว่าเป็น “ปุณณสหัสวุฒิมงคลสังกราช”

ชื่อผู้ศึกษา : น. ณ ปากน้ำ (ประยูร อุลุชาฏะ)

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2518

วิธีศึกษา : ประวัติศาสตร์ศิลปะ, ศึกษาสถาปัตยกรรม

ผลการศึกษา :

เดิมพระธาตุพนมเป็นทรงโอคว่ำ และก่อสร้างด้วยอิฐทับอุโมงค์บรรจุพระอุรังคธาตุ ต่อมาจึงมีการสร้างพระสถูประหว่าง 11-12 ซึ่งปรากฏศิลปะสมัยนี้ที่ส่วนล่างของพระธาตุพนม โดยมีลวดลายเปรียบเทียบได้ว่ามีความสัมพันธ์กับลวดลายบนใบเสมาที่พบทีเมืองฟ้าแดดสงยาง

ชื่อผู้ศึกษา : คณะกรรมการดำเนินงานบรรจุพระบรมสารีริกธาตุในองค์พระธาตุพนม

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2518, พ.ศ.2519, พ.ศ.2520, พ.ศ.2521, พ.ศ.2522

วิธีศึกษา : ขุดค้น, บูรณปฏิสังขรณ์, ประวัติศาสตร์ศิลปะ, ศึกษาสถาปัตยกรรม, ศึกษาการตั้งถิ่นฐาน/การใช้พื้นที่

ผลการศึกษา :

ผลการขุดค้นพบชั้นหลักฐานตั้งแต่การปรับพื้นที่เพื่อก่อสร้างพระธาตุพนม เมื่อก่อสร้างแล้วมีร่องรอยการก่อพอกทับ ดัดแปลงจากศาสนสถานในศาสนาฮินดูเป็นพุทธสถาน การก่อสร้างส่วนยอดเพิ่มเติม และสามารถบูรณปฏิสังขรณ์พระธาตุพนมที่ล้มพังลงมาได้ตามหลักการบูรณปฏิสังขรณ์ให้มีสภาพดีดังเดิม

ประเภทของแหล่งโบราณคดี

ศาสนสถาน

สาระสำคัญทางโบราณคดี

            พระธาตุพนม เป็นเจดีย์ที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุส่วนอก หรืออุรังคธาตุ บ้างจึงเรียกว่า อุรังคธาตุเจดีย์ อยู่ภายในวัดพระธาตุพนมวรมหาวิหาร เป็นหลักฐานสำคัญที่แสดงให้เห็นพัฒนาการทางวัฒนธรรมของชุมชน หรือเมืองบริเวณนี้ ดังปรากฏตาม ตำนานสำคัญที่มีเรื่องราวของการบรรจุ การสร้างและการปฏิสังขรณ์พระธาตุพนม คือ ตำนานอุรังคธาตุ โดยสถานที่ประดิษฐานพระอุรังคธาตุเจดีย์ ในตำนานอุรังคธาตุ เรียก “ดอยกัปปนคีรี คือ ภูกำพร้า” คงหมายถึงแผ่นดินที่อยู่โดดเดี่ยว คือเมื่อแรกสร้างพระธาตุพนมนั้น คงอยู่เป็นเกาะอยู่ในลำน้ำโขงข้างเหนือปากน้ำก่ำ กาลเวลาล่วงมา มูลดินมูลทรายทับถมงอกเงยเป็นแผ่นดินติดชิดฝั่งตะวันตก ต่อมาเมื่อตั้งเมืองนครพนมขึ้นทางฝั่งขวาของแม่น้ำโขงราว พ.ศ.2331 ในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช จึงเรียกพระธาตุเจดีย์นี้ว่า พระธาตุพนมด้วย (มานิต วัลลิโภดม และคนอื่นๆ 2518 : 92, 96)

            ลักษณะของภูกำพร้าที่สูงกว่าบริเวณโดยรอบประมาณ 2 เมตร เดิมล้อมรอบด้วยคูน้ำ 4 ด้าน คูน้ำด้านทิศตะวันออกจะไปเชื่อมกับบึงธาตุ ซึ่งยาวขนานไปกับแม่น้ำโขง

