โพสต์เมื่อ 13 ก.ค. 2020
ที่ตั้ง : เลขที่ 430 ซ.วัดช่างเหล็ก ถ.ฉิมพลี แขวงคลองชักพระ เขตตลิ่งชัน
ตำบล : คลองชักพระ
อำเภอ : เขตตลิ่งชัน
จังหวัด : กรุงเทพมหานคร
พิกัด DD : 13.773738 N, 100.453349 E
เขตลุ่มน้ำหลัก : เจ้าพระยา
เขตลุ่มน้ำรอง : คลองชักพระ, คลองบางระมาด
จากถนนบรมราชชนนี บริเวณสถานีตำรวจนครบาลตลิ่งชัน ให้ใช้ถนนฉิมพลี (อยู่ติดกับสถานีตำรวจ) ไปตามถนนฉิมพลีประมาณ 900 เมตร จะพบซอยวัดช่างเหล็กทางขวามือ (ก่อนถึงถนนเลียบทางรถไฟตลิ่งชันเล็กน้อย) เลี้ยวขวาเข้าซอยวัดช่างเหล็กประมาณ 700 เมตร ถึงวัดช่างเหล็ก
หรืออาจมาจากถนนเลียบทางรถไฟตลิ่งชันได้ โดยจากถนนเลียบทางรถไฟตลิ่งชัน ให้ใช้ถนนฉิมพลี ฝั่งด้านทิศตะวันตก (ฝั่งขาขึ้น) ประมาณ 25 เมตร พบซอยวัดช่างเหล็กทางซ้ายมือ เลี้ยวซ้ายเข้าซอยวัดช่างเหล็กประมาณ 700 เมตร ถึงวัดช่างเหล็ก
วัดช่างเหล็กเป็นวัดที่สำคัญแห่งหนึ่งของชุมชน โดยเฉพาะความศักดิ์สิทธิ์ของหลวงพ่อดำเป็นที่เคารพสักการะนับถือเป็นอย่างมาก ทางวัดได้จัดงานเนื่องในวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาต่างๆ รวมทั้งงานประจำปีปิดทองหลวงพ่อดำ โดยจัด 3 คืน ในช่วงสัปดาห์แรกของเดือนมีนาคม
บริเวณริมน้ำหน้าวัดที่เป็นคลองบางกอกน้อย มีการปักเสากั้นเป็นเขตอภัยทาน มีปลาชุกชุม ส่วนใหญ่เป็นปลาสวายและปลาเทโพ เป็นจุดแวะที่ชื่นชอบของนักท่องเที่ยว รวมทั้งเรือทัวร์นักท่องเที่ยวต่างชาติ ต่างจอดซื้อขนมปังเลี้ยงปลา โดยผู้ขายจะชักรอกถังใส่ขนมปังไปหย่อนใกล้ๆ เรือ เรือบางลำก็เตรียมขนมปังมาเอง
ภายในวัดด้านที่ติดกับถนนเป็นลานกว้าง ในอดีตเคยมี “ตลาดเช้า” ทุกวัน ยกเว้นวันเสาร์อาทิตย์ ในวันพุธจะมีตลาดนัด 2 รอบ เช้าและเย็น โดยวัดมิได้คิดค่าเช่าจากพ่อค้าแม่ค้าแต่อย่างใด ที่นี่จึงเป็นที่ชุมชนของพ่อค้าแม่ค้าในถิ่นนี้และถิ่นใกล้เคียงที่มาไกลจากต่างจังหวัดก็มี เช่น สุพรรณบุรี นครปฐม
ทางวัดมีโรงเรียนปริยัติธรรมเปิดสอนเริ่มมาตั้งแต่ พ.ศ.2484 นอกจากนี้ยังได้ให้ที่ดินสร้างโรงเรียนระดับประถมศึกษาขึ้นในที่วัดและจัดให้มีห้องสมุดประชาชนอีกด้วย
หมายเลขโทรศัพท์วัดช่างเหล็ก 02-887-8861
วัดช่างเหล็ก
วัดช่างเหล็กเป็นวัดที่ยังคงมีการใช้งานอยู่ในปัจจุบัน ตั้งอยู่ริมคลองชักพระ ฝั่งทิศตะวันตกของคลอง ใกล้ปากคลองบางระมาด (ปัจจุบันปากคลองบางระมาดอยู่ห่างออกไปทางทิศใต้ของวัดประมาณ 35 เมตร) ฝั่งด้านทิศเหนือ
สภาพพื้นที่เป็นที่ราบลุ่ม น้ำท่วมถึง โดยรอบมีสภาพเป็นเมือง มีบ้านเรือนราษฎรตั้งอยู่หนาแน่น
แม่น้ำเจ้าพระยา, คลองชักพระ, คลองบางระมาด
