โพสต์เมื่อ 7 ส.ค. 2021
ชื่ออื่น : บอมเตาอิฐ
ที่ตั้ง : ม.1 บ้านมาบปลาเค้า
ตำบล : มาบปลาเค้า
อำเภอ : ท่ายาง
จังหวัด : เพชรบุรี
พิกัด DD : 12.968813 N, 99.94357 E
เขตลุ่มน้ำหลัก : เพชรบุรี, อ่าวไทย
เขตลุ่มน้ำรอง : ห้วยทบ
จากอำเภอเมืองเพชรบุรี ใช้ถนนเพชรเกษม (ทางหลวงหมายเลข 4) มุ่งหน้าไปทางทิศใต้ เมื่อถึงแยกท่ายางให้เลี้ยวซ้ายไปตามทางหลวงหมายเลข 3187 เข้าไปประมาณ 5 กิโลเมตร พบสี่แยกให้เลี้ยวขวาไปอีกประมาณ 1 กิโลเมตร จะพบบ้านมาบปลาเค้า
ปัจจุบันแหล่งโบราณคดีบ้านมาบปลาเค้าไม่หลงเหลือร่องรอยหลักฐานมากนัก เนื่องจากถูกไถปรับเป็นที่นา ส่วนโบราณวัตถุบางส่วนจากแหล่งโบราณคดีแห่งนี้อยู่ในความครอบครองของชาวบ้าน แต่บางส่วนก็ถูกเก็บรวบรวมไว้ที่วัดมาบปลาเค้าและจัดแสดงที่พิพิธภัณฑ์ไทยพวนที่ตั้งอยู่ภายในวัด ซึ่งนับว่าเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญแห่งหนึ่งประจำท้องถิ่น
วัดมาบปลาเค้า, องค์การบริหารส่วนตำบลมาบปลาเค้า
แหล่งโบราณคดีบ้านมาบปลาเค้า ตั้งอยู่ด้านทิศตะวันออกของบ้านมาบปลาเค้า สภาพแวดล้อมเดิมเป็นป่าตะโกและสะแก ปัจจุบันเป็นพื้นที่นา บริเวณที่คาดว่าเป็นโบราณสถานกลายเป็นที่ราบ ไม่มีร่องรอยของเนิน แต่บนพื้นดินมีเศษอิฐและปูนกระจายอยู่ทั่วไปเป็นบริเวณกว้างประมาณ 10 เมตร ชาวบ้านเล่าว่าเดิมโบราณสถานแห่งนี้มีขนาดสูงกว่าระดับตัวคน มีอิฐเป็นจำนวนมาก แต่เมื่อประมาณ 10 ปีที่แล้ว ถูกไถปรับเพื่อใช้เป็นพื้นที่ทำนา และทางวัดหนองไม้เหลือง (ใน อ.เมืองเพชรบุรี) ได้ขุดเอาอิฐจากโบราณสถานแห่งนี้ไปทำฐานโบสถ์เป็นจำนวนมาก
ห้วยทบ
พื้นที่บริเวณแหล่งโบราณคดีเป็นที่ราบลุ่ม อยู่ห่างจากชายฝั่งทะเลปัจจุบันประมาณ 10กิโลเมตร มีเขากระจิว ซึ่งเป็นเขาหินปูนลูกโดด ตั้งอยู่ห่างจากแหล่งไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ประมาณ 3 กิโลเมตร มีลำห้วยทบไหลผ่านทางด้านทิศใต้ห่างจากแหล่งประมาณ 1.5 กิโลเมตร
ชื่อผู้ศึกษา : ฉัตรชัย อักษรศิลป์
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2533
วิธีศึกษา : สำรวจ
ผลการศึกษา :
ราวปี พ.ศ.2533 ฉัตรชัย อักษรศิลป์ และคณะ ได้สำรวจทางโบราณคดีบริเวณแหล่งโบราณคดีบ้านมาบปลาเค้า พบเศษอิฐและโบราณวัตถุจำนวนหนึ่งชื่อผู้ศึกษา : กรมศิลปากร
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2536
วิธีศึกษา : สำรวจ
องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร
