โพสต์เมื่อ 13 ก.ค. 2020
ชื่ออื่น : ปรางค์กู่บ้านหนองแฝก
ที่ตั้ง : ม.6 บ้านหนองแฝก ต.บ้านเต่า อ.บ้านแท่น
ตำบล : บ้านเต่า
อำเภอ : บ้านแท่น
จังหวัด : ชัยภูมิ
เขตลุ่มน้ำหลัก : ลำน้ำเชิญ
จากจังหวัดชัยภูมิ ใช้ทางหลวงหมายเลข 201 (ชัยภูมิ-ชุมแพ) เมื่อเดินทางถึงอำเภอแก้งคร้อ จะมีทางแยกขวามือผ่านตลาดเข้าสู่ทางหลวงหมายเลข 2389 ไปอำเภอบ้านแท่น เดินทางประมาณ 32 กิโลเมตร จะถึงตำบลบ้านเต่า จากตำบลบ้านเต่าเดินทางไปอีกประมาณ 5 กิโลเมตร จะพบทางแยกซ้ายมือ มีป้ายบอกทางเข้าปรางค์กู่ เดินทางตามถนนคอนกรีตอีกประมาณ 1 กิเลมตร จะถึงโบราณสถานปรางค์กู่
ปรางค์กู่บ้านหนองแฝกเป็นโบราณสถานที่ได้รับการขุดแต่งและบูรณปฏิสังขรณ์แล้ว เป็นโบราณศาสนสถานสำคัญมากแห่งหนึ่งของชุมชน ผู้สนใจสามารถเข้าเยี่ยมชมได้ทุกวัน โดยไม่เสียค่าเข้าชม
กรมศิลปากร, เทศบาลตำบลบ้านเต่า
โบราณสถานปรางค์กู่บ้านหนองแฝก ได้รับการขึ้นทะเบียนโบราณสถานและกำหนดขอบเขตโบราณสถานในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 53 ตอนที่ 24 วันที่ 2 สิงหาคม 2497
บริเวณที่ตั้งกู่ก่อนการบูรณะปฏิสังขรณ์เป็นเนินดิน ล้อมรอบด้วยทุ่งนา สูงกว่าพื้นที่โดยรอบประมาณ 2 เมตร มีต้นไม้ปกคลุมค่อนข้างหนาแน่น ด้านทิศตะวันตกของโบราณสถานห่างออกไปประมาณ 60 เมตร มีลำห้วยไหลผ่านอ้อมไปทางทิศเหนือของโบราณสถาน พื้นที่โดยรอบที่เป็นทุ่งนาปลูกข้าวเหนียวเป็นหลัก นอกจากนี้ยังปลูกอ้อย เลี้ยงสัตว์ และปลูกพืชผักสวนครัว
ลำน้ำเชิญ, ลำห้วยธรรมชาติ (ไม่ทราบชื่อ)
ปรางค์กู่บ้านหนองแฝกตั้งอยู่บนเนินดินท่ามกลางที่ราบที่ทับถมจากน้ำกอนน้ำพา ลักษณะทางธรณีวิทยาของพื้นที่เป็นหินทรายในหมวดหินภูกระดึง
ชื่อผู้ศึกษา : กรมศิลปากร
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2548
องค์กรร่วม / แหล่งทุน : องค์การบริหารส่วนตำบลบ้านเต่า
ผลการศึกษา :
องค์การบริหารส่วนตำบลบ้านเต่าสนับสนุนงบประมาณให้สำนักศิลปากรที่ 12 นครราชสีมา ขุดแต่งและขุดค้นโบราณสถานปรางค์กู่บ้านหนองแฝกจนแล้วเสร็จชื่อผู้ศึกษา : กรมศิลปากร
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2550
วิธีศึกษา : บูรณปฏิสังขรณ์
องค์กรร่วม / แหล่งทุน : องค์การบริหารส่วนตำบลบ้านเต่า