แต่เมื่อมีการตัดถนนชยางกูรทับบนคูน้ำด้านทิศตะวันออกเดิม ปลายของคูน้ำด้านทิศเหนือและทิศใต้จึงสิ้นสุดทางด้านหน้าที่ถนนตัดทับ (คณะกรรมการดำเนินงานบรรจุพระบรมสารีริกธาตุในองค์พระธาตุ 2522 : 98-99)

            ตำนานอุรังคธาตุ เรียกพื้นที่บริเวณนี้ว่า ศรีโคตรบูรณ์ ซึ่งเชื่อว่าเป็นแคว้นที่รุ่งเรืองอยู่บริเวณริมสองฝั่งแม่น้ำโขง ตั้งแต่จังหวัดอุดรธานี หนองคาย เวียงจันทน์ นครพนม ลงไปจนถึงเขตจังหวัดอุบลราชธานี มีเมืองโคตรบูรณ์เป็นเมืองหลวงระยะแรกอยู่ทางฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขง สันนิษฐานว่าคือเมืองขามแท้ ใกล้กับลำน้ำเซบั้งไฟ ซึ่งไหลออกแม่น้ำโขงตรงข้ามพระธาตุพนม อยู่ในประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ต่อมาในปีพ.ศ.2281 พระบรมราชาเอวก่าน (ตรงกับสมัยของพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศของกรุงศรีอยุธยา) ได้ย้ายเมืองหลวงมาอยู่ทางฝั่งขวาของแม่น้ำโขง และมีชื่อใหม่ว่า มรุกขนคร  (คณะกรรมการอำนวยการจัดงานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว 2544 : 47 ; มานิต วัลลิโภดม และคนอื่นๆ 2518 : 112)

            ประวัติความเป็นมาของพระธาตุพนม ตามตำนานอุรังคธาตุ อาจแบ่งระยะเวลาออกเป็น 2 ระยะ โดยมีเหตุการณ์สำคัญ ดังนี้

            ระยะแรก เป็นเรื่องราวที่เป็นนิทานปรัมปราคติ (myth) เริ่มตั้งแต่สมัยพุทธกาลพระพุทธเจ้าได้เสด็จมาโปรดสัตว์ที่แคว้นศรีโคตรบูรณ์ ในรัชกาลของพระยาติโคตรบูรผู้ครอง และทรงกำหนดให้พระกัสสปนำอุรังคธาตุมาบรรจุ ณ ภูกำพร้าหลังจากพระพุทธองค์ปรินิพพานแล้ว ต่อมาเมื่อพระมหากัสสปนำอุรังคธาตุมาบรรจุ ณ ที่นั้น เป็นเวลาที่พระยาติโคตรบูรณ์สิ้นพระชนม์แล้ว และพระยานันทเสนราชอนุชาขึ้นครองราชย์เป็นกษัตริย์แห่งศรีโคตรบูรณ์แทน เริ่มบรรจุพระบรมสารีริกธาตุด้วยการขุดดินเอามาทำแผ่นดินดิบก่อน มีขนาดแม่พิมพ์เท่าฝ่ามือพระมหากัสสป แล้วทำการขุดหลุม (บ่อกรุ) ขนาดลึก 2 ศอกพระมหากัสสป กว้าง 2 วาพระมหากัสสป และขุดอุโมงค์ (เรือนธาตุ) โดยพระมหากัสสป ท้าวพระยาทั้ง 4 พระองค์ คือ ผู้ครองนครหนองหานน้อย นครอินทปัฐ นครจุลณี นครศรีโคตรบูรณ์ และประชาชน อุโมงค์หรือเรือนธาตุนั้นก่อจากพื้นดินขึ้นไปเป็นรูปสี่เหลี่ยม สูง 1 วาพระมหากัสสป แล้วก่อเป็นรูปฝาละมีขึ้นไปจนสุดยอด สูงอีก 1 วาพระมหากัสสป หลังจากก่อพระธาตุเสร็จแล้วพระอินทร์และเทพยดาทังหลายก็พากันมาสักการะพระอุรังคธาตุ ทำรูปกษัตริย์จากแคว้นต่างๆที่มีส่วนร่วมในการก่อพระธาตุทรงช้างทรงม้าพร้อมทั้งลวดลายประดับไว้บนผนังรอบๆองค์พระธาตุทั้งสี่ รูปเหล่านี้เชื่อว่าคือลายสลักอิฐนั่นเอง

