โพสต์เมื่อ 13 ก.ค. 2020
ชื่ออื่น : บ้านเมืองเก่า
ที่ตั้ง : ถ.บรรณาการ บ้านหนองบัว ต.ในเมือง อ.เมืองชัยภูมิ
ตำบล : ในเมือง
อำเภอ : เมือง
จังหวัด : ชัยภูมิ
พิกัด DD : 15.806629 N, 102.044545 E
ปรางค์กู่ตั้งอยู่ในตัวจังหวัดชัยภูมิ ในเขตเทศบาลเมืองชัยภูมิ หากเดินทางจากอนุสาวรีย์พระยาภักดีชุมพล (พระยาแล) ให้ใช้ทางหลวงหมายเลข 2158 มุ่งหน้าทางทิศตะวันออก (เบื้องซ้ายของอนุสาวรีย์) ประมาณ 1.3 กิโลเมตร จะพบโบราณสถานปรางค์กู่
ปรางค์กู่เป็นโบราณสถานสำคัญเห่งหนึ่งของจังหวัดชัยภูมิ ได้รับการศึกษา บูรณปฏิสังขรณ์ (ด้วยวิธีอนัสติโลซิส) เสริมความมั่นคง และปรับปรุงภูมิทัศน์เป็นอย่างดี พื้นที่โดยรอบถูกกันให้เป็นเขตโบราณสถาน พื้นดินปูหญ้า เปิดมุมมองภูมิทัศน์ ซึ่งนอกจากจะเป็นแหล่งโบราณสถานส่งเสริมความรู้ด้านประวัติศาสตร์โบราณคดีของจังหวัดชัยภูมิแล้ว ยังเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม สถานที่นั่งพักผ่อนหย่อนใจและเล่นกีฬาของชาวเทศบาลเมืองชัยภูมิอีกด้วย มีป้ายให้ข้อมูลโบราณสถานติดตั้งอยู่ในพื้นที่ ผู้สนใจสามารถเข้าเยี่ยมชมได้ทุกวันโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ
ในวันขึ้น 13 - 15 ค่ำ เดือน 5 (ช่วงสงกรานต์) ของทุกปี บริเวณลานกว้างรอบๆ โบราณสถานปรางค์กู่ จะมีการจัดงาน ทั้งมหรสพ แสง สี เสียง เครื่องเล่นต่างๆ เป็นต้น ลักษณะคล้ายงานประจำปี
กรมศิลปากร, เทศบาลเมืองชัยภูมิ
1. การกำหนดจำนวนโบราณสถานสำหรับชาติ ในหนังสือราชกิจจานุเบกษา เล่ม 53 หน้า 901-902 วันที่ 2 สิงหาคม พ.ศ.2479
2. การกำหนดเขตที่ดินโบราณสถาน ในหนังสือราชกิจจานุเบกษา (ฉบับพิเศษ) เล่ม 99 ตอนที่ 155 วันที่ 21 ตุลาคม พ.ศ.2525 หน้า 4 มีพื้นที่โบราณสถานประมาณ 3 งาน 15 ตารางวา
ปรางค์กู่ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของบ้านเมืองเก่าตั้ง และอยู่ฝั่งทิศตะวันออกของตัวเมืองชัยภูมิปัจจุบัน สภาพพื้นที่โดยทั่วไปเป็นเนินดินบนที่ราบที่เกิดจากการทับถมของตะกอนน้ำพาเป็นหลัก มีลำน้ำธรรมชาติขนาดเล็กไหลอยู่ห่างออกไปทางทิศตะวันตกของปรางค์กู่ประมาณ 100 เมตรเศษ (ลำปะทาว?) ลำน้ำสายนี้จะไหลไปเชื่อมกับลำเสียว ลำชีรอง ลำปะทาว และไหลออกสู่แม่น้ำชีในที่สุด ห่างออกไปทางทิศตะวันตกของปรางค์กู่ประมาณ 600 เมตรเป็นลำเสียว ห่างออกไปทางทิศตะออกประมาณ 1 กิโลเมตรเป็นลำปะทาว ห่างออกไปทางทิศใต้ประมาณ 2 กิโลเมตรเป็นลำชีรอง ส่วนแม่น้ำชีอยู่ห่างออกไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ประมาณ 14 กิโลเมตร
โบราณสถานปรางค์กู่ ได้รับการขุดค้น-ขุดแต่ง บูรณะด้วยวิธีอนัสติโลซิส และปรับปรุงภูมิทัศน์ ในอยู่ในสภาพที่สมบูรณ์ พร้อมพัฒนาให้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยว ปัจจุบันอยู่ในความดูแลของสำนักศิลปากรที่ 12 นครราชสีมา
พื้นที่โดยรอบปรางค์กู่เป็นสนามหญ้า ถัดออกไปเป็นที่ตั้งของสถานที่ราชการ วัดปรางค์กู่ ถนน (ทางหลวงหมายเลข 2158) และบ้านเรือนราษฎร