ผลการศึกษา :
องค์การบริหารส่วนตำบลบ้านเต่า (ปัจจุบันคือเทศบาลตำบลบ้านเต่า) สนับสนุนงบประมาณให้สำนักศิลปากรที่ 12 นครราชสีมา บูรณะปราสาทประธานและบรรณาลัยของโบราณสถานปรางค์กู่บ้านหนองแฝกชื่อผู้ศึกษา : กรมศิลปากร
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2551
วิธีศึกษา : บูรณปฏิสังขรณ์
องค์กรร่วม / แหล่งทุน : องค์การบริหารส่วนตำบลบ้านเต่า
ผลการศึกษา :
องค์การบริหารส่วนตำบลบ้านเต่าสนับสนุนงบประมาณให้สำนักศิลปากรที่ 12 นครราชสีมา บูรณะกำแพงแก้วและสระน้ำของโบราณสถานปรางค์กู่บ้านหนองแฝกจากการทำงานของกรมศิลปากรที่ผ่านมา (ดุสิต ทุมมากรณ์ และทนงศักดิ์ หาญวงษ์ 2553) ทำให้ได้ข้อมูลปรางค์กู่บ้านหนองแฝกในแง่มุมต่างๆ ดังนี้
ประวัติโบราณสถาน
จากคำบอกเล่าของชาวบ้านที่สัมภาษณ์โดยเจ้าหน้าที่กรมศิลปากร (2553) ได้ข้อมูลว่าเมื่อกว่า 40 ปีที่ผ่านมา พื้นที่บริเวณนี้เป็นป่าไม้มีต้อนไม้ปกคลุมหนาแน่น ตัวโบราณสถานพังทลาย มีการเคลื่อนย้ายหินออกไปด้านนอกและขุดดินออกไปจนเห็นห้องภายในโคปุระ มีแท่นประดิษฐานประติมากรรมรูปเคารพ ซึ่งเคยมีรูปเคารพประทับยืนติดตั้งอยู่บนแท่นนี้ มีประติมากรรมหินทราย ท่าทางประทับนั่ง ไม่มีส่วนเศียร ตั้งอยู่ด้านหน้าปราสาท มีการสรงน้ำปรางค์กู่ในช่วงเดือนเมษายน
เมื่อประมาณกว่า 20 ปีที่ผ่านมา ได้มีพระธุดงค์ 2 รูป เข้ามาพักอาศัยอยู่ในพื้นที่โบราณสถาน ได้นำชาวบ้านมาขุดลอกสระน้ำด้านหน้าโบราณสถาน จนลึกกว่าระดับสระเดิม 2-3 เมตร โดยอ้างว่าขุดหาโบราณสถานโบราณวัตถุบางอย่างที่มีคุณค่าสำคัญ แต่ไม่พบโบราณวัตถุใดๆ จากนั้นก็ได้เคลื่อนย้ายหินหล่นของโบราณสถานบางส่วน ไปวางเรียงไว้โดยรอบสระชั้นบน นำชาวบ้านกลุ่มหนึ่งพร้อมกับดินหลายคันรถมาถมปิดทับภายในห้องปราสาทจนเต็ม สูงเท่าระดับกรอบประตูตัวบนของปราสาทประธานและนำหินหล่นมาวางเรียงปิดทับผิวหน้าดินเอาไว้ ส่วนบริเวณกำแพงแก้วก็ได้ขนย้ายหินหล่นขึ้นไปวางเรียง จนทำให้เห็นรูปแบบที่ผิดไปจากเดิมอย่างชัดเจน เมื่อเสร็จแล้วพระธุดงค์ก็เดินทางไปอยู่ที่อื่น
พ.ศ.2548 องค์การบริหารส่วนตำบลบ้านเต่าสนับสนุนงบประมาณให้สำนักศิลปากรที่ 12 นครราชสีมา ขุดแต่งและขุดค้นโบราณสถานปรางค์กู่บ้านหนองแฝกจนแล้วเสร็จ