ตั้งอยู่บนที่ราบลุ่มบางกอกหรือที่ราบลุ่มกรุงเทพ เกิดจากการทับถมของตะกอนน้ำพาในยุคควอเทอร์นารี (Quaternary Period)
ชื่อผู้ศึกษา : ประยูร อุลุชาฏะ (น. ณ ปากน้ำ)
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2513
วิธีศึกษา : สำรวจ
ผลการศึกษา :
ประยูร อุลุชาฏะ (2514 : 82) ได้สำรวจวัดช่างเหล็ก และบันทึกไว้ว่า “เมื่อเข้าคลองบางระมาด จะอยู่ฝั่งขวามือ ตรงปากคลองบางระมาด มีเจดีย์กลมอยู่ตรงมุมหัวเลี้ยว เป็นวัดใหม่ ไม่สู้มีอะไรชวนสนใจเท่าไรนัก”ชื่อผู้ศึกษา : ศรัณย์ ทองปาน
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2549?
วิธีศึกษา : สำรวจ, ประวัติศาสตร์
องค์กรร่วม / แหล่งทุน : ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)
ผลการศึกษา :
ศรัณย์ ทองปาน (2549?) รวบรวมข้อมูลทางประวัติศาสตร์รวมถึงข้อมูลต่างๆ ของวัด และสำรวจเพื่อสร้างฐานข้อมูลของวัดในเขตตลิ่งชัน เสนอต่อศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)ชื่อผู้ศึกษา : ประภัสสร์ ชูวิเชียร
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2549
วิธีศึกษา : สำรวจ, ประวัติศาสตร์ศิลปะ
ชื่อผู้ศึกษา : วลัยลักษณ์ ทรงศิริ
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2552
วิธีศึกษา : สำรวจ, ประวัติศาสตร์
องค์กรร่วม / แหล่งทุน : ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)
ผลการศึกษา :
รวบรวมและศึกษาข้อมูลด้านต่างๆ ทางสังคมวัฒนธรรมในพื้นที่เขตตลิ่งชัน เสนอเป็นรายงานวิจัย “ศึกษาประวัติศาสตร์และการเปลี่ยนแปลงทางสังคมวัฒนธรรมชุมชนในพื้นที่ตลิ่งชัน” ต่อศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)ชื่อผู้ศึกษา : วิชญดา ทองแดง, ศรัณย์ ทองปาน
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2555
วิธีศึกษา : สำรวจ, ประวัติศาสตร์
องค์กรร่วม / แหล่งทุน : เมืองโบราณ
ผลการศึกษา :
วิชญดา ทองแดง และศรัณย์ ทองปาน (2555) รวบรวมข้อมูลทางประวัติศาสตร์รวมถึงข้อมูลต่างๆ ของวัด และสำรวจบันทึกสภาพปัจจุบันวัดช่างเหล็กปัจจุบันเป็นวัดราษฎร์ สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย ตั้งอยู่ริมคลองชักพระ ฝั่งทิศตะวันตก ใกล้ปากคลองบางระมาดฝั่งด้านทิศเหนือ
ตามประวัติฉบับกรมการศาสนาระบุว่าเดิมชื่อ “วัดปางเหล็ก” สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ.2323 ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อ พ.ศ.2330 แต่ไม่มีหลักฐานเอกสารยืนยันแน่ชัด อย่างไรก็ตามหลักฐานบางอย่างอาจแสดงให้เห็นถึงความเก่าแก่กว่า พ.