โบราณสถานดงเมืองเตย


โพสต์เมื่อ 13 ก.ค. 2020

ชื่ออื่น : ดงเมืองเตย, ชุมชนโบราณดงเมืองเตย, เมืองโบราณดงเมืองเตย, ดอนเมืองเตย, ศังขปุระ

ที่ตั้ง : ม.1 บ้านสงเปือย ต.สงเปือย อ.คำเขื่อนแก้ว

ตำบล : สงเปือย

อำเภอ : คำเขื่อนแก้ว

จังหวัด : ยโสธร

พิกัด DD : 15.63972 N, 104.258188 E

เขตลุ่มน้ำหลัก : ชี

เขตลุ่มน้ำรอง : หนองฝักหนาม

เส้นทางเข้าสู่แหล่ง

โบราณสถานดงเมืองเตยตั้งอยู่ภายในชุมชนโบราณดงเมืองเตย ทางทิศใต้ของบ้านดงเมืองเตย ต.สงเปือย อ.คำเขื่อนแก้ว จ.ยโสธร

จากตัวจังหวัดยโสธร ใช้ทางหลวงหมายเลข 23 (ถนนแจ้งสนิท) มุ่งหน้าทางทิศใต้หรือมุ่งหน้าตำบลสงเปือย อ.คำเขื่อนแก้ว ประมาณ 20 กิโลเมตร เลี้ยวขวามุ่งหน้าบ้านสงเปือย ประมาณ 4.7 กิโลเมตร ถึงตัวหมู่บ้าน เลี้ยวซ้ายใช้ถนนภายในหมู่บ้านประมาณ 550 เมตร เลี้ยวซ้ายอีกประมาณ 650 เมตร ถึงตัวเนินดงเมืองเตยและสำนักสงฆ์ดงเมืองเตย โบราณสถานดงเมืองเตยตั้งอยู่ด้านทิศตะวันออกของเนิน

ประโยชน์ทางการท่องเที่ยว

เป็นแหล่งท่องเที่ยว

รายละเอียดทางการท่องเที่ยว

โบราณสถานดงเมืองเตยตั้งอยู่ภายในเมืองโบราณดงเมืองเตยและสำนักสงฆ์ดงเมืองเตย ผู้สนใจสามารถเข้าเยี่ยมได้ทุกวัน

หน่วยงานที่ดูแลรักษา

กรมศิลปากร, สำนักสงฆ์ดงเมืองเตย, องค์การบริหารส่วนตำบลสงเปือย

การขึ้นทะเบียน

ขึ้นทะเบียนของกรมศิลปากร

รายละเอียดการขึ้นทะเบียน

กรมศิลปากรประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถานดงเมืองเตย 2 ครั้ง คือ

1. การกำหนดจำนวนโบราณสถานสำหรับชาติ เล่มที่ 53 หน้า 1535 วันที่ 27 กันยายน 2479

2. การกำหนดเขตที่ดินโบราณสถานสำหรับชาติ เล่มที่ 121 ตอนพิเศษ 53ง หน้า 5 วันที่ 10 พฤษภาคม 2547

ภูมิประเทศ

ที่ราบ

สภาพทั่วไป

โบราณสถานของเมืองโบราณดงเมืองเตยอยู่บริเวณทางตอนเหนือของเมืองโบราณดงเมืองเตย โบราณสถานหลังนี้ปัจจุบันเหลือหลักฐานเพียงฐานอาคาร พื้นที่โดยรอบเป็นป่าโปร่งและเป็นที่ตั้งสำนักสงฆ์ดงเมืองเตย ไม่มีบ้านเรือนราษฎร

ความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง

140 เมตร

ทางน้ำ

แม่น้ำชี, ลำชีหลง, หนองฝักหนาม

สภาพธรณีวิทยา

ลักษณะธรณีสัณฐานของเมืองโบราณดงเมืองเตย (สมเดช ลีลามโนธณรม 2538) เกิดจากการทับถมของตะกอนลำน้ำ โดยเฉพาะลำน้ำชี และลม พัดพาเอาตะกอนมาทับถม และมีการเปลี่ยนแปลงของพื้นที่ที่มีระดับแตกต่างกันออกไป เช่นที่ราบน้ำท่วมถึงที่มีตะกอนที่น้ำพัดพามาทับถม ในฤดูฝนมักถูกน้ำท่วม พื้นที่ส่วนใหญ่ใช้ทำนาปลูกข้าว ปลูกพืชสวนครัวและพืชไร่ ดินที่พบมักมีอายุน้อย ชั้นดินไม่ชัดเจน แต่มีความอุดมสมบูรณ์ เนื่องจากเป็นตะกอนใหม่และมีการทับถมเกือบทุกปี 

บริเวณลานตะพักลำน้ำระดับต่ำ จะมีระดับสูงกว่าที่ราบน้ำท่วมถึงดังกล่าวข้างต้น แต่ยังมีพื้นที่ราบเรียบ การทับถมของตะกอนใหม่ไม่เกิดขึ้น ยกเว้นบางปีที่มีน้ำท่วมมาก อาจจะมีตะกอนทับถมเป็นชั้นบางๆที่ผิวดินบน เป็นสภาพธรณีที่มีสภาพคงตัวและเกิดจากการทับถมของตะกอนลำน้ำที่มีอายุมาก ในพื้นที่นี้จึงมีลักษณะเกิดขึ้นให้เห็นอย่างชัดเจนและดินส่วนใหญ่มีสภาพการระบายน้ำค่อนข้างเลว ใช้ประโยชน์ในการทำนา

