วัดกาญจนสิงหาสน์วรวิหาร


โพสต์เมื่อ 13 ก.ค. 2020

ชื่ออื่น : วัดกาญจนสิงหาสน์, วัดทองบางพรม

ที่ตั้ง : เลขที่ 686 ถ.แก้วเงินทอง (ถ.ฉิมพลี-วัดรัชฎาธิษฐาน) แขวงคลองชักพระ เขตตลิ่งชัน

ตำบล : คลองชักพระ

อำเภอ : เขตตลิ่งชัน

จังหวัด : กรุงเทพมหานคร

พิกัด DD : 13.760004 N, 100.453603 E

เขตลุ่มน้ำหลัก : เจ้าพระยา

เขตลุ่มน้ำรอง : คลองชักพระ, คลองบางพรม

เส้นทางเข้าสู่แหล่ง

จากถนนบรมราชชนนี บริเวณสถานีตำรวจนครบาลตลิ่งชัน ให้ใช้ถนนฉิมพลี (อยู่ติดกับสถานีตำรวจ) ไปตามถนนประมาณ 850 เมตร พบถนนแก้วเงินทองทางขวามือ เลี้ยวขวาใช้ถนนแก้วเงินทอง ไปตามถนนประมาณ 2.2 กิโลเมตร พบวัดกาญจนสิงหาสน์วรวิหารทางซ้ายมือ ตรงข้ามกับซอยแก้วเงินทอง 27

หรือหากมาจากถนนราชพฤกษ์ ให้ใช้ถนนบางพรม ประมาณ 900 เมตร พบสามแยกให้เลี้ยวซ้ายไปประมาณ 500 เมตร จะพบวัดอยู่ทางขวามือ 

ประโยชน์ทางการท่องเที่ยว

เป็นแหล่งท่องเที่ยว

รายละเอียดทางการท่องเที่ยว

วัดกาญจนสิงหาสน์วรวิหาร เป็นวัดสำคัญแห่งหนึ่งของตลิ่งชัน เป็นวัดใหญ่ที่มีประวัติความเป็นมายาวนานและมีกิจกรรมเกี่ยวเนื่องกับชุมชนเป็นอันดับต้น ๆ ของวัดในเขตตลิ่งชัน มีการจัดงานเนื่องในพระพุทธศาสนาต่างๆ มีโรงเรียนวัดกาญจนสิงหาสน์วิทยา เป็นโรงเรียนทางโลก เปิดสอนตั้งแต่ ม.1-6 และโรงเรียนปริยัติธรรมเปิดสอนให้สอบทั้งบาลีและสันสกฤต

วัดกาญจนสิงหาสน์ โดดเด่นในเรื่องการส่งเสริมการศึกษา มีโครงการจัดทำห้องสมุด โครงการเพื่อสาธารณูปโภคแก่ประชาชน เช่น การจัดสร้างสวนหย่อม ลานกีฬา สนามฟุตบอล สนามเปตอง

หมายเลขโทรศัพท์ของวัดกาญจนสิงหาสน์วริวหาร 02-418-5061

หน่วยงานที่ดูแลรักษา

วัดกาญจนสิงหาสน์วรวิหาร

การขึ้นทะเบียน

ขึ้นทะเบียนของกรมศิลปากร

รายละเอียดการขึ้นทะเบียน

1. ประกาศขึ้นทะเบียนในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 69 ตอนที่ 60 หน้า 3283 วันที่ 30 กันยายน 2495 เรื่องกำหนดจำนวนและขอบเขตโบราณสถานสำหรับชาติ

2. ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 102 ตอนที่ 31 หน้า 1206 วันที่ 12 มีนาคม 2528 เรื่องกำหนดเขตที่ดินโบราณสถาน

ภูมิประเทศ

ที่ราบ

สภาพทั่วไป

วัดกาญจนสิงหาสน์วรวิหารเป็นวัดที่ยังคงใช้งานอยู่ในปัจจุบัน เป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดวรวิหาร ตั้งอยู่บนที่ราบน้ำท่วมถึง ริมคลองบางพรมฝั่งเหนือ ตรงข้ามฝั่งคลองกับวัดรัชฎาธิษฐานราชวรวิหาร ห่างจากคลองชักพระมาทางทิศตะวันตกประมาณ 160 เมตร ด้านทิศใต้ของวัดติดกับคลองบางพรม ทิศตะวันตกติดกับถนนแก้วเงินทอง ด้านอื่นๆ และพื้นที่โดยรอบเป็นบ้านเรือนราษฎรหนาแน่น