ศ.2323 เช่น พระพุทธรูปหินทรายหรือหลวงพ่อดำ และตำแหน่งของเขตพุทธาวาสของวัดที่ตั้งที่อยู่ห่างจากฝั่งคลองชักพระที่เป็นแม่น้ำเจ้าพระยาสายเดิมมาก แต่หันหน้าออกคลองชักพระ (ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้) จึงอาจทำให้เชื่อได้ว่าอาจมีอายุเก่าแก่ถึงสมัยอยุธยา (ประภัสสร์ ชูวิเชียร 2549 : 77) ก่อนที่จะได้รับการปฏิสังขรณ์ในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น เช่น รูปทรงอุโบสถที่อาจเก่าถึงรัชกาลที่ 1 (ประภัสสร์ ชูวิเชียร 2549 : 77) ใบเสมาที่มีรูปแบบสมัยอยุธยาตอนปลายหรือรัตนโกสินทร์ตอนต้น และเจดีย์ทรงเครื่องย่อมุมแบบสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น 2 องค์ที่หน้าอุโบสถ (วิชญดา ทองแดง และศรัณย์ ทองปาน 2555 : 86 ; ประภัสสร์ ชูวิเชียร 2549 : 77)
เหตุที่เรียกว่าวัดช่างเหล็กสันนิษฐานว่า เป็นเพราะชาวบ้านรอบๆ วัดมีอาชีพตีเหล็ก โดยเฉพาะทำเคียวเกี่ยวข้าว เพราะผีมือการตีเคียวเป็นที่เลื่องลือ ดังที่พระรูปหนึ่งเล่าว่ามีคำที่พูดต่อกันมาว่า “เคียววัดช่างเหล็กดัง” (วลัยลักษณ์ ทรงศิริ 2552 : 160)
ลำดับเจ้าอาวาส ไม่ทราบนาม, พระภิกษุเพิก, พระภิกษุบ่าย พ.ศ.2451, พระครูศีลขันธ์วิจารณ์ (ทองดี) พ.ศ.2481-2525, พระอธิการเอื้อน โอภาโส (โบ), พระวินัยธรสมพิศ ชุตินทโร, พระครูเกษมจิตตานุยุต (สวง), พระครูวิมล วัชรกิตติ (วิเชียร มหาวีโร) พ.ศ.2540-ปัจจุบัน
สิ่งก่อสร้างสำคัญภายในวัด (ศรัณย์ ทองปาน 2549? : 26-27) ได้แก่
อุโบสถ หันหน้าไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ หันออกสู่คลองชักพระ ปัจจุบันตั้งอยู่ห่างจากคลองชักพระประมาณ 150 เมตร ประภัสสร์ ชูวิเชียร (2549 : 77) สันนิษฐานว่าพื้นที่ระหว่างเขตพุทธาวาสกับคลองชักพระอาจเป็นแม่น้ำเก่าที่ตื้นเขิน (แม่น้ำเจ้าพระยาสายเก่าคือคลองบางกอกน้อย คลองชักพระ และคลองบางกอกใหญ่หรือคลองบางหลวง)
ตามประวัติระบุว่าสร้างขึ้นใหม่เมื่อ พ.ศ.2497 มีขนาด 7 ห้อง ด้านหน้ามีประตู 3 ช่อง ด้านหลัง 2 ช่อง หน้าบันด้านหน้าเป็นรูปเทวดา (พระราม?) ทรงครุฑ ด้านหลังเป็นเทวดา (พระลักษณ์?) ทรงหนุมาน
ประภัสสร์ ชูวิเชียร (2549 : 77) ให้ความเห็นว่าอุโบสถหลังนี้มีทรงคล้ายแบบที่นิยมในสมัยรัชกาลที่ 1
ภายในมีจิตรกรรมฝาผนังเขียนด้วยสีน้ำมัน เป็นรูปพระพุทธประวัติฝีมือช่างร่วมสมัย
ใบเสมาเป็นหินแกรนิตสีเทาดำ มีกนกเอวเป็นเศียรนาค ยอดเป็นมงกุฎครอบคล้ายรูปแบบสมัยอยุธยาตอนปลายหรือรัตนโกสินทร์ตอนต้น คล้ายใบเสมาของวัดพระศรีรัตนศาสดาราม (วัดพระแก้ว) และวัดพระเชตุพน (วัดโพธิ์) ซึ่งสร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 2 ซุ้มเสมาทรงกูบ (ประภัสสร์ ชูวิเชียร 2549 : 77)