อีกพื้นที่หนึ่งคือบริเวณลานตะพักลำน้ำระดับกลางและระดับสูง มีสภาพสูงขึ้นไปจากลานตะพักลำน้ำระดับต่ำตามลำดับ และมีลักษณะเป็นรูปลูกคลื่นไม่ราบเรียบ พื้นที่ลานตะพักลำน้ำระดับกลาง ดินส่วนใหญมีสีน้ำตาล เหลือง หรือน้ำตาลปนเหลือง ส่วนพื้นที่ระดับสูง ดินมีสีแดง ระบายน้ำได้ดี พื้นที่ทั้งสองระดับนี้ล้วนเกิดจากการทับถมของตะกอนลำน้ำ และลมพามาทับถมกันเป็นเวลานานแล้ว ดังนั้นชั้นดินที่พบบริเวณนี้จึงมีหน้าตัดดินเกิดขึ้นใหม่ให้เห็นอย่างชัดเจน การใช้ประโยชน์ของดินส่วนใหญ่ใช้ปลูกพืชไร่ พืชสวน ผลไม้ บางส่วนยังคงสภาพป่าธรรมชาติอยู่ ได้แก่ ป่าเต็งรังและป่าเบญจพรรณ

ดินในบริเวณดงเมืองเตย ประกอบไปด้วยดินชุดร้อยเอ็ด (Roi Et Series และ Loamy Phase) และดินชุดโคราช (Korat Series)

ชุมชนโบราณดงเมืองเตย คงตั้งถิ่นฐานอยู่ในสภาพพื้นที่แบบลานตะพักลำน้ำระดับต่ำ เนื่องจากระดับความสูงของพื้นที่จากแผนที่ทหาร มีความสูงประมาณ 126 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง ซึ่งที่ราบลานตะพักลำน้ำระดับต่ำมีระดับความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลางประมาณ 120-150 เมตร และดินบริเวณนี้เป็นดินชุดร้อยเอ็ด (Roi Et Series) และดินชุดโคราช (Korat Series) ดินทั้งสองเป็นชุดดินที่พบในบริเวณลานตะพักลำน้ำระดับต่ำ โดยดินชุดร้อยเอ็ดจัดเป็นดินโลว์ฮิวมิคเกลย์ ซึ่งมีความเหมาะสมในการเพาะปลูกข้าว

ยุคทางโบราณคดี

ยุคประวัติศาสตร์

สมัย/วัฒนธรรม

สมัยเขมร, สมัยสมโบร์ไพรกุก

อายุทางโบราณคดี

พุทธศตวรรษที่ 12-13

ประวัติการศึกษา

ชื่อผู้ศึกษา : กรมศิลปากร

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2479

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร

ผลการศึกษา :

โบราณสถานดงเมืองเตย ได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานของชาติตามราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 53 ตอนที่ 34 วันที่ 27 กันยายน พ.ศ.2479

ชื่อผู้ศึกษา : ศรีศักร วัลลิโภดม, B.P.Groslier

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2519

วิธีศึกษา : สำรวจ

ผลการศึกษา :

อาจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม สำรวจบริเวณเนินดินที่บ้านสงเปือย และพบว่าเป็นเมืองโบราณชื่อเมืองดอย ภายในเมืองปรากฏส่วนซากฐานรากโบราณสถาน ศาสตราจารย์โกรลิเยร์ (B.P.Groslier) กล่าวว่าเป็นฐานของโบราณสถานในศิลปะเจนละ และยังพบชิ้นส่วนประกอบสถาปัตยกรรมมีจารึกสมัยพระเจ้าจิตรเสนด้วย (ศรีศักร วัลลิโภดม 2535 : 124)

ชื่อผู้ศึกษา : โครงการโบราณคดีประเทศไทย (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ)

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2526

วิธีศึกษา : สำรวจ

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร

ผลการศึกษา :

เจ้าหน้าที่โครงการโบราณคดีประเทศไทย (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ) สำรวจเพื่อศึกษาที่ตั้ง สภาพภูมิศาสตร์ ลักษณะผังเมือง และหลักฐานทางโบราณคดีต่างๆ สันนิษฐานในเบื้องต้นว่าน่าจะเป็นศาสนสถานในพุทธศาสนา ได้รับอิทธิพลของเขมรสมัยก่อนเมืองพระนคร สมัยพระเจ้าจิตรเสน ราวพุทธศตวรรษที่ 12-13 (โครงการโบราณคดีประเทศไทย (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ) 2526 : 1-12)

ชื่อผู้ศึกษา : กรมศิลปากร

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2526

วิธีศึกษา : ขุดค้น, ขุดแต่ง

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร

ผลการศึกษา :

หน่วยศิลปากรที่ 6 กองโบราณคดี กรมศิลปากรได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของแหล่งโบราณคดีดงเมืองเตย จึงได้ดำเนิน “โครงการขุดค้น-ขุดแต่งโบราณสถานดงเมืองเตย บ้านสงเปือย ตำบลสงเปือย อำเภอคำเขื่อนแก้ว จังหวัดยโสธร” เพื่อขุดค้น-ขุดแต่งเนินดินแห่งนี้เป็นครั้งแรก โดยการขุดค้นเมื่อ พ.ศ.2526 นั้น พบว่าทางด้านทิศตะวันออกของเนินดินมีบันไดทางขึ้นทำด้วยหินทรายแดง และพบแนวอิฐที่ยื่นมาทสงด้านหน้าประมาณ 1 เมตร ด้านใต้มีร่องรอยการลักลอบขุดเป็นหลุมกว้างขนาด 1.2 เมตร สูง 1.7 เมตร จึงได้ทำการก่ออิฐปิดส่วนนี้และได้ต่อเติมมุมเจดีย์ด้านตะวันออกเฉียงเหนือเป็นลักษณะย่อมุม ด้านตะวันตกของเจดีย์พบชิ้นส่วนแขนประติมากรรมทำจากหินทรายสีเขียว ขนาดยาวประมาณ 8 เซนติเมตร เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 4 เซนติเมตร และพบชิ้นส่วนภาชนะดินเผาแบบเขมรกระจายอยู่ทั่วไป ด้านบนของเจดีย์มีลักษณะเป็นห้องสี่เหลี่ยมมีความสูงขององค์เจดีย์ประมาณ 2 เมตร