ทางน้ำ

แม่น้ำเจ้าพระยา, คลองชักพระ (คลองบางขุนศรี), คลองบางพรม

สภาพธรณีวิทยา

ตั้งอยู่บนที่ราบลุ่มบางกอกหรือที่ราบลุ่มกรุงเทพ เกิดจากการทับถมของตะกอนน้ำพาในยุคควอเทอร์นารี (Quaternary Period)

ยุคทางโบราณคดี

ยุคประวัติศาสตร์

สมัย/วัฒนธรรม

สมัยรัตนโกสินทร์, สมัยอยุธยา

ประวัติการศึกษา

ชื่อผู้ศึกษา : กรมศิลปากร

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2495, พ.ศ.2528

วิธีศึกษา : สำรวจ, ประกาศขึ้นทะเบียน

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร

ผลการศึกษา :

กรมศิลปากรประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานสำหรับชาติในปี 2495 และกำหนดระวางแนวเขตในปี 2528

ชื่อผู้ศึกษา : ประยูร อุลุชาฏะ (น. ณ ปากน้ำ)

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2513

วิธีศึกษา : สำรวจ, ประวัติศาสตร์ศิลปะ

ผลการศึกษา :

ประยูร อุลุชาฏะ (2514) ได้เข้าสำรวจสิ่งก่อสร้างต่างๆ ของวัดกาญจนสิงหาสน์ และสันนิษฐานอายุสมัยจากแผนผังสิ่งก่อสร้าง พระอุโบสถ พระประธานภายในพระอุโบสถ และเสมา ทั้งยังเปรียบเทียบกับวัดรัชฎาธิษฐานหรือวัดเงิน

ชื่อผู้ศึกษา : กรมศิลปากร

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2516, พ.ศ.2535

วิธีศึกษา : สำรวจ, ประวัติศาสตร์

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร

ผลการศึกษา :

กรมศิลปากรสำรวจและจัดทำหนังสือทะเบียนโบราณสถาน

ชื่อผู้ศึกษา : ศรัณย์ ทองปาน

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2549?

วิธีศึกษา : สำรวจ, ประวัติศาสตร์

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)

ผลการศึกษา :

ศรัณย์ ทองปาน (2549?) รวบรวมข้อมูลทางประวัติศาสตร์รวมถึงข้อมูลต่างๆ ของวัด และสำรวจเพื่อสร้างฐานข้อมูลของวัดในเขตตลิ่งชัน เสนอต่อศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)

ชื่อผู้ศึกษา : วลัยลักษณ์ ทรงศิริ

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2552

วิธีศึกษา : สำรวจ, ประวัติศาสตร์

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)

ผลการศึกษา :

รวบรวมและศึกษาข้อมูลด้านต่างๆ ทางสังคมวัฒนธรรมในพื้นที่เขตตลิ่งชัน เสนอเป็นรายงานวิจัย “ศึกษาประวัติศาสตร์และการเปลี่ยนแปลงทางสังคมวัฒนธรรมชุมชนในพื้นที่ตลิ่งชัน” ต่อศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)

ชื่อผู้ศึกษา : วิชญดา ทองแดง, ศรัณย์ ทองปาน

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2555

วิธีศึกษา : สำรวจ, ประวัติศาสตร์

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : เมืองโบราณ

ผลการศึกษา :

วิชญดา ทองแดง และศรัณย์ ทองปาน (2555) รวบรวมข้อมูลทางประวัติศาสตร์รวมถึงข้อมูลต่างๆ ของวัด และสำรวจบันทึกสภาพปัจจุบัน

ประเภทของแหล่งโบราณคดี

ศาสนสถาน

สาระสำคัญทางโบราณคดี

วัดกาญจนสิงหาสน์วรวิหารเป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดวรวิหาร สังกัดมหานิกาย ตั้งอยู่ริมคลองบางพรม ฝั่งด้านทิศเหนือ ตรงข้ามฝั่งคลองกับวัดเงินหรือวัดรัชฎาธิษฐานราชวรวิหาร

