โพสต์เมื่อ 13 ก.ค. 2020
ชื่ออื่น : ถ้ำฝ่ามือแดง
ที่ตั้ง : สวนรุกขชาติลุ่มน้ำพอง (โสกแต้) ต.โคกงาม อ.บ้านฝาง
ตำบล : โคกงาม
อำเภอ : บ้านฝาง
จังหวัด : ขอนแก่น
พิกัด DD : 16.577272 N, 102.583326 E
จากแยกสามเหลี่ยมในตัวจังหวัดขอนแก่นหรือในเทศบาลนครขอนแก่น ให้ใช้ถนนมะลิวัลย์ (ทางหลวงหมายเลข 12) มุ่งหน้าอำเภอหนองเรือ (ทางทิศตะวันตก) ประมาณ 28 กิโลเมตร พบถนนเข้าสู่เขื่อนอุบลรัตน์ทางขวามือ (ต้องกลับรถเพื่อใช้ถนนเส้นดังกล่าว) ไปตามถนนมุ่งหน้าเขื่อนอุบลรัตน์ประมาณ 4.2 กิโลเมตร พบสามแยกให้เลี้ยวขวา (มุ่งหน้าเขื่อน) ไปตามถนนประมาณ 6.5 กิโลเมตร ถึงบ้านดอนกอก พบสี่แยกให้เลี้ยวขวาไปตามถนนประมาณ 2.3 กิโลเมตร พบที่ทำการสวนรุกชาติลุ่มน้ำพอง (โสกแต้) ทางขวามือ สามารถจอดรถได้หน้าที่ทำการแล้วลงเดินไปตามป้ายอีกประมาณ 100 เมตร ถึงถ้ำลายมือ 3
ถ้ำลายมือ 3 ตั้งอยู่บนเทือกเขาภูพานคำ ซึ่งเป็นขอบด้านทิศตะวันออกของเขื่อนอุบลรัตน์ ทำให้มองเห็นเขื่อนได้อย่างชัดเจน มีทิวทัศน์สวยงาม ทั้งยังอยู่ในพื้นที่สวนรุกขชาติลุ่มน้ำพอง (โสกแต้) มีป้ายบอกที่ตั้งของที่ท่องเที่ยวภายในสวนรุกขชาติ มีเส้นทางเดินเท้าศึกษาธรรมชาติและที่พักค้างแรม เหมาะสำหรับเป็นสถานที่พักผ่อนและท่องเที่ยวชมความงามตามธรรมชาติและภาพเขียนสีก่อนประวัติศาสตร์
สภาพของภาพเขียนสีส่วนใหญ่อยู่ในสภาพเริ่มลบเลือน บางส่วนเลือนลางและผิวหินหลุดร่อน ไม่มีป้ายบรรยายให้ข้อมูล ทางเดินชมภาพเขียนสีมีสภาพดี เป็นจุดท่องเที่ยวที่สำคัญจุดหนึ่งของสวนรุกขชาติ
ผู้สนใจสามารถเข้าเยี่ยมชมได้ทุกวัน โดยไม่เสียค่าเข้าชม หากต้องการติดต่ออย่างเป็นทางการสามารถติดต่อได้ที่สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 8 (ขอนแก่น) ถ.มิตรภาพ ต.ศิลา อ.เมืองขอนแก่น จ.ขอนแก่น 40000 โทร. 043-343-411-2 โทรสาร 043-343-414
สวนรุกขชาติลุ่มน้ำพอง (โสกแต้), สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 8 (ขอนแก่น), กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช, กรมศิลปากร
ถ้ำลายมือ 3 อยู่ใกล้กับที่ทำการสวนรุกชาติลุ่มน้ำพอง (โสกแต้) ลักษณะแหล่งเป็นเพิงผาหินทรายบนเทือกเขาเดียวกับถ้ำลายมือ 1 คือเทือกเขาภูพานคำ ทอดตัวยาวตามแนวทิศเหนือ-ใต้ เทือกเขานี้เป็นส่วนขอบด้านทิศตะวันออกของเขื่อนอุบลรัตน์ ธรณีสัณฐานเป็นหินทรายในหมวดหินภูกระดึงต่อเนื่องกับหมวดหินพระวิหาร ทั้งนี้ ภาพเขียนสีถ้ำลายมือ 3 อยู่ห่างจากถ้ำลายมือ 1 มาทางทิศใต้ประมาณ 1.5 กิโลเมตร
บริเวณเชิงเขาด้านทิศตะวันตกเป็นพื้นที่ทับถมของตะกอนน้ำพาและตะกอนภูเขา ปัจจุบันเป็นพื้นที่เกษตรกรรม ถัดออกไปอีก 1.5 กิโลเมตรเป็นถนนและเขื่อนอุบลรัตน์ (ลำน้ำเชิญ) ตามลำดับ