ชื่อผู้ศึกษา : ชะเอม แก้วคล้าย

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2528

วิธีศึกษา : ศึกษาเอกสาร/จารึก

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร

ผลการศึกษา :

พ.ศ.2528 หัวหน้าหน่วยศิลปากรที่ 6 ได้พบแผ่นหินทรายมีอักษรปัลลวะจารึกอยู่ 1 แผ่นมี 4 บรรทัด บรรทัดละ 4 วรรค ณ บริเวณโบราณสถานดอนเมืองเตย บ้านสงเปือย ตำบลสงเปือย อำเภอคำเขื่อนแก้ว จังหวัดยโสธร จากนั้น หน่วยศิลปากรที่ 6 ได้ถ่ายภาพจารึกนี้ โดยถ่ายภาพเป็น 4 ช่วง คือ ภาพที่ 1 เป็นภาพของวรรคที่ 1 ของบรรทัดที่ 1-4 ภาพที่ 2 เป็นภาพของวรรคที่ 2 ของบรรทัดที่ 1-4 ภาพที่ 3 เป็นภาพของวรรคที่ 3 ของบรรทัดที่ 1-4 และภาพที่ 4 เป็นภาพของวรรคที่ 4 ของบรรทัดที่ 1-4 จากนั้น หน่วยศิลปากรที่ 6 ได้ส่งภาพถ่ายทั้ง 4 นี้ให้แก่กองหอสมุดแห่งชาติ เพื่อให้เจ้าหน้าที่อ่าน-แปลเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2526 แต่อย่างไรก็ตาม เนื่องจากการรายงานข้อมูลไม่ละเอียดรัดกุมของหน่วยศิลปากรที่ 6 จึงทำให้เจ้าหน้าที่ของกองหอสมุดแห่งชาติเข้าใจว่าภาพทั้ง 4 นี้ เป็นแผ่นศิลาจารึก 4 แผ่น ดังนั้น เมื่อนายชะเอม แก้วคล้าย ผู้อ่านและแปลจึงสรุปออกมาว่า จารึกทั้ง 4 แผ่นนี้อ่านไม่ได้ใจความ ไม่มีความสัมพันธ์กัน ทั้งนี้เพราะเข้าใจว่าภาพจารึกแต่ละภาพ แทนจารึกแต่ละแผ่น แต่กำหนดอายุจากลักษณะของรูปแบบอักษรได้ราวพุทธศตวรรษที่ 12 (ศิลาจารึก 2529 : 168-175)

ชื่อผู้ศึกษา : ศรีศักร วัลลิโภดม

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2530

วิธีศึกษา : สำรวจ, ศึกษาความเชื่อ

ผลการศึกษา :

อาจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม (2535 : 203-204) สำรวจชุมชนโบราณดงเมืองเตยอีกครั้งหนึ่ง พบเศษภาชนะดินเผาแบบทุ่งกุลา ยุคก่อนประวัติศาสตร์ ปะปนกับเศษตะกรันเหล็ก สันนิษฐานว่าชุมชนแห่งนี้เป็นแหล่งวัตถุดิบเหล็กและถลุงเหล็กที่สำคัญแห่งหนึ่งในยุคก่อนประวัติศาสตร์ นอกจากนี้ยังพบเศษภาชนะดินเผาสมัยทวารวดีและเขมร อาจารย์ศรีศักรได้ตั้งข้อสังเกตถึงใบเสมาซึ่งเป็นของเนื่องในศาสนาพุทธแต่พบบริเวณโบราณศาสนสถานที่เกี่ยวพันกับศาสนาพราหมณ์ว่า เสมาอาจสร้างขึ้นพร้อมกับการสร้างโบราณสถานหรืออาจจะสร้างขึ้นภายหลัง

ชื่อผู้ศึกษา : ประยูร อุลุชาฏะ

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2530

วิธีศึกษา : ประวัติศาสตร์ศิลปะ, ศึกษาสถาปัตยกรรม

ผลการศึกษา :

ประยูร อุลุชาฏะ ศึกษาโบราณสถานแห่งนี้และสันนิษฐานว่าเป็นสถาปัตยกรรมในศิลปะเจนละ อายุราวพุทธศตวรรษที่ 11-12 รูปแบบอาคารเหมือนกับอาคารในศิลปะคุปตะรุ่นหลังของอินเดีย (ประยูร อุลุชาฏะ 2530 : 62-63)

ชื่อผู้ศึกษา : Claude Jacques

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2531

วิธีศึกษา : ศึกษาเอกสาร/จารึก

ผลการศึกษา :

จารึกหลักนี้ ศาสตราจารย์โคลด ชาค (Claude Jacques) เสนอผลงานในที่ประชุมทางวิชาการระดับชาติฝรั่งเศส-ไทย ครั้งที่ 1 เมื่อ พ.ศ.2531 (โคลด 2531 : 44) โดยตั้งข้อสังเกตถึงพระนามของชนชั้นผู้นำคนหนึ่งที่ปรากฏในจารึกว่ามีลักษณะบางอย่างเหมือนกับพระนามของพระเจ้าจิตรเสน ซึ่งเป็นพระนามเดิมของพระเจ้ามเหนทรวรมัน