ลำเสียว, ลำปะทาว, ลำชีรอง, แม่น้ำชี
โบราณสถานปรางค์กู่ตั้งอยู่บนเนินดินล้อมรอบด้วยที่ราบที่เกิดขึ้นในยุคควอเตอร์นารี (Qa) ตะกอนเหล่านี้เป็นตะกอนที่ธารน้ำพากรวด ทราย ทรายแป้งและดินเหนียวมาทับถมกัน ไปสะสมตัวตามร่องน้ำ - คันดินแม่น้ำ และแอ่งน้ำท่วมถึง
ชุดดินบริเวณโบราณสถานปรางค์กู่แห่งนี้ เป็นชุดดินร้อยเอ็ด (Roi-Et Series) ลักษณะเป็นดินลึกมาก ดินบนเป็นดินร่วนหรือหรือดินร่วนปนทรายร่วน สีน้ำตาลปนเทาหรือสีน้ำตาล ดินล่างเป็นดินร่วนเหนียวปนทรายหรือดินร่วนปนทรายอาจพบชั้นดินร่วนปนดินเหนียวหรือดินเหนียว สีเทาปนน้ำตาลอ่อนหรือสีชมพู พบจุดประสีน้ำตาลปนเหลืองหรือสีน้ำตาลปนแดงตลอด ปฏิกิริยาดินเป็นกรดจัดมากถึงกรดเล็กน้อย (pH 5.0-6.5) ในดินบน และเป็นกรดจัดมากถึงเป็นกรดเล็กน้อย (pH 4.5-6.5) ในดินล่าง สามารถทำนา ปลูกพืชไร่หรือพืชผักได้ในฤดูแล้ง
โดยรอบตัวแหล่งที่ปัจจุบันเป็นทุ่งนาเป็นดินชุดร้อยเอ็ด (Roi-Et Series) อันเป็นดินที่เกิดจากวัตถุต้นกำเนิดดินที่มีน้ำพัดพามาเช่นเดียวกับพื้นที่บริเวณโบราณสถาน
ลักษณะธรณีสัณฐานเป็นชั้นหินเกลือในหมวดหินมหาสารคาม (Mahasarakham Formation – KTms) ยุคครีเทเชียส
ชื่อผู้ศึกษา : กรมศิลปากร
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2502
วิธีศึกษา : สำรวจ
องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร
ผลการศึกษา :
กรมศิลปากรได้ดำเนินการสำรวจและขุดแต่งโบราณสถานในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ในโครงการและรายงานการสำรวจและขุดแต่งโบราณวัตถุสถาน ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พ.ศ.2502 และได้ตีพิมพ์เผยแพร่ในเวลาต่อมาชื่อผู้ศึกษา : สิวิกา ประกอบสันติสุข
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2531
วิธีศึกษา : ประวัติศาสตร์ศิลปะ, ศึกษาสถาปัตยกรรม, ศึกษาเอกสาร/จารึก
องค์กรร่วม / แหล่งทุน : ม.ศิลปากร
ผลการศึกษา :
สิวิกา ประกอบสันติสุข เสนอวิทยานิพนธ์เรื่อง “การศึกษาศิลปะเขมรแบบบายนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย” โดยศึกษาโบราณสถานและโบราณวัตถุในศิลปะเขมรแบบบายนทั้งหมด ซึ่งโบราณสถานปรางค์กู่ จังหวัดชัยภูมิ เป็นโบราณสถานอีกหนึ่งแห่งในการศึกษาชื่อผู้ศึกษา : สมิทธิ ศิริภัทร์, มยุรี วีระประเสริฐ
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2533
วิธีศึกษา : ประวัติศาสตร์ศิลปะ, ประวัติศาสตร์, ศึกษาเอกสาร/จารึก
องค์กรร่วม / แหล่งทุน : ธนาคารไทยพาณิชย์
ผลการศึกษา :
สมิทธิ ศิริภัทร์ และ มยุรี วีระประเสริฐ ได้รวบรวมรายละเอียดของทับหลังในศิลปะลพบุรีที่พบในประเทศไทยเกือบทุกชิ้น ทำการวิเคราะห์และเปรียบเทียบทับหลังทุกสมัยที่ค้นพบภายในประเทศและประเทศกัมพูชา ว่ามีลักษณะคล้ายคลึงหรือแตกต่างอย่างไรโดยละเอียด และได้ตีพิมพ์เผยแพร่ในที่สุดชื่อผู้ศึกษา : กรมศิลปากร
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2540, พ.ศ.2541, พ.ศ.2542