พ.ศ.2550 องค์การบริหารส่วนตำบลบ้านเต่า (ปัจจุบันคือเทศบาลตำบลบ้านเต่า) สนับสนุนงบประมาณให้สำนักศิลปากรที่ 12 นครราชสีมา บูรณะปราสาทประธานและบรรณาลัยของโบราณสถานปรางค์กู่บ้านหนองแฝก
พ.ศ.2551 องค์การบริหารส่วนตำบลบ้านเต่าสนับสนุนงบประมาณให้สำนักศิลปากรที่ 12 นครราชสีมา บูรณะกำแพงแก้วและสระน้ำของโบราณสถานปรางค์กู่บ้านหนองแฝก
สภาพโบราณสถานก่อนการบูรณะ (ก่อน พ.ศ.2550)
สภาพทั่วไปของสิ่งก่อสร้างยังคงอยู่ในสภาพครบถ้วนตามโครงสร้างสถาปัตยกรรม แต่มีลักษณะทรุดเอียงและหลุดออกจากตำแหน่งเดินในบางจุด มีรากไม้ใหญ่แทรกระหว่างก้อนหิน ทำให้เกิดช่องว่างระหว่างก้อนหินหลายจุด และบางจุดยังได้ทำให้หินแตกพังทลาย
เหนือชั้นฐานขึ้นไปมีลักษณะเอียงออกจากแนวเดิมมาก ทางกรมศิลปากรจึงได้ดำเนินการโครงสร้างไม้ค้ำยันเสริมความมั่นคงไว้
ส่วนบนหรือส่วนหลังคาอาคารส่วนใหญ่พังทลาย สามารถเห็นเค้าโครงเดิมเพียงบางจุดเท่านั้น ในบางตำแหน่ง โดยเฉพาะแนวกำแพงแก้ว ที่ปรากฏร่องรอยของหินหล่นที่ถูกนำขึ้นไปวางเรียงใหม่ ทำให้เห็นรูปทรงที่ผิดไปจากเดิม
ลักษณะโบราณสถาน
แผนผัง
โบราณสถานปรางค์กู่บ้านหนองแฝกมีแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า หันด้านหน้าไปทางทิศตะวันออก ประกอบไปด้วยโบราณสถานในพื้นที่ ได้แก่ ปราสาทประธาน วิหาร (บรรณาลัย) โคปุระ กำแพงแก้ว และสระน้ำ 1 สระ
ปราสาทประธาน
ปราสาทประธานตั้งหันหน้าไปทางทิศตะวันออก แผนผังรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนาด 7x8 เมตร ส่วนฐานห้องมุขมีขนาด 3x3.5 เมตร ก่อเรียงด้วยศิลาแลง 3 ชั้น สูงจากพื้นดินประมาณ 90 เซนติเมตร บริเวณกึ่งกลางของฐานด้านหน้าก่อเรียงศิลาแลงเป็นขั้นบันได 3 ขั้น ขนาดกว้าง 1 เมตร
เหนือจากชั้นฐานขึ้นไปเป็นส่วนเรือนธาตุ ทางด้านทิศเหนือและทิศตะวันออกคงเหลือหลักฐานถึงชั้นกรอบประตูและทับหลังมีความสูงจากชั้นฐานขึ้นไปประมาณ 3 เมตร ก่อเรียงด้วยศิลาแลง 10 ชั้น ส่วนทางทิศใต้และตะวันตกเหลือหลักฐานน้อยกว่า
ประตูด้านทิศเหนือ ใต้ และตะวันตก ก่อเรียงศิลาแลงปิดช่องประตูจนเต็มกรอบ ลักษณะเหมือนกับบานประตูปิดไว้ (ประตูหลอก) ส่งกรอบประตูด้านทิศตะวันออกเป็นประตูทางเข้าสู่ห้องภายในปราสาท