ชื่อผู้ศึกษา : ชะเอม แก้วคล้าย

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2532

วิธีศึกษา : ศึกษาเอกสาร/จารึก

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร

ผลการศึกษา :

นายชะเอม แก้วคล้าย ได้วิเคราะห์จารึกดอนเมืองเตยอีกครั้งนี้อีกครั้งและพบว่าแท้จริงแล้วสำเนาจารึกทั้ง 4 แผ่น เป็นสำเนาของจารึกแผ่นเดียวกัน แต่ทำสำเนาแยกกัน ดังนั้นเมื่อนำสำเนาจารึกทั้ง 4 ชิ้น มาเรียงต่อกันให้ถูกต้องแล้วก็สามารถอ่านและแปลความหมายได้ จึงได้นำคำอ่านและแปลใหม่นี้ลงตีพิมพ์ในหนังสือ “เมืองอุบลราชธานี” เมื่อปี พ.ศ.2532

ชื่อผู้ศึกษา : กรมศิลปากร

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2534

วิธีศึกษา : ขุดค้น, ศึกษาเครื่องมือเครื่องใช้, ประวัติศาสตร์ศิลปะ, ขุดแต่ง, ศึกษาสถาปัตยกรรม

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร

ผลการศึกษา :

หน่วยศิลปากรที่ 6 ดำเนิน “โครงการขุดแต่งและเสริมความมั่นคงโบราณสถานดงเมืองเตย บ้านสงเปือย ตำบลสงเปือย อำเภอคำเขื่อนแก้ว จังหวัดยโสธร” โดยเป็นโครงการฟื้นฟูและบูรณะโบราณสถานเพื่อพัฒนาในเขตพื้นที่อีสานเขียว ดำเนินการขุดแต่งโบราณสถานดงเมืองเตยครั้งที่ 2 โดยขุดพื้นที่บริเวณโดยรอบโบราณสถาน ทำให้สามารถเห็นรูปแบบสถาปัตยกรรมของโบราณสถานได้ชัดเจนยิ่งขึ้น โดยโบราณสถานแห่งนี้เป็นเจดีย์ก่ออิฐไม่สอปูนทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า สูงประมาณ 1.7 เมตร มีฐานเขียง 2 ชั้น มีบันไดทางขึ้นด้านทิศตะวันออกและมีอัฒจรรย์ก่อด้วยอิฐอยู่ด้านหน้า ถัดไปเป็นทางเดินด้านหน้ายาวประมาณ 28 เมตร รอบองค์เจดีย์มีลักษณะเป็นลานอิฐ สันนิษฐานว่าเป็นการนำอิฐส่วนที่พังทลายมาต่อเติมขึ้นภายหลัง นอกจากการขุดแต่งโบราณสถานแล้ว หน่วยศิลปากรที่ 6 ยังได้ทำการขุดหลุมทดสอบเพื่อตรวจสอบชั้นวัฒนธรรมหรือการใช้พื้นที่ของคนในอดีต โดยขุดบริเวณที่เนินห่างจากโบราณสถานดงเมืองเตยไปทางทิศเหนือประมาณ 30 เมตร จาการขุดค้นสามารถแบ่งชั้นดินธรรมชาติได้ออกเป็น 6 ชั้น และชั้นวัฒนธรรมได้ 4 สมัย (ธรดรา ทองสิมา และนฤมล เภกะนันท์ 2536 : 14-49)

ชื่อผู้ศึกษา : ธิดา สาระยา

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2535

วิธีศึกษา : ประวัติศาสตร์

ผลการศึกษา :

ธิดา สาระยา (2535 : 45-64) ศึกษาชุมชนโบราณต่างๆ บริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหรือตอนล่าง และมีข้อเสนอว่าบริเวณที่เป็นต้นกำเนิดของอาณาจักรเจนละอยู่ตรงพื้นที่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของไทย เมืองโบราณดงเมืองเตยเป็นเมืองหนึ่งในอาณาจักรเจนละ และเป็นศูนย์กลางของเมืองเล็กๆโดยรอบ

ชื่อผู้ศึกษา : สมเดช ลีลามโนธรรม

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2538

วิธีศึกษา : ศึกษาเครื่องมือเครื่องใช้, ศึกษาโลหะ, ศึกษาภาชนะดินเผา, ศึกษาความเชื่อ, ศึกษาการปลงศพ, ประวัติศาสตร์ศิลปะ, ศึกษาสถาปัตยกรรม, ศึกษาสภาพแวดล้อม, ศึกษาการตั้งถิ่นฐาน/การใช้พื้นที่, ศึกษาสภาพสังคม

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : ม.ศิลปากร

ผลการศึกษา :

สมเดช ลีลามโนธรรม เสนอสารนิพนธ์สาขาวิชาโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ในหัวข้อ “การศึกษาการพัฒนาการของชุมชนเมืองโบราณดงเมืองเตย บ้านสงเปือย อำเภอคำเขื่อนแก้ว จังหวัดยโสธร”

ประเภทของแหล่งโบราณคดี

ศาสนสถาน

สาระสำคัญทางโบราณคดี

โบราณสถานดงเมืองเตยตั้งอยู่บริเวณทางตะวันออกของเมืองโบราณดงเมืองเตย โบราณสถานหลังนี้ปัจจุบันเหลือหลักฐานเพียงฐานอาคาร

ชุมชนโบราณดงเมืองเตย มีการอยู่อาศัยมายาวนาน ตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ สมัยโลหะ อายุประมาณ 2,500 ปีมาแล้ว จากหลักฐานทางจารึกและโบราณสถานแสดงให้เห็นถึงการได้รับอิทธิพลทางวัฒนธรรมจากอาณาจักรเจนละที่แพร่เข้ามายังพื้นที่นี้