            ดังนั้นสถูปแห่งนี้สูง 2 วาพระมหากัสสป มีช่องประตู 4 ด้าน บานประตูทำด้วยไม้เปิด ปิดได้ มีพระบรมสารีริกธาตุประดิษฐานอยู่ในอุโมงค์ (เรือนธาตุ) เหนือบ่อกรุ ต่อมากษัตริย์ต่างๆสิ้นพระชนม์ พระยาติโคตรบูรณ์ได้เสวยพระชาติเป็นพระยาสุมิตตธรรมครองเมืองมรุกขนครแห่งแคว้นศรีโคตรบูรณ์ ส่วนกษัตริย์องค์อื่นๆได้บวชเรียนจนเป็นพระอรหันต์และมาพบกันอีกทีและรวมกันก่อบูรณะพระธาตุพนมครั้งที่สองขึ้น โดยตำนานกล่าวว่า “จึงเอาอุโมงค์หินยอดภูเพ็กขึ้นไปตั้งไว้” และ “เชิญเอาพระอุรังคธาตุขึ้นไปฐาปนาไว้” แสดงว่าพระบรมธาตุอยู่ตอนที่สองของพระธาตุ และให้ความรู้ว่าในสมัยพระมหากัสสปได้ก่อเรือนธาตุไว้แล้วตอนหนึ่ง ถึงสมัยนี้ก่อขึ้นอีกตอนหนึ่งรวมเป็นสองตอน แล้วก่อยอดหรือหลังคาปิดและก่ออิฐปิดประตูตอนที่หนึ่งทั้งสี่ด้านแทนที่เคยเป็นบานไม้ด้วย ในระยะนี้จึงเชื่อว่าพระธาตุพนมมีรูปรางเป็นคูหาสี่เหลี่ยมก่อด้วยอิฐซ้อนกันสองชั้น

            ระยะหลัง เหตุการณ์เกี่ยวกับพระธาตุพนมตามตำนานอุรังคธาตุถือเป็นประวัติศาสตร์ โดยกล่าวว่า พระยาโพธิสารราช (พ.ศ.2063-2092) ได้เสด็จมาบูรณปฏิสังขรณ์สร้างวิหารและถวายข้าพระเป็นจำนวนมากเพื่อคอยดูแลรักษาพระบรมธาตุ ต่อมาในสมัยพระเจ้าไชยเชษฐาธิราช (พ.ศ.2093-2115) ทรงทราบเรื่องราวของพระธาตุพนมจากตำนาน ก็ได้เสด็จมาก่อครอบอุรังคธาตุเจดีย์กับบูรณะพระอารามแห่งนี้ ซึ่งคงหมายถึงการก่อเสริมยอดพระเจดีย์เป็นตอนที่สาม และยอดนี้ได้บูรณะต่อๆมา มีองค์ระฆังเป็นรูปสี่เหลี่ยมคล้ายขวดหรือลุ้งคว่ำ หรือโกศคว่ำ (มานิต วัลลิโภดม และคนอื่นๆ 2518 : 93,102-104, 112-113)