เดิมเป็นวัดราษฎร์ชื่อ “วัดทอง” บ้างก็เรียก “วัดทองบางพรม” สร้างขึ้นตั้งแต่สมัยอยุธยา ผู้สร้างคือเจ้าขรัวทอง น้องของเจ้าขรัวทองเงิน พระภัสดาในสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระศรีสุดารักษ์ พระพี่นางในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ 1 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อรัชกาลที่ 1 ขึ้นครองราชย์ ได้ทรงสถาปนาวัดทองขึ้นเป็นพระอารามหลวง  โดยสมเด็จพระรูปศิริโสภาคย์มหานาคนารีได้ทรงสถาปนาขึ้นใหม่ จนถึงรัชกาลที่ 3 ได้ทรงปฏิสังขรณ์ ต่อมาใน พ.ศ.2392 รัชกาลที่ 4 พระราชทานนามใหม่ว่า “วัดกาญจนสิงหาสน์” พร้อมกับที่พระราชทานนามวัดเงินว่าวัดรัชฎาธิษฐาน (ศรันย์ ทองปาน 2549? : 18)

ตามประวัติวัดของสำนักงานพระพุทธศาสนาระบุว่า สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ.2300 ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2535

ลำดับเจ้าอาวาส พระดำ, พระสน, พระครูนิโรธรักขิต (นา), พระครูนิโรธรักขิต (มี), พระครูนิโรธรักขิต (เนตร), พระครูนิโรธรักขิต (คุ้ม), พระครูนิโรธรักขิต (ตุ๋ย), พระครูนิโรธรักขิต (อบ) พ.ศ.2467-2476, พระนิโรธรักขิต (อ่อน จนฺทสโร) พ.ศ.2476-2531, พระราชสุทธิญาณ (เฉลียว อุปลวณฺโณ) พ.ศ.2531-ปัจจุบัน

สิ่งสำคัญภายวัด (ศรันย์ ทองปาน 2549? : 19-21) ได้แก่

พระอุโบสถเก่า ตั้งอยู่ริมคลองบางพรม หัวหน้าไปทางทิศตะวันออก (หันไปทางคลองชักพระ) หน้าบันก่ออิฐถือปูน ประดับลวดลายปูนปั้นเป็นลายพันธุ์พฤกษาและนก มีพาไลทั้งด้านหน้าและหลัง ประตูหน้าหลังด้านละ 25 ช่อง หน้าต่างด้านละ 6 ช่อง บานประตูทำเป็นลายรดน้ำลายพันธุ์พฤกษาและนก แต่ลบเลือนมากแล้ว ผนังด้านในก่อเป็นซุ้มเรียงแถวกันสำหรับประดิษฐานพระพุทธรูป

ประยูร อุลุชาฏะ (2514 : 93-94) ระบุว่า พระอุโบสถวัดแห่งนี้เป็นแบบก่อผนังปูนไปจนยันอกไก่ ซึ่งนิยมทำกันในสมัยพระนารายณ์เป็นต้นมา เช่น วัดตะเว็จ และวัดช่องลม ในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ส่วนลายปูนปั้นบนหน้าบันที่เป็นลายดอกไม้ ใบไม้ นก กระรอก ดอกบัว แต่โดนซ่อมแซมในสมัยหลัง พระประธานในพระอุโบสถ ปางมารวิชัย ตัวอุโบสถก่อเพิงยื่นออกหน้าหลัง เสาสี่เหลี่ยม แสดงว่าสมัยรัชกาลที่ 3 ได้ทำการปฏสิงบรณ์พระอุโบสถหลังนี้

เสมาเป็นเสมาหินทรายเนื้อหยาบ ประยูร อุลุชาฏะ (2514 : 93-94) เคยให้ความเห็นว่าเป็นเสมาสมัยอยุธยา ตั้งอยู่บนฐานสูง ซุ้มประตูกำแพงแก้วทั้ง 4 ทิศ ทำเป็นลายฝรั่งแบบจีน ส่วนที่มุมกำแพงแก้วทั้ง 4 ทิศมีพระปรางค์ และมีเจดีย์ย่อมุมไม้สิบสองอีก 4 องค์ ตั้งอยู่ทางด้านข้างข้างละ 2 องค์ ปัจจุบันสภาพของพระอุโบสถหลังเก่าค่อนข้างทรุดโทรม หลังคาด้านหลังทะลุผุพัง กรมศิลปากรประกาศขึ้นทะเบียนพระอุโบสถหลังนี้ตั้งแต่ พ.ศ.2495 และมีการระวางแนวเขตใน พ.ศ.2528