ช่วงพุทธศตวรรษที่ 12-13 มีการขุดคูน้ำและทำคันดินล้อมรอบเมือง ชาวเมืองโบราณดงเมืองเตยนับถือศาสนาฮินดูลัทธิไศวนิกายเป็นหลัก ข้อความในจารึกได้กล่าวถึงการสร้างศิวลึงค์ โบราณสถานดงเมืองเตยสร้างขึ้นในสมัยนี้และรูปแบบของโบราณสถานคงได้รับอิทธิพลจากศิลปะขอมสมัยก่อนเมืองพระนคร (พุทธศตวรรษที่ 12-14)

ระยะต่อมาราวพุทธศตวรรษที่ 14-15 ชุมชนแห่งนี้คงมีการเปลี่ยนมานับถือพุทธศาสนา ดังได้พบหลักฐานของการปักใบเสมาหิน ที่พบว่ามีทั้งปักอยู่บริเวณโบราณสถาน และปักในพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่ง การอยู่อาศัยของผู้คนและพัฒนาการของชุมชนแห่งนี้ดำเนินเรื่อยมา

ราวพุทธศตวรรษที่ 16-17 ปรากฏอิทธิพลของวัฒนธรรมเขมรที่แพร่เข้ามาอย่างชัดเจน มีการใช้ประโยชน์โบราณสถานเป็นศูนย์กลางเมืองต่อไป ดังได้พบประติมากรรมลอยตัวรูปสิงห์มีลักษณะศิลปะเขมรแบบบาปวน หลังจากกลางพุทธศตวรรษที่ 17 เป็นต้นมา ไม่พบหลักฐานที่ชัดเจนของการอยู่อาศัยของผู้คน ณ ชุมชนแห่งนี้ หลังจากพุทธศตวรรษที่ 18 เมืองโบราณและตัวโบราณสถานแห่งนี้คงถูกทิ้งร้างเนื่องจากไม่พบหลักฐานการอยู่อาศัยในระยะต่อมาเลย

จากการค้นพบหลักฐานทางโบราณคดีของสำนักสงฆ์ดงเมืองเตยเมื่อปี 2525 และการขุดค้น-ขุดแต่งเมื่อปี 2534 สามารถแยกประเภทของโบราณวัตถุได้เป็นประเภทหินทราย ได้แก่องค์ประกอบทางสถาปัตยกรรม และประเภทดินเผา ได้แก่ของใช้ประเภทภาชนะดินเผาต่างๆ

ลักษณะของสถาปัตยกรรม (สมเดช ลีลามโนธรรม 2538)

โบราณสถานมีลักษณะเป็นอาคารก่ออิฐไม่สอปูน ผังสี่เหลี่ยมผืนผ้า เท่าที่ยังคงหลงเหลือสูงประมาณ 1.7 เมตร กว้างประมาณ 5 เมตร ยาวประมาณ 5.5 เมตร ฐานอาคารประกอบด้วยฐานเขียง 4 ชั้น ถัดขึ้นมาเป็นฐานบัวอันประกอบด้วยหย้ากระดานล่าง บัวคว่ำ ถัดขึ้นไปเป็นท้องไม้ ซึ่งมีการแบ่งเป็นช่องสี่เหลี่ยมผืนผ้า ภายในมีลวดลายเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสขนาดเล็กซ้อนกัน 3 ชั้น เหนือขึ้นไปเป็นบัวหงาย ซึ่งเรียกว่า บัวรวน และหน้ากระดานบน

ฐานเขียงชั้นแรกหรือชั้นล่างสุดมีขนาดใหญ่กว่าฐานชั้นที่ 2 เป็นฐานที่ยื่นห่างออกจากตัวอาคารมาทางทิศตะวันออก โดยฐานเขียงชั้นแรกมีขนาดประมาณ 9x12.5 เมตร ฐานเขียงชั้นที่ 2 มีขนาดประมาณ 7x8 เมตร ฐานเขียงชั้นที่ 3 และ 4 มีขนาดประมาณ 6x6 เมตร

ถัดจากฐานเขียงขึ้นไปเป็นฐานบัวอันประกอบไปด้วยหน้ากระดานล่าง บัวคว่ำ ท้องไม้ บัวหงาย และหน้ากระดานบน ระหว่างท้องไม้กับบัวคว่ำบัวหงายมีลวดบัวเล็กๆ คั่นอยู่ทั้งด้านบนและล่างอย่างละ 1 ชั้น

ภายในท้องไม้มีการเจาะเป็นช่องสี่เหลี่ยมผืนผ้าเป็นช่วงๆ จากลักษณะที่เหลืออยู่คาดว่าน่าจะมีด้านละ 3 ช่อง โดยมีแนวอิฐคั่น ภายในช่องสี่เหลี่ยมผืนผ้ามีการทำลวดลายขีดเป็นช่องสี่เหลี่ยมจัตุรัสขนาดเล็กเรียงซ้อนกัน 3 แถว ลวดลายภายในช่องสี่เหลี่ยมผืนผ้านี้ยังคงหลงเหลือหลักฐานอยู่ที่ด้านเหนือและตะวันตก

ชั้นบัวหงายมีการประดับด้วยการทำเป็นลายบัวรวนเรียงต่อกัน คาดว่าคงเรียงต่อกันโดยตลอดแนวของบัวหงาย แต่เหลือหลักฐานเพียงบางช่วงที่ด้านทิศเหนือและตะวันตก