            เมื่อศึกษาตำนานอุรังคธาตุจะเห็นได้ว่า ตำนานให้ความสำคัญกับพระยาติโคตรบูร ที่มาจุติเป็นพระยาสุมิตตธรรมที่แม้จะไม่ได้เป็นผู้เริ่มแรกบรรจุพระบรมสารีริกธาตุกับพระมหากัสสป แต่เป็นผู้ที่ได้พบพระพุทธเจ้าและได้สถาปนาพระบรมสารีริกธาตุไว้ในเจดีย์ (ในระยะนิทานปรัมปรา)  นอกจากนี้ตามประวัติศาสตร์กษัตริย์ลาวที่สำคัญอีกสามพระองค์ “เป็นกษัตริย์ที่มีบุญสมภารและเป็นหน่อเนื้อพุทธางกูรเท่านั้นที่จะได้มีโอกาสในการทำกุศลสร้างเจดีย์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุดังกล่าวได้”ตามที่กล่าวไว้ในตำนาน คือพระไชยจักรพรรดิแผ่นแพ้ว ผู้นำชาติลาวให้พ้นจากความยุ่งยากจากอิสตรี พระไชยเชษฐากษัตริย์ผู้สถาปนานครเวียงจันทน์ และพระเจ้าสุริยวงศาผู้รับความยุ่งยากในพระราชอาณาจักร ซึ่งสันนิษฐานว่าตำนานอุรังคธาตุ แต่งขึ้นในปี พ.ศ.2176-2181 (จ.ศ.995-1000) โดยข้าราชสำนักในสมัยพระเจ้าสุริยวงศา ช่วงระยะการครองราชย์ของพระองค์ โดยแต่งขึ้นเพื่อยอพระเกียรติของพระเจ้าสุริยวงศาแสดงให้เห็นความเหมาะสมและสิทธิโดยชอบธรรมที่เสวยราชสมบัติที่นครเวียงจันทน์ (คณะกรรมการดำเนินงานบรรจุพระบรมสารีริกธาตุในองค์พระธาตุ 2522 : 22-23.)

            ทั้งนี้ ผลการขุดค้นของกรมศิลปากรพบหลักฐานเป็นคำจารึกลานทองแดง หมายเลข ธ.1720/96 แสดงว่า องค์พระธาตุพนมได้รับการบูรณะต่อเติม 2-3 ปีหลังจากพระเจ้าสุริยวงศาสิ้นพระชนม์แล้ว (วัชรินทร์ พุ่มพงษ์แพทย์ 2519 : 136.) ทำให้มีการตีความว่า ตำนานอุรังคธาตุเขียนขึ้นก่อนพระเจ้าสุริยวงศาสิ้นพระชนม์ ผู้เรียบเรียงจึงไม่ทราบว่าโดยแท้จริงพระเจ้าสุริยวงศาไม่มีโอกาสเป็นผู้บูรณะ (คณะกรรมการดำเนินงานบรรจุพระบรมสารีริกธาตุในองค์พระธาตุ 2522 : 13.)

            รูปแบบสถาปัตยกรรมพระธาตุพนม เป็นเจดีย์ทรงสี่เหลี่ยมจัตุรัสไม่ย่อมุม มีทางเข้าด้านตะวันออกเพียงด้านเดียว ส่วนอีกสามด้านเป็นประตูหลอก ชั้นที่สองมีซุ้มจระนำสี่ทิศ ชั้นถัดไปเป็นส่วนยอดเป็นทรงโกศในผังสี่เหลี่ยม ซึ่งถือเป็นพระเจดีย์ที่เป็นแบบแปลกสำหรับประเทศไทย (สุภัทรดิศ ดิศกุล 2539 : 10) เหนือชั้นที่สองขึ้นไปก่อสร้างด้วยอิฐสอปูน อันเป็นฝีมือช่างสมัยอยุธยาแล้วทั้งนั้น และสมัยจอมพลป.พิบูลสงครามมาปฏิสังขรณ์ด้วยเหตุผลทางการเมือง ก็คงจะพอกปูนทับของที่ซ่อมไว้เดิมนั้น แล้วเพิ่มลวดลายลงไปใหม่ โดยทรงยอดที่เหมือนกับพระธาตุเชิงชุมและพระธาตุที่หลวงพระบางบ่งว่าน่าจะเป็นช่างลาวมาปฏิสังขรณ์เสริมยอดไว้ (มานิต วัลลิโภดม และคนอื่นๆ 2518 : 133)

            เดิมเข้าใจว่าของเก่าจะมีสองชั้นล่างเท่านั้น ต่อมาในสมัยพระไชยเชษฐามีอำนาจ จึงได้ปฏิสังขรณ์เสริมยอดขึ้นใหม่แทนที่ยอดเดิมที่หักพังไปแล้วก็เป็นได้