สภาพโดยทั่วไปบนเขาเป็นป่าเต็งรังหนาทึบ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสวนรุกขชาติลุ่มน้ำพอง (โสกแต้) มีก้อนหินทรายขนาดใหญ่น้อยกระจายตัวอยู่ทั่วไป ดินเป็นดินร่วนปนทราย
บริเวณที่พบภาพเขียนสีเป็นกลุ่มของก้อนหินทรายขนาดใหญ่ที่โผล่พ้นผิวดินขึ้นมา วางตัวตามแนวทิศเหนือ-ใต้ โดยภาพเขียนสีพบอยู่ที่ผนังของก้อนหินทรายขนาดใหญ่ก้อนหนึ่งในบริเวณดังกล่าว หันหน้าไปทางทิศตะวันตก และมีก้อนหินทรายขนาดใหญ่อีกก้อนหนึ่งวางซ้อนเหลื่อมอยู่ด้านบน ทำให้มีลักษณะคล้ายชายคายื่นออกมาจากด้านบนของผนังเพิงผาที่ปรากฏภาพเขียนสี (หรืออาจเรียกได้ว่าป็นผนังเพิงผาขนาดเล็กๆ ที่มีเพิงหินชะโงกยื่นออกมา) พื้นดินใต้เพิงผามีขนาดแคบ ก่อนลาดตัวชันลงไปตามลาดเขา ปัจจุบันมีการทำเป็นพื้นปูนซีเมนต์ที่ทอดตัวลงมาจากด้านบนที่เป็นที่ทำการสวนรุกขชาติ
ลำน้ำเชิญ
ธรณีสัณฐานเป็นหินทรายในหมวดหินภูกระดึงต่อเนื่องกับหมวดหินพระวิหาร
ชื่อผู้ศึกษา : กรมศิลปากร
ปีที่ศึกษา : ก่อน พ.ศ.2549
วิธีศึกษา : สำรวจ, ศึกษาศิลปะถ้ำ
องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร
ผลการศึกษา :
สำนักศิลปากรที่ 9 ขอนแก่น สำรวจและศึกษาภาพเขียนสีถ้ำลายมือ 3บริเวณที่พบภาพเขียนสีเป็นกลุ่มของก้อนหินทรายขนาดใหญ่ที่โผล่พ้นผิวดินขึ้นมา วางตัวตามแนวทิศเหนือ-ใต้ โดยภาพเขียนสีพบอยู่ที่ผนังของก้อนหินทรายขนาดใหญ่ก้อนหนึ่งในบริเวณดังกล่าว หันหน้าไปทางทิศตะวันตก และมีก้อนหินทรายขนาดใหญ่อีกก้อนหนึ่งวางซ้อนเหลื่อมอยู่ด้านบน ทำให้มีลักษณะคล้ายชายคายื่นออกมาจากด้านบนของผนังเพิงผาที่ปรากฏภาพเขียนสี (หรืออาจเรียกได้ว่าป็นผนังเพิงผาขนาดเล็กๆ ที่มีเพิงหินชะโงกยื่นออกมา) พื้นดินใต้เพิงผามีขนาดแคบ ก่อนลาดตัวชันลงไปตามลาดเขา ปัจจุบันมีการทำเป็นพื้นปูนซีเมนต์ที่ทอดตัวลงมาจากด้านบนที่เป็นที่ทำการสวนรุกขชาติ
ลักษณะภาพเขียนสีเป็นภาพเขียนสีแดงบนผนังหินผิวเรียบ มีจำนวน 9 ภาพ ประกอบด้วยภาพมือขวา 4 ภาพ มือซ้าย 1 ภาพ ภาพ ลวดลายเรขาคณิต 1 ภาพ ส่วนอีก 3 ภาพมีสภาพลบเลือนมากไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นภาพอะไร ภาพปรากฏอยู่ในระดับตั้งแต่ 1-2 เมตร
ภาพเขียนสีที่ถ้ำลายมือ 3 เพิ่งพบเมื่อประมาณ 10 ปีที่ผ่านมา ด้วยเหตุที่สภาพของแหล่งภาพเขียนเป็นหน้าผาเล็กและแคบ ไม่มิดชิดพอที่จะป้องกันอันตรายได้ ดังนั้นจึงไม่เหมาะสำหรับการอยู่อาศัยถาวร จึงสันนิษฐานว่าผู้เขียนภาพจึงน่าจะเป็นกลุ่มชนที่อาศัยอยู่บนพื้นที่ราบ เป็นชุมชนในสังคมกสิกรรม อายุประมาณ 4,000-3,000 ปีมาแล้ว และอาจเป็นกลุ่มคนเดียวกับผู้วาดภาพที่ถ้ำลายมือ 1 และ 2
กรมศิลปากร. “ภาพเขียนสีถ้ำลายมือ 3.” ระบบภูมิสารสนเทศ โครงการสำรวจแหล่งมรดกทางศิลปวัฒนธรรม. (ออนไลน์), มปป. เข้าถึงเมื่อ 27 มิถุนายน 2557. แหล่งที่มา http://www.gis.finearts.go.th