ถัดจากบัวหงายขึ้นไปเหลือเพียงแนวอิฐที่เรียงต่อกัน 4-5 ชั้น บริเวณด้านทิศเหนือและทิศใต้ของตัวอาคารมีร่องรอยการบากอิฐเป็นหลุมเสาเข้าไปในตัวฐานอาคารหลังนี้

อาคารหลังนี้หันหน้าไปทางทิศตะวันออก โดยฐานเขียงชั้นที่ 1 และ 2 มีการก่ออิฐเป็นแนวยื่นออกมาทางทิศตะวันออก และมีการย่อมุมโดยฐานเขียงชั้นที่ 1 ย่อมุม 3 ช่วง ฐานเขียงชั้นที่ 2 ย่อมุม 2 ช่วง บริเวณริมทั้ง 2 มีร่องรอยของหลุมเสากลม โดยฐานเขียงชั้นที่ 1 มีรอยหลุมเสา 2 คู่ ฐานเขียงชั้นที่ 2 มีรอยหลุมเสา 1 คู่

ทางด้านเหนือและตะวันออกของด้านข้างของฐานเขียงชั้นที่ 1 ที่ยื่นออกมาทางทิศตะวันออก มีลวดลายช่องสี่เหลี่ยมขนาดเล็กอยู่ภายในช่องสี่เหลี่ยมที่มีขนาดใหญ่เรียงกัน 1 แถว

บริเวณทางขึ้นด้านทิศตะวันออกติดกับฐานเขียงชั้นที่ 1 มีอัฒจรรย์ก่อเป็นรูปปีกกา 1 ชั้น ต่อจากอัฒจรรย์มีการก่ออิฐเป็นลายทางเดินด้านหน้า ยาวประมาณ 28 เมตร ช่วงระหว่างกลางลานด้านหน้ามีการก่ออิฐเป็นรูปสี่เหลี่ยมหลายชั้น ตรงกลางจะสูงกว่าส่วนอื่น

บริเวณรอบตัวอาคารมีการก่ออิฐเป็นลานรูปร่างต่างๆไม่แน่นอน มีการเรียงอิฐไม่เป็นระเบียบ ชาดเป็นตอนๆ เป็นรูปร่างต่างๆ ทางทิศเหนือห่างจากฐานเขียงชั้นที่ 1 ประมาณ 1.5 เมตร มีแนวอิฐก่อเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสตรงกลางเจาะเป็นรูสี่เหลี่ยม

การขุดตรวจเพื่อศึกษาฐานของอาคารของหน่วยศิลปากรที่ 6 บริเวณประชิดฐานด้านทิศตะวันตกของกึ่งกลางงฐาน พบว่าการวางฐานรากชั้นล่างสุดของอาคารหลังนี้เป็นทรายปนกรวดตาหนู ชั้นถัดขึ้นมามีการนำแศษตะกรันที่เกิดจากการถลุงเหล็กมาถมอัดเป็นฐานของอาคารอีกชั้นหนึ่ง

ถัดจากชั้นทรายปนกรวดตาหนูที่เป็นฐานของอาคารลงไปเป็นชั้นดินซึ่งพบเศษภาชนะดินเผา รูปแบบและเนื้อภาชนะเป็นแบบเดียวกับที่ได้จากหลุมขุดตรวจชั้นวัฒนธรรมในชั้นดินธรรมชาติที่ 2 คือ เป็นภาชนะเนื้อดิน เนื้อหนาค่อนข้างหยาบ ทาน้ำดินสีแดง

การกำหนดอายุ

ลักษณะของฐานอาคารดังกล่าวสามารถเปรียบเทียบได้กับฐานอาคารในศิลปะเขมรสมัยก่อนเมืองพระนครแบบสมโบร์ไพรกุก อายุราวกลางพุทธศตวรรษที่ 12 ถึงต้นพุทธศตวรรษที่ 13

ส่วนฐานของโบราณสถานดงเมืองเตยสามารถเทียบได้กับฐานของโบราณสถานหัวชัย (Han Chei) ในเมืองสมโบร์ไพรกุก ประเทศกัมพูชา โดยมีการทำฐานเขียงขนาดใหญ่ 1 ชั้น ถัดขึ้นไปเป็นฐานบัวที่ประกอบไปด้วยหน้ากระดานล่าง บัวคว่ำที่ทำเรียบๆ ท้องไม้ซึ่งมีการแบ่งเป็นช่องสี่เหลี่ยมผืนผ้า ภายในทำเป็นลายตารางหมากรุก ระหว่างช่องสี่เหลี่ยมผืนผ้าทำเป็นลายพันธุ์พฤกษา บัวหงาย และหน้ากระดานบน ระหว่างฐานเขียงกับหน้ากระดานล่างและบัวคว่ำมีลวดบัวคั่วอยู่ 2 ชั้น ชั้นหนึ่งทำเป็นลวดลายช่องสี่เหลี่ยม ภายในมีสี่เหลี่ยมจัตุรัสขนาดเล็กอยู่ ซึ่งพบที่ฐานเขียงชั้นล่างหรือชั้นแรกของโบราณสถานดงเมืองเตยด้วย

นอกจากนี้ยังสามารถเทียบได้กับโบราณสถานหลังอื่นๆอีก เช่น ปราสาทสมโบร์ไพรกุกหมู่เหนือหลังที่ 21 ซึ่งฐานมีลักษณะคล้ายกับโบราณสถานดงเมืองเตย โดยฐานบัวชั้นล่างสุดเป็นฐานเรียบๆที่น่าจะเป็นบัวคว่ำ บริเวณท้องไม้มีการแบ่งเป็นช่องสี่เหลี่ยมผืนผ้า ภายในทำเป็นลายตารางหมากรุก ถัดขึ้นไปเป็นบัวหงายซึ่งมีการประดับด้วยบัวรวน เช่นเดียวกับโบราณสถานดงเมืองเตย  (สมเดช ลีลามโนธรรม 2538)