โดยเมื่อพิจารณาครั้งเมื่อพระธาตุพนมล้ม

            ส่วนฐานสี่เหลี่ยม 2 ชั้นก่อด้วยผนังอิฐสลักลวดลาย มีการเรียงอิฐที่อิฐทุกก้อนเรียงแนบสนิทกันทุกด้าน ในพระนิพนธ์ “นิทานโบราณคดี” ของสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ มีพระราชวินิจฉัยเห็นพ้องตามตำนานเกี่ยวกับเทคนิคการก่อสร้างที่กล่าวว่าพระธาตุพนมนั้นแรกก่อด้วยอิฐดิบ เมื่อก่อและจำหลักเสร็จแล้วจึงกองไฟขึ้นท่วมองค์เจดีย์ (สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ 2501 : 438) แต่หากมีการสุมไฟทั้งองค์จริงการเผาดินดิบย่อมมีการหดตัว และทับหลังที่เป็นหินจะระเบิดออก  (มานิต วัลลิโภดม และคนอื่นๆ 2518 : 153)

            การก่ออิฐ ที่เรียบสนิทแทบไม่เห็นรอยต่อนี้เชื่อกันว่าใช้ยางไม้ที่เรียกกันว่ายางบงเป็นตัวประสาน โดยอาจทายางไม้รนไฟแล้วก่อตามเทคนิคการก่อสร้างโบราณสถานเขมร

เป็นเทคนิคแบบผสม ก่อสั้นยาวสลับกันตามความสะดวกของช่าง บางครั้งเอาอิฐอุดหมุดเสริมเข้าไปด้วย รอยต่อของเส้นมีเส้นเฉียงด้วย แสดงให้เห็นว่าขณะที่ก่ออิฐได้มีการตัด ขัดอิฐประกอบกันไปด้วย ลักษณะการก่อสร้างแบบนี้จึงเป็นลักษณะงานฝีมือ (craft) มากกว่าเทคนิคการช่างก่อสร้างจริงๆ (มานิต วัลลิโภดม และคนอื่นๆ 2518 : 155)

            อิฐสลักลายทำหน้าที่ประดับผนังส่วนฐานชั้นที่หนึ่ง(ชั้นล่าง) และชั้นที่สอง อิฐสลักลายประกอบด้วย (1) อิฐลายก้านขด รูปช้าง ม้า คน อยู่ที่มุมผนังขององค์พระธาตุ ด้านละสองกรอบรูปภาพของทุกทิศ (2) เสาอิฐประดับองค์พระธาตุพนม มีทั้งกลมคล้ายลูกมะหวด และเหลี่ยม (3) อิฐสลักลายทำเป็นประตูปลอม (4) อิฐสลักลายเป็นทับหลัง เหนือปรูปลอมทั้งสี่ทิศ (5) อิฐสลักเป็นลวดลายระหว่างเสาประดับผนัง (6) อิฐสลักเป็นหน้าบัน (7) อิฐสลักเป็นกรอบคดโค้งวงกลมตัวสิงห์ ทำหน้าที่เป็นนาคสะดุ้ง (8) อิฐสลักเป็น ใบระกา

            โดยฐานชั้นล่างสุด ประกอบด้วยภาพนักรบขี่ช้าง ม้า กำลังล่าสัตว์ ที่ซุ้มประตูด้านทิศเหนือเป็นรูปนารายณ์ทรงครุฑ ซุ้มระตูด้านทิศตะวันออกลายลบเลือนมาก ซุ้มประตูด้านทิศใต้เป็นรูปพระอิศวรทรงโค และซุ้มประตูด้านทศตะวันตกเป็นรูปพระพรหมประทับเหนือหงส์ อิฐสลักลายเหล่านี้ถือเป็นส่วนทีมีอายุเก่าแก่ที่สุดขององค์พระธาตุพนม ซึ่งพบว่าลวดลายบนอิฐสลักลายมีความสัมพันธ์กับลวดลายที่ปรากฏบนใบเสมาที่พบที่เมืองฟ้าแดดสงยาง จึงอาจกำหนดอายุราวพุทธศตวรรษที่ 11-12 (มานิต วัลลิโภดม และคนอื่นๆ : 135) อย่างไรก็ตาม ศาสตราจารย์บวสเซอลีเย่ สันนิษฐานจากภาพสลักอิฐว่า ศาสนสถานแห่งนี้คงสร้างขึ้นราวพุทธศตวรรษที่ 14-15 รับกับการขุดค้นภายในพระธาตุพนมภายหลังล้มลงว่า เดิมคงมีปราสาทแบบขอมเป็นเทวาลัยในศาสนาฮินดู ซึ่งอาจสร้างราวพุทธศตวรรษที่ 14-15 ต่อมาจึงได้ดัดแปลงเป็นพุทธสถานในราวต้นพุทธศตวรรษที่ 18 (สุภัทรดิศ ดิศกุล 2542 : 10)