พระอุโบสถใหม่ ตั้งอยู่เคียงคู่กับพระอุโบสถหลังเก่า มีลักษณะสถาปัตยกรรมเป็นแบบประยุกต์จากแบบพระราชนิยมในรัชกาลที่ 3 เริ่มสร้างใน พ.ศ.2535 ทางด้านหน้าพระอุโบสถมีศาลาประดิษฐาน “พระพุทธรูปเงิน” กัลป์ “พระพุทธรูปทอง” ซึ่งสร้างขึ้นตามประวัติของวัดเงิน-วัดทอง (วัดรัชฎาธิษฐาน-วัดกาญจนสิงหาสน์) ที่ว่าในสมัยรัชกาลที่ 4 โปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระพุทธรูป 2 องค์ องค์หนึ่งปิดแผ่นเงินถวายวัดรัชฎาธิษฐาน อีกองค์หนึ่งผิดทอง ถวายวัดกาญจนสิงหาสน์

โรงเรียนพระปริยัติธรรม เป็นอาคารคอนกรีต 4 ชั้น ทรงไทยประยุกต์ ตั้งอยู่ทางด้านริมคลองบางพรม มีลายปูนปั้นที่หน้าบัน ทำเป็นภาพตราสัญลักษณ์พิธีกาญจนาภิเษก พ.ศ.2539

หอพระไตรปิฎก ตั้งอยู่ในสระน้ำทางทิศเหนือของพระอุโบสถ สร้างขึ้นใหม่ใน พ.ศ.2547

ศาลาการเปรียญ สร้าง พ.ศ.2493

ฌาปนสถาน สร้างใน พ.ศ.2530 

หอระฆัง สร้างเป็นเสาสูง 4 ต้น ก่ออิฐถือปูน หลังคาหน้าจั่ว 2 ด้าน หน้าบันเป็นไม้มีลวดลายปูนปั้นแปะอยู่เล็กน้อย สันนิษฐานว่าอาจชำรุดหรือหักหายไป จากเดิม มีช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์

ประยูร อุลุชาฏะ (2514 : 93-94) กล่าวถึงแผนผังและที่ตั้งสิ่งก่อสร้างต่างๆภายในวัด มีคติการสร้างและอายุรุ่นราวคราวเดียวกับวัดรัชฎาธิษฐานหรือเงิน เสมาและพระอุโบสถน่าจะสร้างขึ้นในสมัยอยุธยา

ภายในเนื้อที่วัดยังมีอาคารโรงเรียนฝึกอาชีพกรุงเทพมหานคร (กาญจนสิงหาสน์อุปถัมภ์) โรงเรียนวัดกาญจนสิงหาสน์วิทยา (โรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษา สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ)

ผู้เรียบเรียงข้อมูล-ผู้ดูแลฐานข้อมูล

ทนงศักดิ์ เลิศพิพัฒน์วรกุล, สมศักดิ์ แก้วนุช

บรรณานุกรม

กรมการศาสนา. ประวัติวัดทั่วราชอาณาจักร เล่ม 1. กรุงเทพฯ. กรมการศาสนา 2525.

กรมศิลปากร. ทะเบียนโบราณวัตถุสถานทั่วราชอาณาจักร. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์คุรุสภาพระสุเมรุ, 2516.

กรมศิลปากร. ทะเบียนโบราณสถานในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล. กรุงเทพฯ : โอ. เอส. พริ้นติ้งเฮ้าส์, 2535.

ประยูร อุลุชาฏะ (น. ณ ปากน้ำ). ศิลปกรรมในบางกอก. พระนคร ; เกษมบรรณกิจ, 2514.

วลัยลักษณ์ ทรงศิริ. การศึกษาภูมิหลังและการเปลี่ยนแปลงทางสังคมวัฒนธรรมชุมชนในพื้นที่ตลิ่งชัน. กรุงเทพฯ : ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน), 2552.

วัดกาญจนสิงหาสน์ วรวิหาร. ที่ระลึกงานถวายผ้าพระกฐินพระราชทาน สำนักงาบประมาณ 13 พฤศจิกายน 2545.

วิชญดา ทองแดง และศรัณย์ ทองปาน. ชุมทางตลิ่งชัน : ย่านเก่า[ก่อน]กรุงเทพฯ. กรุงเทพฯ : เมืองโบราณ, 2555.

ศรัณย์ ทองปาน. โครงการสำรวจเพื่อสร้างฐานข้อมูลของวัดในเขตตลิ่งชัน. กรุงเทพฯ : ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน), 2549?.

ศรัณย์ ทองปาน และวิชญดา ทองแดง. “ชุมทางตลิ่งชัน.” เมืองโบราณ 32, 4 (ต.ค.-ธ.ค. 2549) : 43-57.

อนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ พระนิโรธรักขิต (อ่อน จนฺทสโร). กรุงเทพฯ : บริษัท สิ่งพิมพ์ไทย จำกัด, 2531.

ข่าวที่เกี่ยวข้อง