ลายขีดเป็นตารางรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสขนาดเล็ก ซึ่งอยู่ภายในช่องสี่เหลี่ยมผืนผ้าของโบราณสถานดงเมืองเตยนี้ มีลักษณะต่างไปจากลายตารางหมากรุก (ซึ่งมีส่วนยื่นนูนขึ้นมาสลับกัน) ของโบราณสถานที่เมืองสมโบร์ไพรกุกดังที่กล่าวมา เหตุที่เป็นเช่นนี้คงเกิดจากลักษณะศิลปะของพื้นเมืองที่มีการทำลวดลายบางอย่างเป็นของตนเอง หรือไม่ก็อยู่ห่างไกลจากศูนย์กลางของศิลปะคือเมืองสมโบร์ไพรกุก จึงมีการทำลวดลายบางอย่างแตกต่างไปบ้าง แต่ก็ยังลักษณะร่วมบางอย่างที่คล้ายกัน คือการทำเป็นช่องสี่เหลี่ยม  (สมเดช ลีลามโนธรรม 2538)

อนึ่ง ลายตารางหมากรุกนี้ยังพบที่ฐานเรือนธาตุของจุลประโทน จังหวัดนครปฐม ซึ่งเป็นโบราณสถานในศิลปะทวารวดี (พุทธศตวรรษที่ 12-16) ในสมัยการสร้างครั้งแรก ราวกลางพุทธศตวรรษที่ 12 (พิริยะ ไกรฤกษ์ 2528 : 27) และลายบัวรวนยังพบว่ามีการใช้เป็นลวดลายประดับตกแต่งสถาปัตยกรรมในศิลปะทวารวดี เช่น ชิ้นส่วนสถูปที่ค้นพบในจังหวัดนครปฐม ลายบัวรวนยังมีลักษณะคล้ายกับลายใบไม้ม้วนที่อยู่ใต้ลายพวงมาลัยและพวงอุบะของทับหลังในศิลปะเขมรแบบสมโบร์ไพรกุก ที่พบจากปราสาทเขาน้อย จังหวัดสระแก้ว ลายใบไม้ม้วนนี้ยังเหมือนกับที่พบที่ผนังปราสาทสมโบร์ไพรกุกหมู่ใต้หลังที่ 8 ด้วย (สมิทธิ ศิริภัทร และมยุรี วีระประเสริฐ 2533 : 64)

บริเวณด้านหน้าของฐานเขียงชั้นที่ 1 ทางทิศตะวันออกซึ่งเป็นทางเข้าของโบราณสถานดงเมืองเตย มีการก่ออิฐเป็นรูปอัฒจรรย์ปีกกา 1 ชั้น ศ.ชอง บวสเซอลีเยร์ (Jean Boisselier) กล่าวว่าบันไดขั้นแรกที่ก่อเป็นปีกกานี้ปรากฏอยู่เฉพาะในสถาปัตยกรรมที่ยอมรับเอาประเพณีขอมมาใช้ (ชอง บวสเซอลีเยร์ 2511 : 61) อัฒจรรย์ในศิลปะเขมรก่อนเมืองพระนครมักจะมีการซ้อนกัน 2 ชั้น เริ่มแรกนั้นจะปรากฏเป็นวงโค้งปีกกาอย่างง่ายๆ บางๆ และเชื่อมติดกันโดยใช้ลวดลายก้นหอย ดังเช่นอัฒจรรย์ที่ปราสาทไพรเจก (Prei Chek) ในศิลปะแบบไพรกเมง (ปลายพุทธศตวรรษที่ 12 ถึงกลางพุทธศตวรรษที่ 13) (Boisselier 1966 : 195)

อัฒจรรย์ของโบราณสถานดงเมืองเตยก่อด้วยอิฐเป็นรูปปีกกาบางๆ 1 ชั้น ปลายวงโค้งก่ออิฐเป็นรูปวงโค้งเล็กๆอย่างคร่าวๆ อาจเทียบได้กับอัฒจรรย์ของปราสาทในศิลปะเขมรช่วงพุทธศตวรรษที่ 12-13 เช่น ปราสาทไพรเจก (Prei Chek) ในศิลปะแบบไพรกเมง  (สมเดช ลีลามโนธรรม 2538)

จากการศึกษาเปรียบเทียบลักษณะทางสถาปัตยกรรมที่กล่าวมาทำให้สันนิษฐานได้ว่าโบราณสถานดงเมืองเตยนี้คงเป็นสถาปัตยกรรมที่ได้รับอิทธิพลจากศิลปะเขมรสมัยก่อนเมืองพระนครที่มีอายุอยู่ในพุทธศตวรรษที่ 12-13

ผู้เรียบเรียงข้อมูล-ผู้ดูแลฐานข้อมูล

ภาวิณี รัตนเสรีสุข เรียบเรียง, ทนงศักดิ์ เลิศพิพัฒน์วรกุล ดูแลฐานข้อมูล

บรรณานุกรม

ก่องแก้ว วีระประจักษ์. “อารยธรรมอีสานสมัยพระเจ้ามเหนทรวรมัน.” ศิลปากร 32, 3 (กรกฎาคม-สิงหาคม 2531) : 13-25.

กรมศิลปากร. ทะเบียนโบราณสถาน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เล่ม 1 จังหวัดนครราชสีมา จังหวัดอุบลราชธานี จังหวัดยโสธร. กรุงเทพฯ : โครงการสำรวจและขึ้นทะเบียนโบราณสถาน กองโบราณคดี กรมศิลปากร, 2529 : 251-253.