            สำหรับการศึกษาเกี่ยวกับพระธาตุพนมอย่างจริงจัง เกิดขึ้นภายหลังวันที่ 11 สิงหาคม 2518 ซึ่งเป็นวันที่พระธาตุพนมล้ม มีการตั้งคณะอนุกรรมการออกแบบและรักษาศิลปะเดิมขององค์พระธาตุพนม มี ดร. รชฎ กาญจนะวณิชย์ เป็นหัวหน้ากลุ่มฯวิศวกร ดร.สุเมธ ชุมสาย เป็นหัวหน้ากลุ่มสถาปนิก และนายมานิต วัลลิโภดม เป็นหัวหน้ากลุ่มโบราณคดี (มานิต วัลลิโภดม และคนอื่นๆ 2518 : 181) มีการวิเคราะห์สาเหตุการล้มของพระธาตุพนม พบว่าเนื่องจากส่วนฐานล่างไม่สามารถทานน้ำหนักของส่วนบนได้ ซึ่งชั้นแรกก็เกิดรอยร้าวที่ฐานองค์พระธาตุช่วงต้นเดือนสิงหาคม ต่อมามีฝนตกหนักต่อเนื่องกันทำให้รอยร้าวดังกล่าวเด่นชัดขึ้น จนทรุดและหักล้มลงไปทางทิศตะวันออก โดยองค์พระธาตุพนมหักเป็นสามท่อน ท่อนล่างแตกละเอียดทั้งสี่ด้าน แต่อุโมงค์ที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุไม่ได้รับความเสียหาย ส่วนท่อนกลางตอนล่างแตกละเอียด และท่อนบนที่ล้มทับวิหารหอพระแก้ว และศาลาการเปรียญได้รับความเสียหายมาก และฉัตรทองคำได้รับความเสียหายเล็กน้อย (คณะกรรมการดำเนินงานบรรจุพระบรมสารีริกธาตุในองค์พระธาตุพนม 2522 : 57-58)

            การขุดค้นทางโบราณคดีคราวซ่อมแซมพระธาตุพนมครั้งนี้ มีการเปิดหลุมขุดค้นจำนวน 6 หลุม ในตำแหน่งต่างๆระหว่างสิ่งก่อสร้างที่เป็นองค์ประกอบของพระธาตุพนม  ได้แก่ ภายในองค์พระธาตุพนม เป็นการเจาะช่องเข้าไปในกองอิฐจากทางทิศตะวันออก ระหว่างกำแพงแก้วชั้นในถึงชั้นกลาง ระหว่างกำแพงแก้วชั้นกลางถึงชั้นนอก ระหว่างกำแพงแก้วชั้นนอกถึงระเบียงคด และทางด้านเหนือของพระธาตุ (ด้านใต้ของวิหารพระนอน)