ห้องครรภคฤหะภายในส่วนเรือนธาตุของปราสาท เป็นห้องรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสขนาด 2x2 เมตร จากการศึกษาของกรมศิลปากรไม่พบหลักฐานการก่อเรียงศิลาแลงเป็นพื้นที่ภายใน สันนิษฐานว่าพื้นที่ภายในเดิมคงก่อเรียงด้วยศิลาแลง แต่ถูกรบกวนจากการลักลอบขุดหาโบราณวัตถุและรื้อทำลายพื้นเสียหาย เหลือหลักฐานอยู่เพียงชั้นดินที่อัดแน่น ส่วนภายในห้องมุขเป็นห้องรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนาด 1.2x1.5 เมตร พื้นก่อเรียงด้วยศิลาแลง
วิหารหรือบรรณาลัย
วิหารมีผังรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนาด 5x8 เมตร หันหน้าไปทางทิศตะวันตก ส่วนฐานก่อเรียงด้วยศิลาแลง 2 ชั้น สูงจากพื้นดินประมาณ 60 เซนติเมตร ผนังอาคารก่อทึบทั้ง 3 ด้าน สูงจากชั้นฐานขึ้นไปประมาณ 2.5 เมตร ก่อเรียงด้วยศิลาแลง 6-10 ชั้น ผนังด้านทิศเหนือทรุดเอียงไปทางด้านนอก ภายในวิหารแบ่งออกเป็น 2 ห้อง คือห้องมุขด้านหน้าและห้องภายในวิหาร ซึ่งภายในมีฐานประติมากรรมหินทราย 1 ฐาน
โคปุระ
โคปุระหรือซุ้มประตูทางเข้าสู่โบราณสถาน มีแผนผังเป็นรูปกากบาท ขนาด 8x12.5 เมตร ทางด้านทิศตะวันออกซึ่งเป็นด้านหน้ามีห้องมุขยื่นออกไปขนาด 3x5 เมตร พื้นที่ภายในแบ่งออกเป็น 3 ห้อง คือ ห้องตรงกลาง ห้องด้านทิศเหนือ และห้องด้านทิศใต้
ห้องตรงกลางมีแผนผังรูปกากบาท ขนาด 4.7x5.7 เมตร พื้นที่ภายในก่อวางเรียงด้วยศิลาแลง บริเวณกึ่งกลางห้องเยื้องไปทางเหนือเล็กน้อย มีแท่นประติมากรรม 1 แท่น (อยู่ในตำแหน่งเดิม) ทำจากหินทรายสีเทา ขนาด 63x63x50 เซนติเมตร ด้านบนตรงกลางแท่นสลักเป็นช่องสี่เหบี่ยมขนาด 25x25 เซนติเมตร ลึก 5 เซนติเมตร และตรงกลางช่องเป็นหลุมกลมขนาดเล็นผ่าศูนย์กลาง 18 เซนติเมตร ลึก 35 เซนติเมตร ทางด้านทิศเหนือของแท่นสลักเป็นร่องน้ำยื่นออกไปจากแท่น
ห้องด้านทิศเหนือมีขนาด 1.5x2.5 เมตร ห้องด้านทิศใต้มีขนาด 1x2.5 เมตร ทั้ง 2 ห้องก่อเรียงศิลาแลงเป็นพื้นภายใน ส่วนห้องมุขด้านหน้าที่ยื่นออกไปจากโคปุระนั้น ตั้งอยู่บนฐานที่ก่อเรียงศิลาแลงเชื่อมออกมาจากฐานโคปุระ ห้องภายในมีขนาด 1x2.5 เมตร ก่อเรียงศิลาแลงเป็นพื้นที่ภายใน
กำแพงแก้ว