ผลการศึกษา :
พ.ศ.2536 ฝ่ายวิชาการ กองโบราณคดี กรมศิลปากร สำรวจทางโบราณคดี ณ แหล่งโบราณคดีบ้านมาบปลาเค้า ดังปรากฏในรายงานการศึกษาและการสำรวจทางโบราณคดีสมัยประวัติศาสตร์ในวัฒนธรรมทวารวดี จังหวัดเพชรบุรี (อ้างถึงใน สำนักงานโบราณคดีและพิพิธภัณสถานแห่งชาติที่ 1 ราชบุรี 2541: 68)ชื่อผู้ศึกษา : กรมศิลปากร
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2540
วิธีศึกษา : สำรวจ
องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร
ผลการศึกษา :
สำนักงานโบราณคดีและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่ 1 ราชบุรี กรมศิลปากร สำรวจแหล่งโบราณคดีแห่งนี้เพิ่มเติมอีกครั้งในโครงการจัดทำแผนแม่บทเพื่ออนุรักษ์พัฒนาเมืองคูบัวจากการสำรวจของฉัตรชัย อักษรศิลป์ และคณะ (2533 : 65-68) รวมทั้งสำนักงานโบราณคดีและพิพิธภัณสถานแห่งชาติที่ 1ราชบุรี (2541) พบโบราณวัตถุต่างๆที่ส่วนใหญ่มาจากแหล่งโบราณคดีมาบปลาเค้า หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า “บอมเตาอิฐ” (บอม คือที่ราบลุ่ม) ที่ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของหมู่บ้าน โบราณวัตถุดังกล่าวเช่น
อิฐ พบเศษอิฐกระจายอยู่ทั่วบริเวณ เป็นอิฐขนาดใหญ่ ขนาดกว้าง 20-21 ซ.ม. ยาว 35 ซ.ม. และหนา 8-8.5 ซ.ม. มีเนื้อหยาบและมีส่วนผสมของแกลบข้าวมาก
ศิลาแลงรูปกลม พบจำนวน 2 ชิ้น ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 90 ซ.ม. อีกชิ้นหนึ่งมีเส้นผ่าศูนย์กลาง 50 ซ.ม. ทั้ง 2 ชิ้นหนา 6เซนติเมตร เจาะรูตรงกลางกว้าง 10 ซ.ม. มีปูนซีเมนต์ฉาบทับ ปัจจุบันอยู่ที่วัดมาบปลาเค้า (สำรวจเมื่อเดือนสิงหาคม 2539 พบชิ้นใหญ่ชิ้นเดียว และจากการสำรวจของฉัตรชัย อักษรศิลป์ และคณะ พบชิ้นส่วนศิลาแลงที่สามารถนำมาประกอบกันเป็นรูปกลมอีกหลายชิ้น) ศิลาแลงรูปกลมนี้สันนิษฐานว่าเป็นชิ้นส่วนประกอบสถาปัตยกรรมทรงเจดีย์ คือเป็นส่วนประกอบของส่วนยอด (ในสถาปัตยกรรมอินเดียเรียกว่า “ฉัตรวลี”) โบราณวัตถุลักษณะดังกล่าวเคยพบเมืองอู่ทอง จ.สุพรรณบุรี และเมืองโบราณคูเมือง จ.สิงห์บุรี
ชิ้นส่วนเครื่องประดับสถาปัตยกรรมปูนปั้น พบ 1 ชิ้น ปัจจุบันอยู่ในความครอบครองของชาวบ้าน (นางเฉลา มาลากรรณ์) ซึ่งพบในบริเวณโบราณสถาน มีลักษณะเป็นใบหน้าบุคคล สภาพชำรุด ลักษณะหน้ากลม หูยาว ด้านหลังเรียบแบน (สำหรับประดับสถาปัตยกรรม) ขนาดกว้าง 9 ซ.ม. สูง 13 ซ.ม.