            ผลการขุดค้นทางโบราณคดีทั้งหกหลุม  สามารถสรุปได้ว่า พระธาตุพนมสร้างขึ้นระหว่างพ.ศ. 1200-1400 โดยเดิมพื้นที่บริเวณนี้คงมีคนอาศัยอยู่ก่อน เมื่อเริ่มสร้างมีการนำดินจากการขุดคูน้ำล้อมรอบสามด้านขึ้นมาถมดินให้แน่น ใช้แม่น้ำโขงเป็นคูน้ำด้านทิศตะวันออก เดิมมีลักษณะเป็นอาคารก่ออิฐ มีประตูทางเข้าทางด้านทิศตะวันออก ภายในอาจเป็นห้องสำหรับปฏิบัติศาสนพิธี ซึ่งการพบท่อโสมสูตรถูกฝังไว้ภายในและภาพสลักลวดลายอิฐทำให้สันนิษฐานว่าเดิมพระธาตุพนมอาจสร้างเนื่องในศาสนาฮินดู ต่อมาราวพุทธศตวรรษที่ 17-18 มีการปรับพื้นดินโดยรอบและภายในอาคารที่เคยเป็นห้องได้ถูกสร้างสิ่งก่อสร้างเล็กๆขึ้นภายในเพื่อบรรจุของศักดิ์สิทธิ์ ประตูถูกปิดทึบ ส่วนท่อโสมสูตรหรือรางน้ำมนต์ทางทิศเหนือคงถูกปิดไว้ในสมัยนี้เองที่พระธาตุพนมคงถูกเปลี่ยนเป็นพุทธสถาน หลังจากนั้นพระธาตุพนมถูกทิ้งร้างอยู่จนราวพุทธศตวรรษที่ 21 กษัตริย์ลาวล้านช้างได้มาซ่อมแซมและสถาปนาขึ้นเป็นวัด (คณะกรรมการดำเนินงานบรรจุพระบรมสารีริกธาตุในองค์พระธาตุพนม 2522, : 99-118) กล่าวคือ สมัยพระเจ้าวิชุลราชกษัตริย์ล้านช้าง (พ.ศ.2043-2063) ได้ส่งท้าวคำก้อนครองเมืองศรีโคตรบูรณ์ และสร้างพระประธานเป็นพระพุทธรูปศิลปะล้านช้างไว้ในอุโบสถพระธาตุพนม โดยมีจารึกที่ฐานพระพุทธรูปว่า ได้สร้างในปีศักราช 865 (พ.ศ.2046) (คณะกรรมการอำนวยการจัดงานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว 2544 : 49) และต่อมา พ.ศ. 2073 ธิดาของพระเจ้าอินทรปัตถ์สะใภ้ของเจ้านายเมืองลานช้างได้ลานทองจากปู่ของนาง เรื่องพระธาตุอุรังคธาตุทำให้วงศ์ล้านช้างทราบความสำคัญ โดยเริ่มระยะปูนปะทายเป็นเทคนิคในชั้นหลังฉาบซ่อม มีการสร้างวิหารหลังคามุงด้วยตะกั่ว

            ต่อมาพระธาตุพนมได้รับการบูรณะอีกในปี พ.ศ.2234 โดยราชครูโพนสะเม็ก ก่ออิฐสอปูนทับยอดทั้งสอง เมื่อได้หนาแข็งแรง พระครูได้ก่อองค์พระเจดีย์เสริมยอดให้สูงกว่าเดิม เป็นทรงกรวยเหลี่ยมแบบศิลปลาวล้านช้างตามที่ได้กล่าวมาแล้ว (มานิต วัลลิโภดม และคนอื่นๆ 2518 : 171)

            ในปี พ.ศ.2435/ 2444 (รัชกาลที่ 5) พระครูวิโรจน์รัตโนบล จากวัดทุ่งศรีเมือง อุบลราชธานี ปฏิสังขรณ์ครั้งใหญ่โดยการถอนวัชพืช ขุดปูนส่วนที่หมดสภาพออก ใช้ปูนอุดส่วนที่แตกร้าว พระบูชา แก้วแหวนเงินทองที่หลุดออกมากับปูนที่เสื่อมสภาพ ได้รวบรวมไว้ก่อเข้ากับปูนที่ซ่อมเสริมเข้าไป มีจารึกไว้ ดังนี้

            คำปะทานปูน 5 ทราย 7 น้ำอ้อย 2 น้ำหนัง 1 ยางบง 9

            น้ำหนัง 1 ยางบง 9 ใช้ฉาบปะทายเพ็ชร ปูน 2 ทราย 5 น้ำมะขาม 2              น้ำมันยาง 1 ใช้ปั้นลาย (มานิต วัลลิโภดม และคนอื่นๆ 2518 : 171)