วิธีศึกษา : ขุดค้น, บูรณปฏิสังขรณ์, ขุดแต่ง, ปรับปรุงภูมิทัศน์
องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร
ผลการศึกษา :
สำนักงานโบราณคดีและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่ 9 นครราชสีมา ได้ว่าจ้างห้างหุ้นส่วนจำกัด ปุราณรักษ์ ดำเนินการขุดแต่งและบูรณะโบราณสถานปรางค์กู่โดยได้ดำเนินการขุดค้น ขุดแต่ง บูรณะด้วยวิธีอนัสติโลซิส และปรับปรุงภูมิทัศน์บริเวณโบราณสถานปรางค์กู่จนแล้วเสร็จชื่อผู้ศึกษา : วรรณวิภา สุเนต์ตา
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2546
วิธีศึกษา : ประวัติศาสตร์ศิลปะ, ศึกษาสถาปัตยกรรม, ศึกษาเอกสาร/จารึก
องค์กรร่วม / แหล่งทุน : ม.ศิลปากร
ผลการศึกษา :
วรรณวิภา สุเนต์ตา เสนอวิทยานิพนธ์เรื่อง “คติรัตยตรัยมหายานในศิลปะเขมรช่วงพุทธศตวรรษที่ 18 ที่พบในภาคกลางของประเทศไทย” ซึ่งโบราณสถานปรางค์กู่ จังหวัดชัยภูมิ เป็นโบราณสถานอีกหนึ่งแห่งในการศึกษาชื่อผู้ศึกษา : เทศบาลเมืองชัยภูมิ
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2549
วิธีศึกษา : ปรับปรุงภูมิทัศน์
องค์กรร่วม / แหล่งทุน : เทศบาลเมืองชัยภูมิ
ผลการศึกษา :
เทศบาลเมืองชัยภูมิ ได้ดำเนินการปรับปรุงภูมิทัศน์ บริเวณโบราณสถานปรางค์กู่ ในปีงบประมาณ 2549 จนแล้วเสร็จโบราณสถานปรางค์กู่ เป็นโบราณสถานที่เรียกว่า อโรคยศาล หรือ ศาสนสถานประจำสถานพยาบาล ที่พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 (พ.ศ. 1724-1763) แห่งอาณาจักรเขมรโบราณ โปรดฯให้ก่อสร้างขึ้นจำนวน 102 แห่ง ทุกๆ วิษัย(เมือง) ตามข้อความซึ่งปรากฏในฉันท์บทที่ 117 ของศิลาจารึกปราสาทตาพรหมที่เมืองพระนคร ประเทศกัมพูชา (รุ่งโรจน์ ภิรมย์อนุกูล 2547 : 17)
ลักษณะทางสถาปัตยกรรม
ปราสาทปรางค์กู่ เป็นโบราณสถานขนาดเล็ก มีแผนผังและองค์ประกอบเหมือนกับอโรคยศาลอื่นๆ คือประกอบด้วยปราสาทประธาน บรรณาลัย ซุ้มประตูหรือโคปุระ กำแพงแก้ว และสระน้ำ ปราสาททั้งหมดสร้างด้วยศิลาแลง แต่ทับหลัง หน้าบัน และเสากรอบประตูสร้างจากหินทราย มีแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ตั้งหันหน้าไปทางทิศตะวันออก ประกอบไปด้วยกลุ่มอาคารดังนี้ (ดุสิต ทุมมากรณ์ 2548 : 11-15)
1.ปราสาทประธาน ตั้งอยู่ตรงกลางก่อด้วยศิลาแลงและหินทราย ลักษณะแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมเพิ่มมุมมีมุขทั้ง 4 ด้าน กว้างประมาณ 8 เมตร ยาว 10 เมตร ประกอบด้วย ฐานอาคารก่อด้วยหินทรายลักษณะเป็นฐานปัทม์ จากนั้นต่อด้วยส่วนเรือนธาตุที่เพิ่มมุมมีมุขทั้ง 4 ด้าน ถัดจากเรือนธาตุขึ้นไปเป็นชั้นหลังคา 5 ชั้น ต่อด้วยส่วนยอดทำเป็นรูปดอกบัวบาน โดยมุขทิศตะวันออกนี้จะมีทางเดิน ซึ่งมีหลังคาคลุมเชื่อมต่อกับประตูกลางของโคปุระ
ปราสาทประธานมีมุขสั้นๆที่ด้านหน้า ปรากฏประตูทางเข้าเพียงด้านเดียวคือด้านทิศตะวันออก (ที่เหลือทั้งสามด้านเป็นประตูหลอก) ซึ่งเป็นประตูที่เข้าสู่ห้องครรภคฤหะ อันเป็นห้องประดิษฐานรูปเคารพหลักของศาสนสถานแห่งนี้ ปัจจุบันรูปเคารพดังกล่าวสูญหายไปแล้ว