ดินเผาไฟ ลักษณะเป็นก้อนดิน ผิวบางส่วนถูกไฟเผาจนซิลิกาละลายออกมาเป็นแก้วฉาบผิวบางส่วน ศ.ผาสุข อินทราวุธ ให้ความเห็นว่าอาจจะเป็นชิ้นส่วนของเตาเผา
หินบด ทำจากหินแอนดีไซต์ (Andesite) มีขนาดยาว 20 เซนติเมตร เส้นผ่าศูนย์กลาง 8 เซนติเมตร สภาพชำรุด ไม่มีร่องรอยใช้งาน
แท่นหินบดหรือฐานพระพุทธรูป? ลักษณะเป็นแท่นสี่เหลี่ยมผืนผ้าซ้อนกัน 2 ชั้น ทำจากหินเนื้อละเอียด ขนาดกว้าง 18เซนติเมตร ยาว 35 เซนติเมตร และสูง 12 เซนติเมตร
จากหลักฐานทางโบราณคดีต่างๆ คณะสำรวจสันนิษฐานว่า โบราณสถานแห่งนี้เป็นศาสนสถานที่สร้างด้วยอิฐและศิลาแลง อาจเป็นเจดีย์ เนื่องจากพบส่วนประกอบสถาปัตยกรรมที่ทำจากศิลาแลงทรงกลม และชิ้นส่วนศิลาแลงที่ประกอบเป็นทรงกลม ศาสนสถานอาจมีการตกแต่งด้วยประติมากรรมปูนปั้น เช่น รูปใบหน้าบุคคล
จากรูปแบบของอิฐและแผ่นศิลาแลงรูปกลม เหมือนกับที่พบในศาสนสถานของเมืองโบราณบ้านคูเมือง จ.สิงห์บุรี ซึ่งเป็นชุมชนในวัฒนธรรมทวารวดี จึงอาจกล่าวได้ว่า โบราณสถานที่พบที่บ้านมาบปลาเค้า อาจเป็นศาสนสถานในวัฒนธรรมทวารวดี ที่น่าจะเกี่ยวข้องกับแหล่งโบราณคดีบ้านเขากระจิวและแหล่งโบราณคดีบ้านใหม่ (สำนักงานโบราณคดีและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่ 1ราชบุรี 2541: 68)
จากลักษณะของหลักฐานทางโบราณคดี ที่ตั้ง ลักษณะพื้นที่ รวมถึงสภาพแวดล้อม คณะสำรวจได้จัดกลุ่มแหล่งโบราณคดีบ้านมาบปลาเค้า ให้อยู่กลุ่มเดียวกับแหล่งโบราณคดีบ้านเขากระจิวบ้านเขากระจิว และแหล่งโบราณคดีบ้านใหม่ คือ “กลุ่มแหล่งโบราณคดีเขากระจิว” (สำนักงานโบราณคดีและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่ 1 ราชบุรี 2541; สำนักงานโบราณคดีและพิพิธภัณสถานแห่งชาติที่ 1 ราชบุรี 2543) ซึ่งแหล่งโบราณคดีกลุ่มนี้ตั้งอยู่ในที่ราบลุ่มอันอุดมสมบูรณ์ ทางด้านทิศตะวันออกของแม่น้ำเพชรบุรี บริเวณรอบเขากระจิว เหมาะแก่การทำเกษตรกรรม ตำแหน่งที่ตั้งอยู่ในเส้นทางคมนาคมเหมาะแก่การเป็นจุดพักการเดินทางหรือชุมทาง หลักฐานทางโบราณคดีที่พบมากได้แก่ เศษภาชนะดินเผาและเศษอิฐ กระจายตัวอยู่เป็นบริเวณกว้าง ซึ่งน่าจะเป็นชุมชนขนาดค่อนข้างใหญ่ นอกจากนั้นยังมีซากโบราณสถานก่อด้วยอิฐ และชิ้นส่วนสถาปัตยกรรมแบบทวารวดี
ฉัตรชัย อักษรศิลป์ และคณะ. การสำรวจและศึกษาร่องรอยชุมชนโบราณสมัยทวารวดีในจังหวัดเพชรบุรี. เอกสารประกอบการสัมมนาปริญญาศิลปศาสตรบัณฑิต คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2533.
ฝ่ายวิชาการ กองโบราณคดี. รายงานการศึกษาและสำรวจทางโบราณคดีสมัยประวัติศาสตร์ในวัฒนธรรมทวารวดี จังหวัดเพชรบุรี. (เอกสารอัดสำเนา). อ้างถึงใน สำนักงานโบราณคดีและพิพิธภัณสถานแห่งชาติที่ 1 ราชบุรี. คูบัว : ความสัมพันธ์กับชุมชนทวารวดีในบริเวณใกล้เคียง. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2541.
ระบบฐานข้อมูลแหล่งมรดกทางศิลปวัฒนธรรม และระบบภูมิสารสนเทศ โครงการสำรวจแหล่งมรดกทางศิลปวัฒนธรรม [Online]. Accessed 30 March 2011. Available from http://www.gis.finearts.go.th
สำนักงานโบราณคดีและพิพิธภัณสถานแห่งชาติที่ 1 ราชบุรี. คูบัว : ความสัมพันธ์กับชุมชนทวารวดีในบริเวณใกล้เคียง. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2541.
สำนักงานโบราณคดีและพิพิธภัณสถานแห่งชาติที่ 1 ราชบุรี. ทุ่งเศรษฐี : โบราณสถานทวารวดี ชายฝั่งทะเลเพชรบุรี. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2543.