กำแพงแก้วล้อมรอบโบราณสถาน แผนผังรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนาด 24.5x36 เมตร แนวกำแพงด้านทิศเหนือและใต้ยาว 36 เมตร ส่วนด้านทิศตะวันตกยาว 24.5 เมตร ส่วนด้านทิศตะวันออกซึ่งก่อสร้างต่อออกมาจากโคปุระนั้นแบ่งแนวกำแพงแก้วออกเป็น 2 ส่วน คือ ด้านทิศตะวันออกซีกทิศเหนือ มีขนาดยาว 5 เมตร และด้านตะวันออกซีกทิศใต้ยาว 7 เมตร
ส่วนฐานกำแพงแก้วก่อด้วยศิลาแลง 2 ชั้น ชั้นล่างสุดเป็นฐานเรียบ สูงจากพื้นดิน 15 เซนติเมตร ชั้นที่ 2 สลักหินเป็นรูปบัวคว่ำ สูงประมาณ 60 เซนติเมตร และผิวที่ด้านบนของชั้นบัวคว่ำจะสลักหินเป็นรูปสี่เหลี่ยมแนวยาวเพื่อรองรับส่วนยอดกำแพง 1 ชั้น สูง 60 เซนติเมตร กำแพงแก้วที่สมบูรณ์สูงจากพื้นดินประมาณ 2.45 เมตร ก่อด้วยศิลาแลง 8 ชั้น ส่วนด้านทิศตะวันออกซีกทิศใต้ มีการก่อเรียงศิลาแลงเพื่อเป็นช่องประตูทางเข้ามีขนาดกว้าง 1 เมตร ไม่พบชิ้นส่วนกรอบประตู
สระน้ำ
สระน้ำตั้งอยู่นอกกำแพงแก้ว ห่างจากมุมกำแพงแก้วด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือประมาณ 3 เมตร ก่อด้วยศิลาแลงลดหลั่นลงไปยังก้นสระเป็นขั้นบันได 12-13 ชั้น (ด้านทิศเหนือและใต้ 12 ชั้น ด้านทิศตะวันออกและตะวันตก 13 ชั้น) ลึกประมาณ 2.5 เมตร ขอบสระด้านบนสุดมีขนาด 13.5x18.5 เมตร ขอบสระด้านล่างสุดขนาด 6x8 เมตร
การก่อสร้างโบราณสถาน
โบราณสถานปรางกู่บ้านหนองปฝกใช้ศิลาแลงเป็นวัสดุหลักในการก่อสร้าง และมีหินทรายสีเทาเป็นส่วนประกอบร่วม โดยเพาะในส่วนของกรอบประตู เสาประดับกรอบประตู ทับหลังส่วนยอดของปราสาทประธาน และส่วนที่เป็นแท่นรองประติมากรรม
การก่อสร้างในส่วนของชั้นฐานรากได้ก่อวางเรียงศิลาแลง 1 ก้อน ตามตำแหน่งและแนวของสิ่งก่อสร้างในแต่ละจุด บนชั้นบดอัดแน่นของดินทรายและหินกรวดที่บดอัดเป็นชั้นหนาเพื่อรองรับฐานรากของสิ่งก่อสร้าง จากนั้นจึงก่อวางเรียงหินประกอบหินขึ้นเป็นอาคาร ลักษณะการก่อและวางเรียงประกอบหิน มีทั้งการใช้หินทรายทรงสี่เหลี่ยมที่ผิวด้านบนและด้านข้างเรียบ นำมาวางซ้อนกันแนวดิ่ง และวางชนกันในแนวระนาบ โดยใช้ลักษณะการวางซ้อนแบบเหลื่อมสลับ เพื่อเป้นก็นการถ่ายน้ำหนักจากชั้นบนสู่ชั้นล่าง และในบางตำแหน่งพบการวางเรียงประกอบหินโดยไม่เหลื่อมสลักก็มีเทคนิควิธีการวางเรียงประกอบหินอีกแบบหนึ่งคือ การตกต่างหินเป็นรอยบ่าหรือำเป็นเดือยด้านข้างและด้านบนของหิน เพื่อนำหินมาวางเรียงประกอบชนกันให้แนบสนิทกันพิดีกับรอยบ่าหรือเดือยที่ทำไว้เป็นการเข้าหินลักษณะคล้ายการทำบ่าหรือเข้าเดือยแบบสถาปัตยกรรมเครื่องไม้