กรมศิลปากร. เมืองอุบลราชธานี. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2532.

กรมศิลปากร. แหล่งท่องเที่ยวอีสานล่าง. กรุงเทพฯ : เอกสารกองโบราณคดี หมายเลข 8/2533 กองโบราณคดี กรมศิลปากร, 2533.

โครงการโบราณคดีประเทศไทย (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ). รายงานการสำรวจแหล่งเมืองโบราณจังหวัดยโสธร. ม.ป.ท., 2526.

โคลด, ชาค. “เขมรในประเทศไทย ข้อมูลที่ปรากฏในจารึก.” แปลโดย อุไรศรี วรศะริน ใน การประชุมทางวิชาการระดับชาติฝรั่งเศส-ไทย ครั้งที่ 1. กรุงเทพฯ : มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2531 : 35-54.

ชะเอม แก้วคล้าย. “ศิลาจารึกดอนเมืองเตย อักษรปัลลวะ ภาษาสันสกฤต ประมาณพุทธศตวรรษที่ 12-13.” ศิลปากร 29, 2 (พฤษภาคม 2528) : 70-73.

ชะเอม แก้วคล้าย. “จารึกดอนเมืองเตย.” ใน จารึกในประเทศไทย เล่ม 1 : อักษรปัลลวะ หลังปัลลวะ พุทธศตวรรษที่ 12-14. กรุงเทพฯ : หอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากร, 2529 : 168-175.

เทิม มีเต็ม และชะเอม แก้วคล้าย. “จารึกสำคัญที่พบในเขตจังหวัดอุบลราชธานีและยโสธร.” ใน เมืองอุบลราชธานี. กรุงเทพฯ : กองพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กรมศิลปากร, 2532 : 196-213.

ธรดรา ทองสิมา และนฤมล เภกะนันท์. รายงานการขุดแต่งโบราณสถานดงเมืองเตย บ้านสงเปือย ตำบลสงเปือย อำเภอคำเขื่อนแก้ว จังหวัดยโสธร. ม.ป.ท., 2536.

ธิดา สาระยา. อาณาจักรเจนละ ประวัติศาสตร์อีสานโบราณ. กรุงเทพฯ : บริษัท พิฆเนศ พริ้นติ้งเซ็นเตอร์ จำกัด, 2535.

นพวรรณ สิริเวชกุล. “ย้อนรอยเมืองเตย เมืองโบราณของยโสธร.” วัฒนธรรมไทย 35, 11 (สิงหาคม 2541) : 17-20.

บวสเซอลีเยร์, ชอง. “ศิลปทวารวดี ตอนที่ 1.” แปลโดย ม.จ.สุภัทรดิศ ดิศกุล. ศิลปากร 11, 5 (มกราคม 2511), 35-64.

ประยูร อุลุชาฏะ (น. ณ ปากน้ำ). “ก่อนหน้าหินยานลังกา.” เมืองโบราณ 13, 4 (ตุลาคม-ธันวาคม 2530) : 55-64.

พิริยะ ไกรฤกษ์. ประวัติศาสตร์ศิลปะในประเทศไทย ฉลัลคู่มือนักศึกษา. กรุงเทพฯ : อมรินทร์การพิมพ์, 2528”

ศรีศักร วัลลิโภดม. แอ่งอารยธรรมอีสาน แฉหลักฐานโบราณคดี พลิกโฉมหน้าประวัติศาสตร์ไทย. กรุงเทพฯ : บริษัท พิฆเนศ พริ้นติ้งเซ็นเตอร์ จำกัด, 2535.

ศิลาจารึก. จารึกในประเทศไทย เล่ม 1-4. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์ภาพพิมพ์, 2529.

สมเดช ลีลามโนธรรม. “การศึกษาการพัฒนาการของชุมชนเมืองโบราณดงเมืองเตย บ้านสงเปือย อำเภอคำเขื่อนแก้ว จังหวัดยโสธร” สารนิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรบัณฑิต (โบราณคดี) มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2538.

สมิทธิ ศิริภัทร และมยุรี วีระประเสริฐ. ทับหลัง การศึกษาเปรียบเทียบทับหลังที่พบในประเทศไทยและประเทศกัมพูชา. กรุงเทพฯ : โมเดอร์นเพลส, 2533.

สุภัทรดิศ ดิศกุล, หม่อมเจ้า. ศิลปะในประเทศไทย. กรุงเทพฯ : บริษัท อมรินทร์ พริ้นติ้งกรุ๊พ จำกัด, 2534.

สุริยวุฒิ สุขสวัสดิ์, หม่อมราชวงศ์. ศิลปะร่วมแบบเขมรในประเทศไทย : ภูมิหลังทางปัญญา รูปแบบทางศิลปกรรม. กรุงเทพฯ : บริษัท พิฆเนศ พริ้นติ้ง เซ็นเตอร์ จำกัด, 2537.

หน่วยศิลปากรที่ 6 นครราชสีมา กรมศิลปากร. รายงานการขุดแต่งโบราณสถานดงเมืองเตย บ้านสงเปือย ตำบลสงเปือย อำเภอคำเขื่อนแก้ว จังหวัดยโสธร. นครราชสีมา. กรมศิลปากร,  2536.

Boisselier, Jean. Le Combodge. Tome I. Manuel d’ Archaeology d’ Extreme-Orrient. Paris, 1966.

Piriya Kairiksh. “Semas with Scenes from the Mahanipata – Jatakas in the National Museum at Khon Kaen.” Art and Archaeology in Thailand. Prachaubkirikhan : Infantary Center Printing Press, 1974 : 35-66.

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ภาพเกี่ยวกับแหล่งโบราณคดี