            จนกระทั่งในปี พ.ศ.2483-2484 รัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม มุ่งใช้พระธาตุพนมในทางการเมือง รัฐบาลจึงให้พลตรีหลวงวิจิตรวาทการ รัฐมนตรี และอธิบดีกรมศิลปากรในขณะนั้นดำเนินการต่อยอดด้วยการเทคอนกรีตเสริมเหล็กจากส่วนเหนือฐานหรือเรือนธาตุชั้นที่ 1 ขึ้นไปจนถึงยอดสุด แล้วต่อยอดขึ้นไปอีก 10 เมตร และเพิ่มฉัตรทองคำเหนือองค์พระธาตุ ซึ่งสร้างขึ้นใหม่แทนฉัตรองค์เก่า ยอดที่เสริมนี้มีน้ำหนักมาก แต่ไม่มีการแก้ไขฐานแต่อย่างไร (มานิต วัลลิโภดม และคนอื่นๆ 2518 : 183)

            วัดพระธาตุพนม ได้รับการโปรดเกล้าฯ ให้เป็นพระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดวรมหาวิหาร เมื่อปี พ.ศ.2493

            การบูรณปฏิสังขรณ์องค์พระธาตุพนม ดำเนินการตั้งแต่เดือนพฤษภาคม พ.ศ.2519 และเสร็จสิ้นในเดือนมีนาคม พ.ศ.2522 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ประกอบการพระราชพิธียกฉัตรยอดองค์พระธาตุพนม และพระราชพิธีอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุขึ้นบรรจุไว้ในองค์พระธาตุพนม ในวันที่ 21-23 มีนาคม พ.ศ.2522

 

             จารึกที่เกี่ยวข้อง : จารึกลานเงิน หมายเลข 5442/46, จารึกลานเงิน หมายเลข 3840/92, จารึกฐานพระพุทธรูปบุเงิน ปางมารวิชัย หมายเลข ธ.2719/92, จารึกฐานพระพุทธรูปบุทอง ฐานเงิน ปางมารวิชัย หมายเลข ธ.2731/92, จารึกฐานพระพุทธรูปบุเงิน ปางมารวิชัย หมายเลข ธ.2752/92, จารึกฐานพระพุทธรูปบุเงิน ปางมารวิชัย หมายเลข ธ.2779/93, จารึกฐานพระพุทธรูปบุเงิน ปางมารวิชัย หมายเลข ธ.2794/93 ฯลฯ (จารึกที่พบที่พระธาตุพนม เป็นจารึกในแผ่นอิฐ บนฐานพระบุเงินบุทองคำ บนใบลานทองคำ  รวมทั้งสิ้น 1,061 ชิ้น (ไม่รวมที่ชำรุดมาก))

             ตำนานท้องถิ่นที่เกี่ยวข้อง : ตำนานอุรังคธาตุ (อุรังคนิทาน)

ผู้เรียบเรียงข้อมูล-ผู้ดูแลฐานข้อมูล

ภาวิณี รัตนเสรีสุข เรียบเรียง, ทนงศักดิ์ เลิศพิพัฒน์วรกุล ดูแลฐานข้อมูล

บรรณานุกรม

กรมศิลปากร. แหล่งท่องเที่ยวอีสานบน. กรุงเทพฯ : โอ เอส พรินท์ติ้ง, 2534.

คณะกรรมการดำเนินงานบรรจุพระบรมสารีริกธาตุในองค์พระธาตุพนม. จดหมายเหตุการบูรณะปฏิสังขรณ์องค์พระธาตุพนม. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์พิฆเณศ, 2522.

คณะกรรมการอำนวยการจัดงานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว. วัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์และภูมิปัญญา จังหวัดนครพนม.  กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์คุรุสภาลาดพร้าว, 2544.

มานิต วัลลิโภดม และคนอื่นๆ. พระธาตุพนม ด้วยข้อเขียนและบทความ. กรุงเทพฯ : กรุงสยามการพิมพ์,  2518.

วัชรินทร์ พุ่มพงษ์แพทย์, “ข้อมูลใหม่ที่ได้จากจารึกในพระธาตุพนม,” ศิลปากร 20, 1-2 (พฤษภาคม-กรกฏาคม 2519), 136.

สุภัทรดิศ ดิศกุล, มจ. ศิลปะในประเทศไทย. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2539.3

สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ. นิทานโบราณคดี. กรุงเทพฯ : เกษมการพิมพ์, 2533.

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ภาพเกี่ยวกับแหล่งโบราณคดี