ลักษณะที่พบอีกอย่างหนึ่งคือการก่อเรียงประกอบหินชุดกรอบประตู มีการตกแต่งหินทรายบริเวณที่หินต้องประกบซ้อนกันให้เป็นแนวลาดเอียง 45 องศา และขัดผิวเรียบเมื่อนำหินมาวางเรียงประกบกัน รอยต่อของหินจะแนบสนิทกันจนไม่เห็นช่องระหว่างหินและในบางตำแหน่งที่หินทรายวางชนกันมีการใช้เหล็กรูปตัวไอ (I) มาเป็นตัวยึดระหว่างก้อนหิน โดยการสกัดแต่งหินให้เป็นร่องรูปตัวไอ นำแหล็กรูปตัวไอวางลงไปแล้วนำตะกั่วมาเทปิดทับจนเต็มร่องรูปตัวไอ พบเห็นได้ที่ตำแหน่งของหินชุดทับหลังและส่วนยอดของปราสาทประธาน
การสลักลวดลายบนโบราณสถานพบว่ามีร่องรอยสลักลวดลายเฉพาะบริเวณแนวกำแพงแก้วด้านทิศใต้และทิศตะวันตก ซึ่งตกแต่งหินเป็นรูปบัวคว่ำและบัวหงายเท่านั้น ส่วนบริเวณอื่นๆ ไม่ปรากฏลวดลายสลักที่ชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นส่วนทับหลังหน้าบัน เสาประดับกรอบประตู หรือส่วนผนังอาคาร แม้กระทั่งเครื่องตกแต่งสถาปัตยกรรมที่มักพบ เช่น บันแถลง ที่ประดับตามมุมของส่วนชั้นยอดปราสาทประธานก็ไม่พบจากการขุดแต่ง
โบราณวัตถุ
กระเบื้องมุงหลังคาค
จากการขุดแต่งขุดค้นพบกระเบื้องมุงหลังคาชนิดกาบกล้วยทั้งตัวผู้และตัวเมีย (กาบกล้วยตัวผู้ยาว 20-25 เซนติเมตร กว้าง 9-14 เซนติเมตร กาบกล้วตัวเมียยาว 24-30 เซนติเมตร กว้าง 15-19 เซนติเมตร) รวมทั้งเชิงชายหรือกระเบื้องหน้าอุด มีลวดลายกลีบบัวยาวสี่กลีบภายในกรอบสี่เหลี่ยม
เหล็กรูปตัวไอ (I)
เหล็กรูปตัวไอ (I) ใช้ในการช่วยยึดเกาะระหว่างก้อนหิน โดยการขุดเซาะร่องลงไปในหิน 2 ก้อนที่วางชิดติดกันให้เป็นร่องรูปตัวไอ จากนั้นจึงนำเหล็กรูปตัวไอวางฝังลงไปในร่องนั้นแล้วเทตะกั่วปิดทับเหล็กจนเต็มร่อง เหล็กรูปตัวไอที่พบจึงมักมีตะกั่วติดอยู่
ประติมากรรมรูปเคารพทางศาสนา
ประติมากรรมรูปเคารพทางศาสนาที่สำคัญที่พบจากการทำงานของกรมศิลปากร ได้แก่
1. พระสุริยะไวโรจนะหรือพระจันทรไวโรจนะ