วิหาร ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ เคียงคู่กับอุโบสถ หันหน้าไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ (หันออกสู่คลองชักพระ ปัจจุบันตั้งอยู่ห่างจากคลองชักพระประมาณ 150 เมตร)
เป็นอาคารทรงไทย หน้าบันเป็นภาพพระพุทธรูปปางป่าเลไลยก์ ภายในประดิษฐาน “หลวงพ่อดำ” หรือ “หลวงพ่อปราการ” พระพุทธรูปปางมารวิชัย หน้าตัก 4 ศอก (2 เมตร) มีประวัติว่าแต่เดิมเคยพบชิ้นส่วนพระพุทธรูปหินทรายกระจัดกระจายอยู่ในวัดช่างเหล็ก พ.ศ.2504 จึงบูรณะขึ้น โดยนำมาประกอบกันและใช้หินจากลพบุรีมาเสริมชิ้นส่วนที่ขาดหายไป มีผู้เล่าว่าพระองค์นี้มีมาตั้งแต่สมัยธนบุรี (วลัยลักษณ์ ทรงศิริ 2552 : 159)
ประภัสสร์ ชูวิเชียร (2549 : 77) สันนิษฐานว่าหลวงพ่อดำคงเป็นพระพุทธรูปหินทรายสมัยอยุธยา แต่ได้รับการซ่อมแซมลงรักปิดทองแล้ว
หลวงพ่อดำเป็นที่นับถือในความศักดิ์สิทธิ์ มีผู้นิยมมาบนบานศาลกล่าว โดยเฉพาะไม่ให้ติดทหาร มีการแก้บนคือไข่ต้มและลิเก
ในวิหารยังเป็นที่ประดิษฐานรูปเหมือนของอดีตเจ้าอาวาส เช่น พระครูศีลขันธ์วิจารณ์ (ทองดี)
เจดีย์ทรงเครื่องย่อมุม ตั้งอยู่ลานด้านหน้าวิหารและอุโบสถ (ด้านทิศตะวันออก หรือตะวันออกเฉียงใต้) เป็นเจดีย์รายทรงเครื่องย่อมุม 2 องค์ ศิลปะรัตนโกสินทร์ตอนต้น (ประภัสสร์ ชูวิเชียร 2549 : 77)
เจดีย์ทรงระฆัง 2 องค์ ขนาดใกล้เคียงกันอยู่ด้านหน้าวัดด้านริมคลองบางกอกน้อย ลักษณะเป็นเจดีย์สมัยรัชกาลที่ 4 องค์หนึ่งอยู่ในเขตสังฆาวาส ส่วนอีกองค์หนึ่งอยู่ใกล้ปากคลองบางระมาด ปัจจุบันมีบ้านเรือนราษฎรปลูกล้อมอยู่
มณฑปพระพุทธบาท ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของวัด ประดิษฐานพระพุทธบาทจำลอง
กรมการศาสนา. ประวัติวัดทั่วราชอาณาจักร เล่ม 2. กรุงเทพฯ. กรมการศาสนา 2526.
ประภัสสร์ ชูวิเชียร. “วัดโบราณในคลองบางระมาด.” เมืองโบราณ 32, 4 (ต.ค.-ธ.ค. 2549) : 73-88.
ประยูร อุลุชาฏะ (น. ณ ปากน้ำ). ศิลปกรรมในบางกอก. พระนคร ; เกษมบรรณกิจ, 2514.
วลัยลักษณ์ ทรงศิริ. การศึกษาภูมิหลังและการเปลี่ยนแปลงทางสังคมวัฒนธรรมชุมชนในพื้นที่ตลิ่งชัน. กรุงเทพฯ : ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน), 2552.
วิชญดา ทองแดง และศรัณย์ ทองปาน. ชุมทางตลิ่งชัน : ย่านเก่า[ก่อน]กรุงเทพฯ. กรุงเทพฯ : เมืองโบราณ, 2555.
ศรัณย์ ทองปาน. โครงการสำรวจเพื่อสร้างฐานข้อมูลของวัดในเขตตลิ่งชัน. กรุงเทพฯ : ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน), 2549?.
ศรัณย์ ทองปาน และวิชญดา ทองแดง. “ชุมทางตลิ่งชัน.” เมืองโบราณ 32, 4 (ต.ค.-ธ.ค. 2549) : 43-57.