ส่วนต่างๆ ของปราสาทประธานมีเพียงบางด้านที่แกะสลักลวดลายและภาพเล่าเรื่อง เช่น บริเวณหน้าบันด้านทิศตะวันออก ทับหลังมุขด้านทิศตะวันออกและด้านทิศเหนือ กลีบขนุนประดับชั้นหลังคา รายละเอียดดังนี้
หน้าบันมุขด้านทิศตะวันออก แสดงภาพพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรสี่กร ประทับยืนสภาพค่อนข้างชำรุด ด้านข้างของพระโพธิสัตว์ปรากฏรูปบุคคลยืนลักษณะคล้ายพนมมือขนาบอยู่สองข้าง ใต้พระบาทปรากฏแถวบุคคล จำนวน 9 คนนั่งพนมมืออยู่
ทับหลังมุขด้านทิศตะวันออก สลักภาพพระพุทธรูปปางสมาธิประทับอยู่ภายในซุ้มเหนือหน้ากาลอยู่กึ่งกลางภาพ ท่ามกลางลายใบไม้ม้วนแบบตั้งขึ้น อันเป็นลักษณะเฉพาะของศิลปะเขมรแบบบายน อายุราวครึ่งแรกของพุทธศตวรรษที่ 18
ทับหลังมุขด้านทิศเหนือ แม้สลักภาพเสร็จเพียงครึ่งเดียว แต่ก็อาจสันนิษฐานได้ว่า ภาพทับหลังชิ้นนี้ต้องการแสดงภาพรัตนตรัยมหายาน คือ พระพุทธรูปนาคปรกอยู่ตรงกลางขนาบด้วยพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรและนางปรัชญาปารมิตา อันเป็นความนิยมที่เกิดขึ้นในสมัยของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 หรือราวครึ่งแรกถึงกลางของพุทธศตวรรษที่ 18
ตรงกลางทับหลังสลักเป็นภาพพระพุทธรูปปางสมาธิมีกรอบรัศมีอยู่เบื้องหลังคล้ายนาคปรก หน้ากาลมีมือจับเท้าราชสีห์ที่คายวงโค้งที่มีลายใบไม้ม้วนอยู่เบื้องล่าง วงโค้งจะถูกแบ่งที่เสี้ยวโดยมีวงโค้งอีกวงที่ออกมาจากด้านข้างทับหลังตกมาบรรจบกัน บริเวณเหนือวงโค้งที่ชนกันนี้มีรูปพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรประทับยืนอยู่ (สมิทธิ ศิริภัทร์ 2533 : 146) ด้านซ้ายของทับหลังยังแกะสลักไม่แล้วเสร็จแต่พอที่จะสันนิษฐานได้ว่า คงเป็นรูปของนางปรัชญาปารมิตา ซึ่งนิยมสลักเป็นรูปเทวสตรีมีสองกรยืนถือดอกบัวและคัมภีร์ ซึ่งลักษณะดังกล่าวเป็นรูปแบบของรัตนตรัยมหายาน นอกจากนี้ยังปรากฏลายใบไม้ม้วนตั้งขึ้นคล้ายคลึงกับทับหลังที่อยู่บริเวณด้านทิศตะวันออกอีกด้วย รูปแบบศิลปกรรมของทับหลังชิ้นนี้คล้ายคลึงอย่างมากกับทับหลังที่พบปราสาทพระขรรค์ เมืองพระนคร ประเทศกัมพูชา จะแตกต่างเพียงลักษณะทางประติมานวิทยาเท่านั้น (สมิทธิ ศิริภัทร์ 2533 : 146)
สมิทธิ ศิริภัทร์ และ มยุรี วีระประเสริฐ เสนอความเห็นว่า ศิลปะแบบเขมรที่เข้ามาในประเทศไทยนั้นปรากฏทั้งแบบดั้งเดิม (บริสุทธิ์) และแบบที่ผสมผสาน ทับหลังด้านทิศเหนือของปราสาทประธานนี้อาจกล่าวได้ว่าเป็นทับหลังในศิลปะบายนแบบดั้งเดิมหรือบริสุทธิ์อีกชิ้นหนึ่งที่พบในประเทศไทย (สมิทธิ ศิริภัทร์ 2533 : 31)
คติรัตนตรัยมหายาน ปรากฏเป็นคำนมัสการในจารึกของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 เช่น จารึกพนมบันทายนาง เมืองพระตะบอง (ยอร์ช เซเดส์ 2508 : 48) และรูปแบบศิลปกรรมที่พบคือ การสร้างรูปเคารพ 3 องค์ร่วมกัน ประกอบด้วย พระพุทธเจ้าในรูปของพระพุทธรูปประทับนั่งสมาธิปางนาคปรก พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรประทับอยู่เบื้องขวาของพระพุทธเจ้า และนางปรัชญาปารมิตาประทับอยู่ทางเบื้องซ้าย (วรรณวิภา สุเนต์ตา 2546 : 1)