ทำจากหินทราย ขนาดองค์สูง 36 เซนติเมตร ความสูงรวมฐาน 60 เซนติเมตร หน้าตักกว้าง 23 เซนติเมตร ประทับราบขัดสมาธิราบเหนือฐานบัว พระพักตร์รูปเหลี่ยม ทรงกระบังหน้าและกุณฑล พระหัตถ์ทั้ง 2 ข้างประคองขาดยาไว้เหนือพระนาภี รูปแบบศิลปะบายน อายุราวพุทธศตวรรษที่ 18 พบส่วนองค์ในบริเวณใกล้กับส่วนฐานของปราสาทประธานด้านทิศใต้ ส่วนเศียรพบที่ด้านหน้าวิหาร โดยวางอยู่บนฐานอาคาร พระสุริยะไวโรจนะและพระจันทรไวโรจนะเป็นบริวารของพระไภษัชยคุรุ ทั้ง 2 องค์มีลักษณะทางประติมานคล้ายคลึงกัน จึงไม่แน่ชัดว่าเป็นองค์ใด
2. พระไภษัชยคุรุไวฑูรยประภา
ทำจากหินทราย สูง 42 เซนติเมตร ความสูงรวมฐาน 70 เซนติเมตร หน้าตักว้าง 34 เซนติเมตร ประทับขัดสมาธิราบเหนือฐานบัว พระศอหัก พระพักตร์รูปเหลี่ยม ทรงกระบังหน้าและกุณฑล พระหัตถ์ทั้ง 2 ข้างประคองวัชระและกระดิ่งพระนาภี รูปแบบศิลปะบายน พบอยู่ที่ส่วนฐานปราสาทประธานด้านทิศใต้ ส่วนองค์และเศียรพบแยกออกจากกันประมาณ 30 เซนติเมตร
3. พระโพธิสัตว์วัชระปาณีทรงครุฑ
ทำจากหินทราย สูง 43 เซนติเมตร ความสูงรวมฐาน 62 เซนติเมตร หน้าตักว้าง 22 เซนติเมตร สวมกรองศอ พระพัตกร์เหลี่ยม เกล้าผมเป็นมวยรูปทรงกระบอก พระหัตถ์ขวาถือวัชระ พระหัตถ์ซ้ายถือวัตถุทรงกระบอก รูปแบบศิลปะบายน พบวางตั้งตรงอยู่ในห้องด้านหน้าวิหาร ติดกับผนังห้องด้านทิศใต้ โดยส่วนองค์และเศียรพบแยกออกจากกัน
4. พระยมทรงกระบือ
ทกจากหินทราย สูง 45 เซนติเมตร ความสูงรวมฐาน 66 เซนติเมตร หน้าตักกว้าง 13 เซนติเมตร สวมกรองศอ พระพักตร์รูปเหลี่ยม ทรงกระบังหน้าและกุณฑลทรงกลม พระหัตถ์ทั้ง 2 ข้างถือวัตถุทรงกระบอก รูปแบบศิลปะบายน พบวางตั้งตรงอยู่ภายในห้องด้านหน้าวิหาร ติดกับผนังด้านทิศใต้ เคียงคู่กับพระวัชรปาณีทรงครุฑ ลำตัวช่วงบนแตกหักเป็นหลายชิ้น ส่วนเศียรแยกออกจากลำตัว
5. พระพุทธรูปบุเงินปางมารวิชัย
พระพุทธรูปบุเงินปางมารวิชัย แกนในเป็นผงว่านผสมยางไม้ ศิลปะลาว อายุราวพุทธศตวรรษที่ 23-24 พบบรรจุอยู่ในภาชนะดินเผาทรงหม้อ เนื้อดิน จำนวน 2 ใบ ใบที่ 1 จำนวน 20 องค์ ใบที่ 2 จำนวน 29 องค์ รวมทั้งสิ้น 49 องค์ ขนาดสูงตั้งแต่ 7-16 เซนติเมตร พบใกล้กับฐานกำแพงแก้วด้านทิศเหนือด้านใน ในระดับลึกลงไปจากพื้นใช้งานของโบราณสถานประมาณ 20 เซนติเมตร
6. นางปรัชญาปารมิตา
พบในภาชนะดินเผาร่วมกับพระพุทธรูปบุเงิน สูง 7.9 เซนติเมตร สภาพชำรุด ส่วนพระวรกายและส่วนพระบาทแยกออกจากกัน พระกรทั้ง 2 ข้างหักหายไป สวมกระบัวหน้า นุ่งผ้าจีบเป็นริ้ว ชักชายผ้าพับม้วนคลี่ออกทางด้านหน้า รูปแบบศิลปะบายน