ทับหลังเหนือช่องประตูห้องครรภคฤหะ เป็นภาพพันธุ์พฤกษา
ชั้นหลังคา ทุกชั้นจะประดับด้วยกลีบขนุน รูปเทพประจำทิศที่สำคัญ ได้แก่ ท้าวกุเวรทรงสิงห์ เทพรักษาทิศเหนือ พระอินทร์ทรงช้างเอราวัณเทพรักษาทิศตะวันออก พระยมทรงกระบือเทพรักษาทิศใต้ พระวรุณทรงหงส์เทพรักษาทิศตะวันตก เป็นต้น
2. วิหารหรือบรรณาลัย ตั้งอยู่ด้านตะวันออกเฉียงใต้ของปราสาทประธาน ภายในกำแพงแก้ว ผังเป็นอาคารรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ขนาดกว้างประมาณ 4.5 เมตร ยาว 7.5 เมตร หันหน้าไปทางทิศตะวันตก (หันหน้าเข้าหาปราสาทประธาน) สภาพชำรุดหลังคาหักพังลงจนหมด ฐานก่อด้วยหินทรายผนังก่อด้วยศิลาแลง มีประตูทางเข้าด้านทิศตะวันตกเพียงด้านเดียว ภายในปรากฏร่องรอยของหลุมเสาอยู่ที่มุมผนัง 4 มุมและกึ่งกลางผนังอีกคู่หนึ่ง การขุดแต่งได้พบชิ้นส่วนกระเบื้องมุงหลังคาดินเผา สันนิษฐานในเบื้องต้นได้ว่า หลังคาของวิหารหรือบรรณาลัยแห่งนี้ คงเป็นเครื่องไม้มุงด้วยกระเบื้อง ภายในบรรณาลัยปัจจุบันมีฐานโยนิประดิษฐานอยู่ท้ายห้อง
หน้าบันของบรรณาลัยด้านหน้าหรือด้านทิศตะวันตก บางส่วนยังแกะสลักไม่แล้วเสร็จ แสดงเรื่องพุทธประวัติตอนเจ้าชายสิทธัตถะเสด็จออกมหาภิเนษกรมณ์ (เสด็จออกผนวช) โดยกึ่งกลางเป็นภาพเจ้าชายสิทธัตถะ ประทับอยู่บนม้ากัณฐกะ ด้านบนเป็นรูปเทพอาจหมายถึงพระพรหมหรือพระอินทร์ ด้านล่างเป็นแถวของเทวดา ภาพสลักตอนเสด็จออกมหาภิเนษกรมณ์ที่มีความคล้ายคลึงกับปรางค์กู่แห่งนี้ พบอยู่ที่ปราสาทตาพรหม ปราสาทพระปิถุและปราสาทวัดนคร ประเทศกัมพูชา จากข้อมูลส่วนในประเทศไทยพบที่โบราณสถานปรางค์กู่เพียงแห่งเดียวเท่านั้น
ทับหลังเหนือกรอบประตูทางเข้าด้านหน้าหรือด้านทิศตะวันตกสลักเป็นภาพครุฑยุดนาค โดยพญาครุฑยืนอยู่ตรงกลางภาพ มือทั้งสองข้างจับหางพญานาค ข้างซ้ายและขวามีแถวบุคคลข้างละ 4 คน จับตัวพญานาคโดยมีเศียรพญานาคอยู่บริเวณขอบทับหลังทั้งสองข้าง
ภาพสลักที่ปราสาทประธานและบรรณาลัยนั้นชี้ให้เห็นว่า ช่างผู้สร้างปรางค์กู่มีความตั้งใจในก่อสร้าง เนื่องจากอโรคยศาลหลังอื่นๆ มักจะไม่ปรากฏภาพสลักใดๆ
3. โคปุระ หรือซุ้มประตูทางเข้า ปรากฏเพียงด้านทิศตะวันออกเพียงด้านเดียว แผนผังเป็นรูปกากบาท ภายในแบ่งออกเป็น 4 ห้อง มีประตูทะลุถึงกัน ประกอบด้วยห้องกลาง 1 ห้อง ห้องมุขด้านทิศเหนือ ทิศใต้และทิศตะวันออกด้านละ 1 ห้อง โดยห้องกลางมีขนาดใหญ่ที่สุดและน่าจะใช้ประดิษฐานรูปเคารพซึ่งปัจจุบันสูญหายไปแล้ว
4. กำแพงแก้ว ก่อด้วยศิลาแลงสูงประมาณ 2 เมตร แผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า กำแพงแก้วนี้จะเชื่อมต่อกับโคปุระล้อมรอบปราสาทประธาน และวิหารเอาไว้ภายใน
5. สระน้ำ ด้านนอกกำแพงแก้วด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือ มีสระน้ำรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ขนาด กว้างประมาณ 15 เมตร ยาว 18 เมตร ผนังกรุด้วยศิลาแลงไปจนถึงก้นสระ
การขุดค้น-ขุดแต่งโบราณสถาน
การขุดแต่งพบหลักฐานด้านเทคนิคการก่อสร้าง เช่น การใช้ทรายถมอัดเป็นฐานรากเพื่อเสริมความมั่นคงของอาคาร, การใช้เหล็กรูปตัวไอ (ɪ) เพื่อยึดแท่งหิน เป็นต้น แสดงให้เห็นถึงเทคนิคก่อสร้างโบราณสถานเช่นเดียวกับโบราณสถานในศิลปะเขมรอื่นๆที่ร่วมสมัยกับปรางค์กู่แห่งนี้
โบราณวัตถุที่พบ
1.ประติมากรรมรูปบุคคล
1.1 พระพุทธรูปยืน หินทราย สูงประมาณ 70 เซนติเมตร องค์พระพุทธรูปครองจีวรห่มคลุมพระเศียรเดิมหักหายไป มีการปั้นซ่อมขึ้นใหม่ภายหลัง พระหัตถ์ขวาทาบอยู่พระนาภี พระกรซ้ายทอดลงแนบกับพระวรกาย รูปแบบของศิลปะทวารวดี อิทธิพลพื้นเมือง ราวพุทธศตวรรษที่ 15 - 16
1.2 พระพุทธรูปปางสมาธิ หินทราย ขนาดสูง 120 เซนติเมตร องค์พระพุทธรูปครองจีวรห่มคลุม พระเศียรเดิมคงหักหายไป มีการปั้นซ่อมขึ้นใหม่ภายหลัง ประทับชัดสมาธิเพชร วางพระหัตถ์ขวาซ้อนอยู่บนพระหัตถ์ซ้าย แลเห็นขอบจีวร บริเวณข้อพระกรทั้งสองข้างพาดลงทางด้านบนของพระเพลา ศิลปะทวารวดี อิทธิพลพื้นเมือง ราวพุทธศตวรรษที่ 16
1.3 พระพุทธรูปปางมารวิชัย หินทราย อยู่ภายในห้องครรภคฤหะ ขนาดสูงประมาณ 80 เซนติเมตร พระพักตร์กลม อิทธิพลศิลปะพื้นเมือง ราวพุทธศตวรรษที่ 18 - 19
1.4 ส่วนองค์พระพุทธรูป หินทราย มีชายสังฆาฏิสั้นเหนือพระอุระ พบจากการขุดแต่งภายในวิหาร ทำจากหินทราย ศิลปะทวารวดี อิทธิพลศิลปะพื้นเมือง ราวพุทธศตวรรษที่ 16 - 18
1.5 เศียรเทวดา? พบจากการขุดแต่งภายในวิหาร
1.6 ชิ้นส่วนพระกร พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร พบจากการขุดแต่งภายในวิหาร
1.7 ชิ้นส่วนไหล่ (ยังมีสร้อยคอลายดอกไม้ติดอยู่) ทวารบาล พบจากการขุดแต่งโคปุระ อายุราวพุทธศตวรรษที่ 18
2. ประติมากรรมรูปสัตว์ พบชิ้นเดียว คือ สิงห์หินทราย สูงประมาณ 50 เซนติเมตร ศิลปะเขมรแบบบายน อายุราวพุทธศตวรรษที่ 18
3. ชิ้นส่วนสถาปัตยกรรม
3.1 กลีบขนุน (จากปราสาทประธาน) ทำจากหินทราย โดยปรากฏทั้งรูปเทพประจำทิศ เช่น พระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ, พระยมทรงกระบือ ฯลฯ รูปนาค, รูปพระพุทธรูปประทับนั่งแสดงปางสมาธิ ศิลปะเขมรสมัยบายน ราวพุทธศตวรรษที่ 18 เป็นต้น
3.2 กระเบื้องเชิงชายรูปนาค
4. เครื่องถ้วย จากการขุดค้น-ขุดแต่งในครั้งนี้พบทั้งเศษภาชนะดินเผาเนื้อดิน และโบราณวัตถุประเภทเครื่องถ้วยเช่น กระปุกเคลือบสีน้ำตาล ไหเท้าช้างเคลือบสีน้ำตาลดำ เป็นต้น อายุราวพุทธศตวรรษที่ 15-18
5. หินบด ทำจากหินทราย พบขณะขุดแต่งวิหาร
การบูรณะ
ด้วยเหตุที่ปรางค์กู่ใช้วัสดุในการก่อสร้างด้วยหินทรายและศิลาแลงเป็นหลัก จึงใช้วิธีการบูรณะแบบอนัสติโลซิส กล่าวคือมีกระบวนการทำงานโดยย่อดังนี้ คือ รื้อหิน พร้อมทั้ง ทำผังและกำหนดรหัสลงบนหินทุกก้อนที่ประกอบเป็นโบราณสถานแล้วใช้อุปกรณ์ยกก้อนหินเหล่านั้นลงทั้งหมด เมื่อทำความสะอาดหินดังกล่าว จึงจัดทำฐานรากใหม่ด้วยคอนกรีต เสริมเหล็กจนมั่นคงแข็งแรง แล้วนำหินทุกก้อนกลับมาเรียงประกอบขึ้นใหม่ ตามผังรูปแบบที่กำหนดไว้จนเสร็จสมบูรณ์