แท่นบรรจุวัตถุมงคล
ทำจากหินทรายสีเทา พบด้านทิศตะวันออกของปราสาทประธาน 3 ชิ้น ลักษณะทรงลูกลาศก์ ขนาดประมาณ 17x17x17 เซนติเมตร ด้านบนตรงกลางเป็นหลุมสี่เหลี่ยมจัตุรัส ขนาด 6x6 เซนติเมตร ลึก 4-5 เซนติเมตร บริเวณขอบนอกด้านบนโดยรอบเจาะเป็นหลุมสี่เหลี่ยม 16 หลุม ขนาด 0.5x0.5 เซนติเมตร ลึก 0.5 เซนติเมตร
แท่งหินบดและแท่นหินบด
แท่งหินบดและแท่นหินบดทำจากหินทราย
ภาชนะดินเผา
พบทั้งภาชนะดินเผาเนื้อดินและเนื้อแกร่ง สภาพสมบูรณ์และเป็นชิ้นส่วน ภาชนะดินเผาเนื้อแกร่งส่วนใหญ่เป็นเครื่องถ้วยเขมรกลุ่มเตาบ้านกรวด จ.บุรีรัมย์ อายุราวพุทธศตวรรษที่ 18 เช่น ไหทรงเท้าช้าง กระปุก ชาม อ่าง ไห
สังข์ดินเผา
ขนาดยาง 12 เซนติเมตร พบภายในห้องมุขของปราสาทประธาน สันนิษฐานว่าสร้างขึ้ยในสมัยบายน
กระดิ่งทองเหลือง
พบจำนวน 2 ใบ พบวางอยู่คู่กันบนฐานด้านทิศตะวันตกของปราสาทประธาน ใบที่ 1 ขนาดสูง 11 เซนติเมตร เส้นผ่าศูนย์กลางปาก 7.2 เซนติเมตร ใบที่ 2 ขนาดสูง 12 เซนติเมตร เส้นผ่าศูนย์กลางปาก 7.7 เซนติเมตร สันนิษฐานว่าเป็นรูปแบบศิลปะลาว อายุราวพุทธศตวรรษที่ 23-24
ลำดับอายุสมัย
มีการเริ่มใช้พื้นที่ปรางค์กู่บ้านหนองแฝกมาตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 18 ปรากฏหลักฐานการอยู่อาศัยและศาสนสถาน คือปรางค์กู่ ซึ่งเป็นศาสนสถานประจำโรงพยาบาลหรืออโรคยาศาล ภายใต้พระบารมีของพระโพธิสัตว์ผู้ทรงการแพทย์ในคติความเชื่อของพุทธศาสนมหายาน ในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 หรือสมัยบายน
ราวพุทธศตวรรษที่ 19 ศาสนสถานแห่งนี้ถูกทิ้งร้างไป จนราวพุทธศตวรรษที่ 23-24 หรือราวสมัยอยุธยาตอนปลาย ชุมชนในวัฒนธรรมลาวจึงเข้ามาอยู่อาศัยและพัฒนาพื้นที่เป็นวัดสืบมาจนถึงปัจจุบัน
กรมศิลปากร. “ปรางค์กู่.” ระบบภูมิสารสนเทศ โครงการสำรวจแหล่งมรดกทางศิลปวัฒนธรรม. (ออนไลน์), มปป. เข้าถึงเมื่อ 5 สิงหาคม 2557. แหล่งที่มา http://www.gis.finearts.go.th
ดุสิต ทุมมากรณ์ และทนงศักดิ์ หาญวงษ์. การอนุรักษ์โบราณสถานปรางค์กู่บ้านหนองแฝก. นครราชสีมา : สำนักศิลปากรที่ 12 นครราชสีมา กรมศิลปากร, 2553.