การบูรณะโบราณสถานด้วยวิธีอนัสติโลซิสนี้ นำมาใช้เป็นครั้งแรกโดยนักโบราณคดีชาวเนเธอร์แลนด์ ในการบูรณะโบราณสถานบุโรพุทโธ ที่ประเทศอินโดนีเซีย และนักโบราณคดีชาวฝรั่งเศสได้นำวิธีการดังกล่าวมาใช้บูรณะโบราณสถานอื่น ๆ เช่น ปราสาทพิมาย อ.พิมาย จ.นครราชสีมา ปราสาทพนมรุ้ง อ.เฉลิมพระเกียรติ จ.บุรีรัมย์ เป็นต้น
ศิลาจารึก ในบริเวณปรางค์กู่แห่งนี้ ได้ค้นพบชิ้นส่วนศิลาจารึก 1 ชิ้น เรียกว่า จารึกวัดกู่บ้านหนองบัว (ทะเบียนจารึก ชย.6) เป็นจารึกอักษรขอมภาษาสันสฤกต
สำหรับที่มาของจารึกหลักนี้ค่อนข้างคลุมเครือ ไม่มีสำเนาจารึกและภาพถ่าย มีเพียงแผ่นจำลองรูปอักษรซึ่งเป็นการจำลองที่คลาดเคลื่อนอยู่บ้าง บัญชีทะเบียนประวัติบอกว่า เจ้าหน้าที่อำเภอสูงเนินได้ส่งแผ่นจำลองรูปอักษรจารึกให้กระทรวงมหาดไทย เมื่อวันที่ ๗ พฤศจิกายน ร.ศ. 131 (ตรงกับ พ.ศ. 2455) แต่ไม่ปรากฏหลักฐานว่ากรมศิลปากรได้รับแผ่นจำลองรูปอักษรจารึกนี้เมื่อใด เบื้องหลังแผ่นจำลองรูปอักษรมีคำอธิบายประกอบเป็นสองข้อดังนี้ "1. ก้อนศิลาก้อนนี้ มีอยู่ที่วัดกู่บ้านหนองบัว ตำบลในเมือง อำเภอเมืองๆ ไชยภูมิ กว้าง 8 นิ้ว ยาว 3 ศอก เป็นรอยชำรุดหักไปเสียครึ่งหนึ่ง ครึ่งที่หายไม่ทราบจะตกไปอยู่ที่ใด หาไม่พบ 2. มีบัวอักษรจะเป็นอักษรภาษาใดอ่านไม่ออก แต่แผ่นศิลาที่จารึกตัวอักษรนั้นแตกหลุดไปเป็นกาบ หายไปประมาณครึ่ง ส่วนที่ได้จำลองมานี้ ตัวอักษรใหญ่เล็กประมาณเท่าที่จำลองมานี้ (กรมศิลปากร 2529 : 252-256 )
จากการศึกษา (กรมศิลปากร 2529 : 252-256) พบว่าเป็นชิ้นส่วนจารึกอักษรขอม ภาษาสันสฤกต มีตัวอักษร 10 บรรทัด กล่าวสรรเสริญและยอพระเกียรติพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ว่า ได้รับชัยชนะในการทำสงคราม พระองค์ได้ขยายอาณาจักรออกไปกว้างขวางจนเป็นเกียรติประวัติของพระองค์ อีกทั้งทรงมีพระเมตตา โอบอ้อมอารี บริจาคทาน เป็นที่รักใคร่ของประชาชนทั่วไป พระองค์มีรูปกายที่งดงามกว่ากามเทพ ได้บริหารประเทศให้เจริญรุ่งเรืองเป็นอย่างยิ่ง
เมื่อพิจารณาข้อความแล้วพบว่า ตั้งแต่บรรทัดที่ 1 - 10 ของจารึกหลักนี้ ตรงกับข้อความในด้านที่ 1 บรรทัดที่ 8 - 17 ของจารึกด่านประคำ, จารึกพิมาย, จารึกตาเมียนโตจ และจารึกสุรินทร์2 ซึ่งข้อความในจารึกล้วนกล่าวถึงเรื่องพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 สร้างโรงพยาบาล ดังนั้นจารึกหลักนี้จึงน่าจะเป็นจารึกอีกหลักหนึ่งของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ซึ่งครองราชย์ในช่วง พ.ศ. 1724 - 1761
กรมศิลปากร. โครงการและรายงานการสำรวจและขุดแต่งโบราณสถานในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พ.ศ.2502. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์การศาสนา, 2522. กรมศิลปากร. จารึกในประเทศไทย เล่ม 4 : อักษรขอม พุทธศตวรรษที่ 17-18. กรุงเทพฯ : หอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากร, 2529. กลุ่มโบราณคดี. “รายละเอียดโดยสังเขปของโบราณสถาน โครงการสัญจรย้อนยุคครั้งที่ 3.” เอกสารประกอบโครงการสัญจรย้อนยุคครั้งที่ 3 เพื่อเผยแพร่และประชาสัมพันธ์การดำเนินงานด้านการอนุรักษ์มรดกทางศิลปวัฒนธรรมของสำนักศิลปากรที่ 12 นครราชสีมา, ระหว่างวันที่ 28 -29 กันยายน 2552. คณะอำนวยการจัดงานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว. วัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์และภูมิปัญญาจังหวัดชัยภูมิ. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์คุรุสภาลาดพร้าว, 2544. คุณา นนทพัฒน์. ชัยภูมิ...เมืองพระยาแล. กรุงเทพฯ : บริษัทแสงปัญญาเลิศ, 2542. จันทร์แดง คำลือหาญ. “ปรางค์กู่ (จังหวัดชัยภูมิ) : ปราสาทหิน” ใน สารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคอีสาน เล่มที่ 8. กรุงเทพฯ : มูลนิธิสารานุกรมวัฒนธรรมไทย ธนาคารไทยพาณิชย์, 2542 : 2545-2550. ดุสิต ทุมมากรณ์. “ปรางค์กู่ ศาสนสถานประจำอโรคยศาล บ้านหนองบัว ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดชัยภูมิ.” เอกสารนำชมโบราณสถานในจังหวัดชัยภูมิ. สำนักงานโบราณคดีและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่ 9 นครราชสีมา, 2548. (อัดสำเนา) ดุสิต ทุมมากรณ์. “ปรางค์กู่ ศาสนสถานประจำอโรคยศาล บ้านหนองบัว ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดชัยภูมิ.” ศิลปากร. 45, 4 (กรกฎาคม - สิงหาคม 2545) : 13-27. ปิติชัย พงษ์วานิชอนันต์. ชัยภูมิ. กรุงเทพฯ : ต้นอ้อ 1999, 2543. ยอร์ช เซเดส์. ตำนานพระพิมพ์. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2508. กรมศิลปากร. ระบบฐานข้อมูลแหล่งมรดกศิลปวัฒนธรรมและระบบภูมิสารสนเทศ โครงการสำรวจแหล่งมรดกทางศิลปวัฒนธรรม. (ออนไลน์), มปป. เข้าถึงเมื่อ 4 มิถุนายน 2557. แหล่งที่มา http://www.gis.finearts.go.th/gisweb/viewer.aspx |
รุ่งโรจน์ ภิรมย์อนุกุล. “อโรคยศาล : ความรู้ทั่วไปและข้อสังเกตเบื้องต้น.” เมืองโบราณ. 30, 3 (กรกฎาคม - กันยายน 2547) : 15-50. วรรณวิภา สุเนต์ตา. “คติรัตยตรัยมหายานในศิลปะเขมรช่วงพุทธศตวรรษที่ 18 ที่พบในภาคกลางของประเทศไทย” วิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต (ประวัติศาสตร์ศิลปะ) บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2546. สมิทธิ ศิริภัทร์ และมยุรี วีระประเสริฐ. ทับหลัง : Lintels. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2533. สมัย สุทธิธรรม. ชัยภูมิ. สารคดีชุดถิ่นทองของไทย. กรุงเทพฯ : โอเดียนส์สโตร์, 2542. สิวิกา ประกอบสันติสุข. “การศึกษาศิลปะเขมรแบบบายนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย” วิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต (วิชาโบราณคดีสมัยประวัติศาสตร์) บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2531. อรพินธุ์ การุณจิตต์ และจตุพร ศิริสัมพันธ์. ทำเนียบโบราณสถานขอมในประเทศไทยเล่ม 4. กรุงเทพฯ : กองโบราณคดี กรมศิลปากร, 2535. |